กว่าจะได้ทำข่าว โอลิมปิกที่โตเกียว

เปิดพิธีการแข่งขันอย่างเป็นทางการไปแล้ว สำหรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020  เมื่อค่ำวันที่ 23 กรกฏาคมที่ผ่านมา  ณ สนามโอลิมปิกสเตเดียม ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น  ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  อย่างเข้มข้น โดยไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมพิธีการในสนาม  มีเพียงผู้บริหารระดับสูงของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล รวมถึงผู้นำ15ประเทศและตัวแทนของแต่ละประเทศที่ส่งนักกีฬาร่วมการแข่งขันเท่านั้น

สยามพงษ์ ผลมาก รองบรรณาธิการข่าวกีฬา หนังสือพิมพ์แนวหน้า เจ้าของนามปากกา "บี แหลมสิงห์" หนึ่งในกองทัพสื่อมวลชนไทย ที่เดินทางไปเกาะติดบรรยากาศการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ที่กรุงโตเกียว  ยอมรับว่า ที่ผ่านมาเคยผ่านการทำหน้าที่สื่อมวลชนในสนามกีฬาโอลิมปิกมาแล้วถึง 3 สมัย  อาทิ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ  ใช้เวลาผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองไม่ถึง1ชั่วโมง  เช่นเดียวกับประเทศบราซิล แต่ที่ประเทศญี่ปุ่น การทำหน้าที่สื่อภายใต้วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ ถือว่าค่อนข้างคุมเข้ม เริ่มต้นการเดินทางเข้าประเทศที่มีข้อจำกัดในหลายๆอย่าง เนื่องจากต้องรักษาความปลอดภัยป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 

ทั้งนี้ ก่อนเดินทางทีมสื่อมวลชนไทย ต่างมีความพร้อมเรื่องของเอกสารการเดินทาง  อย่างผมมีการเตรียมตัวมาตั้งแต่ปี 2019 แล้ว เพราะต้องประสานงานก่อนเดินทาง 1ปี เราจึงค่อนข้างมั่นใจว่ามีเอกสารครบ  รวมถึงผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด 2 รอบภายใน 72ชั่วโมง และมีหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนซึ่งเราเตรียมการไว้ก่อนโดยที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าญี่ปุ่นยังจะยืนยันให้มีการจัดกีฬาโอลิมปิกหรือไม่  

สำหรับการเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นช่วงโควิด-19 ในฐานนะสื่อมวลชน ค่อนข้างเข้มงวดสื่อทุกประเทศต้องโหลดแอพลิเคชั่น 3 แอพฯของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแอพลิเคชั่นที่ทำขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อให้ทีมสื่อมวลชนลงทะเบียนผ่านแอพลิเคชั่น เป็นการรายงานตรวจวัดอุณหภูมิเวลา 14วันก่อนการเดินทางเข้าประเทศ  บางคนทำผ่านแอพลิเคชั่นไม่สำเร็จ ต้องใช้วิธีปริ้นเอกสารออกมาเป็นหลักฐานการตรวจวัดอุณหภูมิในแต่ละวัน  อีกแอพลิเคชั่นคือกรอกข้อมูลรายบุคคลว่ามาจากไหน คุณอยู่ที่ไหน  จากนั้นจะมีรหัสเป็นบาร์โค้ดเมื่อมาถึงสนามบินประเทศญี่ปุ่นต้องโชว์เอกสารทั้งหมดกับเจ้าหน้าที่ตม.   แต่สุดท้ายเมื่อมาถึงทุกอย่างที่เตรียมมากลับใช้ไม่ได้เลย ต้องกรอกข้อมูลใหม่ทั้งหมด  ซึ่งเป็นเอกสารภาษาญี่ปุ่นมีหัวหนังสือของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล  และคณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียว 2020   โดยทีมสื่อมวลชนไทยได้รับการช่วยเหลือเรื่องการประสานจากหัวหน้าคณะนักกีฬาไทย และคณะกรรมการโอลิมปิก  ระหว่างรอดำเนินการเอกสารนานเกือบ6ชั่วโมง ทุกคนต้องห้ามดื่มน้ำ หรือประทานทุกอย่าง เนื่องจากต้องมีตรวจโควิดผ่านน้ำลาย  หลังเข้าประเทศญี่ปุ่นได้แล้วทุกคนต้องทำการกักตัวอีก3 วันซึ่งครบกำหนดวันที่มีพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกพอดี

ในมุมมองของการทำหน้าที่สื่อช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด  เมื่อเปรียบเทียบการการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ผ่านมาเห็นความแตกต่างในหลายๆ ด้าน  กองทัพนักข่าวหายไปเยอะ อย่างทีมข่าวของประเทศไทยโดยปกติจะมากันเยอะทั้งสื่อหนังสือพิมพ์และวิทยุ  เพื่อติดตามทำข่าวนักกีฬาไทยให้ได้มากที่สุด  แต่โอลิมปิกปีนี้เหลือทีมข่าวแค่ครึ่งเดียว  ประกอบกับการลงทะเบียนมาชมค่อนข้างยุ่งยาก  แม้สื่อจะผ่านการกักตัว 3 วันแต่ต้องอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น โดยมีเจ้าหน้าที่นั่งดูพวกเราที่โรงแรม  หากต้องการไปซื้อของร้านสะดวกสามารถไปได้ในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร  ส่วนขั้นตอนการขอเข้าถ่ายกีฬาประเภทต่างๆ ต้องติดต่อทางอีเมลล์หรือลิ้งค์ในเว็ปไซต์ ซึ่งเป็นระบบตอบกลับอัตโนมัติ   

สยามพงษ์  ฝากทิ้งท้าย ขอบคุณสถานทูตไทยประจำกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น และการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ดูแลทีมสื่อมวลชนอย่างดี   รวมถึงฝากคนไทยส่งกำลังใจให้กองทัพนักกีฬาไทยที่ทุกคนมีความพร้อมอย่างเต็มที่และเตรียมตัวมาอย่างดีเช่นกัน  อยากเห็นนักกีฬาไทยประสบความสำเร็จ เพื่อเยียวยาจิตใจของคนไทยในขณะนี้ที่เราต่างเผชิญกับปัญหาโรคระบาดที่หนักหนาสาหัสเหลือเกิน  ฝากกำลังใจจากญี่ปุ่น  ขอให้ทุกคนปลอดภัยและโชคดี

ติดตามรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น. เป็นความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation