นักสื่อสารข้อมูลเชิงลึก (Data Journalism) จำเป็นต้องใช้ทักษะหรือจมูกของนักข่าว ซึ่งนักข่าวมีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องเติมมาเพื่อจะใช้ Data Journalism คือ เรื่องการใช้ค่าสถิติ โปรแกรมในการจัดการข้อมูลเบื้องต้น”
เรื่องราวต่างๆที่สื่อยุคใหม่นำข้อมูลมาใช้ เพื่อสะท้อนสังคมผ่าน Data Journalism ที่ให้ความหมายในเชิงเปรียบเทียบ โดยมีสถิติตัวเลขเข้ามาเก็บข้อมูล เพื่อฉายให้ผู้เสพสื่อเห็นภาพที่ชัดเจน และเป็นการเพิ่มน้ำหนักของข่าวมากยิ่งขึ้นนั้น
ดร.เอกพล เธียรถาวร ประธานชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึก และอาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถ่ายทอดความรู้ผ่านประสบการณ์ ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่าข้อมูลที่จะนำมาทำ Data Journalism ใช้ได้หลากหลาย อาทิ คลิปวิดีโอ สิ่งต่างๆที่พบในโซเชียลมีเดีย ที่มีการบันทึกไว้ แต่การจะนำมาทำเป็นงาน Data Journalism อาจจะต้องมีกระบวนการที่เป็นรูปแบบ มีโครงสร้าง ตารางแล้วนำมาคิดคำนวณ หรือนำเสนอความหมายที่ซ่อนอยู่ใต้ข้อมูลนั้นออกมา
สำหรับตัวอย่างที่เห็นชัดเจนค่อนข้างโดดเด่น จากการทำ Data Journalism ในช่วงสถานการณ์โควิด คือ แพลตฟอร์มชื่อ theactive ทางสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS และ THE STANDARD
นอกจากนี้ยังมีสื่อสื่งพิมพ์บ้าง ที่เห็นล่าสุดคือเรื่องการแจกแจงการฉีดวัคซีน ของแต่ละจังหวัดว่ามีความคืบหน้าอย่างไร โดยแยกจำแนกเห็นได้ชัดเจนว่า กลุ่มเสี่ยงของแต่ละจังหวัดฉีดไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว หรือ พื้นที่กทม.การฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มเกิน 70% ไปแล้ว แต่ว่ายังมีอีกหลายจังหวัดที่ยังฉีดไม่เกิน 30% เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ
“นักข่าวต้องมีชุดตรรกะความคิด และจัดระเบียบข้อมูลที่ได้มาด้วย ซึ่งทักษะที่จำเป็นขาดไม่ได้ คือ เรื่องของการคิดประเด็นและจับประเด็น รวมทั้งการกรองข้อมูลที่จะนำมาใช้ Data Journalism จำเป็นต้องใช้ทักษะหรือจมูกของนักข่าว ซึ่งนักข่าวมีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องเติมมาเพื่อจะใช้ Data Journalism คือ เรื่องการใช้ค่าสถิติ โปรแกรมในการจัดงานข้อมูลเบื้องต้น เช่น Excel หรือ Google Sheet
เพราะฉะนั้นการทำ Data Journalism นักข่าวอาจจะไม่ต้องเขียน Code เป็นก็ได้ แต่อาจจะต้องใช้ Excel ที่ดูสถิติให้เป็น ซึ่งทักษะการทำสถิติ และทักษะในเรื่องของการจัดการข้อมูล เป็นหัวใจเบื้องต้นที่สำคัญ เพราะถ้าหากไม่มีก็จะทำงาน Data Journalism ไม่ได้ แต่ก็จะมีทักษะอีกชุดหนึ่งที่ ทำให้ทำงานได้ดีขึ้น เช่น ในเรื่องของการเขียน Code ถ้ามีตรงนี้ ข่าวก็จะน่าสนใจยิ่งขึ้น”
ดร.เอกพล บอกว่า Data Journalism สามารถนำมาใช้ทำข่าวเชิงสืบสวนได้ เช่น กรณี “ผู้กำกับโจ้” แม้ส่วนตัวจะไม่ได้ดูข้อมูลในคดีนี้มากนัก แต่หากมองภาพรวมกว้างๆ ถ้าใช้ Data Journalism มาจับ ก็อาจจะเข้าไปดูแบบแผนการเกิดขึ้นของปัญหา ว่าการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ ในการสืบสวนสอบสวน ซึ่งคงไม่ใช่ครั้งนี้ครั้งแรก แต่มีคดีแบบนี้เกิดขึ้นมาแล้วกี่ครั้ง มีประเภทคดีอย่างไรเกิดขึ้นกับหน่วยงานของตำรวจและหน่วยงานไหน บ้าง
หรือดูเพศ , อายุ , ภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกกระทำ อาจจะลองตั้งสมมุติฐานได้ว่า ถ้าเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็มีแนวโน้มที่จะถูกใช้ความรุนแรงมากกว่าหรือไม่ หรือถ้าเป็นชาวต่างด้าว มีแนวโน้มที่จะถูกใช้ความรุนแรงมากกว่าหรือไม่ หรือถ้าเป็นคดี เช่น ยาเสพติดเป็นคดีที่ถูกใช้ความรุนแรงสูงสุดหรือไม่ นอกจากนั้นอาจจะดูไปถึงผลด้วยก็ได้
แต่คดีที่ผ่านมาหลาย 10 หลาย 100 คดี มีที่ถูกตัดสินว่าเจ้าหน้าที่กระทำผิด แล้วถูกลงโทษกี่คดี หรือแค่ถูกสั่งและย้ายกี่คดี ก็อาจจะคิดเป็นสัดส่วนได้ ซึ่งจะเป็นการฉายให้เห็นลึกกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ แต่จะดูไปถึงแบบแผนการเกิดขึ้นของปัญหา และบางทีอาจจะเจาะลึกไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างได้
สำหรับเด็กรุ่นใหม่อยากที่จะมาเป็น Data Journalism ควรที่จะเริ่มจากพื้นฐานก่อน คือ การจับประเด็นจากข้อมูล ต้องรู้ว่าเรื่องราวแบบไหนที่อยู่ในข้อมูล ควรค่าแก่การนำมาเล่าบ้าง นอกจากนี้หลักสถิติเบื้องต้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ต้องยอมรับตามตรงว่า คนที่ทำงานสายสื่อสารมวลชน อาจจะไม่ค่อยชอบตัวเลขหรือสถิติ ซึ่งตรงนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญและขาดไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเคยร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย “อบรมนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึก” ก่อนช่วงสถานการณ์โควิด ซึ่งโครงการต่อไปอาจจะต้องรออีกระยะหนึ่ง
ติดตามรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00 – 12.00 น. เป็นความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5
#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว
#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation