งานข่าวกับ work from home “โอกาสใหม่” ในวิกฤติโควิด

“เวลาเจอโจทย์แบบนี้ทำให้เราต้องดิ้นออก ต้องทำงานบนเงื่อนไขที่ปลอดภัย แต่ได้รายละเอียดสถานการณ์ทั้งหมด”

การแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ส่งผลให้ ทุกฝ่ายต้องนำมาตรการทำงานจากที่บ้าน(Work from Home) มาใช้เต็มรูปแบบ  ซึ่งสวนทางกับงานข่าวอย่างไรนั้น เสถียร วิริยะพรรณพงศา บรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ PPTV ยอมรับกับ “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทางคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5 ว่า การทำงานช่วงนี้เหนื่อยและยากมาก เพราะงานข่าวต้องออกไปเจอผู้คนและต้องเคลื่อนที่ตลอดเวลา Work from Home จึงไม่เหมาะอย่างยิ่งกับสภาพของโรคระบาด ที่มีการรณรงค์ให้อยู่นิ่งๆในบ้าน ซึ่งเป็นโจทย์ยากของทุกสถานีโทรทัศน์ ทำให้ทีมกองบรรณาธิการต้องคิดเยอะมาก 

ในวิกฤตมีโอกาสเป็นเรื่องจริง สิ่งที่คิดว่าทำไม่ได้ แต่ก็เกิดนวัตกรรมใหม่ๆขึ้น เช่น ประชุมออนไลน์ ผู้ประกาศต้องมีนิว normal ทุกวันนี้แต่งหน้าเองทำผมเอง จัดรายการที่บ้านโดยนำกล้องไปเซ็ต เป็นสตูดิโอแบบถ่ายทอดสด ถ้าจัดคนเดียวระบบเทคโนโลยีก็ไม่ซับซ้อน แต่จัดรายการคู่กันแบบคุยข่าวและอยู่คนละบ้านก็จะยุ่งยาก เพราะต้องสนทนาแลกเปลี่ยนกัน 2- 3 ชั่วโมง อาจจะไม่ราบรื่นเหมือนกับจัดรายการในสตูดิโอ แต่ก็เป็นโจทย์ที่ทำให้คนดูต้องรู้สึกว่าจัดรายการอยู่ด้วยกัน 

​ขณะที่นักข่าวต้องทำงานอย่างมีเงื่อนไข สมมุติจะโทรฯสัมภาษณ์ผู้นำชุมชนคลองเตย ก็นัดหมายกันว่าให้ยืนตรงสถานที่นี้ เดี๋ยวจะขับรถไปใกล้ๆแล้วถ่ายภาพ โดยที่ไม่ลงจากรถแต่คุยกันทางโทรศัพท์ให้คนที่ถูกสัมภาษณ์ใส่หูฟังสมอลทอร์ค และนักข่าวก็จะอัดเสียงจากในรถข่าว ก็จะได้ทั้งภาพและเสียงไม่ต่างจากการลงไปสัมภาษณ์

  หรือกรณี จ.สมุทรสาครโควิดระบาดมากๆ  กอง บก.บอกว่าทีมข่าวไปได้แต่ห้ามลงจากรถแม้แต่นิดเดียว  น้องๆก็ต้องเอาคอมฟอร์ต 100 ใส่รถไปด้วยเพราะห้ามเข้าห้องน้ำ แต่พอมาดูภาพที่ทีมข่าวไปถ่ายมา ก็รู้สึกว่าเป็นมุมมองที่แปลก เหมือนกับคนนอกพื้นที่เข้าไปส่อง แอบถ่ายชีวิตคนในตลาดสมุทรสาครคล้ายเรียลลิตี้  เป็นสิ่งที่เกิดใหม่ในช่วงที่โควิดมีปัญหามากๆ  แล้วก็รู้สึกว่าในวิกฤตหรือบางสิ่งที่เราคุ้นเคยทำทุกวัน ความจริงแล้วมีอะไรใหม่ๆที่ท้าทายเรา  เวลาเจอโจทย์แบบนี้ทำให้เราต้องดิ้นออก ต้องทำงานบนเงื่อนไขที่ปลอดภัย แต่ได้รายละเอียดสถานการณ์ทั้งหมด

“ถือว่าทั้งยากและโหด แต่เราไม่ต้องการให้เกิดคลัสเตอร์ในบริษัท เพราะในสถานการณ์แบบนี้ นักข่าวจะใช้สัญชาตญาณหรือใช้ความหิวกระหายข่าว ดุ่ยๆลงไปมันไม่พอ คุณต้องคิดว่ากลับมาเขียนข่าวในสถานี , คุยกับบก. , ต้องเลือกภาพ , อัดเสียง ต้องเจอกับคนเต็มไปหมด ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนในสถานี ถ้าติดขึ้นมาระบาดหมดทั้งกองบก. ก็จะกลายเป็นปัญหาสังคม จะไปเพิ่มภาระให้โรงพยาบาลกับบุคลากรทางการแพทย์ เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของเราต่อสังคมด้วย เราต้องหาทางทำงานให้ได้ตามเป้าหมาย บนพื้นฐานความปลอดภัย”

​เสถียร บอกว่า พนักงานของ PPTV , และบริษัทที่สถานีจ้างผลิตเคยติดโควิด แต่อาการดีขึ้นจนหายขาดเรียบร้อยหลายเดือนแล้ว  โดยได้ประสานไปยังสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ตรวจเชิงรุกพนักงานเพื่อความชัดเจน พบว่าเรียบร้อยดี 100% รวมทั้งช่างแต่งหน้าก็เคยติดด้วยทำให้ผู้ประกาศหลายคนต้องไปตรวจหาเชื้อและกักตัว แต่รายการข่าวก็ต้องเดินหน้า  ถ้าไม่มีเหตุการณ์นี้ทั้งหมดบอกได้เลยว่า เราคิดว่าเราทำไม่ไหวจะทำยังไง แต่พอมีสถานการณ์นี้บางทีอะไรที่มันเกินขีดความสามารถ คิดว่าทำไม่ได้แต่มันทำได้ ผมถึงบอกว่าโควิดมันเลวร้ายแต่เวลามันมาแรงๆ และถ้าคุณต้องอยู่รอดมันมีหลายอย่างที่มัน talent เราแล้วมันก็ไปได้

​ส่วนกรณีข่าวลือข่าวปลอมในช่วงสถานการณ์โควิด บรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ PPTV บอกว่า เรื่องนี้ใหญ่มากจึงได้ได้ตั้งกองบก.ในการตรวจสอบข่าวขึ้นมาเป็นการเฉพาะตั้งแต่ปีแล้ว  เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบข่าวปลอมข่าวจริง โดยมีระบบกลไก AI และมีโปรแกรมในการตรวจสอบ ความจริงเรื่องนี้ต้องเป็นหน้าที่หลักของสื่อ ช่วยให้ข้อมูลต้องแม่นยำกับสังคม  ในช่วงการรณรงค์ฉีดวัคซีนที่กระบวนการยังไม่สมบูรณ์ เพื่อผู้สูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัวคลายความวิตกกังวล 

​เสถียร ทิ้งท้ายว่า ถ้าใครคิดว่าชีวิตจะเดินต่อยังไง อยากให้ตั้งสติสู้กับโควิด  งัดทุกกลยุทธ์ออกมาลุยใช้ให้ได้ แล้วจะรู้ว่าตัวเองยังมีศักยภาพอีกเยอะ บางอย่างที่เป็นอาวุธลับเราต้องนำมาใช้ตอนนี้

ติดตามรายการ #ช่วยกันคิดทิศทางข่าว ได้ทุกวันอาทิตย์  เวลา 11.00-12.00 น. ทางวิทยุและ Facebook live FM 100.5  MCOT News Network และ Facebook สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว #โควิด-19

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation