แรงกระเพื่อม หลังล็อกเป้าซักฟอก “รัฐบาล”

“การอภิปรายไม่วางใจ เป็นส่วนหนึ่ง ของกระบวนการทางการเมือง แต่กระบวนการเลือกตั้ง เรามีอำนาจในการตัดสินใจโดยตรง ดังนั้นการเสพข่าวการเมือง อย่าเครียดมาก และอย่าให้มีผลกระทบกับจิตใจ หรืออารมณ์ของเรา”

ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2565 ที่ฝ่ายค้าน ยื่นตรวจสอบ “รัฐบาลประยุทธ์” ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย เนื่องจากอายุรัฐบาลชุดปัจจุบัน จะครบวาระในเดือนมีนาคม 2566 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติโหวตไว้วางใจ ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีอีก 10 คน ผ่าน พร้อมทำงานต่อ

​คัชฑาพงศ์ ลีลาพงศ์ฤทธิ์ ผู้สื่อข่าว (สายการเมือง) TNN บอกกับ “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจนี้ เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไป ถ้าไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองระหว่างนี้ และหลังการอภิปรายไม่ว่างใจ ผู้สื่อข่าวต่างจับตาดูว่า นายกฯจะปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่

​แม้หลายครั้งในอดีตเคยบอกว่าจะไม่ปรับก็ตาม ​แต่หลังจากนั้น ประมาณ 1 อาทิตย์หรือ 1 เดือน เคยมีการปรับครม. เช่น ปีที่แล้วมีศึกเป็นกบฏล้มเก้าอี้ นายกฯยืนยันว่าไม่มีการปรับครม. สุดท้ายก็ปรับ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า และนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ออก

​ก่อนหน้านั้นกรณี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล นายกฯยืนยันว่าไม่ปรับ สุดท้าย ม.ร.ว.จัตุมงคล ขอลาออกเอง จนเป็นเหตุให้มีการปรับครม.ครั้งใหญ่ ดังนั้นตอนนี้ก็คาดว่า น่าจะมีการปรับเช่นกัน เป็นช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง

​ภายในพรรคพลังประชารัฐ มีการเขย่าเก้าอี้ รมว.มหาดไทย ซึ่งคุมพื้นที่แต่ละจังหวัด ส่วนท้ายที่สุดแล้ว นายกฯ จะปรับตำแหน่ง รมว.มหาดไทยหรือไม่ ก็ต้องจับตาดู ทั้งนี้การปรับครม.ทุกครั้ง เป็นการสร้างแรงกระเพื่อมรัฐบาล เพราะการปรับครั้ง 1 ก็ถือเป็นโอกาสดี ในการจัดสรรเก้าอี้ใหม่ อาจจะมีการผลักดัน กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ขึ้นมา เพื่อให้เป็นแคนดิเดตรัฐมนตรี

​การทำงานในสภามักจะเกิด “ดาวสภา” ซึ่งผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา จะตั้งฉายาให้ทุกปี จะต้องดูภาพรวม ตลอดทั้งปีการทำงาน ของสภาผู้แทนราษฎรชุดนั้น ซึ่งต้องให้เครดิตฝ่ายค้าน ที่สืบเสาะหาข้อมูล มาตั้งข้อกล่าวหา และตรวจสอบรัฐบาลตามหน้าที่ ขณะเดียวกันก็ต้องให้เครดิตรัฐบาล ที่รวบรวมข้อกล่าวหา ของฝ่ายค้านทั้งหมดมาชี้แจง เพื่อรักษาเครดิตของเขาไว้ ดังนั้นผมไม่ขอฟันธง ว่าใครจะเป็นดาวสภา

“ดูภาพรวมแล้ว ยังไม่มีใครโดดเด่นมากนัก แต่ให้เครดิตและคะแนน ในการทำหน้าที่ ตามกระบวนการ ของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภา ที่ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลย์ เพราะสภาเป็นที่มาของครม. การทำหน้าที่ของครม. ก็ต้องอยู่ภายใต้ความไว้วางใจของสภา ก็น่าจะให้เครดิตและคะแนน ทั้งสองฝ่ายดีกว่า”

​การใช้สำนวนโวหารอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีข้อมูลที่เขาไปรวบรวมมา ถ้าคนรุ่นใหม่ ที่เด่นก็ต้องยกเครดิต ให้กับพรรคก้าวไกล ถือว่าทำหน้าที่ได้ดีพอสมควร เช่น นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปราย นายยจุติ ไกรฤกษ์ จนนายจุติเสียหลักพอสมควร ก่อนที่จะไปหาข้อมูลมาหักล้าง ในวันถัดมา

​อีกคนหนึ่งที่ลาออกไป คือ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ลาออกไปสมัคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมัยก่อนสื่อจะต้องจับตา นายวิโรจน์ว่า จะอภิปรายอะไร เพราะนอกจากข้อมูลจะแน่นแล้ว เวลาการอภิปรายก็ดุเดือด ไม่น้อยหน้านายณัฐชา

​ทำให้รัฐบาลต้องทำงานหนักพอสมควร ในการชี้แจงแก้ไขข้อกล่าวหา เพราะส่วนใหญ่คนก็มักจะเชื่อ ข้อกล่าวหามากกว่าคำชี้แจง แต่หลายคนก็ทำหน้าที่ ได้เป็นอย่างดี เช่น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.พาณิชย์ ที่ถูกอภิปรายเรื่องถุงมือยาง 3 รอบตั้งแต่โควิดระบาดช่วงแรกๆ พอมาการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ก็ต้องมาชี้แจงอีก

​โดยตัวของนายจุรินทร์ ถือว่าเป็นนักการเมืองอาวุโสคนหนึ่ง ที่อยู่ในสภามานาน การอภิปรายก็จะอาศัย เพียวกระดาษแผ่นเดียวโน้ตหัวข้อ ว่าจะพูดอะไรบ้าง โดยไม่ต้องท่องสคริป หรือนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ก็เหน็บแนม อดีตเพื่อนรัฐมนตรี ที่เป็นคู่ขัดแย้งกัน ถือเป็นวิวาทะทางการเมือง สีสันเล็กๆน้อยๆ ที่เกิดขึ้นในการอภิปราย

​ขณะที่นายกฯมีพัฒนาการ ในการควบคุมอารมณ์ ถ้าย้อนกลับไปดู การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรก จะเห็นว่าตกหลุมฝ่ายค้านตลอด เพราะฝ่ายค้านพยายามยั่วให้โกรธ นายกฯก็ตกทุกหลุม แต่การอภิปรายในรอบนี้ นายกฯสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น

​ส่วนการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ในการเกาะติดคีย์แมนสำคัญ ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะต้องจับตาก่อนเลยว่า รัฐมนตรีคนไหนถูกเพ่งเล็งมากที่สุด หรือการเคลื่อนไหว ของกลุ่มพรรคเล็ก เพราะเป็นตัวแปรสำคัญ ในการลงมติครั้งนี้ สื่อก็ต้องไปเกาะติดท่าที ว่ามีการคุยและสรุปแนวทาง ในการลงมติอย่างไรเพราะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อคะแนน

​ยอมรับว่าสัปปายะสภาสถาน หรือ อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) แห่งใหม่ใหญ่โตมาก มีหลายทางเข้า ต่างจากอาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน ซึ่งเล็กและมีทางเข้าออก เพียง 3 ทาง เพราะฉะนั้นการจะไปเจอใคร ต้องอาศัยความบังเอิญ ของผู้สื่อข่าวคนนั้นจริงๆ
​การอภิปรายไม่ไว้วางใจปีที่แล้ว เกิดเป็นกระแสข่าว การล้มเก้าอี้นายกฯ มีนักการเมืองระดับ รัฐมนตรีคนหนึ่งหิ้วกระเป๋า ก็เป็นความบังเอิญ ว่าไปเจอกันพอดี เพราะพื้นที่รัฐสภาใหญ่มาก ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่นิดเดียว เราสังเกตง่าย ว่าใครจะไปทำอะไรที่ไหน

​ขณะเดียวกัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็จะมีห้องทำงานส่วนตัว บางครั้งก็จะนัดกันพูดคุยในห้องส่วนตัว และมีห้องทำงานของรัฐมนตรี ทำให้ผู้สื่อข่าวเข้าไม่ถึง ต้องอาศัยการโทรศัพท์เช็คข่าว จากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ของเรา ว่ามีเหตุการณ์อะไร และเรื่องนี้เป็นอย่างไร ก็ต้องมีการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง จากแหล่งข่าวอีกคนด้วย ว่าตรงกันหรือไม่ และข่าวดังกล่าวเชื่อถือได้หรือไม่

​สภาเป็นบ่อเกิดของอำนาจบริหาร การทำงานต้องมีการตรวจสอบ ถ่วงดุลกันตามกระบวนการประชาธิปไตย แต่เท่าที่เห็นมีประชาชนบางคนเครียด ว่าทำไมรัฐบาลไม่ล้มเสียทีก็ถือว่า เป็นกระบวนการประชาธิปไตย แม้เราอาจจะไม่ได้ไปลงมติ อย่าง ส.ส.แต่ประชาชนก็มีอำนาจ ในการเลือกผู้แทน
“การอภิปรายไม่วางใจ ก็เป็นส่วนหนึ่ง ของกระบวนการทางการเมือง แต่กระบวนการเลือกตั้ง เรามีอำนาจในการตัดสินใจโดยตรง ดังนั้นการเสพข่าวการเมือง อย่าเครียดมาก และอย่าให้มีผลกระทบกับจิตใจ หรืออารมณ์ของเรา”

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย ความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5