“ฤาเลือกตั้ง 66 ซอฟท์แลนดิ้ง ประยุทธ์?  ในวันที่ขายความสงบ จบที่ลุงตู่ไม่ได้แล้ว” 

“ตอนนี้พลังประชารัฐ ไม่ได้ป๊อปปูลาร์ เหมือนปี 62 ที่จะขายความสงบจบที่ลุงตู่ได้แล้ว  เพราะสถานการณ์ไปไกลกว่าเมื่อ 4 ปีมาก ไม่สามารถคาดการณ์การเมืองได้ยาวๆ  และนับจากวันนี้ ไปจนถึงเลือกตั้ง ยังมีหลายสเต็ป คาดเดาสถานการณ์ ข้างหน้าลำบาก...และการเลือกตั้ง อาจจะเป็นซอฟท์แลนดิ้ง ของพล.อ.ประยุทธ์ก็ได้ ”

หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เริ่มนับตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 หรือนับตั้งแต่วันที่มีรัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกใช้บังคับ ส่วนก่อนหน้านั้นไม่มีผลบังคับใช้

            ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังดำรงตำแหน่งไม่ครบ 8 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งต่อได้อีก 2 ปี “ณัฐวุฒิ  กรัณยโสภณ”  ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวการเมืองประชาชาติธุรกิจ” วิเคราะห์ ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า  สิ่งเหล่านี้ไม่อยู่เหนือความคาดหมาย 

            “ผมได้อ่านคำร้อง ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และดูคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ทั้ง 2 อย่าง และมีจุดบกพร่องคำร้องของฝ่ายค้านด้วย เห็นสัญญาณว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยออกมา ในทางที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่ออีก 2 ปี

            หากเทียบเคียงกับกรณี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.กระทรวงการต่างประเทศ   ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยให้ไม่สิ้นสุดตำแหน่ง  เพราะสถานะความเป็นรัฐมนตรีของนายดอนเริ่มตั้งแต่ 6 เม.ย.2560 เป็นวันเริ่มเข้ารับตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย  จึงเทียบเคียงกับ พล.อ.ประยุทธ์ได้ ว่าเป็นหลักที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวางไว้
            ฝ่ายค้านได้นำ คำวินิจฉัยประเด็นนี้ มาอยู่ในคำร้องของตนด้วย ดังนั้นศาลพิจารณาเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากเขียนความเป็นนายกรัฐมนตรี ของพล.อ.ประยุทธ์นับวันเข้ารับตำแหน่ง ”

            ขณะที่นักการเมืองและนักวิชาการ  วิเคราะห์โอกาส ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่ามีสูง ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อได้อีก 2 ปีเท่านั้น ถึงเมษายน 2568 แต่ราคาของพล.อ.ประยุทธ์ ในสนามเลือกตั้ง มีไม่เท่ากับคนอื่น เพราะพรรคการเมืองต่างๆ คนที่จะมารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีนั้นอยู่ได้ถึง 4 ปี  ทำให้การเลือกตั้งรอบหน้า พรรคพลังประชารัฐ ต้องคิดหนัก
                       
            จึงเป็นไปได้ตามที่ ส.ส.พลังประชารัฐบางคน บอกมาว่าอาจจะมีการเสนอชื่อ  แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีถึง 3 คน 1 ในนั้น คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ที่ ส.ส.พร้อมสนับสนุน เพราะมีความสามารถ ในการบริหารเชิงการเมือง และเข้าถึงได้ง่าย

            ต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่กว่าจะเข้าหาได้ ต้องรอเวลาสำคัญจวนตัว เช่น จะมีการโหวตขอเสียง ส.ส. การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ถึงจะเปิดโอกาส ให้เข้าพบ ดังนั้นพลังประชารัฐ จะไม่เสนอพล.อ.ประยุทธ์คนเดียว เหมือนปี 2562 แม้จะมีแฟนคลับประจำมากพอสมควรก็ตาม ต้องรอดูว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะยอมถูกเสนอชื่อ เป็นแคนดิเดต นายกรัฐมนตรีหรือไม่

            “ตอนนี้พลังประชารัฐ ไม่ได้ป๊อปปูลาร์ เหมือนปี 62 ขายความสงบจบที่ลุงตู่ได้แล้ว  เพราะสถานการณ์ไปไกลกว่า 4 ปีมาก ไม่สามารถคาดการณ์ การเมืองได้ยาวๆ  นับจากวันนี้ไปจนถึงเลือกตั้ง ยังมีหลายสเต็ป คาดเดาสถานการณ์ข้างหน้าลำบาก แต่การเลือกตั้ง อาจจะเป็นซอฟท์แลนดิ้ง ของพล.อ.ประยุทธ์ก็ได้”

            ส่วนมุมมองของฝ่ายค้าน ประเมินว่าเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ไปต่อ เป็นประโยชน์กับเพื่อไทยมาก  เพราะอยู่นานคนจำนวนมากยิ่งไม่ชอบ กว่าจะถึงวันเลือกตั้ง  สถานการณ์กับบริบท ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศ กับสถานการณ์โลก  จะส่งผลกระทบถึงประเทศไทย  ถ้าพล.อ.ประยุทธ์อยู่ไปถึง วันเลือกตั้งปีหน้า ฝ่ายค้านก็มีประเด็น  โจมตีได้ง่ายกว่าเปลี่ยนตัว นายกรัฐมนตรีเป็นคนอื่น

           
ส่วนการกลุ่มการเมืองนอกสภา  แม้จะมีการประกาศเคลื่อนไหวชุมนุม และพยายามจุดกระแส  แต่คงจุดติดไม่มาก เหมือนกับกับ 2 ปีที่แล้ว  เพราะตอนนี้ในทางการเมือง อารมณ์-ความรู้สึกของประชาชน และพรรคการเมือง  ซึ่งเป็นกลไกสำคัญ ในการเติมคนเข้าชุมนุม  ต่างโฟกัสไปที่จุดเดียวกัน คือการเลือกตั้งในปี 2566  เพื่อเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ในระบบมากกว่า”  ณัฐวุฒิ วิเคราะห์ทิ้งท้าย

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์  เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับ  คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5​