“…. ต้องยอมรับว่ามิติของภาพถ่าย หรือภาพนิ่งมันไม่เหมือนภาพสื่อทีวีที่มันเคลื่อนไหวได้ ดังนั้นเพียงแค่เสี้ยววินาทีของการบันทึกภาพหนึ่งภาพ มันมีความเสี่ยงต่อเกิดปัญหาเรื่องการบิดเบือนของการนำไปใช้ เพราะแต่ละสื่อมีเป้าหมายของตัวเอง และสื่อบางสื่ออาจมีธงที่ต้องการชี้นำบางสิ่งบางอย่าง ดังนั้นผมมองว่าเราต้องดูข้อเท็จจริง อะไรที่มันจริงที่สุด เมื่อภาพนี้ถูกนำเสนอออกไปมันจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง ….. สำหรับผม มองว่าหน้าที่ของเราคือการทำยังไงก็ได้ ที่จะสื่อสารข้อเท็จจริงในสถานการณ์ตรงหน้าให้ได้มากที่สุด เมื่อภาพของเราถูกนำเสนอสู่สาธารณะ โดยไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง …..”
“ภาพการชุมนุม” ถือเป็นภาพที่ถ่ายยากที่สุดในมุมมองของช่างภาพข่าว เพราะมันเป็นเรื่องของความปลอดภัย ความสุ่มเสี่ยง และสื่อต้องระมัดระวังเรื่องการนำเสนอว่าจะไปกระทบกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่อย่างไร… เสียงสะท้อนจากบทสนทนาบางช่วงบางตอนของ ปฏิภัทร จันทร์ทอง ช่างภาพสถานีโทรทัทศน์ Voice TV เจ้าของรางวัลภาพถ่ายชนะเลิศPopular Vote ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก และ ภาพข่าวออนไลน์ยอดเยี่ยม รางวัลอิศรา อมันตกุลประจำปี 2564
ปฏิภัทร ยอมรับว่ากว่าจะได้ภาพที่สื่อความหมายดีๆสักภาพ แน่นอนว่าไม่ได้กดชัตเตอร์เพียงแค่ครั้งเดียว แต่เราต้องกดถ่ายหลายๆภาพ เพื่อจะมาเลือกดูว่าภาพไหนที่มันสะท้อน หรือแสดงให้เห็นถึงการทำงานของคนข่าวมากที่สุด จึงตัดสินใจส่งภาพนี้เข้าประกวด
จุดเริ่มต้นกว่าจะมาเป็นภาพสะท้อนเบื้องหลังของคนทำงานสื่อ คือ ภาพเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ซึ่งมีการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุมเพื่อจะไปทำเนียบรัฐบาล แต่ระหว่างที่ผู้ชุมนุมจะเคลื่อนไปทำเนียบรัฐบาล มีปฏิบัติการปิดกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงมีเหตุการณ์เผชิญหน้ากันระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งเจ้าหน้าที่มีการฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ผู้ชุมนุม ขณะที่กองทัพสื่อที่ติดตามการเคลื่อนไหวอยู่ในบริเวณนั้น ต่างก็ได้รับผลกระทบจากการทำงานของตำรวจด้วยเช่นกัน
ปฏิภัทร กล่าวว่า เข้าใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ณ ช่วงเวลาวิกฤตทุกคนต่างต้องทำหน้าที่ของตัวเอง เจ้าหน้าที่ปกป้องพื้นที่ ขณะที่สื่อก็อยากใกล้ชิดเหตุการณ์ระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ เพื่อที่จะให้ได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แน่อนว่าเราต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบของทั้งสองฝ่าย
วันนั้นจำได้ว่าผมหลบอยู่หลังต้นไม้อีกฝั่ง ช่วงเวลาของการปะทะตำรวจฉีดน้ำทั่วบริเวณโดนไม่ได้ดูว่าเป็นสื่อหรือเป็นกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งกระแสน้ำที่แรงมากทำให้ละอองน้ำเกิดการฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ มีสื่อช่างภาพอย่างน้อย 3 คน ได้รับผลกระทบถูกลูกหลงเป็นลูกกระสุนยาง ผมเขียนอธิบายภาพเหตุการณ์ในวันนั้นไม่เพียงทำให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บ แต่ยังส่งผลกระทบต่อความเสียหายของอุปกรณ์ของสื่อด้วยเช่นกัน มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุหรือไม่
ทั้งนี้ปฏิภัทร เล่าต่อว่าภาพถ่ายรางวัลของอิศรา เป็นภาพช่วงเหตุการณ์การชุมนุมวันที่ 1 สิงหาคมปีที่ผ่านมา เป็นการชุมนุมถึงช่วงค่ำ มีการตั้งขบวนแถวของเจ้าหน้าที่ประกาศให้ประชาชนแยกย้ายการชุมนุม เพราะเป็นช่วงเวลาของการเคอร์ฟิวส์ มันมีจังหวะหนึ่งที่ผู้ชุมนุมขับรถจักรยานยนต์ผ่านจุดของเจ้าหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่กลุ่มนั้นยกปืนขึ้นมาจ่อประชาชนที่ขี่รถจักรยานยนต์ผ่าน จังหวะนั้นผมอยู่บนสะพานลอยเห็นเข้าพอดีจึงรีบกดชัตเตอร์
จากประสบการณ์ที่ได้ลงพื้นที่เกาะติดการชุมชนของม็อบต่างๆ ผมมองว่าการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หลายๆครั้ง จะเห็นว่าเป็นการทำงานที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ หรือจะเรียกว่า “เล่นนอกเกมส์” ก็ได้ บางครั้งอาจส่งผลกระทบต่อสื่อที่ทำงานในพื้นที่ เพราะบางครั้งเขาอาจไม่ได้ระมัดระวัง จนมีความสุ่มเสี่ยงกับสื่อที่กำลังปฏิบัติงาน
หากจะถามว่าปฏิภัทร การทำข่าวประเด็นไหนมีความท้าทายมากที่สุด น่าจะสถานการณ์การชุมนุม เพราะในพื้นที่จริงเราต้องสามารถประเมินได้ว่าพื้นที่ปลอดภัย จุดไหนจะสามารถทำงานให้ได้มากที่สุดและปลอดภัยที่สุดทั้งตัวเราและอุปกรณ์ ซึ่งหากพูดถึงอุปกรณ์เซฟตี้ของคนทำงานสื่อควรมีหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับเหตุการณ์เช่นกัน ต้องประเมินได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์สุ่มเสี่ยงหรือไม่อย่างไร หน้ากากกันแก๊ส สำคัญมันทำให้เราทำงานอยู่ในพื้นที่ได้ หรือบางเหตุการณ์ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เลย
สุดท้ายปฏิภัทร ฝากถึงหลักในการทำหน้าที่ของสื่อภาพนิ่ง ว่าคนที่จะมาทำงานข่าวที่ดี ส่วนหนึ่งควรมีพื้นฐานการถ่ายภาพ อีกส่วนคือต้องชอบติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลา ข่าวอะไรก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องการเมือง อาจจะเป็นประเด็นทางสังคม สิ่งแวดล้อมข่าวรอบตัว เพราะข่าวทั้งหมดจะเป็นพื้นฐานที่ทำให้ช่างภาพเข้าใจที่มาที่ไปของเหตุการณ์นั้น และทำให้เราสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆได้ดียิ่งขึ้น