ผลการตัดสินการประกวดบทความและภาพถ่ายหัวข้อ“เสรีภาพสื่อบนความท้าทาย ใหม่ – New challenges for Press Freedom”

เรียน         หัวหน้าข่าวหน้า 1 ข่าวประชาสัมพันธ์

ผลการตัดสินการประกวดบทความและภาพถ่ายหัวข้อ“เสรีภาพสื่อบนความท้าทายใหม่ -  New challenges for Press Freedom”

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดการประกวดบทความและภาพถ่ายหัวข้อ  “เสรีภาพสื่อบนความท้าทายใหม่ -  New challenges for Press Freedom”  เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ซึ่งตรงกับวันที่  3 พฤษภาคมของทุกปี   ในปีนี้มีผลงานบทความส่งเข้าประกวดจำนวน 71 ชิ้น และภาพถ่ายจำนวน 29 ภาพ  โดยจะมีพิธีมอบรางวัลผลการประกวด ในวันพฤหัสบดีที่  3  พฤษภาคม 2555 เวลา 09.30-12.00 ณ ห้องอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยผลการตัดสินมีดังนี้

รางวัลประกวดบทความ หัวข้อ  “เสรีภาพสื่อบนความท้าทายใหม่ -  New challenges for Press Freedom”  มีบทความส่งเข้าประกวดจำนวน 71 ชิ้น  คณะกรรมการตัดสินจำนวน 5 คน ประกอบด้วย  1. นางสาวรุ่งมณี เมฆโสภณ         สื่อมวลชนอิสระ  2. นายสฤษฎ์เดช  มฤคทัต   บรรณาธิการบทความ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์  3. ดร. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์            คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 4. นางสาวอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์  เลขาธิการ  สมาคมฯ และ 5. นายนฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์มติชน ได้ร่วมกันพิจาณาตัดสิน

ผลการตัดสิน  บทความที่ได้รับรางวัลดีเด่น  ได้แก่บทความของนางสาวปรียามน  สุขม่วง  นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  ได้รับโล่ห์และเงินรางวัล รางวัลละ 10,000 บาท  ส่วนรางวัลชมเชยมี 2 รางวัล ได้แก่ผลงานบทความของนางสาววริษา สุกิตติพัฒนากุล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนศึกษานารี  และผลงานบทความของนายณัฐกมล ไชยสุวรรณ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ได้รับโล่ห์และเงินรางวัล รางวัลละ 5,000 บาท

รางวัลประกวดภาพถ่าย หัวข้อ  “เสรีภาพสื่อบนความท้าทายใหม่ -  New challenges for Press Freedom”  มีภาพถ่ายส่งเข้าประกวดจำนวน 29 ภาพ  คณะกรรมการตัดสินจำนวน 5 คน ประกอบด้วย  1. นายเสด็จ บุนนาค

อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมฯ 2. นายเชษฐ สุขสมเกษม กรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมฯ 3. นายอภิชาติ  วีระวงศ์ ช่างภาพมืออาชีพ สำนักข่าวเอพี 4. นางสาวอัญมณี สีชาด ช่างภาพอิสระมืออาชีพ  และ 5. นายณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์          คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ร่วมกันพิจาณาตัดสินภาพถ่ายและได้ลงมติว่าไม่มีผลงานภาพถ่ายใดสมควรได้รับรางวัล

นอกจากพิธีมอบรางวัลแล้ว ยังมีการเสวนาหัวข้อ  “เสรีภาพสื่อบนความท้าทายใหม่ -  New challenges for Press Freedom”  วิทยากรประกอบด้วย นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท   ประธานคณะกรรมาธิการคณะกรรมาธิการ การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ คณะนิเทศศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายเสริมสุข  กษิติประดิษฐ์   สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นายบัณฑิต  จันทศรีคำ                     บรรณาธิการอำนวยการ  หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ดำเนินรายการโดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิณ   สถานีวิทยุโทรทัศน์ กองทัพบกช่อง ๕  รวมทั้งจะมีการอ่านแถลงการณ์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก โดยนายชวรงค์  ลิมป์ปัทมปาณี               นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและ นายวิสุทธิ์  คมวัชรพงศ์   นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยด้วย

 

 

30  เมษายน  2555

www.tja.or.th

////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

รางวัลดีเด่น  ได้แก่บทความของนางสาวปรียามน  สุขม่วง  นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เสรีภาพสื่อบนความท้าทายใหม่ : New challenges for Press Freedom

การสื่อสารมวลชน (Mass Communication) เป็นกระบวนการกระจายข้อมูลข่าวสาร ความรู้สึกนึกคิด จากบุคคลหนึ่งหรือจากองค์กรหนึ่งไปยังมวลชนจำนวนมากในสังคมในเวลาอันรวดเร็ว ผ่านทางช่องทางสื่อต่างๆ ได้แก่ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ฯลฯ ซึ่งในพจนานุกรมการสื่อสารมวลชน ได้ให้ความหมายของการสื่อสารมวลชนไว้โดยสรุปว่า การสื่อสารมวลชน เป็นแบบหนึ่งของการสื่อสารที่สามารถกระจายเรื่องราวความรู้เปิดเผยไปสู่คนส่วนใหญ่ ซึ่งมีลักษณะไม่เหมือนกัน และไปถึงผู้รับพร้อมกัน มีบทบาทสำคัญในการกำหนดแนวโน้มทางวัฒนธรรมของมวลชน

ในปัจจุบันนี้ความเจริญก้าวหน้าของการสื่อสารในปัจจุบัน ส่งผลให้มีสื่อเกิดขึ้นใหม่มากมายหลายรูปแบบ เนื่องจากสื่อมีความสำคัญในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากสื่อมวลชนมีบทบาทหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ไปสู่ประชาชน การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนจึงส่งผลกระทบต่อกลุ่มบุคคลต่างๆในสังคมได้ ทั้งในระยะสั้น คือ ในด้านของอารมณ์ ความรู้สึก เช่น ความพอใจ ความไม่พอใจ ความเชื่อถือหรือการยอมรับในสิ่งต่างๆ และในระยะยาว คือ การเปลี่ยนแปลงของระดับความรู้ ความคิดและค่านิยม สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ยังสามารถขยายวงกว้างไปในสังคมได้ด้วย จึงนับได้ว่าสื่อต่างๆล้วนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษา การกำหนดแนวโน้มทางวัฒนธรรม และกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงในสังคม

สื่อถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ดังนั้นจึงถือได้ว่าสื่อเป็นหนึ่งในรากฐานของสิทธิมนุษยชนและนับเป็นหลักประกันเสรีภาพด้านอื่นๆด้วย  เสรีภาพในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเสรีภาพของประชาชน เพราะสื่อถือเป็นตัวกลางในการกระจายข้อมูลข่าวสารต่างๆ เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างภาครัฐ ประชาชน และหน่วยอื่นๆในสังคม สำหรับประชาชนแล้ว สื่อนับเป็นองค์กรหนึ่งที่ช่วยสอดส่อง และตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ในขณะเดียวกันก็เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน คอยพิทักษ์ผลประโยชน์ให้แก่ประชาชน และเป็นตัวช่วยในการสะท้อนภาพปัญหาต่างที่เกิดขึ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้รับทราบ ดังนั้น “เสรีภาพสื่อ” จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่หลายฝ่ายจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการปฏิบัติงาน การนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ตลอดไปจนถึงการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันนี้มีหลากหลายปัจจัยที่อาจเข้ามาเป็นตัวกำหนดกรอบของสื่อ ทำให้หลายฝ่ายมองความมีเสรีภาพของสื่อได้ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร

ส่วนแรก คือ อำนาจรัฐที่อาจเข้ามามีบทบาทต่อการนำเสนอข่าวและการแสดงความคิดเห็นของสื่อ ซึ่งปัจจุบันนี้ได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านของการออกกฎหมายเพื่อให้การคุ้มครอง ส่งเสริม และขยายสิทธิของของประชาชน จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้มีการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนอย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งนอกจากจะห้ามปิดกิจการสื่อมวลชนแล้ว ยังห้ามแทรกแซงสื่อมวลชนในการเสนอข่าวสาร รวมไปถึงห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของกิจการหรือเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนด้วย เพื่อการป้องกันไม่ให้บุคคลเหล่านั้นใช้การสื่อสารมวลชนสร้างผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง

ส่วนที่สอง คือ ส่วนของเงินทุน เนื่องจากเศรษฐกิจของสังคมไทยเป็นระบบตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างเสรี สื่อมวลชนในสังคมไทยบางส่วนจึงมีเป้าหมายในด้านของการแสวงหาผลกำไรเป็นหลัก ระบบทุนสามารถแฝงตัวเข้ามาได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงเงินสนับสนุนต่างๆ  เมื่อระบบทุนเข้ามามีอำนาจ ก็จะค่อยๆครอบงำสื่อไปทีละเล็กละน้อย  ดังนั้นในส่วนนี้นับเป็นส่วนที่น่ากังวล และเป็นหนึ่งในความท้ายทายใหม่ของสื่อ ที่ต้องพยายามรักษาจรรยาบรรณของวิชาชีพ ต่อสู้กับระบบเงินทุนที่กดดันอยู่ในแทบทุกรูปแบบ

และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือ ส่วนของเทคโนโลยี กระแสของยุคโลกาภิวัตน์ (globalization) ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาการติดต่อสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ มีการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารไปทั่วโลก ประชาชนไม่ว่าจะอยู่ ณ ตำแหน่งใดก็สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และกว้างขวาง ดังที่เรียกว่ายุคนี้ว่ายุคแห่งข้อมูลข่าวสารที่ไร้พรมแดน (Information Age) ซึ่งในส่วนนี้เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการพัฒนาสื่อแขนงใหม่ๆให้เกิดขึ้น และประชาชนมีเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์น้อยใหญ่ วิทยุ โทรทัศน์ รวมไปถึงอินเตอร์เน็ตที่เป็นสื่อที่สามารถกระจายข่าวได้อย่างรวดเร็วในโลกออนไลน์ และทำให้คนทั่วไปสามารถนำเสนอข่าวสารและข้อมูลต่างๆได้เช่นกัน สื่อในโลกออนไลน์ถือว่าเป็นส่วนที่ควบคุมได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นความท้าทายสำคัญของสื่อ คือ จะต้องใช้เทคโนโลยีต่างๆให้เป็นประโยชน์ ในการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รวดเร็วทันต่อทุกสถานการณ์

การมีสิทธิเสรีภาพในการคิด แสดงออก และนำเสนอข้อเท็จจริงได้โดยเสรี ถือเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของสื่อมวลชน ซึ่งอิสรภาพแห่งการแสดงออกของสื่อโดยปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จะเป็นตัวช่วยในการพิทักษ์รักษาสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน ดำรงความยุติธรรมในสังคม และสามารถเป็นสื่อสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และวัฒนธรรม เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆทั่วโลก และถึงแม้ว่าสื่อจะมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าว แต่เสรีภาพดังกล่าวจะต้องอยู่ในขอบเขตที่ไม่ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน ดังนั้นสื่อจะต้องมีความเป็นกลางในการนำเสนอส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย  และเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างหน่วยต่างๆในสังคม

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ความท้าทายใหม่ๆที่ส่งผลกระทบต่อสื่อที่สำคัญในปัจจุบัน คือ  อำนาจรัฐ อำนาจทุน และเทคโนโลยี  ทั้งสามส่วนนี้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางและเสรีภาพของสื่อ จึงนับเป็นความท้าทายใหม่ของสื่อที่จะต้องรู้เท่าทันและรู้จักปรับตัว ท่ามกลางกระแสสังคม ความกดดันในด้านต่างๆ เพื่อรักษาความเป็นกลางและเสรีภาพของตน ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เที่ยงตรง และมีความเป็นธรรมต่อทุกๆฝ่าย และรักษาจุดยืนการเป็นตัวแทนของประชาชน และสิ่งสำคัญคือ ต้องเริ่มจากการปลูกฝังแนวความคิดและปลุกจิตสำนึกของเสรีภาพของสื่อมวลชน ที่ตั้งอยู่บนจรรยาบรรณวิชาชีพให้แก่บุคคลที่จะก้าวเข้ามาทำหน้าที่นี้ ในขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมให้ทุกๆฝ่ายตระหนักและเคารพในสิทธิในการแสดงออกของสื่อมวลชนตามระบอบประชาธิปไตย เพราะเสรีภาพของสื่อคือส่วนช่วยที่สำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติของเราได้อย่างยั่งยืนสืบต่อไป

////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

รางวัลชมเชย บทความของนางสาววริษา สุกิตติพัฒนากุล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนศึกษานารี

เสรีภาพสื่อบนความท้าทายใหม่

เมื่อนกหนุ่มสีฟ้าบินโฉบตัดหน้านกพิราบวัยชรา !
ปฏิเสธไม่ได้ว่านาทีนี้นกน้อยวัยหกปีแห่งโลกไซเบอร์ที่มาพร้อมกับคุณสมบัติ 140 ตัวอักษร กำลังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ชวนให้พลิกหน้าประวัติศาสตร์ ปาดหน้านกน้อยไร่ส้มวัยร้อยหกสิบกว่าปีกับตัวอักษรราว 140 ล้านบนกระดาษปรู๊ฟสีเหลือง ขึ้นแท่นแทนที่กลายเป็นสื่อแหล่งใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม

วงการข่าวสารอาจต้องสั่นสะเทือนกับความมาแรงของนกหนุ่มน้องใหม่ ไม่แน่ว่าความหมายของสื่ออาจไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่มีวิชาชีพหรือได้รับการรองรับว่าสำเร็จการศึกษาด้านวารสารฯอีกต่อไป หากแต่หมายรวมถึงใครก็ตาม ที่สามารถแสดงบทบาทหน้าที่ ในฐานะเป็นสื่อกลางนำสารมานำเสนอต่อผู้คนได้ทันท่วงที รวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำ

ความโดดเด่นของนกหนุ่มสีฟ้าจึงเป็นที่ต้องตาต้องใจผู้คนมากกว่านกพิราบวัยชรา แม้จะมีข้อจำกัดของตัวอักษรที่น้อยกว่า แต่ทว่าข้อจำกัดดังกล่าวกลับทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว สะดวก เรียบง่าย เกิดผลดีต่อผู้อ่านมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ในห้วงเวลาที่ผ่านมา เราจะเห็นว่านกสีฟ้าที่มีชื่อเรียกว่า “twitter” ได้กลายเป็นหนึ่งในสื่อที่มีอิทธิพลต่อสังคมอย่างยิ่ง ทั้งในเรื่องภัยพิบัติเหตุการณ์เกิดแผ่นดินไหวในภาคใต้ชายฝั่งทะเลอันดามัน หรือเหตุการณ์การเมือง เช่น การจลาจลในอิหร่านที่ใช้            ทวิตเตอร์เป็นสื่อกลางการนัดชุมนุมต่อต้านการเลือกตั้ง  ล้วนนกสีผ้าเป็นผู้ส่งสารทั้งสิ้น

ในขณะที่นกชรา ย่อมมีข้อดีที่ต่างออกไป  คือกาลเวลาทำให้มันกลายเป็นนกผู้ใหญ่มีวิสัยกว้างไกล แต่ในขณะเดียวกันวันเวลาที่ล่วงเลยก็ทำให้นกบางตัวแสดงท่าที กร่างโลก ไม่น้อยเช่นกัน

การอยู่นานจึงอาจไม่สำคัญเท่ากับคุณค่าที่เหลือทิ้งไว้ วันที่นกได้เรียนทฤษฎียังไม่มีความหมายหากสิ่งเหล่านั้นไม่ได้หยิบสรรค์มาใช้ในวันปฏิบัติจริง  ไม่เช่นนั้นความหมายของสื่อจะเป็นเพียงวลีกว้าง ๆ ที่หมายถึงใครก็ได้

หากสื่อคือเสรีภาพดังบัญญัติในข้อ 19 ที่ว่า ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และที่จะแสวงหา รับ และแจกจ่ายข่าวสาร และความคิดเห็น ไม่ว่าโดยวิธีใดๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน

ตามบทบัญญัติถือเป็นเสรีที่เปิดกว้างอาจเข้าใจได้ว่าใครก็ตามที่แสดงออกความเห็นก็ถือเป็นสื่อมวลชนทั้งสิ้น หากแท้จริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น สิ่งที่ขั้นกลางระหว่างสื่อแท้กับสื่อเทียม คือ จรรยาบรรณ

จรรยาบรรณ เป็นคำที่นกทุกตัวคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่ไม่ใช่นกทุกตัวที่ปฏิบัติตามได้

ต่างกับคำว่า เสรีภาพ ทุกคนถวิลหาเสรีภาพ เรียกร้องเสรีภาพ ไขว่คว้าหาเสรีภาพ

นั่นเป็นธรรมชาติของนก- คือความต้องการอิสระ และ เสรีภาพ

แต่ทว่าสภาพของสังคมไทย แม้ในอักษรอาจระบุคำว่าเสรีภาพอย่างชัดถ้อยชัดคำ แต่ในชีวิตจริงเราต่างรู้กันดี ว่าเสรีภาพที่มีที่ได้นั้น มากน้อยแค่ไหน เป็นไปตามตัวอักษรที่บัญญัติไว้หรือไม่

ไม่แปลกใจ เพราะความจริงแล้วไม่มีที่ไหนได้เสรีภาพได้เต็มที่ ทุกอย่างมีกรอบมีขอบมีเขตในรูปของมันเสมอ แต่ขนาดของขอบที่ลดจนเกินพอดี เหลือเนื้อที่น้อยจนนกอึดอัดใจ เหตุเพราะอำนาจและปริมาณกระดาษสีเทาของคนบางกลุ่ม ขวางทางหวังจับนกในไร่ส้มใส่กรงทองของตนไว้ ทิ้งไว้เพียงเรื่องเล่าไร้ความจริงเป็นเพียงข้อความที่ตีพิมพ์อยู่บนกระดาษใบเดิม

นอกจากเรียกร้องเสรีภาพจากคน ก็ต้องหันมาถามความต้องการเสรีภาพของนก

มีนกจำนวนไม่น้อย ที่ลุ่มหลงได้ปลื้ม เต็มใจพลีกลายบินเข้าไปในกรงทองด้วยความยินดีปรีดา เพียงเพื่อหวังความสุขสบายในภายภาคหน้า แต่ดูเหมือนนกบางตัวจะลืมไปว่า

นกที่มีปีกแต่ไม่ได้ใช้ ก็ไม่ควรเกิดเป็นนกให้เสียชาติเกิด. – ในเมื่อมีก็เหมือน ไมมี

ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะเป็นนกหนุ่มใหม่ไฟแรง หรือ นกชราที่อยู่คู่โลกใบนี้มานาน ก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญ

เพราะสิ่งสำคัญที่แท้จริง  … คือการทำหน้าที่ฉันท์นก อย่างมีประสิทธิภาพ

ใช้เสรีภาพ หรือความเป็นนกที่มีให้เกิดประโยชน์ต่อมวลชน

เพราะท้ายสุดแล้ว หน้าที่ของนก ก็เพียงเพื่อส่งสาร ไปให้ถึงผู้รับสาร

และสารที่ว่า ก็คือ สารที่ถูกต้อง เที่ยงตรง เที่ยงธรรม มีประโยชน์ต่อผู้รับโดยแท้จริง

เท่านี้ก็ถือว่ามันได้ทำหน้าที่ของมันโดยสมบูรณ์แล้ว –  หน้าที่ส่งสาร ที่ใช้เสรีภาพที่มีควบคู่กับจรรยาบรรณ จึงจะถือเป็น นก โดยแท้จริง.อุทิศทั้งใจอุทิศทั้งกายถวายตน เพื่อความสุขของมวลชน

///////////////////////////////////////////////////////////////////////////

รางวัลชมเชย บทความของนายณัฐกมล ไชยสุวรรณ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เสรีภาพสื่อบนความท้าทายใหม่ : New challenge for Press Freedom

โลกกำลังไร้พรมแดน คนอีกซีกโลกสามารถรับรู้กระแสข่าวและความเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์กับคนอีกฟากโลก เทคโนโลยีของสื่ออินเทอร์เน็ตค่อย ๆ  ทำลายเส้นยึดเกาะรัฐชาติและทำให้มนุษย์ปัจเจกชนสามารถเป็นได้ทั้งผู้รับสาร ผู้สร้างสารและผู้สื่อสารไปในตัว มนุษย์ธรรมดาสามารถเป็นสื่อมวลชนได้โดยไม่ต้องเรียนรู้หลักการใด ๆ อีก เพราะสื่อสารมวลชนได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทุกคนอย่างหนักหน่วง และตลอดเวลา จนซึมซับและสอนสั่งปัจเจกชนโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว

การทำลายกำแพงปิดกั้น และกระจายข้อมูลข่าวสารความรู้ต่อมวลชน เป็นการสร้างอำนาจให้กับประชาชน คือสิ่งที่สื่อภูมิใจและเรียกขานอย่างเต็มปากว่าเสรีภาพของสื่อมายาวนานหลายศตวรรษ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร รวบรวม ร้อยเรียงเป็นทำนองถ้อยคำส่งกระจายสู่ประชาชน โดยสกัดเอาความเท็จ ทลายความลวง เหลือเพียงความจริงในสื่อ เพื่อให้ประชาชนตาสว่าง

มาบัดนี้ เสรีภาพที่สื่อภูมิใจดุจขุนเขาตระหง่านกำลังสั่นคลอนด้วยความเป็นไปของโลกเทคโนโลยี แม้จะทำให้สื่อทำงานได้รวดเร็วและสะดวกสบายยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีคมดาบอีกด้านก็ปรากฏขึ้น เสรีภาพสื่อที่ยึดมั่นภายใต้กระบวนการกฎหมายและการไม่ละเมิดสิทธิของประชาชนทั่วไปกำลังถูกท้าทาย

อินเทอร์เน็ตเป็นความท้าทายใหม่ที่กระเทือนต่อเสรีภาพสื่อ ในอดีตเสรีภาพสื่อเผชิญกับการท้าทายและแทรกแซงครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งจากอำนาจรัฐ อำนาจทุน อำนาจกฎหมาย ที่พยายามบีบเสรีภาพของสื่อให้อยู่ในกรอบ การต่อสู้ของสื่อครั้งแล้วครั้งเล่า จบลงที่การประนีประนอมบ้าง แข็งกร้าวยืนกรานบ้าง จนเป็นเสรีภาพสื่ออย่างที่เราคุ้นเคยในทุกวันนี้

แต่ความท้าทายใหม่นี้ส่งผลอย่างรุนแรงต่อเสรีภาพสื่อ เพราะมันไม่ได้แทรกแซงเสรีภาพการทำงานของสื่อ แต่มันมีพลังอันไร้ขีดจำกัด และเสรีภาพเป็นอนันต์ส่งผลให้มันกำลังเปลี่ยนวิธีการทำงานของสื่อทั่วโลก

กล่าวคือสื่ออินเทอร์เน็ตทำลายเส้นเสรีภาพที่มีขอบเขตที่สื่อมวลชนยึดถือ เทคโนโลยีใหม่สามารถนำเสนอข่าวสารข้อมูลที่ถูกปิดลับจากสื่อที่ไม่สามารถนำเสนอได้จากข้อกฎหมายหรือการคุกคามของกลุ่มทุน แต่โลกอินเทอร์เน็ตไม่มีข้อจำกัด แม้จะมีข้อกฎหมาย แต่การตามตัวเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ ยากเย็นเสียเหลือเกิน เช่นกันมันทำให้คนทั่วโลกทำงานเป็นสื่อมวลชนได้อย่างเสรี ทำให้อาชีพที่เกี่ยวข้องกับสื่ออันน่าอิจฉาและมีเสน่ห์ กลายเป็นของที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและเป็นได้ (และอาจจะดีกว่าคนทำงานสื่อแท้ ๆ ด้วย)

โลกกำลังเปลี่ยนแปลง เสรีภาพที่สื่อมวลชนเคยยึดถือมายาวนานก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย

สื่อจะต้องทำงานหนัก ตามทันกระแสโลก ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสื่อ จะต้องสร้างเสรีภาพการเข้าถึงของสื่อให้เข้มแข็งไม่หวั่นเกรงต่อภัยปิดกั้นคุกคามต่าง ๆ นานา แม้ว่าความท้าทายรูปแบบใหม่นั้นจะรุนแรงรวดเร็วและ โจมตีเสรีภาพค่านิยมของสื่อแบบเดิมจนตั้งตัวไม่ติด  แต่ก็ต้องยอมรับว่าสื่ออินเทอร์เน็ตและปัจเจกชนที่สามารถตั้งตนเป็นสื่อได้อย่างทันทีนั้น มีความอันตรายอย่างเห็นชัด เพราะการสร้างสื่อเพื่อส่งสารออกไปหาคนหมู่มาก มันทำให้เกิดการไหลบ่าของข้อมูลข่าวสารมากมาย ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและไม่สามารถแยกแยะว่าความจริงของสารจำนวนมากได้

ดังนั้นท่ามกลางเสรีภาพที่มีมากขึ้น ยิ่งสะท้อนว่าสื่อจะต้องกวดขันในการพิจารณาข้อมูลที่ไหลบ่า และต้องตามติดความเคลื่อนไหวที่รวดเร็วอย่างเหน็ดเหนื่อย และนับจากนี้ไปการทำงานของสื่อทุกแขนงจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ทั้งคุณภาพและวิธีคิด

ความท้าทายใหม่นี้จะบดขยี้เสรีภาพและกฎเกณฑ์เดิมอันมีมนต์ขลังแต่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันของสื่อเสียหมด อนาคตปัจเจกชนจะแยกไม่ออกระหว่างคนทำงานสื่อตัวจริงกับคนทำงานสื่อสมัครเล่น ดังนั้นบนความท้าทายใหม่นี้ สื่อยิ่งต้องรักษาอุดมการณ์วิชาชีพและเรียกร้องให้คนทำงานสื่อหันมาตระหนักพิจารณาตัวเอง เช่นกันเสรีภาพสื่อจะต้องถูกตีความใหม่ เพื่อเท่าทันความท้าทายใหม่นี้

นอกจากนี้ในความท้าทายใหม่ สื่อยิ่งจะต้องเรียนรู้เอาข้อดี และสมาทานข้อดีมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่เสรีภาพของสื่อเอง ส่วนข้อเสียของความท้าทายใหม่นี้ กระบวนการของมนุษย์จะค่อย ๆ เรียนรู้และสร้างเครื่องมือกลไกทางสังคมมาจัดการเอง

คงต้องจับตาดูว่าเสรีภาพสื่อที่ยืนยงมายาวนานจะหยัดยืนท่ามกลางลมแห่งความท้าทายที่โหมกระหน่ำอย่างหนักหน่วงได้อย่างไร  คำตอบไม่ได้อยู่ในสายลม แต่อยู่ที่วิธีการทำงานของสื่อเอง โดยมีประชาชนเป็นเดิมพัน

////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////