วัคซีนฉีดไม่ครบสั่ง “ล็อกดาวน์ 14 วัน” เจ็บอาจไม่จบ

ศบค.ยกระดับมาตรการคุมเข้ม 10 จังหวัด พร้อมออก 5 กฎเหล็กล็อกดาวน์ จำกัดการเดินทาง ปิดสถานที่เสี่ยง ให้รัฐ-เอกชน work from home  รวมถึงร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ปิด 2 ทุ่ม  และห้ามออกนอกบ้านหลัง3 ทุ่ม  หลายคนมองว่า “เจ็บแต่ยังไม่จบ” เพราะความหวังยังอยู่ที่วัคซีนต้องเร่งกระจายฉีดให้ได้ตามจำนวน ซึ่งตอนนี้ยังมีจำกัด

“ หากดูตัวเลขผู้ป่วยสะสม และผู้เสียชีวิตจากโรควิด-19 ในบ้านเราแล้ว ระยะเวลาล็อคดาวน์  14 วัน ถือเป็นเวลาอันสั้นมากที่จะให้จบ   เพราะอย่าลืมว่าระบบสาธารณสุขบ้านเราสามารถรองรับได้ ต้องมีผู้ติดเชื้ออยุฝ่ในระดับ 500 – 1,000คนต่อวัน  แต่ปัจจุบันตัวเลขแนวโน้มจะแตะหลักหมื่นแล้ว   มันเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทายหนักมากของรัฐบาล   โดยเฉพาะตัวเลขผู้ป่วยสะสมในระบบที่ศบค.ประกาศ  กับตัวเลขผู้ป่วยที่ติดเชื้อแต่ยังอยู่นอกระบบการรักษา หรือรอเตียง  ต้องเอาเลข3 คูณเข้าไป   อย่างที่เราเห็นข่าวว่าโรงพยาบาลหลายแห่งปฏิเสธการตรวจ   ผมถามเพื่อนและคนรู้จักที่เป็นผู้บริหารโรงพยาบาล  ทุกที่บอกว่าอยากตรวจแต่ระบบเตียงรองรับไม่ไหว  เรื่องของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลด้วย  ยิ่งช่วงหลังบุคลากรทางการแพทย์เริ่มติดเชื้อ รวมถึงคนรอบข้างต้องกักตัว ยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่ลดน้อยลง.... ”

บทวิเคราะห์ของ วีระศักดิ์ พงศ์อักษร บรรณาธิการบริหาร นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งเกาะติดมาตรการควบคุมของ ศบค. ที่จะออกมาตามแบบที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ นั่นคือ เลือกล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ระบาดหนักหรือสีแดง  รวมไปถึงพื้นที่ชายแดนเพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว รวมทั้งการห้ามเคลื่อนย้ายข้ามเขตจังหวัดเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด

โดยมองว่าการประกาศล็อกดาวน์ 14 วันครั้งนี้  เจ็บแล้วจบเป็นไปได้ค่อนข้างยาก  เนื่องจากสถานการณ์ผู้ที่ติดเชื้อโควิดในระลอกแรก  แตกต่างจากระลอกล่าสุด ที่มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลต้า  ที่มีการติดง่ายและติดเร็ว ที่สำคัญคือไม่แสดงอาการในช่วงแรก  ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อใช้ชีวิตปกติ และเกิดการแพร่เชื้อให้กับคนรอบข้างแบบไม่รู้ตัว  การล็อกดาวน์รอบนี้คาดว่าเจ็บแต่โอกาสจบยาก  จึงถือเป็นปัญหาที่ท้าทาย  และรัฐบาลอาจจะมีโอกาสต่อระยะเวลาล็อกดาวน์ไป 14วัน หรือ 1 เดือนไปเรื่อยๆ 

นอกจากนี้ เราจะเห็นว่าการระบาดช่วงแรก  รัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์เห็นผล  แต่หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดขณะนี้ตัวแปรมันเปลี่ยน  สายพันธุ์ใหม่ที่ติดง่าย รวดเร็ว มากกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าของอังกฤษ และสายพันธุ์อู่ฮั่นเดิม  อย่างสายพันธุ์เดลต้าซึ่งติดเร็วกว่าสายพันธุ์อู่ฮั่นถึง 100%  และกระจายไปทั่วประเทศแล้ว   ซึ่งหากผู้ป่วยไม่มีภูมิต้านทานและเชื้อลงปอด  ก็จะยิ่งทรุดเร็วขึ้น การรองรับผู้ป่วยติดเตียงเยอะขึ้น  ในขณะที่โรงพยาบาลของเราขาดเตียงและอุปกรณ์ที่จะรองรับผู้ป่วยหนักกลุ่มนี้  ยิ่งเป็นการสะท้อนว่าการล็อกดาวน์ครั้งนี้ไม่น่าจะจบ

ทั้งนี้ วีระศักดิ์ มองว่า วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบ 2 ด้าน คือเรื่องสุขภาพและเศรษฐกิจ  ที่ผ่านมาเรายังไม่เคยมีบทเรียนนี้ให้เรียนรู้  เพื่อให้เรารับมือสามารถปรับและแก้ปัญหา  แต่ต้องเข้าใจว่าโควิดครั้งนี้  เราทุกคนต่างเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน   ทุกอย่างที่มีการคาดการณ์หรือวิเคราะห์มันอาจมีความเป็นไปได้หมด  ครั้งนี้ถือว่าเป็นวิกฤตของประเทศและของโลกที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่เราเคยเจอมาก็ว่าได้

อยากให้เรามองว่าในเมื่อเราไม่สามารถเอาชนะไวรัสนี้ได้  เพราะไวรัสเป็นเรื่องของธรรมชาติที่มีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดไม่ต่างจากมนุษย์   อันนี้เป็นข่าวร้ายที่สุดที่เราเผชิญอยู่  แต่เราต้องกลับมาคิดว่ามนุษย์จะสามารถเลือกอยู่กับไวรัสอย่างปกติให้ได้อย่างไร   อย่างที่อังกฤษทุกวันนี้แทบจะไม่มีใครใส่หน้ากากอนามัย  ทั้งที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อของอังกฤษตกวันละ 2-3หมื่นคน   แต่ยอดผู้เสียชีวิตต่ำมาก  ทั้งที่ประชากรใกล้เคียงกับไทย  มียอดผู้เสียชีวิตเพียง 20  คน นั่นเป็นเพราะว่าประเทศอังกฤษมีการฉีดวัคซีนให้ประชากรจนครบ  ตรงนี้เราต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ 

ในส่วนเรื่องการเยียวยา จำเป็นหรือไม่รัฐบาลต้องทำเป็น 4 ขา  คือ 1.ล็อกดาวน์  2.ต้องทำคู่กันกับมาตรการเยียวยา  3.มีการตรวจเชิงรุก เพื่อแสกนหาตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 จริงๆ ชุดตรวจโควิดเบื้องต้นควรมีขายตามร้านสะดวกซื้อ  และ4. วัคซีน ถือเป็นปัญหาใหญ่  ต้องไปดูว่าทำอย่างไรให้วัคซีนเพียงพอ  ที่จะฉีดให้ประชาชนเกิน 70%   และต้องหาวัคซีนที่มีคุณภาพ เพราะไวรัสมีการกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ เราต้องหาวัคซีนที่มีดีและคุณภาพ    หากเราสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้  จากนี้เราต้องศึกษาว่าจะสามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับไวรัสได้อย่างปกติอย่างไร

ติดตามรายการ #ช่วยกันคิดทิศทางข่าว ได้ทุกวันอาทิตย์  เวลา 11.00-12.00 น. ทางวิทยุและ Facebook live FM 100.5  MCOT News Network และ Facebook สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation