“พ.ร.ก.เผาป่าจับตั๊กแตน”

“อยากให้ใช้กลไกความร่วมมือมากกว่าใช้ตัวบทกฎหมายที่รุนแรงและกว้างขนาดนี้ และเป็นกฎหมายที่ทำให้เกิดบรรยากาศความกลัว”

การออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548  (ฉบับที่ 27) ฉบับใหม่ ที่ห้ามเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารหรือโพสต์สร้างความหวาดกลัวแม้เป็นความจริง มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 40,000 บาท

โดยขยายองค์ประกอบความผิดให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะข้อความบิดเบือนที่ “กระทบความมั่นคงของรัฐ” ไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่เตือนให้แก้ไขก่อน ถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องของการลิดรอนสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การเผยแพร่ข้อเท็จจริงนำไปสู่ความหวาดกลัวหรือไม่ กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง รวมถึงสื่อมวลชนที่ต้องนำเสนอข้อมูลความจริงให้สาธารณชนรับทราบ จนเป็นที่มาของแถลงการณ์ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน และเข้าพบศบค.ชุดเล็ก

ธีรนัย จารุวัสตร์ กรรมการบริหาร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย บอกว่า 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต้องการให้ภาครัฐชี้แจงชัดเจน ว่าข้อกำหนดที่ออกมาเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ซึ่งตามความใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินเขียนรัดกุมกว่านี้ ที่ระบุว่าห้ามการเสนอข่าวหรือข้อความใดๆ เกี่ยวกับสถานการณ์โรคโคโรนาไวรัส อันไม่เป็นความจริงและอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวัดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ซึ่งอยู่ในข้อ 6 ของข้อกำหนดปีที่แล้วที่ออกมาเมื่อเดือนมีนาคม 2563  เน้นย้ำว่าต้องเป็นเรื่องเชื้อไวรัสโคโรนา , ต้องเป็นความจริง และให้เจ้าหน้าที่เตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขนั้นหายไปไหน ทำไมจึงแตกต่างจากปีนี้ ซึ่งข้อใหญ่ๆที่เรากังวลและท้วงติงเรื่องข้อกำหนดดังกล่าว ถึงได้หายไปทั้งยวง 

ทั้งนี้รัฐสามารถยกหูโทรศัพท์ หาบก.ข่าว หรือติดต่อไปทางสมาคมและองค์กรสื่อหากมีการสื่อสารผิดพลาดใช้ข้อความที่บิดเบือน เราให้ความร่วมมือ , สื่อสารและประสานงานกับภาครัฐมาตลอด มีกลไกที่ทำงานกับ ศบค. การพบกันครั้งนี้จึงต้องการแสดงความกังวลและส่งเสียงสะท้อนไปตรงๆ แม้ว่ามีการกระทำผิดจริง ก็ให้เจ้าหน้าที่ตักเตือนก่อน โดยแก้ไขข่าวแต่ พ.ร.ก.ล่าสุดกลับไม่มี ข้อไหนที่เจาะจงว่าเป็นเรื่องของโคโรนาไวรัส ไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นเฟกนิวส์ ไม่มีเงื่อนไขว่าเป็นการบิดเบือน แต่แค่ทำให้เกิดความหวัดกลัวก็ถือว่าผิดแล้ว ที่สำคัญก็คือไม่มีท่อนที่บอกว่าให้เจ้าหน้าที่เข้าตักเตือนหรือระงับ ตรงนี้หายไปหมดและไม่ได้กำหนดเฉพาะสื่อเท่านั้นแต่รวมไปถึงประชาชนทั่วไปด้วย เพราะฉะนั้นการออกกฎหมายหรือออกข้อกำหนด ที่อาจจะลงโทษคนที่พูดความจริงได้นั้นน่ากลัวมากและอันตรายมาก

“ถ้าเปรียบเป็นสำนวนไทยก็เหมือนกับ “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” ผมขอติงว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ขี่ช้างจับตั๊กแตน อาจถึงขั้น “เผาป่าเพื่อจับตั๊กแตน” เพราะประกาศของรัฐบาลฉบับนี้บังคับใช้แล้ว ไม่รู้เลยว่าวันดีคืนดีอะไรที่เราพูดไปหรือใครพูดอะไรไป อาจโดนนำมาใช้ในทางกฎหมายลงโทษได้ จึงอยากจะขอย้ำในหลักการว่า ทำไมในทางปฏิบัติคุณต้องให้สื่อไปพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรมหรือชั้นศาล ถ้าเป็นแบบนั้นก็ถือว่าเรื่องใหญ่มาก  เพียงเพื่อเราต้องการเสนอความจริง เคยมีหลายกรณีที่สู้กันในชั้นศาลปรากฎว่าสื่อไม่ผิด” 

ความจริงรัฐมีเครื่องมือเยอะแยะในการทำความเข้าใจ ให้ข้อมูลที่ถูกต้องหรือให้มุมมองของภาครัฐแก่ประชาชน จึงเป็นที่มาว่าทำไม 6 องค์กรสื่อต้องส่งเสียงและออกแถลงการณ์ เพราะอยากให้ใช้กลไกความร่วมมือมากกว่าใช้ตัวบทกฎหมายที่รุนแรงและกว้างขนาดนี้ และเป็นกฎหมายที่ทำให้เกิดบรรยากาศความกลัว สุดท้ายทำให้สื่อต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง

นอกจากกังวลแล้วขอเรียกร้องด้วยว่าภาครัฐต้องอธิบายให้ชัดเจนว่า ทำไมถึงต้องออกข้อกำหนดที่ใช้อำนาจล้นฟ้า อะไรบ้างที่ถือเป็นการสร้างความหวาดกลัว เพราะไม่ได้กำหนดเฉพาะสื่อแต่ระบุไปถึงประชาชนทั่วไป อยากให้ภาครัฐออกมาชี้แจงจริงๆและควรกำหนดกฎเกณฑ์ว่าอะไรผิดอะไรไม่ผิดกันแน่ ตั้งแต่ออกข้อกำหนดมายังไม่เห็นภาครัฐชี้แจงอะไรเลย 

ธีรนัย ทิ้งท้าย ฝากไปยังภาครัฐถึงเรื่องสื่อสารด้วยว่า ขอให้เป็นเอกภาพหารือกันให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยออกมาสื่อสารกับประชาชน เพราะขณะนี้บ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ ถ้าภาครัฐสื่อสารสับสนทั้งผู้ประกอบการและประชาชนจะสับสนมากขนาดไหน เรื่องนี้มีข้อมูลเชิงประจักษ์ ที่เห็นได้ชัด เช่น เรื่องวัคซีน อย่างไรก็ตามองค์กรสื่อไม่ได้วิพากวิจารณ์ภาครัฐอย่างเดียว แต่ทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองด้วย เพื่อรักษามาตรฐานรักษาจริยธรรมของสื่อ หากเกิดการบิดเบือนข่าวสารหรือนำเสนอเฟกนิวส์ด้วย 

ติดตามรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น. เป็ความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation