รูดม่านความสำเร็จ ประเทศไทยในเวทีเอเปค 2022  

ปิดฉากไปแล้วเรียบร้อย สำหรับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค ) APEC 2022 THAILAND ”  โดยเป็นการประชุมแบบพบหน้าได้สำเร็จ หลังทั่วโลกเผชิญการระบาดของโควิด- 19 สมความตั้งใจของรัฐบาลที่ขอให้คนไทยร่วมเป็นเจ้าภาพที่ดี จนที่สุดแล้วที่ประชุมผู้นำเอเปคก็ได้ร่วมรับรอง ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. 2022 เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG หรือ Bangkok goals on BCG ได้สำเร็จ

ประเทศไทยใช้เวทีและโอกาสในวาระนี้  ถือว่าแยบยลที่ประกาศเรื่องสำคัญ ๆ ออกมา  ให้ทั่วโลกเห็นว่าไทย  ยังเป็นหนึ่งในผู้นำของอาเซียน เป็นไฮไลท์ให้ทั่วโลกเห็นว่า ฉันก็มีดีเหมือนกัน” 
            “วสวัตติ์ โอดทวี ผู้สื่อข่าวฐานเศษฐกิจ”  เล่าถึงประสบการณ์และบรรยากาศ ของสื่อภาคสนามในการทำข่าว APEC 2022 ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า รัฐบาลได้ประกาศว่าปีนี้ เป็นปีแห่งการประชุมเอเปค  จึงมีการจัดประชุมมาแล้วทั้งปี  โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม แต่จะมาพีค คือ ระหว่างวันที่ 16 - 19 พฤศจิกายน ซึ่งแน่นอนว่าการประชุมรูดม่านไปเรียบร้อยแล้ว        ถ้าจะโฟกัสก็คือในเรื่องของความร่วมมือ การที่ประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ มารวมกันครั้งนี้ เพื่อต้องการแสดงออกอะไรบางอย่าง  ในการที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ในภูมิภาคอาเซียน  

            ถ้าเทียบเศรษฐกิจทั่วโลก  อาเซียนถือว่าเป็นเขตเศรษฐกิจที่เนื้อหอมที่สุด เพราะมีอัตราการเติบโต ของเศรษฐกิจแทบจะสูงที่สุดในโลก  ดังนั้นผู้นำซึ่งเป็นชาติต่าง ๆ ที่เป็นมหาอำนาจได้เดินทางเข้ามา เขาจะใช้เวทีนี้แสดงวิสัยทัศน์ ให้ทั่วโลกจับจ้องและรับรู้ว่า เขาอยากจะเข้ามามีความสัมพันธ์ มีความร่วมมือกับภูมิภาคนี้ 

            เห็นได้จากการประชุมที่สำคัญ ช่วงที่ผ่านมาคือการประชุมอาเซียน ที่ประเทศกัมพูชา  การประชุมกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ( G 20 ) ที่อินโดนิเซีย  และการประชุมเอเปค 2022 ที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นเวทีที่ชาติมหาอำนาจ จะเข้ามาแสดงบทบาท ในภูมิภาคอาเซียน 

               มหาอำนาจใหญ่ๆ ที่คานอำนาจกันอยู่ คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน , สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย รวมถึงญี่ปุ่น จึงแสดงภาพลักษณ์ต่างๆออกมา ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ไม่ได้เห็นบรรยากาศแบบนี้บ่อยๆ  ซึ่งผู้นำที่เป็นมหาอำนาจต่าง ๆ มีเวทีแสดงวิสัยทัศน์  เขาเล่าว่า ได้เข้าไปดูบรรยากาศในการประชุม และติดตามภารกิจของนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. ซึ่งมีผู้นำชาติแรกๆ มาเยือนประเทศไทยโดยวันที่ 16 พ.ย.รัฐบาลเปิดทำเนียบครั้งแรก ต้อนรับผู้นำสูงสุด และยังมีการหารือทวิภาคี กับผู้นำหลายประเทศ 

            “แม้ว่าไม่ได้มีวาระให้นักข่าวทั่วไป ติดตามทำข่าว แต่บรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาล ในช่วง 2 วันที่ผ่านมาคึกคักมาก มีผู้สื่อข่าวหลากหลายชาติติดตามทำข่าว การทำงานของสื่อมวลชน จึงตื่นเต้นทุกวินาทีที่ได้ทำข่าว  การประชุมระดับโลกขนาดนี้ เพราะครั้งนี้ถือว่าใหญ่มาก  เป็นการประชุมระดับผู้นำ รวบรวมชาติมหาอำนาจ มาที่ประเทศไทย จะมีขึ้นอีก 19 ปีข้างหน้า ที่ประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าภาพ”   

            ที่น่าสนใจอีกอย่างกับการทำข่าว นั่นคือการประชุมครั้งนี้เป็นการทำข่าวในยุคดิจิทัล ดังนั้นเรื่องของการส่งข่าว และหาข้อมูล จึงมีความสะดวกและรวดเร็วมาก มีการส่งข้อมูลมาจากแหล่งข่าวโดยตรง หรือจากกระทรวงการต่างประเทศ ที่เป็นหน่วยงานหลักผ่านช่องทางออนไลน์ แตกต่างจากสมัยก่อนมาก ที่ต้องรอเอกสาร แล้วต้องมานั่งวิเคราะห์ข้อมูลและเขียนข่าว ออกมา ซึ่งใช้เวลานานกว่านี้มาก

            สำหรับเนื้อหาการประชุม ก่อนหน้านี้ มีการวิเคราะห์กันว่า ก่อนจะถึงการประชุมเอเปค ผู้นำจากทั่วโลก ได้เข้ามาอาเซียนเพื่อมาเวทีแรก คือการประชุมอาเซียนที่ประเทศกัมพูชา เป็นเวทีของผู้นำมาแสดงวิสัยทัศน์ เป็นออร์เดิร์ฟก่อน ว่าฉันมาเพื่ออะไร จากนั้นก็จะไปไฮไลท์ที่การประชุม G 20  มีการแสดงออกชัดเจนที่การประชุมนั้น  และสุดท้ายมาประเทศไทย แค่ทานข้าวเย็น  แต่ตอนนี้ไทยก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่ใช่แบบนั้น เพราะสามารถรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์สำคัญได้ 2 ฉบับ และรับทราบการขับเคลื่อนกรอบการเจรจาความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ อย่าง FTAAP หรือเขตการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย
            “ประเทศไทยใช้เวทีและโอกาสในวาระนี้  ถือว่าแยบยลที่ประกาศเรื่องสำคัญๆออกมา ให้ทั่วโลกเห็นว่าไทย  ยังเป็นหนึ่งในผู้นำของอาเซียน ถือว่าเป็นความชาญฉลาดมากๆ เป็นไฮไลท์ให้ทั่วโลกเห็นว่า ฉันก็มีดีเหมือนกัน  ฉันยังเป็น 1 ในผู้นำของอาเซียน เพราะตอนนี้อาจมีหลายคนมองว่า ไม่ใช่ประเทศไทยแล้วหรือเปล่า แต่จะเป็นเวียดนามกับอินโดนีเซีย ที่กำลังมีแสงจรัสเพิ่มขึ้นมา”             

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  และ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5