ศรีลังกา ดินแดนที่สวยงามท่ามกลางความขัดแย้ง

ผมสังเกตุว่าคนไทยหลายคนเมื่อพูดถึงประเทศศรีลังกา ผมรู้สึกได้ทันทีว่าพวกเขาเหล่านั้นแสดงอาการกลัวต่อสถานการณ์การเมืองของประเทศนี้ ที่พวกเขาได้ยินได้ฟังมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี และปฏิเสธ หรือลังเลใจที่จะเดินทางไปที่นั่นเพื่อหาประสบการณ์อีกเสี้ยวหนึ่งให้กับชีวิต ซึ่งหารู้ไม่ว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งถ้าสักครั้งหนึ่งในชีวิตคุณมีโอกาสมาที่นี่แต่ กลับปฏิเสธโอกาสนั้นไป

การสู้รบอย่างดุเดือดระหว่างรัฐบาลศรีลังกา ซึ่งเป็นรัฐบาลของคนท้องถิ่นเชื้อสายสิงหล หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า  Singhalese  และกลุ่มกบฏทมิฬอีแลม  หรือมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Liberation Tigers of Tamil Elam (LTTE)  ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยเชื้อสาย ทมิฬ  (Tamil) ที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือ และทางภาคตะวันออกบางส่วนของประเทศศรีลังกาที่เกิดขึ้นเป็นเวลายาวนาน เป็นเหตุการณ์หลักที่สะท้อนถึงความไม่สงบทางการเมืองของประเทศศรีลังกา ถึงแม้ว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายได้เซ็นต์สัญญาการหยุดยิงเพื่อนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก็ตาม แต่สิ่งนั้นก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง  คนท้องถิ่นที่นี่บอกกับผมว่า ฝ่ายกบฎทมิฬอีแลมยังโจมตีหน่วยงานราชการ ข้าราชการ รวมถึงประชาชนใน โคลอมโบซึ่งเป็นเมืองหลวง อยู่ แม้ว่าจะไม่บ่อยเหมือนในอดีตก็ตาม  ในขณะที่รัฐบาลก็ยังมีการตรึงกำลังในสถานที่สำคัญ และตั้งจุดตรวจบนถนนสายหลักอยู่ทั่วประเทศ คนท้องถิ่นที่นี่ยอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศของพวกเขาไม่ค่อยจะสู้ดีมากนักในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าตัวแทนรัฐบาลออกมารับรองความปลอดภัยอยู่เป็นประจำแล้วก็ตาม

สำหรับผมแล้วผมมีโอกาสได้มาประเทศนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ถามว่ากลัวต่อเหตุการณ์การสู้รบที่ไหมผมเองไม่ได้รู้สึกกลัวอะไร  เพราะมองว่าเป็นเรื่องปัญหาภายในประเทศ  ทุกครั้งที่ได้มาก็เป็นการเดินทางเพื่อมาทำงานด้วยกันทั้งนั้น แต่หลังจากการทำงานแล้วถึงจะได้มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวที่โน่นที่นั่น  แล้วแต่คนท้องถิ่นที่นี่จะแนะนำ หรือเวลาจะเอื้ออำนวย ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะว่าโดยปกติแล้วเที่ยวบินที่เดินทางออกจากประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นการบินไทย หรือ สายการบินของประเทศศรีลังกา จะไม่มีเดินทางทุกวันจะเป็นแบบวันเว้นวัน ถึงแม้ว่าคุณเสร็จภาระกิจแล้วก็ตาม แต่ไม่มีเที่ยวบินให้คุณกลับคุณก็ต้องรออีก1 วันเต็มๆ  และวิธีการรอที่เป็นการฆ่าเวลาที่ดีที่สุดคือการท่องเที่ยว ซึ่งดีกว่าการนอนอุดอู้อยู่แต่ในห้องที่โรงแรมกว่าเป็นไหนๆ

การเดินทางมาประเทศศรีลังกาในครั้งล่าสุดนี้ ผมได้รับมอบหมายจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (Thai Journalists Association) ให้ไปร่วมประชุมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ และองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิเสรีภาพของสื่อที่อยู่ในภูมิภาคเอซียแปซิฟิค กว่า 40 คน ระหว่างวันที่ 4-5 กรกฎาคม 2551  แต่จำเป็นต้องใช้เวลาอยู่ที่นั้นถึง 5 วัน 4 คืน เพราะด้วยเหตุผลว่าเครื่องบินที่เดินทางมาที่นี่ไม่มีบินไปกลับประเทศไทยทุกวัน  การประชุมครั้งนี้ภายใต้หัวข้อ  Aisa Regional Forum for  Media Development จัดขึ้นที่เมืองนิกอมโบ  (Nigombo) ซึ่งเป็นเมืองชายทะเล ห่างจากกรุงโคลอมโบประมาณ 20 กิโลเมตร  เจ้าภาพของงานนี้คือ  Global Forum Media Development (GFMD)  ซึ่งเป็นโครงการในสังกัดของสหประชาชาติ (United Nations) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุง บรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม

เบตตีน่า ปีเตอร์ ผู้อำนวยการโครงการกล่าวแนะนำโครงการว่า โครงการนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นการพัฒนาสื่อมวลชน และองค์กรที่ทำงานทางด้านสื่อในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการทำงาน มีความเป็นอิสระในการทำงาน และส่งเสริมในเรื่องการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสื่อสารมวลชน และความปลอดภัยของผู้ที่ทำงานข่าว  เธอบอกต่ออีกว่า โครงการของเธอนั้นมีเครือข่าย ประมาณ 400 องค์กรใน 97 ประเทศทั่วโลก ตั้งครั้งแรกในปี ค.ศ. 2005 ที่ประเทศโอมาน การประชุมพบปะหารือกันในครั้งนี้ที่ประเทศศรีลังกาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพื่อเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูล แนวคิด สถานการณ์ด้านสื่อมวลชนของแต่ละประเทศ และนำมาสรุปเพื่อนำเสนอในที่ประชุมใหญ่อีกครั้งที่จะเกิดขึ้นที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในช่วงเดือนธันวาคมที่จะมาถึงนี้ (หวังว่าจะได้ไปอีก)  ซึ่งเธอบอกกว่าที่ผ่านมาเธอได้จัดประชุมกลุ่มย่อยในแต่ละภูมิภาคเพื่อเก็บข้อมูลในลักษณะเดียวกันมาก่อนหน้านี้แล้ว

สำหรับผมแล้วในช่วงระยะเวลา 2 วันในที่ประชุม ผมได้มีโอกาสอธิบายสถานการณ์เรื่องสื่อสารมวลชนในประเทศไทย  และกิจกรรมของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมม์ทางด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยเฉพาะนักหนังสือพิมพ์ และกิจกรรมที่ทางสมาคมทำในการหารายได้เข้าสมาคม ซึ่งตัวแทนสื่อหลายองค์กรทั้งจากประเทศมาเลเซีย เนปาล ศรีลังกา หรือแม้กระทั่งอินเดีย ในที่ประชุม และนอกห้องประชุมแสดงความสนใจต่อ การทำงานของศูนย์ข่าวอิสรา โต๊ะข่าวภาคใต้  พวกเขาสนใจถึงการนำเสนอข่าวรายงานความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทย รวมถึงวิธีการส่งเสริมการทำข่าวของนักข่าวในภาคใต้ให้เป็นอิสระ และให้พวกเขามีความปลอดภัยได้อย่างไร จากนั้นแล้วพวกเขายังสนใจวิธีการหารายได้ของสมาคมจากการพิมพ์หนังสือรวมเรื่องภาคใต้ ( ฟ้าหม่น เจดีย์หัก ที่ปักษ์ใต้) ที่นำมาขายอีกด้วย ซึ่งผมก็ได้นำเสนอถึงวิธีการทำงานที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเน้นในเรื่องของการประสานงาน และ การอบรมให้ความรู้กับนักข่าวในพื้นที่ผ่านทางวิทยากร ของสมาคมที่ส่งคนลงไปในพื้นที่  เป็นต้น ส่วนเรื่องการารายได้จากการพิมพ์หนังสือนั้น ตัวแทนสื่อจากหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศมาเลเซียให้ความสนใจเป็นพิเศษ และยังบอกกว่าอาจจะนำไปใช้ในองค์กรของพวกเขาบ้าง

เหมือนกับประเทศไทยตัวแทนขององค์กรสื่อต่างๆก็ผลัดกันขึ้นพูดถึงสถานการณ์ของสื่อในประเทศของพวกเขา  ซึ่งในภูมิภาคเอเซียนี้ สื่อมวลชนจากประเทศฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เนปาล อัฟกานิสถาน ปากีสถาน จะได้รับการคุกคามมากที่สุด

ภายหลังจากการประชุมเสร็จในตอนเย็นของวันที่  5 กรกฎาคม ก็ถึงเวลาสำรวจประเทศนี้แล้ว เพราะไม่เช่นนั้นแล้วผมก็ต้องนอนอุดอู้อยู่ในโรงเแรม  Brown's Beach อีกตั้ง 1 วัน 1 คืนเต็มๆ ไม่เอาเสียหละ คุณเล็ก เจ้าหน้าที่ของ SEAPA (Southeast Asian Press Alliance)  ซึ่งเป็นผู้ดูแลการเดินทางไปประชุมของตัวแทนสื่อในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เกิดมีไอเดียบรรเจิดชักชวนผมและเพื่อนที่ๆอยู่ในที่ประชุม จำได้ว่าได้สมาชิกก๊วนเที่ยวไปประมาณ 8 คน ไปแคนดี้ ซึ่งเป็นอดีตเมืองหลวงของประเทศศรีลังกา อยู่ตอนกลางของประเทศ บนภูเขาสูง อากาศเย็นตลอดปี (คนท้องถิ่นเขาว่ากันอย่างนั้นนะ)  ก่อนเดินทางไปจำได้แม่นเลยว่า คุณเล็กให้สามาชิลูกทัวร์ทุกคนตรวจสอบวันและเวลาในการเดินทางกลับว่าไม่เป็นเช้าของอีกวันหนึ่ง หรือ กลางคืนในวันที่เสร็จจากการประชุม  ซึ่งทุกคนในคณะก็ตรวจสอบดูและก็ไม่เห็นมีใครโต้แย้ง

จากนั้นคณะของเราก็ออกเดินทางจากโรงแรมที่เมืองนีกอมโบ มุ่งหน้า เมืองแดนดี้ ทันที่ พวกเราออกจากที่นั้นเวลา ประมาณ 6 โมงเย็นถึงที่หมายเวลาประมาณ 4 ทุ่ม โดยแวะทานข้าวที่โรงแรมหรูแห่งหนึ่งกลางทางชื่อว่า  Tamarind  Hotel สวยมากครับ เหมือนพวกเรานั่งทานข้าวอยู่กลางสวน โรงแรมแห่งนี้นักท่องเที่ยวอาจจะแปลกใจว่าทำไมประตูใหญ่ที่เข้าไปในบริเวณโรงแรมถึงต้องปิดตลอดเวลา และต้อรอสักพักกว่าจะมีคนมาเปิดทั้งๆที่เป็นสถานที่ให้บริการ พอไปถึงในโรงแรมก็อดถามไม่ได้ตามประสานักข่าวก็ได้คำตอบว่า เป็นการรักษาความปลอดภัยของสถานที่เหมือนที่พวกเรารู้อยู่ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศนี้

ทันทีที่พวกเราไปถึงโรงแรมแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนเขาในแคนดี้ จากที่ทุกคนกำลังสลึมสลือหลังจากการหลับมาบนรถ ก็ต้องตาสว่างทันที เมื่อหนึ่งในคณะซึ่งเป็นคนอินโดนีเซียท่าทางลุกรี้ลุกรนบอกกับพวกเราว่า เขาดูตารางการเดินทางผิด จริงๆแล้วเขาต้องเดินทางกลับในเช้าวันรุ่งขึ้น เวลา  9 นาฬิกา ไม่ทันการคุณเล็กเลยแก้ปัญหาโดยที่ให้คนขับรถขับรถกลับไปส่งเขาที่สนามบินและ ก็ตีรถกลับมารับพวกเราไปเที่ยวต่อในตอนเช้า  คนขับรถก็น่ารักมาเขาบอกว่าเขาขับรถไหวมันเป็นอาชีพเขา ทำไงได้หละไม่อย่างนั้นเพื่อนชาวอินโดคนนี้ก็ต้องตกเครื่องและต้องนั่งรอไปอีก 2 วันกว่าจะได้เครื่องกลับบ้าน

หลังจากรับรู้เรื่องฮา ที่ขำไม่ออก ผมก็เข้าห้องนอนหลับปุ๋ย และตื่นขึ้นมาอีกทีตอน 7 โมงเช้า บรรยากาศตอนเช้าที่นี่ อากาศเย็นสบายมาก มองไปทางไหนก็เห็นแต่สีเขียวผมสูดอากาศที่บริสุทธิ์ไปหลายฟืด เกือบอิ่มไปแล้ว มนึกได้อีกทียังไม่ได้ทานอาหารเช้าเลย หลังจากทานเสร็จ คณะของเราก็ออกจากที่พักซึ่งอยู่บนเขาเดินทางไป ศูนย์เลี้ยงช้างกำพร้า หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า The Elephant Orphanage Centre  ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง  Pinnawala ห่างจากแคนดี้ไปประมาณ  ประมาณ  1-2 ชั่วโมง ที่นี่เราได้พบเห็นช้างเลี้ยงกว่า 80 เชือกที่อาศัยอยู่ร่วมกัน เล่นนำ อาบนำกัน มันเยอะมากไม่เคยเห้นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างนี้มาก่อนที่อยู่ร่วมกัน ผมจำได้ว่าผมมาที่นี่เป็นครั้งที่2  แต่ไม่ได้เห็นจำนวนช้างเยอะมากขนาดนี้  เพราะครั้งนั้นตอนที่มาถึงควาญช้างเขาไม่ได้ให้ช้างมาลงเล่นนำที่แม่นำอย่างนี้ ก็เลยไม่ได้เห็น จากนั้นพวกเราก็มุงหน้าสู่สวนสมุนไพรชื่อดังของ แคนดี้เป็นสวนเอกชน  สร้างมาเพื่อให้นักท่องเที่ยวชมสมุนไพร และต้นไม้ที่หาดูยากในโลกนี้ จากนั้นก็ขายสินค้า ซึ่งเป็นยาที่สกัดจากสมุนไพรเหล่านี้ แพงมากๆๆๆ  ใครที่หลงไปอย่าไปซื้อเชียวนะ

ไปทั้ง 2 ที่ก็หมดเวลาไปครึ่งวันแล้ว บ่ายแก่ๆ คณะของเราก็เดินทางกลับมาเที่ยวในเมืองแคนดี้ พวกเราได้ไปซื้อของที่ตลาดสดในแคนดี้จำชื่อไม่ได้ว่าชื่ออะไรหาง่าย ตอนแรกคนขับรถพาพวกเราไปร้านขายของที่ระลึกของนักท่องเที่ยวแต่ว่าสินค้าแพงมาก และไม่ค่อยสวย พวกเราจึงบอกคนขับรถว่าอยากจะไปชมตลาดที่คนท้องถิ่นไปซื้อของกัน คนขับรถที่ทำหน้าที่เป็นไกด์ตอนแรกก็อิดออด นั่นหมายถึงเขาจะไม่ได้ค่าบริการ ค่านำ แต่พวกเราก็ยังคงยืนยันจะไปอยู่ดี เขาก็ต้องพากเราไป อยู่ที่นี่แระมาณ 1 ชั่วโมง ซื้อของได้เยอะแยะมากมายในราคาที่ถูกแสนถูก สินค้าที่มีชื่อเสียงก็คือ ชา เครื่องเทศ และผ้าบาติก หรือผ้าปักลายท้องถิ่น ตามแบบฉบับศรีลังกา เลือกได้ตามชอบใจ ที่ชอบอีกอย่างเพราะพ่อค้าแม่ค้าที่นี่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีทีเดียว ผมชอบเพราะได้มีการเจรจาโต้ตอบ ต่อรองของสนุกดี

ในช่วงเย็นพวกเราได้ไปกราบนมัสการพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้าที่ถูกเก็บรักษาไว้ที่วัด   Sri Dalada Maligawa หรือ  Temple of the Sacred Tooth Relic ที่ตั้งอยู่กลางใจเมือง ผมมาที่นี่เป็นครั้งที่สอง เช่นกัน มาครั้งแรกจำได้ว่ามาในช่วงเทศกาลที่ชาวแคนดี้จะมีการเอาช้างมาแห่แหน เฉลิมฉลองกันภายในวัด คนที่นี่ช่างเป็นชาวพุทธที่รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีได้ดีมากทีเดียว ผมอธิษฐานว่าถ้ามีโอกาสก็ได้ขอให้กลับมานมัสการพระเขี้ยวแก้วอีกครั้ง   เย็นมากแล้วหละคณะของเราก็กลับไปที่โรงแรมเพื่ออาบนำ เก็บของ ทานอาหารเย็น จำได้ว่าพวกเราเดินทางออกจากที่นี่ก็เกือบ 3 ทุ่ม แล้ว กลัวเหมือกันว่าจะตกเครื่อง ซึ่งออกตอนตี 1 ของอีกวันหนึ่ง แต่เราก็ต้อองไปให้ทัน 5 ทุ่มเพื่อลงทะเบียนขึ้นเครื่องให้ทัน โชคดีที่คนขับรถพาพวกเรามาถึงที่ และปลอดภัยในที่สุด เหลือแต่เพื่อนมาเลเซีย 2 คน ที่ยังมีเวลาอยู่ต่อที่ แคนดี้อีก 1 อาทิตย์ น่าอิฉาจัง


ข้อมูลทั่วไป ของประเทศศรีลังกา

ที่ตั้ง เป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย อยู่ทางตอนใต้ของอินเดียประมาณ 80 กิโลเมตร โดยมี Gulf of Mannar และช่องแคบ Palk คั่นกลาง อาณาเขต ทิศเหนือและตะวันออกจรดอ่าวเบ็งกอล ทิศใต้และ ทิศตะวันตกจรดมหาสมุทรอินเดีย พื้นที่ มี 9 จังหวัด รวมพื้นที่ทั้งหมด 65,610 ตารางกิโลเมตร (25,332 ตารางไมล์ ขนาดเท่ากับภาคกลางของประเทศไทย)
เมืองหลวง กรุงโคลัมโบ ตั้งอยู่ริมมหาสมุทรอินเดียทางภาคตะวันตกของประเทศ ภูมิอากาศ อากาศแบบเมืองร้อน ฝนตกชุกในช่วงมรสุม ซึ่งมี 2 ช่วง คือ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ตุลาคม – มกราคม) ฝนตกในภาคตะวันตกภาคใต้ และภาคกลางของประเทศ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (พฤษภาคม-สิงหาคม) ฝนตกในภาคเหนือและตะวันออกของประเทศ

  • กรุงโคลัมโบ อุณหภูมิเฉลี่ย 27 องศาเซลเซียส
  • เมืองแคนดี อุณหภูมิเฉลี่ย 20 องศาเซลเซียส
  • ช่วงอากาศร้อน (มีนาคม – มิถุนายน) อุณหภูมิเฉลี่ย 35 องศาเซลเซียส
  • ช่วงอากาศเย็น (พฤศจิกายน – มกราคม) อุณหภูมิเฉลี่ย 27 องศาเซลเซียส

ประชากร 19 ล้านคน (2542) ประกอบด้วยหลายเชื้อชาติ แต่ที่สำคัญมี 4 เชื้อชาติ คือ สิงหล (74%) ทมิฬศรีลังกา (12.6%) ทมิฬอินเดีย (5.5%) แขกมัวร์ (มุสลิมจากอินเดียและตะวันออกกลาง 7.1%) และอื่น ๆ คือ พวกเชื้อชาติ ดัทช์ โปรตุเกส และอังกฤษ (เรียกว่า Burgher) อัตราการเพิ่มของประชากร ร้อยละ 1.1 ต่อปี รายได้ประชาชาติต่อหัว 850 เหรียญสหรัฐฯ ศาสนา ประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา (69.3%) ฮินดู (15.5%) อิสลาม (7.6%) คริสเตียน (7.5%) และอื่น ๆ อีก 0.1% ภาษา-ภาษาราชการ คือ สิงหล และทมิฬ ภาษาอังกฤษใช้ติดต่อสื่อสารเป็นภาษากลาง อัตราการรู้หนังสือของประชากร 91 % เงินตรา ใช้เงินตราสกุล Rupee

ข้อมูลของเมืองที่กล่าวถึงในเรื่อง

โคลอมโบ

ถ้าคุณมีโอกาสขับรถเข้าสู่กรุงโคลอมโบคุณจะพบย่านการค้าที่พลุกพล่านพร้อมกับต้นไม้ ที่ปลูกไว้เรียงรายมีอุทยานสวนซินนามอน คุณสามารถแวะชม "ฟอร์ต" สถานที่ๆ เคยเป็น ศูนย์กลางบริหารงาน และที่ตั้งกองทหารชาวอังกฤษในอดีต "ถนนซีสตรีท" เป็นศูนย์รวมร้านขายทองคำในใจกลางเพททาร์ย่านบาซาร์ ซึ่งมี วิหารฮินดู สร้างด้วยหิน และสลักอย่างประณีตบรรจงและมีโบสถ์ วูลฟ์เฟนเดลของชาวดัชที่สร้างในปี ค.ศ. 1749 สำหรับโบราณสถานที่ควรค่าแห่งการไปเยือนในอุทยานสวนซินนามอนคือ สุเหร่าดาวาตากาฮา และโรงพยาบาลจักษุ นอกจากนี้ หากมีโอกาสควรแวะศูนย์ประชุม BMICH เพื่อชมพระพุทธรูปจำลองของพระอวัคนะ และจตุรัสแห่งอิสรภาพ

แคนดี้

แคนดี้ เมืองหลวงบนยอดเขาเป็นสถานที่จัดงานเทศกาล "เประแหระ" และเป็นที่มั่นสุดท้ายของ กษัตริย์สิงหลก่อนการยก ดินแดนให้กับจักรพรรดิอังกฤษในปี ค.ศ. 1815 แคนดี้เป็นเมืองที่ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาในศรีลังกา วัดวาอาราม ในเมืองนี้ยังคงรักษาขนบประเพณี ของพุทธศาสนิกชน แคนดี้ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับพุทธ ศาสนิกชนในศรีลังกาและทั่วโลก เพราะเป็นที่ตั้งของดาลาดา มาลิกาวา หรือ วัดพระเขี้ยวแก้ว ซึ่งประดิษฐานพระทนต์ของพระพุทธเจ้า

นีกอมโบ

นีกอมโบ เป็นหมู่บ้านประมงที่มีชื่อเสียงทางตอนเหนือของกรุงโคลอมโบมีคูคลองที่สร้างโดยชาวดัช ซึ่งเป็นสถานที่ๆ ชาวประมงมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ด้วยการล่องไปบนเรือที่ทาสีสันสดใสเมื่อมอง ไปตามฝั่งคลอง จะพบเห็นบ้านเรือนต่างๆ โบสถ์ รวมถึงนกแก้ว เราอาจจะล่องเรือไปในทะเล หรือไปตามลำคลองก็ได้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเมษายน ของทุกปีจะมีกิจกรรมการดำน้ำ ในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ด้วย บน 2 ฟากถนนในเมืองนี้มีโรงแรมและร้านค้าขายของที่ระลึกตั้งเรียงรายไปตลอดทาง