เจาะลึก กรอบจริยธรรม “ข่าวสายมู”

“กองบรรณาธิการขององค์กรสื่อ ควรจะต้องเป็นหลักในการพิจารณา ว่าเหมาะสมหรือไม่ หลายคนมีประสบการณ์ มีวิจารณญาณ มีเนื้องานพอสมควร เรื่องพวกนี้ก็น่าจะกรองได้ระดับหนึ่ง”

เรื่องลี้ลับ-ไสยศาสตร์ เป็นเรื่องเร้นลับเหลือเชื่อ ที่มนุษย์ยังคงให้ความสนใจ ตั้งแต่อดีตแม้ว่าปัจจุบัน จะเข้าสู่ยุคดิจิตอลหรือยุค 5G แต่เรื่องประเภทนี้ ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง และคนที่ชื่นชอบ ซึ่งถูกเรียกว่า “สายมู” มีจำนวนมาก

ซึ่งสื่อรู้ว่าคนให้ความสนใจและชื่นชอบ จึงพยายามนำเสนอ ในรูปแบบต่างๆ อาทิ ข่าว สกู๊ป ละคร ภาพยนตร์ ไปถึงเรียลลิตี้โดย YouTuber สร้างความบันเทิงในลักษณะมูขึ้นมาเป็นจำนวนไม่น้อย


“ชาย ปถะคามินทร์ อดีตเลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” พูดคุยใน “รายการ​ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึงกรอบการทำงานของสื่อว่า ปัจจุบันนี้ความเชื่อและเลื่อมใสศรัทธา เรื่องของสายมู เช่น ท้าวเวสสุวรรณมีคนจำนวนมากนับถือ อาจมาจาก TikTok และอินฟูเรนเซอร์หรือดารา ที่ไปไหว้แล้วได้รับผลดี กิจการรุ่งเรืองขึ้น ทำให้เขามีความสุข

​จึงเป็นที่มาของกิจกรรม สมาชิกสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรม ตามรอยพลังศรัทธาท้าวเวสสุวรรณ ซึ่งสมาคมนักข่าวนักหน้งสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พาไปวัดจุฬามณีมีท้าวเวสสุวรรณ ที่ประชาชนจำนวนมาก ศรัทธาเคารพกราบไหว้บูชา และวัดอินทราราม มีท้าวเวสสุวรรณอยู่เช่นกัน ทั้ง 2 วัดอยู่ที่ จ.สมุทรสงคราม มีกลุ่มสื่อระดับอาวุโส และน้องนักข่าวมาร่วมพูดคุย ถึงแนวทางการนำเสนอข่าวไสยศาสตร์

​ทั้งนี้ถ้าเป็นการรายงานข่าวปกติ ก่อนยังไม่มีสถานการณ์โควิด คนก็จะเดินทางไปที่เกาะฮ่องกงเยอะมาก เพื่อบูชาเช่าปี่เซียะ กังหัน หรือไปพม่าไหว้พระธาตุอินทร์แขวน ,ไหว้เทพทันใจ ซึ่งไม่แตกต่างจากเหตุการณ์นี้ ในอดีตเคยพูดถึง บั้งไฟพญานาคที่ จ.นครพนม และจตุคามรามเทพ ก็มีคนเลื่อมใสศรัทธามากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หรือถ้าพูดถึงเรื่องลี้ลับ เรื่องหวย เช่น มีบาตรน้ำมนต์ คนก็ไปทายเป็นตัวเลข หรือมีสักยันต์

​เรื่องนี้เป็นความเชื่อของคน ซึ่งส่วนใหญ่ไปเพื่อแทงหวย มีการมองว่างมงายหรือเปล่า เพราะเรื่องพวกนี้สามารถ พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ เช่น กรณีไม้ตะเคียนที่จมอยู่ใต้น้ำ 30 - 40 ปี มีคนลากขึ้นมาแต่สภาพยังดีอยู่ มีคำอธิบายว่าตะเคียนเป็นไม้เนื้อแข็ง สามารถแช่น้ำได้นานไม่ผิดปกติอะไร หรือต้นไม้ที่ออกดอกออกผลผิดธรรมชาติ อาจเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม ไม่น่าจะนำเสนอข่าวออกมา จนเป็นข่าวหน้าหนึ่ง

​แม้ปัจจุบันมีการนำเสนอเรื่องหวย แต่เปลี่ยนจากรูปแบบเดิม ที่ไปขูดต้นไม้ เป็นอินฟลูเอนเซอร์ออกมาให้เลขแทน รวมทั้งเรื่องดวงประจำวัน และประจำสัปดาห์ด้วย ที่คนไทยสนใจคลิกเข้าไปอ่าน เรื่องพวกนี้จำนวนมาก ฉะนั้นสื่อควรมีวิจารณญาณพอสมควร พิจารณาว่านำเสนอแค่ไหนจึงจะเหมาะสม อย่าให้ถึงขนาดงมงาย และเลี่ยงได้หรือไม่ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์หัวสี เพราะชาวบ้านทั่วไปอ่าน

“ต้องยอมรับว่าตอนนี้สายมูแรงมาก รัฐบาลชอบพูดถึงซอฟพาวเวอร์ เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาการท่องเที่ยว แต่วิธีการนำเสนอของสื่อ ผมคิดว่ากองบรรณาธิการ ต้องผ่านการกลั่นกรองค่อนข้างเยอะ ไม่ใช่เขียนอะไรก็ได้ ถ้ามีการกลั่นกรอง จากกองบรรณาธิการที่ดีๆ มีความละเอียดรอบคอบ การนำเสนอเรื่องพวกนี้ ก็เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และกระตุ้นท่องเที่ยว เพราะเป็นความสนใจของประชาชนอยู่แล้ว”

สื่อจึงได้พูดคุยหารือกันว่า ควรร่างเป็นแนวปฏิบัติดีหรือไม่ ขนาดไหนควรนำเสนอได้ ขนาดไหนไม่เหมาะสม มีการประชุมกันหลายรอบ ตอนนั้นผมร่วมเป็นกรรมการร่างเรื่องนี้ด้วย มีทั้งภาควิชาการ วิชาชีพ ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มาพูดคุยหารือกัน

​สาระสำคัญส่วนใหญ่ คือ วางแนวในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และแนวปฏิบัติของสภาการสื่อมวลชน ทั้งเรื่องการนำเสนอข่าว ภาพข่าว ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ตัวเลขและสลากพนัน ถ้าเป็นประโยชน์สาธารณะ ไม่มีเจตนาแฝงก็สามารถรายงานได้ การรายงานข่าวปกติ ไม่ต้องไปพรรณาว่าไปไหว้แล้ว ถูกเลขรางวัล เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งในกรอบของจริยธรรมวิชีพของสื่อมวลชน ของสภาการสื่อมวลชนได้ปรับปรุงใหม่ และประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา

​ความจริงก่อนหน้านี้มีแนวปฏิบัติ ตั้งแต่ยังเป็นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ย้อนหลังไปประมาณปี 2550 -2552 ประชุมพูดคุย บริบทในตอนนั้น มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า ทำไมหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นสื่อหลัก ในการนำเสนอข่าว ถึงเสนอเรื่องคนไปไหว้ และปะแป้งต้นไม้ เพื่อขูดดูตัวเลข เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่ สื่อไม่ควรที่จะนำเสนออะไร ให้ประชาชนหลงเชื่อ ซึ่งนักวิชาการมองว่างมงาย

​ส่วนร่างที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีการปรับปรุงบ้าง เพราะสภาการสื่อมวลชนเดิม เป็นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น มีเว็บไซต์โทรทัศน์เพิ่มมากขึ้น จึงปรับเนื้อหา แต่ภาพรวมแล้วไม่ได้เปลี่ยนจากเดิม หน้ามือเป็นหลังมือ เรามีแนวปฏิบัติในการนำเสนออยู่แล้ว ว่าต้องไม่นำเสนอข้อมูล ประกอบการเล่นพนัน หรือข้อมูลที่ได้มาจากศิลปิน ดารา , บุคคลสาธารณะ นำไปสู่การจูงใจให้เล่นพนัน

​สำหรับแนวปฏิบัติตั้งแต่ ปี 2561 มาจนถึงปี 2565 มีการขยายจาก 9 ข้อมาเป็น 11 ข้อ เพื่อสอดรับกับสถานการณ์ ปัจจุบันมากขึ้น เช่น แนวปฏิบัติข้อ 1-5 คือ “ต้องไม่ทำเลย” เช่น ต้องไม่นำเสนอข้อมูลประกอบ การเล่นพนัน หรือการพนันที่ได้มาจากศิลปินดารา หรือบุคคลสาธารณะ อันนำไปสู่การจูงใจให้เล่นพนัน แต่จากข้อ 6 ไปจะเป็น “พึง” เช่น พึงหลีกเลี่ยงการนำเสนอ ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่ได้รับรางวัลสลาก ไม่ต้องบอกรายละเอียด

​“กองบรรณาธิการขององค์กรสื่อ ควรจะต้องเป็นหลักในการพิจารณา ว่าเหมาะสมหรือไม่ หลายคนมีประสบการณ์ มีวิจารณญาณ มีเนื้องานพอสมควร เรื่องพวกนี้ก็น่าจะกรองได้ระดับหนึ่ง ถ้ายังบอกว่าสื่อเป็นสถาบัน ในการให้ข้อเท็จจริงให้ความรู้ ของสังคม ที่จะทำให้สังคมเป็นเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น บางทีก็สวนทางเหมือนกัน ระหว่างความต้องการยอดไลค์ ยอดแชร์ ยอดเข้าไปคลิกดู กับกรอบจริยธรรม ประโยชน์ต่อสาธารณะ ต้องหาความสมดุลย์ให้ได้”
​ ​
​ความจริงสื่อก็รู้ว่า แค่ไหนควรพอไม่ใช่เกิดเหตุขึ้น แล้วต้องรายงานทุกเรื่อง เพราะมีเรื่องของความรับผิดชอบทางกฎหมาย ความรับผิดชอบทางจริยธรรมอีกหลายเรื่อง ที่เราต้องคำนึงถึงด้วย

เพราะสื่อเป็นองค์กรวิชาชีพเดียว ที่ไม่มีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงต้องสร้างกรอบจริยธรรมวิชาชีพขึ้นมา ไม่เหมือนกับแพทยสภา สภาวิศวกร หรือนักบัญชี เภสัชกร มีกฏหมายระบุว่า ถ้าคุณทำผิดต้องถูกถอนใบอนุญาต ขณะคนมาทำหน้าที่สื่อก็จบหลากหลาย ทั้งนิติศาสตร์ , รัฐศาสตร์ , เศรษฐศาสตร์ , นิเทศศาสตร์ , วารสารศาสตร์
​ อาจจะไม่ได้เรียนหลักการทำข่าวมาเลย กรอบจริยธรรมสื่อก็ไม่ได้เรียนมา ดังนั้นเป็นหน้าที่ของกองบรรณาธิการ หรือองค์กรวิชาชีพ ที่จะต้องให้ความรู้ทักษะเรื่องเหล่านี้

เนื่องจากกฎหมายไม่ได้เข้ามาควบคุม เพราะเขายกให้สื่อแล้ว ดังนั้นก็ควรที่จะอยู่ในกรอบ ด้านจริยธรรมที่พอเหมาะพอควรด้วย

ติดตาม “รายการ​ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดยความร่วมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5