“ชัยวัฒน์” ระบุ อยากเห็นสื่อรูปแบบใหม่

“ชัยวัฒน์” ระบุ อยากเห็นสื่อรูปแบบใหม่ สื่อที่มีสติ-มารยาทในการนำเสนอข่าว ชี้ ถ้าทำได้จะทำให้สังคมพัฒนาไปได้มาก

ศ. ดร. ชัยวัฒน์  สถาอานันท์  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ศ. ดร. ชัยวัฒน์  สถาอานันท์  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุในบางช่วงบางตอนจากกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก World Freedom Day ณ อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยเปิดให้มีการเสวนาเรื่อง “เสรีภาพ...ที่ไม่คุกคาม”  ว่า เสรีภาพ ..ที่ไม่คุกคาม นั้นไม่มี เพราะว่า ข้อแรก คำ 2 นี้ อยู่บนฐานคนละฐานกัน  คือ “เสรีภาพ” เป็นคำที่มีความหมายในเชิงปรัชญา แต่ “คุกคาม” เป็นคำที่มีความหมายในเชิงจิตวิทยา เวลาที่บอกว่าสื่อถูกคุกคามจากอำนาจรัฐหรือกลุ่มทุนนั้นไม่แปลก เพราะสื่อทุกวันนี้เป็น ธุรกิจเยอะมาก และถ้าอยู่ในโลกของธุรกิจก็ต้อง ถูกผูก ถูกลาก ถูกดึง จากกระแสของทุนอยู่แล้ว

 

ทั้งนี้ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า “เบอร์ทัลรัสเซลส์ บอกว่า เสรีภาพ เหมือนเสือ ซึ่งเสือเป็นสัตว์ที่สวยงาม โดยเฉพาะเวลาอยู่ในกรง นั่นอาจเป็นเพราะว่า “เสรีภาพ” มีเขี้ยวเล็บ และเสรีภาพมีไว้เพื่อการต่อสู้ เพื่อการต่อต้าน เพราะฉะนั้นเสรีภาพ จึงทรงพลังอย่างมหาศาล”

 

“ถ้าท่านจำได้ ประโยคแรกของสัญญาประชาคม ระบุว่า มนุษย์เกิดมามีเสรี แต่ทุกหนแห่งต้องตกอยู่ใต้พันธนาการ.. คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมมันไม่มีเสรี โดยไม่มีพันธนาการได้ แต่สิ่งที่รุสโซ ทำคือ การทำให้เสรีภาพดำรงอยู่ในพันธนาการได้ แต่เพราะสื่อมีอาวุธที่ทรงพลัง นั่นก็คือ ปากกา”

 

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ระบุว่า คุณสมบัติที่มากับเสรีภาพ คือ ความไม่แน่นอน เพราะว่าเมื่อมีเสรีภาพแล้วมันไม่แน่นอน นั่นทำให้ตัดสินใจอะไรไม่ได้หลายอย่างและมันมีความเสี่ยงสูง จึงไม่น่าแปลกใจที่มนุษย์วิ่งหนีเสรีภาพ เพราะในที่สุดเมื่อมนุษย์ต้องตัดสินใจหลายอย่าง เมื่อทุกอย่างมันอยู่บนบ่ามันก็หนักน่าดู ทำให้มนุษย์จำนวนหนึ่งจึงไม่อยากมีเสรีภาพอีกต่อไป

 

ในทางทฤษฎี เสรีภาพ มี 2 แบบ คือ เสรีภาพเชิงลบ หมายความว่า มนุษย์ที่ไม่มีอุปสรรคอื่นๆมาสกัดขัดขวาง ส่วนเสรีภาพเชิงบวก หมายความว่า มนุษย์ที่มีความสามารถที่จะควบคุมตัวเองได้

 

สังคมไทย ถูกยึดโยงด้วยคำว่า “สัมพันธภาพทางอำนาจ” ที่ต่างฝ่ายต่างต้องพึ่งพา หรือแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน  ที่สุดแล้วคนทำสื่อคงอยากทำในเรื่องที่เป็นความจริง แต่ที่สุดแล้วมันก็มีสิ่งที่เป็นสิ่งวิพากษ์วิจารณ์ด้วย ทำยังไงนักข่าวจึงจะเขียนข่าวให้คมคาย ไม่ใช่พูดถึงแค่บางเรื่อง พูดแต่เรื่องดีๆ  เพราะฉะนั้นสิ่งที่ตามมาคือ การทำข่าวให้คมคายควรจะทำอย่างไร  คำว่า “คมคาย” มาจาก “คม” และ “ระคาย” เพราะ อะไรที่มันคมก็มักจะทำให้ระคาย มันบาดหู คนทำสื่อต้องทำสิ่งที่บอกความจริง ในที่สุดแล้วนักข่าวจะทำอย่างไร บรรณาธิการจะทำอย่างไรให้คนในสังคมฟังคำที่มันบาดหูให้เกิดความรู้สึกไม่โกรธ และคิดหาทางเลือกอื่นได้ โดยเฉพาะในสังคมที่ยังมีความแตกแยกอยู่ ถ้าหากสื่อทำได้ ก็จะกลายเป็นสื่อที่น่าสนใจและไม่มีวันหมดพลังไป

 

“ผมอยากเห็นสื่อที่ไม่น่าเบื่อ คือสื่อที่มีสติในการเขียนข่าว มีปัญญาในการเขียนบทบรรณาธิการ อย่าคิดว่าคนอ่านโง่ ผมไม่อยากเห็นสื่อที่ไม่มีมารยาท คุณคมคายแบบมีมารยาทได้หรือไม่ ถ้าคุณทำได้จะทำให้พัฒนาสังคมไทยไปได้มาก แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ยังต้องมานั่งทะเลาะกันอยู่อย่างนี้ มันเป็นคุณภาพทางอารมณ์ของสังคมไทย สมมติว่าเราจะด่าใครสักคน เราน่าจะคิดว่าจะด่าอย่างไรดีให้เขารู้สึกดีที่ถูกด่า ไม่ใช่ด่าให้เขาเจ็บ คนเรามันต้องมีด้านแบบนี้บ้าง” ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว