ถอดรหัสข่าว “ล่อซื้อน้ำส้ม” กับ “ภาษี” ที่ต้องรู้

 “นอกจากภาษีควบคุมความหวาน ต่อไปจะมีภาษีความเค็มที่จัดเก็บจากผงปรุงรสและเรื่องของสิ่งแวดล้อม เป็นภาษีดูแลสุขภาพเริ่มเข้ามาให้ความสำคัญกับผู้บริโภคมากขึ้น” 

กระแสสังคมวิจารณ์การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สรรพสามิต ล่อซื้อน้ำส้ม 500 ขวดและถามหาใบอนุญาต พร้อมแจ้งค่าปรับ 12,000 บาท จากแม่ค้ารายหนึ่ง ปรีชา มีชำนาญ ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงการคลังให้ความเห็นผ่านรายการ​ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า เป็นข่าวฮือฮาเพราะช่วงนี้อยู่ในช่วงของสถานการณ์โควิด ความจริงแล้วรัฐบาลโดยกรมสรรพสามิต ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพของประชาชน จึงจัดเก็บภาษีควบคุมความหวาน

เพราะถ้าดื่มหวานทุกวันก็จะเกิดโรคเบาหวานตามมา เบื้องต้นกำหนดไว้ว่าถ้าความหวานไม่เกิน 6 มิลลิกรัมต่อ 1 ลิตรขวดน้ำอัดลมจะยกภาษีให้ แต่ถ้าอยู่ระหว่าง 6-8 มิลลิกรัมต่อ 1 ลิตรขวดน้ำอัดลม จะเก็บภาษีประมาณ 30 สตางค์ และถ้าบรรจุขวดแล้วมีโลโก้ของตัวเอง มีกำลังการผลิตเกิน 150 แรงม้าขึ้นไป จะมีนิยามของโรงงานอุตสาหกรรม แต่รัฐบาลบอกว่าถ้าเป็นการคั้นน้ำส้ม หรือน้ำผลไม้รายย่อยทั่วไปเป็นร้านเล็กๆ หรือตามตลาดนัดไม่ต้องเก็บภาษี 

​“นโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศแล้วว่า จะมีการขยายภาษีสรรพสามิตน้ำผลไม้ออกไปอีกหนึ่งปี รวมทั้งเรื่องการปล่อยกู้ ยืดหนี้ เพื่อสภาพคล่องต้องดูแลผู้ประกอบการ เนื่องจากสถานการณ์โควิด แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตและมีคำถามว่า ทำไมช่วงนี้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตยังออกไปตรวจ ความจริงแล้วเจ้าหน้าที่ทำถูกต้อง เหมือนกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อมีคนกระทำความผิด แล้วมาแจ้งให้ตรวจสอบ เขาก็ต้องไปตรวจดูว่าผิดจริงหรือไม่

เขาบอกว่าถ้าล่อซื้อ 10 ขวดก็ไม่รู้ว่าเป็นธุรกิจรายใหญ่หรือไม่ แต่ถ้าสั่งปุ๊บแล้วส่งมาปั๊บก็แสดงว่าการบรรจุขวด มีการทำแพ็คเกจมีกระบวนการมีเครื่องจักรสามารถทำได้ ถือว่าเป็นการเข้าข่าย เขาจึงต้องล่อซื้อถึง 500 ขวด เลยเป็นสองอารมณ์ ว่าทำไมถึงมีการตรวจในช่วงนี้ เพราะเลื่อนภาษีออกไปแล้วควรอะลุ่มอล่วย ชาวบ้านรายย่อยบอกว่าทำไมถึงมารังแกฉัน หลอกให้บรรจุขวดตั้งแต่เช้าถึงค่ำ” 

​ตรงนี้ต้องไปพิสูจน์ว่าส่งมาจากโรงงานหรือไปนั่งบรรจุขวดเอง แต่จากพฤติกรรมร้านดังกล่าว ร้านค้าเองก็พูดไม่ออกเพราะเข้าข่ายธุรกิจค้าส่ง แต่ไม่ได้จดทะเบียน ขณะเจ้าหน้าที่บอกมีเจตนาที่จะไปแนะนำแต่กลับล่อซื้อก่อน ซึ่งขัดกับที่บอกมา เพราะอยากรู้ว่าร้านนี้ค้าส่งน้ำส้มยี่ห้อนี้จริงหรือเปล่า ผลที่ออกมาอธิบดีกรมสรรพสามิตร จึงจำเป็นต้องสั่งย้ายและตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ทั้ง 6 คน

​ปรีชา บอกว่า หน่วยงานที่มีภารกิจในลักษณะนี้ ก่อนเข้าจับกุมจะมีการแจ้งเตือน และทำความเข้าใจ โดยแจ้งเตือนผู้ประกอบการ  ซึ่งตอนนี้เริ่มมีหลายคนโพสต์ Facebook ขายแบบมียี่ห้อเป็นธุรกิจขายส่ง ลักษณะเอสเอ็มอี แต่ลืมไปเสนอจดทะเบียนภาษีสรรพสามิต

ทำให้ธุรกิจรายใหญ่มองว่าทำแบบเดียวกัน มียี่ห้อปิดผนึกแล้วทำไมถึงไม่ติดแสตมป์เรื่องภาษีสรรพสามิต  เมื่อมีการบรรจุขวดน้ำส้มมียี่ห้อชัดเจน เข้าข่ายคู่แข่ง ธุรกิจรายใหญ่เขาก็ฝากให้ดูแล 

​หลายยี่ห้อที่เป็นเอสเอ็มอี เมื่อสินค้าโตก็อยากส่งไปขายเชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต แต่ต้องไม่ลืมและระมัดระวังเรื่องของกฎหมายด้วยว่าต้องเสียภาษี นอกจากภาษีควบคุมความหวานต่อไปจะมีภาษีความเค็ม ที่จัดเก็บจากผงปรุงรสและเรื่องของสิ่งแวดล้อม เป็นภาษีดูแลสุขภาพ ที่เริ่มเข้ามาให้ความสำคัญกับผู้บริโภคมากขึ้น ถ้าไม่จำกัดตรงนี้ก็จะมีทั้งโซเดียมและความหวาน ซึ่งภาษีทั้งสองประเภทเริ่มที่จะนำมาใช้บ้างแล้วแต่ยังไม่เต็มที่

​ปรีชา ฝากไปยังภาครัฐว่า ควรจะส่งเสริมให้ความรู้ เรื่องข้อกฎหมาย ทุน เงื่อนไขการผ่อนปรน และส่งเสริมการวางกฎเกณฑ์นโยบายต่างๆแก่ประชาชน เพราะช่วงนี้หลายคนตกงาน และเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้พยายามหารายได้ หาอาชีพเสริมหรือกลับไปอยู่ต่างจังหวัด ออกไปทำแบรนด์ขายสินค้าของตัวเอง อาจโดนเรื่องลิขสิทธิ์  จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญและดูแล 

​ติดตามรายการ​ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ได้ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.เป็นความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation