เมื่อต้องทำข่าว “ไขคดีปริศนา” ผ่าน “นิติวิทยาศาสตร์” 

 

“นิติวิทยาศาสตร์อธิบายสิ่งที่เป็นหลักฐาน ณ ขณะนั้น แต่ไม่สามารถอธิบายทั้งหมด เพราะไม่มีใครรู้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นแต่ละคดีเป็นอย่างไร ไม่มีใครอยู่ในที่เกิดเหตุ บางคดีความศพอาจจะบอกได้บ้าง แต่บางคดีบอกไม่ได้”

วัตถุพยานที่มีการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ซึ่งประเทศต่างๆทั่วโลกเห็นว่า การตรวจพิสูจน์โดยนิติวิทยาศาสตร์ เป็นหลักฐานสำคัญ ที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ เพราะมีน้ำหนักมากและน่าเชื่อถือ 

ในการพิจารณาคดีของศาล การตรวจพิสูจน์หลักฐานโดยนิติวิทยาศาสตร์ จึงต้องทำตามมาตรฐานทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเก็บหลักฐาน  รายงานผลการตรวจพิสูจน์ นำมาวิเคราะห์ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด จึงมีความน่าเชื่อถือ ถูกต้องแม่นยำค่อนข้างมาก ทำให้ผู้บริสุทธิ์ไม่ต้องถูกลงโทษในความผิดที่ไม่ได้กระทำ  

“รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ได้พูดคุยกับ “ชนาธิป กฤษณสุวรรณ”  รองบรรณาธิการข่าวหน้า 1 นสพ.ไทยรัฐและผู้ก่อตั้งนิตยสาร COP'S  ว่า นิติวิทยาศาสตร์อธิบายสิ่งที่เป็นหลักฐาน ณ ขณะนั้น แต่ไม่สามารถอธิบายทั้งหมด เพราะไม่มีใครรู้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นแต่ละคดีเป็นอย่างไร ไม่มีใครอยู่ในที่เกิดเหตุ บางคดีความศพอาจจะบอกได้บ้าง แต่บางคดีบอกไม่ได้ 

เช่น กรณีที่ข่มขืนคนแก่ซึ่งตามตัวผู้ต้องหามาหลายปี แต่ทุกวันนี้ยังจับคนร้ายไม่ได้ เพราะไม่สามารถหาคนมาเปรียบเทียบดีเอ็นเอได้ จึงไม่ง่ายที่จะพิสูจน์ทราบตัวบุคคล หรือผลชันสูตรยังไม่ได้ 100 % ว่าใช่หรือไม่ใช่

สังคมทุกวันนี้เป็นสังคมชอบตั้งคำถาม คิดไปเองเออเองหมด ตามกระแสคิดว่านิติวิทยาศาสตร์จะต้องเป็นฮีโร่ ในการพิชิตคดีสำคัญๆเหมือนหนังซีรีส์ยอดฮิต “CSI ไขคดีปริศนา” แล้วคิดว่าพวกเขาคือฮีโร่ แต่ความจริงมันไม่ใช่ ต้องประกอบกันหลายส่วน บางกรณีก็มีผิดพลาด เช่น คดีสองแม่ลูกศรีธนขันธ์ หมอนิติเวชผิดพลาดในการรีบด่วนสรุปว่าเป็นอุบัติเหตุ เพราะไม่ได้ดูอะไรเลย  

หรือคดีนพ.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ อดีตสูตินารีแพทย์ สังหารภรรยา คือ พญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ ซึ่งนิติเวชพิสูจน์ว่า มีการตายจริงเพราะชิ้นเนื้อสำคัญที่พบ ไม่สามารถชี้ได้ แต่ก็ไม่มีหลักฐานอีกว่าตายอย่างไร ฆ่าอย่างไร ซึ่งตำรวจต้องไปหามาประกอบด้วย 

หรือ “คดีนายห้างทอง” ที่มีคนวิจารณ์ว่าทำไมต้องรื้อใหม่ ทั้งที่จบไปแล้ว ก็เพราะความไม่เชื่อของบางส่วน แต่เพื่อให้กระจ่างต้องพิสูจน์กัน ซึ่งสุดท้ายศาลจะตัดสินเองว่าใครผิดใครถูก 

อย่าง “คดีชมพู่” มีการทำงานเป็นปี กว่าจะรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด เพื่อมัดผู้ต้องสงสัยนั้นไม่ง่าย จะบอกไปก่อนก็ไม่ใช่ เพราะองค์ประกอบยังไม่ครบชี้นำก็ไม่ได้ ทำไมหลายคนอีกกลุ่มหนึ่ง ถึงไม่เชื่อว่าลุงพลเป็นผู้กระทำความผิด ในโลกปัจจุบันมันเป็นแบบนี้  

กรณีแตงโมซึ่งทนายเดชาพูดก็ถูก ว่านิติเวชจะไม่ก้าวล่วงในจรรยาบรรณของสำนวนคดี เพราะเขาไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ เขาเป็นส่วนประกอบในการพิสูจน์ทราบ หลักฐานต่างๆที่เขาผ่าชันสูตรเท่านั้น แต่ไม่สามารถระบุว่า แผลตรงนี้เกิดจากอาวุธอะไร เกิดจากใครกระทำ 

“กระบวนการยุติธรรมคดีสืบสวนสอบสวน เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน จะมามโนคิดไปเองไม่ได้ทั้งหมด ตำรวจเองยังพูดอะไรไม่ได้เพราะคดียังไม่จบ บางทีสังคมเร่งเกินไปเพราะอยากรู้ โดยคิดไปแล้วว่าพวกนี้จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง และตอนนี้สังคมเหมือนมีอคติและไม่มีความมั่นใจในตัวตำรวจ ว่าผู้ต้องสงสัยเป็นคนมีเงิน ก็จะมองย้อนแย้งกันไปหมด สมมุติว่าถ้าเป็นคนธรรมดาตกน้ำเสียชีวิต คุณจะสนใจหรือไม่ คุณคงไม่สนใจมานั่งวิพากษ์วิจารณ์กันถึงทุกวันนี้ เรื่องผ่านไปกี่สัปดาห์แล้วแต่เพื่อความกระจ่างทุกอย่าง และองค์ประกอบทั้งหมด อยู่ที่ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อแต่ต้องพิสูจน์ทราบในกระบวนการชั้นศาลเท่านั้นเอง” 

 ผมถามว่าคุณเรียกร้องความยุติธรรมในคดีของแตงโม แล้วความยุติธรรมคืออะไร คุณต้องการอะไร คนที่ผิดใช่ 5 คนนี้หรือไม่ ต้องเป็นผู้ต้องหาฆาตกรรมใช่หรือไม่ ถึงจะสะใจคนดูซึ่งมันเหมือนหนังหรืออย่างไร ถ้าตัดสินมาอีกแบบหนึ่ง พอใจหรือไม่ก็ไม่พอใจ เหมือนกับถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ เป็นเรื่องที่น่ากลัวกว่า  

ผมไม่ได้บอกว่าเคสแตงโม 5 คนนั้นไม่ผิด เพราะผมไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และมี 5 คนเท่านั้นที่รู้ความจริงทั้งหมด แต่บางคนมโนไปเรื่อย ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัว ตำรวจทุกคนเวลาทำคดีจะถามใคร ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ คุณไม่มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นเลย เพราะคุณไม่รู้ว่าที่เกิดเหตุคืออะไร ศพนี้เป็นอย่างไร ไม่ใช่ดูแล้วตัดสินจากภาพถ่าย ข้อเท็จจริงมันต้องประกอบกันหมด 

หลายเคสที่ผมทำข่าวจะทำงานร่วมกับตำรวจ สมัยก่อนเกาะติดคดีอะไรก็ตาม  ข้อมูลจะนำกันไม่มาก แต่นำในแนวทางเดียวกันกับตำรวจ แต่มีเคสหนึ่งบอกไม่ได้ว่ากระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยวหรือไม่  ก็ไปหาข้อมูลกันดีๆ ถึงขนาดปั้นพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อเอาผิดคนๆหนึ่งจนศาลตัดสินประหารชีวิต เป็นเรื่องที่ทุกคนฝังใจและทำอะไรไม่ได้ ทั้งนักข่าวและตำรวจที่ทำงานก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะกระบวนการยุติธรรมมันบิดเบี้ยว  เรื่องนี้ก็มีในโลกที่ไม่มีโซเชียล แต่ถูกสังคมบังคับให้เชื่อว่าคนๆนี้คือฆาตกร เพราะภาพลักษณ์ของเขาไม่ดี แต่ข้อเท็จจริงมันไม่ใช่ เป็นข้อเท็จจริงที่โดนปิดบังมานาน

 “อยากฝากสื่อในการทำงานและเสนอข่าว ขอให้มีจรรยาบรรณ อย่าชี้นำใส่สีตีข่าว เพื่อความสะใจขายเรตติ้ง ข่าวคือข่าวไม่ใช่โชว์ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์ ขอให้ว่าไปตามข้อเท็จจริง ปัจจุบันแม้มีโซเชียลร่วมหาหลักฐานทางคดีด้วย แต่เราไม่โทษโซเชียลเพราะเป็นโลกเสมือนจริง ขณะที่สื่อหลักไม่ควรไปตามโลกโซเชียล และต้องให้ชาวบ้านเป็นคนตัดสินเอง เพราะการเป็นสื่อต้องถามว่าจรรยาบรรณคืออะไร  เราทำงานไปตามข้อเท็จจริง ไม่ควรแสดงความคิดเห็น ตรงนี้เป็นเรื่องน่ากลัวในโลกปัจจุบัน ทำให้กระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยว” 

 ทุกวันนี้บางคนทำเกินหน้าที่ตัวเอง ผมไม่ได้ว่าใครเป็นพิเศษแต่หยิบขึ้นมาเป็นแนวคิด ว่าสังคมถึงป่วนกระบวนการยุติธรรมถึงได้พัง สมมุติถ้าตำรวจไปแก้ต้นทาง แต่กระบวนการยุติธรรมยังมีชั้นอัยการ ,ผู้พิพากษาคัดกรองอีกที อย่าคิดว่าตำรวจจะเกี้ยเซียะกับผู้ต้องหา มันไม่ใช่ เป็นความคิดที่มโนกันไปเอง 

ส่วนการเตือนสติสังคมนั้น คงเตือนลำบากในโลกปัจจุบัน ที่ขยายวงกว้างไปแล้ว คนบางคนอาจจะคิดว่าตัวเองเป็นฮีโร่ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ฮีโร่ในโลกความเป็นจริง แต่จะมีใครสักคนที่รู้ความจริงว่าคนคนนั้นไม่ใช่ฮีโร่ อย่าหลงเชียร์ใครจนลืมไปว่าข้อเท็จจริงมันไม่ใช่ เราต้องว่ากันตามพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เพราะโกหกใครไม่ได้ ยกเว้นคดีที่ผมยกตัวอย่างคดีเดียวว่ามีการบิดเบือน สมมุติว่าพิสูจน์ทราบสุดท้าย ทั้งนิติวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตอบตรงกันหมดแล้ว จะมีใครคาใจอีกหรือไม่ ก็คงต้องมีเรื่องคาใจอีก เพราะคนยังไม่พอใจว่า ไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคิด คือถูกต้องแต่ไม่ถูกใจเป็นเรื่องที่น่ากลัวในยุคปัจจุบัน  

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5