เลาะรั้วต่างแดน-Free Lebanon

เลาะรั้วต่างแดน-Free Lebanon

โดย อนุชา เจริญโพธิ์

ทันทีที่ทราบข่าวจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยว่าได้มอบหมายให้ผมในฐานะอุปนายกฝ่ายกิจการต่างประเทศเป็นตัวแทนไปเข้าร่วมประชุมใหญ่ครั้งที่ 16 ของ The International Freedom of Expression eXchange( IFEX) ที่เบรุต ประเทศเลบานอนระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม-3 มิถุนายน 2011 ความคิดแรกที่เข้ามาในสมองคือประเทศนี้ตั้งอยู่ตรงจุดไหนบนแผนที่โลก จากนั้นก็เปิดอินเตอร์เน็ตหาข้อมูลก็รู้ว่าประเทศนี้ตั้งในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ อยู่ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมีพรมแดนติดกับประเทศอิสราเอลและ ประเทศซีเรีย เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศฝรั่งเศส

ความคิดที่สองที่ตามมาคือถ้าไปแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะว่าเคยรู้มาว่าประเทศนี้เคยเผชิญกับภาวะสงครามกลาง กับประเทศอิสราเอลเมื่อครั้งในอดีตประกอบกับสถานการณ์ของประเทศรอบข้างอย่างเช่นลิเบีย ซีเรีย ตูนิเซีย หรือแม้กระทั่งอียิปต์ที่กำลังเกิดการจลาจลขึ้นในขณะนั้นอันเนื่องมาจากการขับไล่ผู้นำ จากนั้นก็เริ่มหาข้อมูลจึงพบว่าในปัจจุบัน เลบานอนได้พัฒนาประเทศจนเป็นศูนย์กลางด้านการค้า การเงินศิลปะและวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้นับตั้งแต่อดีตไว้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี ค.ศ. 1975 – 1991 เลบานอนเคยตกอยู่ภายใต้ภาวะสงครามกลางเมือง มีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอาหรับและกลุ่มคริสเตียนในเลบานอน ในที่สุด ทุกฝ่ายสามารถหาข้อยุติและร่วมกันพัฒนาฟื้นฟูประเทศหลังจากภาวะสงครามกลางเมืองอีกครั้งแต่กระนั้นก็ดีสถานการณ์ในประเทศก็ยังไม่สู้ดีนักโดยเฉพาะตามบริเวณแนวชายแดนเลบานอน และอิสราเอลที่อยู่ทางตอนใต้ยังคงมีเหตุการณ์ระเบิด และปะทะกันประปราย ระหว่างอิสราเอลและฮิซบุลลอหฺ ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธที่เชื่อว่ามีสมาชิกอยู่ในประเทศเลบานอน ยังผลให้กองกำลังสันติภาพของสหประชาชาติยังคงมีกำลังอยู่ในประเทศเลบานอน

ความคิดสุดท้ายแล้วทำไม IFEX ถึงเลือกมาจัดประชุมใหญ่ที่นี่ในปีนี้ประเทศที่คนค่อนโลกยังคิดว่าประเทศนี้ยังคงมีสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยอยู่ ประเทศที่ยังคงมีการใช้ความรุนแรงเหมือนกับประเทศต่างๆในภูมิภาคเดียวกัน ประเทศที่ยังคงความสุดโต่งเรื่องการนับถือศาสนาอิสลาม และประเทศที่ยังคงมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน และประชาชนในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น จากนั้นผมก็เริ่มหาข้อมูลจึงพบว่าประเทศเลบานอนประกอบด้วยประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม และคริสต์ ตามสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน สถานการณ์ความรุนแรงในอดีตที่เคยเกิดขึ้น ในปัจจุบันแทบไม่เกิดขึ้นแล้วโดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างเบรุต การจำกัดสอทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนถือได้ว่าไม่ได้เป็นปัญหามากเพราะประเทศนี้มีรูปแบบการปกครองเป็นประชาธิปไตย และที่สงสัยว่าทำไมผู้จัดการประชุมถึงเลือกมาจัดที่นี่ก็เพราะต้องการให้สื่อมวลชนที่มาร่วมประชุมใหญ่ในครั้งนี้รู้จักเบรุต ประเทศเลบานอนในอีกมุมหนึ่งที่แทบไม่ค่อยได้มีใครมารู้จักและสัมผัส และให้ลบภาพเก่าๆในอดีต

IFEX ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่ดูแลในเรื่องของการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่ม องค์กร ผู้ที่ทำงานทางด้านสื่อสารมวลชนมีสำหนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศแคนาดา ก่อตั้งขึ้นมาในปี ค.ศ. 1992 ในปัจจุบัน IFEX มีสมาชิกที่เป็นองค์กรที่ทำงานทางด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนกว่า 80 องค์กรอยู่ทั่วโลก และ Thai Journalists Association (TJA) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของ IFEX ด้วย ที่ผ่านมาIFEX ได้ทำกิจกรรมมากมายร่วมกับสมาชิกองค์กรสื่อต่างๆทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมการให้ข้อมูลในการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน และการป้องกันไม่ให้สื่อมวลชนถูกละเมิด การสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนในภูมิภาคเดียวกัน หรือระหว่างภูมิภาค การส่งเสริมการอบรม การทำการรณรงค์เรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน รวมถึงการส่งเสริมและเป็นตัวกลางในการดำเนินการขอทุนจากประเทศต่างๆให้กับองค์กรสมาชิกมาดเนินการกิจกรรมที่เกี่ยวข้องภายใต้การสนับสนุนของ IFEX นอกจากนั้นแล้ว IFEXยังเป็นองค์กรสื่อสากลที่ยังช่วยเป็นสื่อกลาง เป็นตัวประสานงานให้องค์กร แต่ละองค์กรที่อยู่ในแต่ละประเทศและแต่ละทวีปกระจายข่าวสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้กับเครือข่ายได้รับทราบบนพื้นฐานของการดูแลเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน

การประชุมใหญ่ IFEX ครั้งที่ 16ที่เบรุต ประเทศเลบานอนในครั้งนี้ผมได้เข้าร่วมฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่างๆในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในประเทศไทย และกิจกรรมที่ทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ได้ทำไปในช่วงที่ผ่านมาเกี่ยวกับการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในประเทศไทย ในแต่ละเวทีที่ผมสนใจและได้เข้าร่วม อย่างเช่นเวทีที่เกี่ยวกับสื่อออนไลน์ที่พูดถึงแนวโน้มของสื่อออนไลน์ที่เข้ามาช่วยในการรายงานข่าวสาร รวมถึงปัญหาที่นักข่าวนักหนังสือพิมพ์พบโดยทั่วไปจากการใช้สื่อออนไลน์ ที่น่าสนใจไม่แพ้กันเวทีที่เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากมีการใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตมาควบคุมสิทธิเสรีภาพของการใช้สื่อออนไลน์อินเตอร์เน็ตของทั่วโลก ซึ่ง ประเทศไทยในปัจจุบันกำลังประสบปัญหาดังกล่าวอยู่ โดยส่วนใหญ่แล้วในที่ประชุมเห็นว่ารัฐบาลออกกฎหมายประเภทดังกล่าวก็เพื่อต้องการควบคุมและริดลอนสิทธิเสรีภาพของสื่อสารมวลชนและประชาชนในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น และเวทีที่สนุกและน่าสนใจอีกเวทีหนึ่งก็คือผมได้เข้าร่วมฟังและทำเวิร์คชอปเกี่ยวกับ Universal Periodic Review (UPR) อันเป็นกลไกหนึ่งของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Right Council: UNHRC) เพื่อการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ และประเทศไทยจะถูกตรวจสอบจากกลไกดังกล่าวในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

เกี่ยวเนื่องกันเป็นเวทีที่เกี่ยวกับการส่งเสริมให้มีการรณรงค์ให้เอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Campaign Against Impunity เพราะพบว่าในปัจจุบันสื่อมวลชนในประเทศต่างๆมากมาย ถูกสังหาร ถูกขู่ฆ่าจากผู้มีอำนาจ แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลประเทศนั้นๆก็ยังไม่สามารถที่จะเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ ไม่ไกลจากประเทศไทย ประเทศฟิลิปปินส์ คดี Ampatuan เป็นคดีสังหารหมู่นักข่าวและนักการเมืองท้องถิ่น 58 ศพเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2009 จนถึงปัจจุบันแม้จะรู้ตัวผู้กระทำผิดและกำลังมีการพิจารณาคดีอยู่ในชั้นศาลแต่ทางผู้ที่เกี่ยวข้องก็ยังมีความรู้สึกว่าผู้ต้องหาในคดีนี้จะหลุดจากคดีก็เป็นไปได้เพราะเป็นผู้มีอำนาจ อันเนื่องมาจากคดี Ampatuan ที่คนทั่วโลกรู้จักในที่ประชุมจึงมีมติกำหนดให้วันที่ 23 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวัน Against Impunity Day โดยให้ทางสมาชิกองค์กรของ IFEX ที่มีอยู่ทั่วโลกไปดำเนินกิจกรรมรณรงค์ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะองค์กรสื่อและตัวแทนสื่อที่เข้าร่วมที่มาจากประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้พูดคุยถึงมติดังกล่าวและพร้อมที่จะดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป