องค์กรสื่อยื่นหนังสือถึง ผบ.ตร. สอบข้อเท็จจริงกรณีนักข่าวถูกทำร้าย
วันที่ 29 พ.ย. นายชวรงค์ ลิมปัทม์ปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พร้อมด้วยกรรมการบริหารสมาคมฯ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงและชี้แจงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายและกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยระบุว่า ด้วยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มองค์การพิทักษ์สยามพยายามที่จะฝ่าด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจบนถนนราชดำเนินนอก บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อไปสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จนเกิดการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนกระทั่งมีการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อควบคุมฝูงชนตามความทราบแล้วนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้มีช่างภาพสื่อมวลชนอย่างน้อย 3 รายถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังประทุษร้าย และจับกุมไปคุมขังไว้บนรถควบคุมผู้ต้องหาขณะที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่บันทึกภาพเหตุการณ์ดังกล่าว
การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถือเป็นการขัดขวางและคุมคามการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน ที่มีหน้าที่ต้องนำข่าวสารข้อเท็จจริงมานำเสนอต่อประชาชนตามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตามที่มาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติรับรองไว้
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพ ขอเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการดังต่อไปนี้ 1. ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงและชี้แจงผลการสอบสวน โดยให้มีผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นกรรมการสอบสวนด้วย 2. จัดให้มีการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าว 3. ออกระเบียบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง โดยให้มีผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนมีส่วนร่วมและยอมรับในระเบียบดังกล่าวร่วมกัน
ขณะที่รัฐสภา นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ก็ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อ นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้ บริโภค วุฒิสภา เพื่อขอให้วุฒิสภาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการปฎิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน ในเหตุการณ์การชุมนุม เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามพยายามที่จะฝ่ายด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจบนนถนนราชดำเนินนอก บริเวณสะพานมัฆวาน จนเกิดการปะทะกัน และมีการใช้แก๊สน้ำตากับกลุ่มผู้ชุมนุม
โดยในเหตุการณ์นั้นได้มีช่างภาพสื่อมวลชนประมาณ 3 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังประทุษร้าย และจับกุมไปคุมขังไว้บนรถควบคุมบนรถผู้ต้องหา ขณะเข้าไปปฎิบัติหน้าที่บันทึกภาพเหตุการณ์ดังกล่าว ถือว่าเป็นการขัดขวางและคุกคามการปฎิบัติงานของสื่อมวลชนที่มีหน้าที่ต้องนำข่าวสารข้อเท็จจริงมานำเสนอต่อประชาชนตามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตามที่มาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
//////////////////////////////////////////////////////////////////////
๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
เรื่อง ขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงและชี้แจงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายและกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
เรียน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ด้วยเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๕๕ ที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มองค์การพิทักษ์สยามพยายามที่จะฝ่าด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจบนถนนราชดำเนินนอก บริเวณสะพานมัฆวาน เพื่อไปสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จนเกิดการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจนกระทั่งมีการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อควบคุมฝูงชนตามความทราบแล้วนั้น
ข้อเท็จจริงปรากฎว่า ได้มีช่างภาพสื่อมวลชนอย่างน้อย ๓ ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังประทุษร้ายและจับกุมไปคุมขังไว้บนรถควบคุมผู้ต้องหา ขณะที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่บันทึกภาพเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือเป็นการขัดขวางและคุมคามการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนที่มีหน้าที่ต้องนำข่าวสารข้อเท็จจริงมานำเสนอต่อประชาชนตามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตามที่มาตรา ๔๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ บัญญัติรับรองไว้
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพ ขอเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการดังต่อไปนี้
๑. ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงและชี้แจงผลการสอบสวน โดยให้มีผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นกรรมการสอบสวนด้วย
๒. จัดให้มีการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าว
๓. ออกระเบียบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง โดยให้มีผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนมีส่วนร่วมและยอมรับในระเบียบดังกล่าวร่วมกัน
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ
ขอแสดงความนับถือ
(นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี) (นายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์)
นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
/////////////////////////////////////////////////////
///////////////////////////////////////////////////////
จดหมายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
เรื่อง การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในช่วงสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง