สื่อมวลชน ต้องทำหน้าที่ “หมาเฝ้าบ้าน”

"ถ้าเราฟังข้อมูลจากรัฐเพียงด้านเดียวก็ไม่น่าจะเป็นประโยชน์  ต่อสถานการณ์หรือสังคมที่ต้องการแก้ไขปัญหาที่มีผลต่อสังคม และการนำเสนอของรัฐฝ่ายเดียวก็ไม่น่าจะใช่หน้าที่ของสื่อมวลชน"

ศาลแพ่งได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวข้อกำหนด ที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) เป็นการชั่วคราว ซึ่งมีเนื้อหาที่ส่อว่า ให้อำนาจรัฐปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินแก่เหตุ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และการใช้อำนาจระงับการบริการอินเทอร์เน็ตไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะกระทบ การดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน 

ฐปนีย์ เอียดศรีชัย  ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ The Reporters ให้ความเห็นใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า เรื่องนี้เป็นคดีใหญ่ที่ได้ยื่นฟ้องและเป็นหลักการทางกฎหมาย  ที่เราทำนั้นแทนประชาชนทุกคนไม่ได้หมายรวมเฉพาะสื่อ จึงอยากให้ทุกคนเข้าใจ ซึ่งรัฐบาลและศบค.มีสิทธิ์ที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ แต่ไม่ทราบว่าจะขออุทธรณ์หรือไม่ ในภาพรวมคือให้มีการเพิกถอนข้อกำหนดข้อ 29 ไปเลย ซึ่งศาลก็รับคำฟ้องในการเพิกถอน ให้โจทก์จำเลยมีการสืบพยานต่างๆ ตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ศาลยังไม่ได้นัดวันสืบพยานของโจทก์ เพราะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สามารถส่งเอกสารต่างๆเพิ่มเติมได้ ขณะที่จำเลยก็มีสิทธิ์ส่งเอกสารโต้แย้ง 

เหตุผลสำคัญที่ศาลให้ความคุ้มครองชั่วคราวในเรื่องนี้ คือ ข้อกำหนดที่ระบุว่าผู้ใดโพสต์ข้อความ ที่ทำให้เกิดความหวัดกลัวเป็นข้อความที่คลุมเครือไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ หรือเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติอย่างไร หรือคำว่าหวาดกลัวมีนิยามอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้เราได้ยื่นเหตุผลต่อศาลไป ว่าข้อกำหนดนี้ไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่ชัดเจน และผิดหลักการของกฎหมายที่ไม่มีการระบุความผิดชัดเจน จึงไม่รู้ว่ามีการตีความได้อย่างไรบ้างว่าคำว่าหวาดกลัวที่รัฐหมายถึงเรื่องอะไร และไม่ได้กำหนดการปฏิบัติที่ชัดเจน 

ศาลเห็นว่าในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด ประชาชนใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตเพื่อติดต่อสื่อสาร ยิ่งในช่วงล็อคดาวน์ต้องใช้อินเตอร์เน็ตทุกอย่าง เช่น เรียนหนังสือ, สั่งซื้ออาหาร , การเข้าถึงการรักษาของรัฐให้รักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) ซึ่งอินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องสำคัญมาก ส่วนข้อที่ 2 มาตรา 9 ตามพรก.ฉุกเฉิน ไม่ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีตัดอินเตอร์เน็ตได้ แม้จะมีการตั้งศูนย์แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในการใช้อินเตอร์เน็ตโดยตั้งเลขาธิการกสทช.เป็นหัวหน้าศูนย์ ซึ่งตามกฎหมายมาตรา 9 ไม่ได้ให้อำนาจนายกฯไว้ตรงนี้ 

ศาลเห็นว่าการปิดกั้น “เลขที่อยู่ไอพี” (IP Address)  เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ เช่น มีคนทำผิดอยู่ 1 คนแต่มีคนใช้ร่วมกัน 100 คน อีก 99 คนไม่ได้กระทำผิดอาจได้รับผลกระทบถูกตัดอินเตอร์เน็ตไปด้วย ซึ่งเป็นการกระทำที่เกินสมควรกว่าเหตุ ศาลจึงเห็นว่าขอให้ห้ามใช้คำสั่งนี้ออกไปก่อนจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอื่น คือหลักการสำคัญที่ศาลเห็นว่าข้อกำหนดนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน 

ส่วนการควบคุมเรื่องเฟกนิวส์ หรือการสร้างให้เกิดความหวัดกลัวมีการทำเฟกนิวส์ขึ้นมาด้วยนั้น  ศาลเห็นว่ารัฐมีทั้งกฎหมายอาญาว่าด้วยความหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในการดำเนินการผู้กระทำผิดในเรื่องของเฟกนิวส์อยู่แล้ว และศาลมองว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในครั้งนี้ไม่ได้กระทบต่อการบริหารราชการของรัฐ เพราะสามารถใช้เครื่องมือที่มีอยู่จัดการกับเฟกนิวส์ มีข้อมูลทางสื่อวิทยุโทรทัศน์ในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน มากกว่าที่จะมาออกข้อกำหนดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ถ้าเป็นสื่อโดยวิชาชีพสื่อก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเอง ด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพ ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนที่จะรายงานข่าว   ซึ่งข้อเท็จจริงในปัจจุบันเรื่องของโควิด ที่มีการแพร่ระบาดรู้อยู่แล้วว่ามีคนป่วยหนัก มีคนร้องขอความช่วยเหลือ มีคนเสียชีวิตคาบ้านหรือมีคนไปเจอคนที่เสียชีวิตอยู่ริมถนน โดยจรรยาบรรณสื่อต้องตรวจสอบก่อนที่จะรายงานข่าว ว่าคนที่เสียชีวิตอยู่ริมถนนตรงนั้นเป็นโควิดจริงหรือไม่ สำหรับตัวเองถ้าเจอข่าวแบบนี้ เป็นภาพที่แชร์ส่งต่อกันมา เราจะไม่นำภาพนั้นแชร์ไปในทันที แต่ต้องตรวจสอบแหล่งที่มาก่อนว่าภาพนั้นเป็นใคร มาจากไหนเกิดเหตุนั้นจริงหรือไม่ ยิ่งการทำงานของสื่อออนไลน์รวดเร็ว แต่ถ้าเรารายงานด้วยความถูกต้อง ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราอยู่แล้ว เวลาทำงานลงพื้นที่จริงทุกครั้ง ถ้าเกิดกรณีลักษณะนี้ข่าวที่เป็นสถานการณ์น่ากลัว เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจะบิดเบือนไม่ได้ หรือจะพูดว่ายังดีอยู่ เพราะข้อเท็จจริงมีคนไม่ได้เข้าถึงการรักษาจริงๆก็ไม่ได้

“การยื่นฟ้องยื่นฟ้องครั้งนี้ไม่ใช่ว่าจะให้คนออกมาพูดโกหก หรือให้คนออกมาดราม่า หรือใครที่มองเป็นการเมืองว่าคนที่ไม่ชอบรัฐบาลจะด่ารัฐบาลได้ เราไม่ได้มองแบบนั้น แต่มองผลในภาพรวมมากกว่า ซึ่งศาลแพ่งให้เหตุผลว่าอินเตอร์เน็ตมีความสำคัญ คนมีสิทธิ์ที่จะโพสต์ข้อความในการที่จะร้องขอชีวิต เพราะคนที่กำลังป่วยหนักแล้วไม่มีที่รักษาตัว เขาก็มีช่องทางอย่างเดียวในเวลานี้ เขาอาจจะติดต่อไปตามเบอร์ที่รัฐให้ไว้ได้ยาก เขาก็มีสิทธิ์ที่จะโพสต์ข้อความใน Facebook ของเขา เพื่อที่จะร้องขอความช่วยเหลือ หรือถ้าเขาโพสต์ไปแล้วก็อาจจะส่งต่อให้ Influencer ( ผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล) ให้นักข่าว ให้สำนักข่าวเพื่อช่วยเขาอีกทางหนึ่ง”

เรามองไปที่ภาพใหญ่ของสถานการณ์การแพร่ระบาด ควรให้โอกาสทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษาโรคและรักษาชีวิตตัวเอง ส่วนใครที่เอาความตายของคน เรื่องของความทุกข์ร้อนมาปั่น แล้วบิดเบือนหวังผลทางการเมืองหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกิดความหวาดกลัวทางเฟกนิวส์ รัฐก็ไปจัดการกับคนนั้นได้เลย เราไม่เห็นด้วยกับการใช้สถานการณ์แบบนี้ทำเฟกนิวส์หรือปั่นป่วน ให้คนที่เดือดร้อนหรือคนที่ต้องการความช่วยเหลือไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ดังนั้นต้องแยกประเด็น  เราปฎิเสธไม่ได้ว่าช่องทางของอินเทอเน็ตหรือโซเชียลมีเดีย คือช่องทางเดียวที่เขามีในเวลานี้

“ทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นได้ ถ้าเห็นว่านโยบายหรือมาตรการต่างๆที่รัฐทำอยู่นั้น มีแตกต่างและเป็นสิ่งที่เขาควรจะนำเสนอ ขณะที่รัฐควรรับฟัง สิ่งไหนที่ไม่ถูกต้องรัฐก็จะได้ชี้แจงกลับมา เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจที่ดีตรงกัน เพราะถ้าเราฟังข้อมูลจากรัฐเพียงด้านเดียวก็ไม่น่าจะเป็นประโยชน์  ต่อสถานการณ์หรือสังคมที่ต้องการแก้ไขปัญหาที่มีผลต่อสังคม และการนำเสนอของรัฐฝ่ายเดียวก็ไม่น่าจะใช่หน้าที่ของสื่อมวลชน เพราะสื่อมวลชนควรที่จะทำหน้าที่เป็นหมาเฝ้าบ้าน โดยนำเสนอข่าวในสิ่งที่ตรวจสอบรัฐบาลและนโยบายของรัฐบาลได้  สิ่งที่รัฐออกนโยบายหรือมาตรการต่างๆมา ได้ผลถูกต้องหรือไม่ ยิ่งถ้าเราไปสัมภาษณ์นักวิชาการเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถืออยู่แล้ว แม้ว่าอาจจะเป็นข้อเท็จจริงหรือความเห็นที่แตกต่างกัน ก็ยิ่งเป็นเรื่องสวยงามมากกว่าในสังคม ควรที่จะมีการแสดงความคิดเห็นได้”

เชื่อว่าข้อเสนอแนะหรือคำวิจารณ์ต่างๆ เป็นความหวังดีต่อการรักษาชีวิตคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรเปิดรับ ดังนั้นรัฐควรทำให้คนเกิดความเชื่อมั่นในข่าวสารที่รัฐทำ ออกมา  ซึ่งเป็นเรื่องที่สื่อควรทำมากกว่าที่จะมารับข่าวจากรัฐเพียงฝ่ายเดียว ส่วนที่ใครบอกว่าสื่อไหนบิดเบือน ทุกคนก็สามารถที่จะฟ้องร้องหรือดำเนินการกับสื่อที่ทำหน้าที่บิดเบือนได้อยู่แล้ว ส่วนคนที่รายงานด้วยอารมณ์ความรู้สึกนั้น อยู่ที่จิตสำนึกของคนเป็นอย่างไร แม้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการที่จะพูด  แต่ต้องมีความรับผิดชอบในสิ่งที่พูดหรือรายงานด้วย

ติดตามรายการ​ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น.โดยความร่วมมือของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation