นินทาสื่อโลก มี.ค. 52

นับตั้งแต่สึนามิเศรษฐกิจ-การเงินโหมซัดจากชายฝั่งตะวันตกสู่ตะวันออก วงการสื่อสิ่งพิมพ์ต่างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า นอกเหนือจากที่ถูกคลื่นยักษ์จากสื่อออนไลน์รุมกระหน่ำตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้หนังสือพิมพ์ในแดนดินถิ่นอินทรีอเมริกาต่างยอมสละอวัยวะกันถ้วนหน้าเพื่อรักษาชีวิตไว้ ด้วยการเดินหน้าแผนปรับลดคนและลดขนาดเป็นแถวๆ หวังจะลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลงมากที่สุด นับวันหมาเฝ้าบ้านก็เลยกลายเป็นหมาโซที่ถูกทิ้งอย่างไม่ใยดีมากขึ้นตามลำดับ

ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ยักษ์เล็กในแดนดินถิ่นอินทรีหงอยต่างพยายามสรรหาหนทางที่สร้างสรรค์เพื่อความอยู่รอดของสื่อหนังสือพิมพ์ จากที่เคยทำสงครามกันอย่างดุเดือดเมื่อหลายสิบปีมาแล้วเพื่อชิงความเป็นเจ้ายุทธจักรในวงการสื่อ  ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่หนังสือพิมพ์คู่แข่งหลายฉบับจะหันมาจับมือเป็นพันมิตรอย่างหลวมๆด้วยการแลกเปลี่ยนภาพข่าวและบทวิเคราะห์กันเพื่อช่วยกันประคองเอาตัวรอด แทนที่จะมัวหันหน้ากันคนละทาง สร้างดาวกันคนละกวงเหมือนในอดีต ถือเป็นกลยุทธตาอินกับตานาร่วมกันสร้างตำนานใหม่  ป้องกันไม่ให้ตาอยู่ซึ่งก็คือสื่อใหม่เช่นอินเตอร์เน็ตมาแย่งชิ้นปลามันไปเหมือนเช่นที่ทำมาตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ด้านสมาคมบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทั่วถิ่นคาวบอยเก่าต้องประกาศยกเลิกการประชุมประจำปีนี้เนื่องจากต้องการประหยัดงบประมาณ จะได้นำเงินก้อนนั้นไปต่ออายุสื่อหนังสือพิมพ์ได้อีกอึดใจหนึ่ง นับเป็นครั้งที่ 2 ที่สมาคมนี้มีเหตุต้องยกเลิกการประชุมประจำปี หลังจากเคยยกเลิกครั้งแรกในช่วงเดือนสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกว่า 60 ปีมาแล้ว

ผิดกับสำนักข่าวเอเอฟพีของฝรั่งเศสที่ได้ดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยการจับมือกับสำนักข่าวบันเทิงฝรั่งเศส เปิดตัว"รีแล็กซ์นิวส์" สำนักข่าวบันเทิงแห่งใหม่ในเอเชีย หวังดันเป็นศูนย์รวมข่าวสารด้านบันเทิงและไลฟ์สไตล์อันดับหนึ่งของโลก หลังผลการสำรวจพบว่าข่าวแนวไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นข่าวการท่องเที่ยว ชีวิตความเป็นอยู่ภายในบ้าน ความบันเทิง สุขภาพและการกินดีอยู่ดี ได้กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์มากขึ้นเรื่อยๆ

ถือเป็นข่าวดีผสมผสานกับข่าวร้ายก็ว่าได้ เมื่อคณะกรรมการคุ้มครองสื่อ (ซีพีเจ) รายงานว่าเมื่อ ปีที่แล้วมีนักข่าวทั่วโลกเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่น้อยลงเหลือแค่  41 คนจาก 65 คนเมื่อปีก่อนหน้า  ส่วนนักข่าวที่ถูกจับกุมคุมขังลดลงเล็กน้อยจาก 127 คน เหลือ 125 คน แต่รัฐบาลกลับมีการกดขี่เสรีภาพสื่อมวลชนอย่างเป็นระบบมากขึ้น  ด้วยการสร้างบรรยากาศให้สื่อมวลชนหวาดกลัวผ่านการใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบและการจับกุมเชิงสัญลักษณ์จนสื่อต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง  ในส่วนเวียดนาม พม่า ไทย และหลายประเทศในเอเชียต่างเลียยแบบจีนในเรื่องการควบคุมอินเทอร์เน็ต

ซีพีเจยังฉวยโอกาสที่ทำเนียบกำลังผลัดยุคใหม่โดยมีผู้นำผิวดำคนแรกชื่อ บารัก โอบามา กล้าวิจารณ์เสรีภาพของสหรัฐเป็นครั้งแรกว่าไม่ได้โปร่งใสเหมือนกับที่ได้รับสมญานามว่าดินแดนแห่งเสรีภาพ  เพราะได้ควบคุมตัวนักข่าวโดยไม่มีการตั้งข้อหาเป็นจำนวนมาก พร้อมกันนี้ก็เรียกร้องให้นายโอบามาสอบสวนเรื่องที่ทหารอเมริกันเข่นฆ่าสังหารนักข่าวหลายต่อหลายคนด้วย

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก แอลพี ซึ่งก่อตั้งโดยนายไมเคิล บลูมเบิร์ก นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ค เมื่อปี 2524 ประกาศปลดพนักงานฝ่ายข่าวในแผนกโทรทัศน์และวิทยุในสหรัฐกว่า 100 คน ถือเป็นการปลดพนักงานครั้งแรกของบริษัทนี้ซึ่งได้เตรียมการจะปลดพนักงานเพิ่มเติมในอังกฤษ, ยุโรปและญี่ปุ่นหลังขาดทุนปีละ 20 ล้านดอลลาร์

"ผู้ใดได้ครองสื่อผู้นั้นได้ครองโลก" สงสัยว่าคงจะเห็นซึ้งถึงสัจธรรมข้อนี้ดี ทางการจีนจึงวางแผนขยับขยายสื่อของตัวเองออกสู่เวทีโลก เพื่อให้สมศักดิ์ศรีผู้ยิ่งใหญ่แห่งบูรพาทิศที่ไม่เคยยอมสยบให้แม้แต่พญาอินทรี และพญาหมีขาว แผนการที่ว่าคือการเปิดช่องทีวีเพิ่มอีกหลายภาษานอกเหนือจากภาคภาษาฝรั่งและสเปน โดยมีแผนจะเปิดช่องภาษารัสเซีย กับภาษาอาหรับด้วย ไม่นับรวมถึงเรื่องที่จะเปิดหนังสือพิมพ์ภาคภาษาอังกฤษฉบับที่ 2 รองจากเดลี ไชนาเพื่อเป็นเครื่องมือเผยแพร่อุดมการณ์ และความยิ่งใหญ่ของแดนมังกร ทั้งนี้ แผนการยกเครื่องสื่อรัฐของทางการจีนครั้งนี้ต้องใช้งบสูงถึง 45,000 ล้านหยวน หรือราว 247,500 ล้านบาท

เป็นกลยุทธ์การฉวยโอกาสตีเหล็กขณะกำลังร้อนอย่างสุดแสนจะน่าเกลียด เมื่อกลุ่มส.ส.ผู้ทรงอิทธิพลของแดนผู้ดีอังกฤษประกาศจะยื่นมือเข้าไปตรวจสอบบทบาทของสื่อมวลชนในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินว่าสมควรจะถูกปากชั่วคราวช่วงที่ตลาดทุนกำลังผันผวนอย่างหนักหรือไม่ เนื่องจากมีส่วนสร้างกระแสจื่นตระหนกขึ้นในหมู่นักลงทุน

นายคาร์ลอส สลิม มหาเศรษฐีธุรกิจสื่อสารชาวเม็กซิกันอาจลงทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐในบริษัทนิวยอร์กไทมส์ เจ้าของหนังสือพิมพ์ 18 ฉบับในสหรัฐ เช่น นิวยอร์กไทมส์ อินเตอร์เนชันแนลเฮรัลด์ทริบูน และบอสตันโกลบ ในสหรัฐที่กำลังมีปัญหาทางการเงิน เนื่องจากมีรายได้จากการโฆษณาลดลงมาก ทำให้ประสบปัญหาในการชำระหนี้ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 14,000 ล้านบาท) ที่จะครบกำหนดชำระในเดือนพฤษภาคมนี้

สถาบันวิจัยเอบรามส์ในสหรัฐได้เผยผลสำรวจนักข่าวมะกัน 100 คนเกี่ยวกับบทบาทในการทำข่าวช่วงที่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ปรากฎว่า 62 เปอร์เซนต์จวกสื่อเละแทบไม่มีชิ้นดีว่าดีแต่แต่งแต้มภาพเศรษฐกิจให้ดูดีเกินจริงขณะที่เมินเฉยไม่ยอมทำข่าวในเชิงเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับเค้าลางการก่อตัวของวิกฤติการเงิน