เมื่อสมาคมนักข่าวไทย ก้าวสู่เวทีโลก

Nataya

นับเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นองค์กรสื่อที่ได้รับการยอมรับจากสื่อในประชาคมโลก โดยได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม องค์กรเวทีโลกเพื่อการพัฒนาสื่อ (Global Forum for Media Development)ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เมื่อวันที่ 7-10 ธันวาคม 2551 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กับเพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อสารมวลชน และองค์กรเพื่อการพัฒนาสื่อทุกระดับในเวทีโลกเกือบ 500 คน จาก 100 ประเทศ โดยมีเป้าหมายมุ่งเน้นการพัฒนา และส่งเสริมความมีอิสระในการทำหน้าที่ของคนในวงการสื่อสารมวลชน GFMD มีประธานชื่อ นาย David Hoffman ซึ่งเป็นประธานของ Internews Network ด้วย เคยจัดประชุมครั้งแรกเมื่อปี 2548 ที่กรุงอัมมาน ประเทศ จอร์แดน โดยคุณชวงรค์ ลิมปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาคมฯ เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมในครั้งนั้น จนกระทั่งการประชุมครั้งที่สอง GFMD ได้เชิญนายกสมาคมฯเข้าร่วมประชุมในฐานะตัวแทนของนักข่าวไทย และเป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับฟังแนวคิดของสื่อและองค์กรพัฒนาสื่อจากทั่วทุกมุมโลก

ตลอด 4 วันของการประชุมซึ่งใช้รูปแบบของการทำ workshop คือการระดมความเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมตามกลุ่มความสนใจ ใน 40 หัวข้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่เน้นความสำคัญของบทบาทสื่อในยุคโลกาภิวัฒน์เพื่อส่งเสริมสันติภาพ ไม่ตกเป็นเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือเป็นกระบอกเสียงของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยส่งเสริมให้องค์การพัฒนาเอกชนในระดับภูมิภาคให้ทุนสนับสนุนการรายงานข่าวในพื้นที่ ซึ่งอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทุกภูมิภาค รวมทั้งการแสวงหามาตรการดูแลความปลอดภัยของนักข่าว และการให้ความสำคัญกับการพัฒนาของสื่ออินเตอร์เนทในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาของสื่อในบ้านเรา

ในส่วนของแนวทางการหาทุนสำหรับการพัฒนาสื่อสารมวลชนของสมาคมนักข่าวฯ ซึ่งร่วมมือกับสถาบันอิศรา ได้ใช้รูปแบบของการขอทุนสนับสนุนจากองค์การมหาชน อย่างสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ( สสส.) และการหารายได้จากการจำหน่ายหนังสือสารคดีเชิงข่าว “เมื่อฟ้าหม่นเจดีย์หักที่ปักษ์ใต้” เพื่อเป็นทุนสำหรับ ศูนย์ข่าวอิศราในการรายงานข่าวในพื้นที่ซึ่งมีสถานการณ์ความขัดแย้ง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนการฝึกอบรมเสริมสร้างศักยภาพของนักข่าว และการวิจัยเพื่อเป็นองค์ความรู้ในการพัฒนาสื่ออย่างรอบด้านต่อไป โดยเงินทุนสนับสนุนส่วนใหญ่มาจาก สสส. ซึ่งนับว่าเพียงพออยู่แล้ว หากในอนาคตองค์กรสื่อของเรา มีความจำเป็นต้องการารขอทุนสนับสนุนจากองค์กรเหล่านี้ก็สามารถทำได้เช่นกัน

การรายงานข่าวในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง เช่น สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรา ซึ่งเคยคิดว่าเป็นปัญหานั้น กลายเป็นเรื่องเล็กเมื่อเทียบกับปัญหาในประเทศอื่นๆ ซึ่งหนักหนาสาหัสกว่าเรามากนัก เพราะนักข่าวมีภัยคุกคามรอบด้านถูกการเมืองภายในเล่นงานอย่างหนักถึงแก่ชีวิตมากมาย โดยเฉพาะประเทศอาฟริกา และกลุ่มประเทศในละตินอเมริกา แม้กระทั่งในเอเซียเช่นฟิลิปปินส์ มีนักข่าวถูกฆ่าตายเป็นร้อยในหนึ่งปี ดังนั้นผู้แทนสื่อและองค์กรสื่อของประเทศเหล่านั้น จึงนำปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศของเขามาระดมสมองกับบรรดานักคิดแนวสันติวิธี รวมทั้งผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อร่วมกันหาทางออก พร้อมกับขอทุนสนับสนุนจากองค์กรเอกชนในภูมิภาคเพื่อสนับสนุน และส่งเสริมเสรีภาพสื่อไปด้วย

นอกจากนี้ยังมีการนำกรณีศึกษาของสื่อในประเทศที่เป็นสังคมปิด และมีข้อจำกัดในเรื่องเสรีภาพการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เช่น ในทิเบต, พม่า และซูดาน ก็ถูกหยิบยกมาระดมสมอง เพื่อหามาตรการผ่อนคลายปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ด้วยเช่นเดียวกัน

การมีโอกาสเข้าร่วมประชุมครั้งนั้น ทำให้เข้าใจวิธีคิดของเพื่อนสื่อในภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น และยังเป็นโอกาสให้ได้รู้จักองค์กร Rory Peck Trust เป็นองค์กรเอกชนในอังกฤษซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 สำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอนมีผู้สนับสนุนเป็นสำนักข่าวใหญ่ๆ ทั่วโลกรวมทั้งสถานีโทรทัศน์ CNN และ BBC มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือครอบครัวของฟรีแลนซ์ หรือสตริงเกอร์ที่ถูกฆ่าตาย โดยคุณ Elisabet Cantenys สาวชาวสเปนมีหน้าที่ติดตามดูแลนักข่าวที่ไม่ได้เป็นพนักงานประจำของสำนักพิมพ์ใดๆ ในทวีปเอเซียทั้งหมด โดยองค์กรนี้เห็นว่าสตริงเกอร์เหล่านี้ไม่มีสวัสดิการเหมือนพนักงานประจำ เมื่อมีภัยคุกคามถึงชีวิตแล้วครอบครัวของพวกเขาโดยเฉพาะบุตรจะได้รับการช่วยเหลือให้ทุนสนับสนุนการศึกษาซึ่งจะมีการประสานรายละเอียดในการขอทุน จากองค์กรนี้ต่อไป

คุณ Elisabet เคยโทรศัพท์มาถึงจังหวัดสุพรรณบุรี กรณีสตริงเกอร์ของมติชนที่ถูกฆ่าตาย คุณจารึก รังเจริญ แต่ไม่สามารถสื่อสารกับคนในครอบครัวของเขาได้ เพราะคนไทยส่วนใหญ่มีช่องว่างทางภาษาอังกฤษ ซึ่งต่อไปนี้สมาคมฯสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานกับองค์กรนี้ได้หากเกิดปัญหาในอนาคต ผ่านศูนย์เฝ้าระวังการคุกคามสื่อ ของสมาคม และองค์กรนี้ผ่านช่องทางเวปไซด์ www.rorypecktrust.org หรืออีเมล์ elisabet@rorypecktrust.org

โอกาสนี้ทำให้สมาคมฯ มีช่องทางที่จะช่วยเหลือคนในวิชาชีพเดียวกับเรามากขึ้น เมื่อเห็นว่าช่องทางนี้ไม่มีอะไรเสียหายกับพวกเรานอกจากเป็นประโยชน์ ดิฉันได้อาสาคุณ Elisabet ที่จะประสานงานกับเขาให้ในทุกกรณี หลังจากนี้หากสตริงเกอร์ในบ้านเราคนใดก็ตามประสบปัญหาเช่นเดียวกันนี้ เพื่อให้องค์กรนี้สามารถยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออีกทางหนึ่งด้วย หลังจากที่สมาคมฯ ให้การช่วยเหลือได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

นอกจากนี้ ดิฉันได้นำสมาคมฯของเราสมัครเป็นสมาชิกของ GFMD เพื่อให้ได้รักษาสิทธิของการให้ตัวแทนของสมาคมฯ เข้าร่วมประชุมกับองค์กรนี้ซึ่งจะจัดประชุมในครั้งต่อไป ในทุก 2 ปี หรืออาจจะมีการประชุมนัดพิเศษกลางปีนี้ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ก็ได้ คงต้องลองติดตามดูว่าเขาจะเชิญสมาคมฯเราเข้าร่วมหรือไม่ เพราะการประชุมครั้งนี้ผู้จัดรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้เกือบทั้งหมด นอกจากค่าสมาชิกเพียงไม่ถึง 2 พันบาท และอาหารบางมื้อเท่านั้น หรือว่าจะรอให้มีการประชุมตามปกติในทุก 2 ปี ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ทำให้ตัวแทนขององค์กรสื่อของเราได้มีโอกาสเปิดโลกทัศน์ และได้รู้จักผู้คนในแวดวงเดียวกับเราในทุกมุมโลก.