“รอยร้าวทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ ถ้าคุยกันได้ผลประโยชน์ลงตัวเรียบร้อยหมด ลืมความขัดแย้งหายกันไปหมด”
ปรากฎการณ์หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำเอาคอการเมืองต่างช็อกไปตามๆกัน เพราะมีราชกิจจานุเบกษา เผยแแพร่ประกาศ ให้ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี สะท้อนให้เห็นปมร้าวในพรรคพลังประชารัฐชัดเจน
วิษณุ นุ่นทอง บรรณาธิการข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ นักข่าวที่คร่ำหวอดในสายการเมืองเกือบ 30 ปี วิเคราะห์ ในรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า ร.อ.ธรรมนัส ถูกปลดดูเหมือนว่าทำให้รัฐบาลวูบ แต่ความจริงแล้วกลับทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมี power และมีภาวะความเป็นผู้นำขึ้นมาทันที ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลกลัว และหวั่นไหวเพราะไม่รู้ว่าจะถูกรื้อโควตาหรือไม่ ขนาดเลขาธิการพรรคยังถูกปลด ความจริงแล้วปกติการเมืองที่ผ่านมาเมื่อปลดเลขาธิการพรรค ก็ต้องสั่นสะเทือนแต่ยุคนี้กลับตาลปัตร
ปรากฏว่าเสถียรภาพความมั่นคงของ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาอย่างไม่น่าเชื่อ ทุกคนยอมรับว่าเด็ดขาดมีอำนาจ เพราะไม่มีกับดักทางการเมือง เนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจผ่านพ้นไปแล้ว มีเพียงวาระของกฎหมายที่เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภาฯเท่านั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงกล้าทำทันที เพราะกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา จะมีขึ้นอีกครั้งตามรัฐธรรมนูญก็ประมาณปลายปีหน้า ทำให้พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจในมือเต็มที่
ความจริงแล้วระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีกระแสข่าวว่ามีกระบวนการเคลื่อนไหวจะล้มนายกรัฐมนตรี แต่ท้ายที่สุดคนที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจกลับไม่โดน ขณะที่คนคุมเสียง ถูกกล่าวหาว่าเคลื่อนไหวล้มนายกรัฐมนตรี กลับถูกปลดออกจากตำแหน่ง เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาค่อนข้างชัดเจน ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
ซึ่งความจริงในพรรคพลังประชารัฐร้าวมานานแล้ว เพียงแต่ยังไม่เห็นชัดว่ากลุ่มไหนจะแตกออกไปอย่างไร เพราะการเลือกตั้งยังมาไม่ถึง เนื่องจากอีกปีกว่ารัฐบาลถึงจะครบวาระ ถ้าร.อ.ธรรมนัส จะอยู่ในพรรคได้หรือไม่โดยไม่มีตำแหน่ง หรือมีการให้คุณให้โทษการสร้างอะไรในพรรค เพื่อเตรียมตัวการเลือกตั้งครั้งหน้าก็คงยาก ขณะที่พล.อ.ประวิตรไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และให้ ร.อ.ธรรมนัสอยู่ต่อด้วยการเรียกส.ส. กับกรรมการบริหารพรรคเข้าไปพูดคุย แต่เมื่อพล.อ.ประวิตรยังไม่ขยับออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และการเปลี่ยนแปลงในพรรค ก็ยังไม่ชัดเจน
ความจริงในพลังประชารัฐรวมกันแบบเฉพาะกิจหลายกลุ่ม แต่ยุบรวมเป็นแพคทางการเมือง ที่ค่อนข้างเคลื่อนไหวชัดเจนและมีกองกำลังของตัวเอง ตอนนี้มีหลักๆอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ คือ สามมิตรและ กลุ่มของร.อ.ธรรมนัสกับพล.อ.ประวิตร ที่เป็นเนื้อเดียวกัน
แต่ภายในพรรคพลังประชารัฐยังไม่เป็นเอกภาพ เพราะนายสันติ พร้อมพัฒน์ ต้องการเป็นเลขาธิการพรรค และเคลื่อนไหวอยากจะโค่นเก้าอี้ร.อ.ธรรมนัส แต่ถ้าโหวตกันวันนี้ก็ยังแพ้ เพราะกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสหรือพล.อ.ประวิตรเป็นทีมเดียวกัน ดูแลส.ส. ด้วยการแจกกล้วยตลอด ซึ่งทุกคนรับรู้กันหมด แต่ถ้านายกฯขยับมาเป็นหัวหน้าพรรคเอง และให้นายสันติขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรค
หมายความว่าถ้าจะล้าง ร.อ.ธรรมนัส ภาระทั้งหมดนั้นพลเอกประยุทธ์จะรับไหวหรือไม่ เพราะในพรรคตอนนี้อยู่กันแบบไม่ลงตัว แต่พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้รีบเร่งลงมาจัดการภายในพรรค ขณะที่พล.อ.ประวิตรก็ต้องการจะยืดคณะรัฐมนตรี ออกไปให้ยาวอีกปีกว่า จึงยังมีเวลาแก้ไขปัญหาในพรรค แต่ในทางการเมืองระยะเวลาปีกว่านั้นถือว่าน้อยมาก ถ้าพล.อ.ประวิตร ยังให้ ร.อ.ธรรมนัสอยู่ต่อในพรรค ถามว่าจะอยู่กันยังไง ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ไม่ขยับมาทำอะไรในพรรค การเลือกตั้งครั้งหน้า พล.อ.ประยุทธ์จะลงต่ออีกหรือไม่เรื่องนี้น่าสนใจ แต่มือไม้ของนายกฯเวลานี้มันยังไม่มี ในพรรคพลังประชารัฐ
สมมุติว่าร.อ.ธรรมนัสออกไปจากพรรคพลังประชารัฐไป ก็ไม่กระทบกับพลังประชารัฐ หรือหากจะตั้งพรรคใหม่ยิ่งต้องคิดหนัก แม้จะบอกว่ามี ส.ส.อยู่ในมือ 30 - 40 เสียง การตั้งพรรคการเมืองใหม่ก็ไม่ง่าย ยิ่งบัตร 2 ใบยิ่งลำบาก แต่เชื่อว่าร.อ.ธรรมนัสคงคิดว่าถึงแม้เขาจะออกจากพรรคไป ก็มีโอกาสกลับมาได้
เพราะส.ส.ที่มีอยู่ในมือยังไม่มีศักยภาพที่จะชนะการเลือกตั้ง ถ้าทำตัวดีขึ้นมา ไกล่เกลี่ยกันได้ พล.อ.ประวิตรเอาเขาไว้อีก เพราะแลกกันคนละดอกไปแล้ว เคลียร์กันไปเรียกว่าจบกันคนละยกแบบนี้ และถ้า ร.อ.ธรรมนัสเชื่อมได้ คือ เอาอำนาจของพล.อ.ประวิตรมา แล้วเดินได้ครบโดยมีกองกำลัง มีกลไกราชการ มีทุน มีเสบียง เพราะเป็นคนกล้าตัดสินใจด้วย
“รอยร้าวทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ ถ้าคุยกันได้ผลประโยชน์ลงตัวเรียบร้อยหมด ลืมความขัดแย้งหายกันไปหมด สังเกตได้ว่า ส.ส.แต่ละคนย้ายมาไม่รู้กี่พรรค แกนนำแต่ละคนย้ายมาไม่รู้กี่พรรค ย้ายกลับไปกลับมา เพราะว่าถ้าผลประโยชน์ลงตัวเมื่อไหร่เขาจบกันเมื่อนั้น แต่ถ้าเราวิเคราะห์กัน ณ วันนี้นาทีนี้ พรุ่งนี้อาจจะเปลี่ยนแล้วก็ได้ จำไว้เลยว่าการเมืองไม่มีสูตรตายตัว ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร”
สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ต้องรีบในขณะนี้ก็คือ ปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อเรียกความเชื่อมั่น และสร้างความหวังให้กับคนได้มากแค่ไหน เพื่อยืดไปให้ครบวาระ เพราะการเมืองขึ้นอยู่กับปัจจัย และแรงกดดันในช่วงนั้นๆด้วย พอปลด ร.อ.ธรรมนัสแล้ว แน่นอนว่าในพรรคก็เริ่มป่วน มีกระบวนการต่อรองเกิดขึ้น สายใต้ก็อยากได้ สายที่ไปสัญญากันไว้กับพรรคเล็ก ซึ่งมีข่าวว่าในการโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ไปสัญญากับ 2 พรรคเล็กไว้จะให้เป็นรัฐมนตรี
ขณะที่จะมีการดึงพรรคนอมินี ในการเลือกตั้งครั้งหน้าไว้ โดยมีการวางตำแหน่งแล้ว ให้อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยมานั่งเป็นรัฐมนตรี หรือถ้าปรับ 1 หรือ 2 ตำแหน่งก็แน่นอนว่า ความเสื่อมย่อมเกิดขึ้น หลังจากที่บางฝ่ายโค่น พล.อ.ประยุทธ์ ในสภาไม่ได้ ความหวังของผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ ที่คิดเดินเกมลงถนนหนักขึ้น แต่จะหนักได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่ามีใครลงขันบ้าง เพราะในสภาอยากจะล้มแล้วล้มไม่ได้ เกมก็ต้องไปอยู่นอกสภาด้วย
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ 11.00 – 12.00 โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5
#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว
#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation