“เมื่ออยู่ที่หน้างานอุปกรณ์ดีอย่างเดียวไม่พอ ที่สำคัญต้องมีสติด้วย มีทีมงานหลังบ้านที่ดีคอยซัพพอร์ตทุกอย่าง”
อุณหภูมิบ้านเมืองขณะนี้เขม็งเกลียวไปด้วยความเข้มข้น จากกิจกรรมการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่างๆที่มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และมีเหตุปะทะรุนแรงเกิดขึ้นทุกครั้งจากการกระชับพื้นที่ ซึ่งสื่อมวลชนและช่างภาพมีหน้าที่นำเสนอทั้งภาพและข่าวการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมในทุกเหตุการณ์ "ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม” ช่างภาพประจำกองบรรณาธิการข่าว สำนักข่าว The Standard มีประสบการณ์ทำงานถ่ายภาพ ผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆกว่า 10 ปีเปิดเผยกับ “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึง การเตรียมความพร้อมลงพื้นที่ทุกครั้งว่า
สิ่งที่สำคัญมาก คือ มีอุปกรณ์เซฟตี้หน้ากากกันแก๊สหมวกกันน็อก และต้องทำการบ้านศึกษาพื้นที่ก่อนทุกครั้งว่าผู้ชุมนุมจะมาตรงจุดไหน ลักษณะแบบแผนการชุมนุมของแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไร ก่อนหน้าวันชุมนุมหนึ่งวันกองบรรณาธิการจะประชุมกันเพื่อดูว่าใครทำอะไรจุดไหน ใครเป็น Commander
ในการสั่งการและประเมินสถานการณ์ ควรจะถอนตัวหรือควรจะไปในจุดใด เป็นทีมหลังบ้านซึ่งเป็นตาให้กับทีมภาคสนาม เพราะคนที่อยู่ภาคสนามโฟกัสได้แค่สิ่งที่อยู่รอบตัว แต่หลังบ้านจะช่วยได้ดีมาก คอยเป็นตาให้รู้ว่าจุดที่คุณอยู่ตอนนี้มีคนเจ็บหรือมีการแถลงข่าวหรือมีการจับกุมแกนนำ
การทำงานเมื่อก่อนจะเข้าไปใกล้กับเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการดันกันหรือปะทะ แต่ช่วงนี้มีสถานการณ์โควิดเข้ามาร่วมด้วย ทำให้เข้าไปบางจุดไม่ได้ ทำได้แค่อยู่ข้างทางและสังเกตกลุ่มคนว่ามีการเคลื่อนตัวอย่างไร เริ่มมีเสียงตรงนี้จะไม่พยายามเข้าเดินเข้าไปในจุดที่แน่น หรือถ้าต้องเข้าไปก็จะรีบถ่ายรูปแล้วรีบออกมาเพื่อสังเกตการณ์
ทุกเหตุการณ์จะมีลางบอกเหตุก่อน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เสียงหรือการเคลื่อนตัวอย่างผิดปกติจากเดินอยู่ดีๆแล้วเกิดมีการวิ่งกันขึ้นมา เขาวิ่งกันทำไมเราต้องสังเกตและประเมินตลอดเวลาว่าอะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งจำเป็นที่จะต้องเกาะกลุ่มกันในส่วนของช่างภาพไม่ควรที่จะเดินไปคนเดียว เพราะบางครั้งในการกระชับพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ ถ้าสมมติว่าเราอยู่กัน 4-5 คนยังสามารถยืนยันตัวตนได้ว่าเราคือสื่อ หรือถ้าเพื่อนโดนลูกหลง มีอุบัติเหตุล้มขาแพลง กลุ่มคนที่ไปด้วยกันสามารถช่วยเหลือกันได้ ณ จุดนั้น
“สำหรับตัวเองการชุมนุมครั้งล่าสุดวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา โดนกระสุนยางเข้าที่เท้า เป็นช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนรุกคืบขึ้นมาเพื่อจะขอพื้นที่ บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงคืนมาจากผู้ชุมนุม ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้ประกาศตลอดเวลาว่าให้ออกนอกพื้นที่ จะใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตา เราอยู่ตรงนั้นบางทีหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นเมื่ออยู่ที่หน้างานอุปกรณ์ดีอย่างเดียวไม่พอ ที่สำคัญต้องมีสติด้วย มีทีมงานหลังบ้านที่ดีคอยซัพพอร์ตทุกอย่าง ไม่ใช่อยากทำงานแล้วเดินลงไปในพื้นที่ โดยไม่ศึกษาข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ฝั่งผู้ชุมนุมหรือการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ อาจจะทำให้เราไปอยู่ในจุดที่เสี่ยงกว่าเดิมได้”
จุดอ่อนของภาพนิ่งมีข้อจำกัดว่า เป็นแค่กรอบสี่เหลี่ยมเป็นเฟรมเดียว ทุกอย่างในภาพต้องมีองค์ประกอบครบ คนที่ดูภาพหรือเสพข่าวต้องใช้ความรู้สึกของตัวเองร่วมด้วย ไม่ว่าจะฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ก็จะมีความรู้สึกร่วมที่สร้างขึ้นมาเอง จึงอาจตีความไปอย่างใดอย่างหนึ่ง แตกต่างจากภาพวิดีโอที่จะเก็บบรรยากาศได้ตั้งแต่เริ่มมีเรื่องราวให้เห็นภาพเคลื่อนไหว
ชาติกล้า บอกว่า เคยร่วมอบรมเซฟตี้เทรนนิ่งของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และภายหลังมาเป็นทีมสต๊าฟด้วย สิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดจากอบรมนำไปใช้ได้เกือบทุกอย่าง บวกกับการประเมินหน้างานด้วย ทำให้มีหลักคิดว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นต้องปฏิบัติตัวอย่างไรต่อไป
เมื่อมีทักษะแล้วพอไปใช้จริงก็จะทำได้อย่างรวดเร็วและง่ายขึ้น มีหลักคิดว่ารู้แล้วไม่ได้ใช้ดีกว่าตอนจะใช้แล้วไม่รู้ ทั้งนี้จุดประสงค์หลักของหลักสูตรเซฟตี้เทรนนิ่ง ไม่ได้เน้นสร้างคนว่าคุณจะต้องเก่งที่สุดในสนามข่าวต้องได้ภาพที่ดีที่สุดหรือได้ข่าวที่ดีที่สุด แต่หัวใจหลักคือ "ทุกคนต้องเข้าไปทำงานได้อย่างมีสติและกลับออกมาอย่างปลอดภัย" นี้คือหัวใจหลักของเซฟตี้เทรนนิ่งที่ผมมอง
ส่วนคำแนะนำที่อยากฝากถึงน้องๆในการทำงานลงพื้นที่ความขัดแย้ง คือ ต้องมีสติตื่นตัวตลอดเวลาเปิดตาดูสิ่งที่อยู่รอบข้าง อย่าไปคนเดียวควรมีบัดดี้อย่างน้อยหนึ่งคนหรือเดินไปเป็นกลุ่มเพราะอันตรายมาจากรอบทิศทาง สื่อไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใครไม่ว่าจะเป็นฝั่งควบคุมฝูงชนหรือผู้ชุมนุมแต่เราต้องไปทำงานตรงนั้นซึ่งมีการปะทะกัน
ติดตามรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ได้ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00 -12.00 น. เป็นความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5
#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว
#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation