“จุดสมดุลและยั่งยืน!! โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา กับโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้าย” 

โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อ.กระแสสินธุ์  จ.สงขลา – อ.เขาชัยสน  จ.พัทลุง ของกรมทางหลวงชนบท เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ฮือฮา และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย  หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ก่อสร้าง โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 3 ปี คือปี 2566 - 2568 วงเงิน 4,841 ล้านบาท 

            โครงการนี้นอกจากจะช่วยร่นการเดินทาง ระหว่าง อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ไปยัง อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง จากระยะทาง 80 กิโลเมตร เหลือ 7 กิโลเมตรแล้ว ยังช่วยร่นระยะเวลาเดินทางจาก 2 ชั่วโมง ให้เหลือเพียง 15 นาทีเท่านั้น  อีกทั้งช่วยพัฒนาเส้นทางการขนส่งโลจิสติกส์ และเส้นทางท่องเที่ยวสายใหม่ เชื่อมโยงทะเลอันดามันกับอ่าวไทย เชื่อมระหว่าง 3 จังหวัด คือ ตรัง-พัทลุง-สงขลา ตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว กระจายรายได้สู่ชุมชน และสามารถใช้เป็นเส้นทางอพยพ  กรณีเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ เกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เป็นการอำนวยความสะดวกในการคมนาคมขนส่ง ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

            แต่ในอีกด้านหนึ่งบริเวณดังกล่าว ถูกกำหนดเป็นเขตคุ้มครอง ของโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้าย ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 5 แหล่งทั่วโลก ที่ฝูงโลมาชนิดดังกล่าวอาศัยอยู่ ในเขตพื้นที่ห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง  ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า เมื่อมีโครงการนี้เกิดขึ้นจะส่งผลให้โลมาอิรวดีสูญพันธุ์  เพราะโลมาชนิดนี้ไม่สามารถว่ายออกทะเลได้  และจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

            เจ้าของเงินกู้ของโครงการนี้ คือ ธนาคารโลก เป็นห่วงในเรื่องนี้  ทำให้ ครม.ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ  อาจต้องอาศัยความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ  เข้ามาดูแลอนุรักษ์ป้องกัน หรืออาจจำเป็นต้องใช้การผสมเทียม  เทคนิคสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น  เพื่อให้ฝูงโลมาดังกล่าวอาศัยอยู่บริเวณนี้ได้  โดยไม่ย้ายถิ่นที่อยู่

            สาเหตุหนึ่งที่โลมาอิรวดีตายเป็นจำนวนมาก คือ แหล่งอาหารถูกแย่งชิงไปกับการทำประมงจับสัตว์น้ำ โลมาอิรวดีไปติดอวน  และว่ายไปชนใบพัดเรือประมง  เมื่อเหลืออยู่ 14 ตัวสุดท้าย ตามหลักชีววิทยาทำให้การผสมพันธุ์ อยู่ในภาวะ “เลือดชิด” ได้ “ยีนส์ด้อย” เมื่อเหลือจำนวนไม่มากและผสมกันเอง  ตัวอ่อนที่คลอดออกมาจึงไม่แข็งแรงติดโรคง่าย  

            กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ได้มี 5 แผน ที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว ระยะสั้นปี 2565 - 2566  คือ ลดภัยคุกคามและแหล่งที่อยู่อาศัย  เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำซึ่งเป็นแหล่งอาหารของโลมา  จัดพื้นที่หวงห้ามทำประมง  ศึกษาวิจัยโลมาอิรวดีและแหล่งที่อยู่อาศัยอื่น  ช่วยชีวิตและรักษาโลมาที่เกยตื้น

            ส่วนแผนระยะยาวจะเริ่มใน 2566 - 2570 คือ วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี  ฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2575 โลมาจะเพิ่มจาก 14 ตัวเป็น 30 ตัว  ซึ่งการทำงานจะลงนามความร่วมมือ เรื่องการบริหารจัดการโลมาอิรวดี ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  กับมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาร่วมดูแลเพาะพันธ์โลมาด้วย 

            ในมุมมองของภาคธุรกิจ เมื่อเดินทางสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจและท่องเที่ยว เป็นเส้นทางศรัทธา แลนด์มาร์คที่ทำให้คนเดินทาง ไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆในพื้นที่ได้ง่าย  เพราะปัจจุบันเป็นยุคสายมู ก็จะได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย รวมทั้งเรื่องอาหารการกิน ผลิตภัณฑ์ของชาวบ้าน  การกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน   ส่วนความคิดเห็นประชาชน ทั้ง จ.สงขลาและพัทลุง สำรวจพบว่าต้องการให้ก่อสร้าง

             ขณะที่มุมมองของนักวิชาการและเอ็นจีโอ  ที่ดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์  ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเลและรองคณบดี คณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กับนายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักทะเลไทย เห็นตรงกันว่า การก่อสร้างสะพาน ไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้โลมาอิรวดีสูญพันธุ์   แต่ปัญหาหลักมาจากการทำประมงในพื้นที่  ซึ่งภาครัฐไม่เคยมีมาตรการ หรือนโยบายจริงใจ  ที่จะเข้าไปดูแลโลมาอิรวดี  และหากจะอนุรักษ์แล้ว ก็อย่าทำให้ชาวบ้านเกลียดโลมา  จึงต้องทำควบคู่ไปด้วยกัน 

            กรณีตัวอย่าง เช่น โลมาสีชมพู ที่กลายเป็นจุดชมโลมา เพราะเป็นตัวทำรายได้และเศรษฐกิจเข้าสู่ชุมชน โดยไม่ต้องทำประมง  ชาวบ้านรักและหวงแหน ทะนุถนอมโลมาชนิดนี้ รวมตัวกันเป็นเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก   ร่วมมือกับภาครัฐ หากเห็นโลมาขึ้นมาหากิน  ก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่เข้ามาเฝ้า  และงดเว้นทำประมงในพื้นที่บริเวณนั้นก่อน  

            กรณีโลมาอิรวดี  จึงต้องศึกษาบริบทดังกล่าวนี้เช่นกัน  ซึ่งทั้ง ภาครัฐ , เอกชน และประชาชน คงต้องชั่งน้ำหนัก  ระหว่างการอนุรักษ์ กับพัฒนาโครงการก่อสร้าง พื้นฐาน จะทำควบคู่กันได้อย่างไร เพื่อให้ทุกอย่างสมดุลย์และยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

รับฟัง “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดยความร่วมมือ ของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5