“หลายสื่อก็ปรับตัวแบบบิสซิเนสโมเดล ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ไปจัดอีเวนท์หรือไปทำงานร่วมกับสปอนเซอร์เพิ่มเติม แต่การพึ่งพิงผู้อ่านบนแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ต้องทำอยู่”
ระวี ตะวันธรงค์ Executive Vice President เนชั่น กรุ๊ป และนายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์พูดคุยใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึง อิทธิพลของแพลตฟอร์ม ที่เป็นปัญหากระทบคนทำสื่อโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ว่า ปัจจุบันทุกสื่อใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ ถึง 99% อยู่ที่ว่าใครใช้แบบไหน ซึ่งวิธีการและรูปแบบการนำเสนอ ก็แตกต่างกันออกไป ทำให้สื่อต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานมาพักใหญ่แล้ว ทุกคนปรับตัวหมด
ขณะเดียวกันหลายปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มออนไลน์ก็ไม่ได้หยุดนิ่ง มีการปรับตัวเร็วอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสื่อมวลชนเองก็ต้องปรับตัวตาม เนื่องจากต้องพึ่งพิงแพลตฟอร์มเหล่านี้ เพราะไม่มีช่องทางอื่น ปรับครั้งแรกยังไม่แล้วเสร็จ ระบบของแพลตฟอร์มก็เปลี่ยนอีกแล้ว
“หลายสื่อก็ปรับตัวแบบบิสซิเนสโมเดล ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ไปจัดอีเวนท์หรือไปทำงานร่วมกับสปอนเซอร์เพิ่มเติม แต่การพึ่งพิงผู้อ่านบนแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ต้องทำอยู่ แต่สื่อมวลชนที่อยู่ภูมิภาค อาจจะไม่ต้องปรับตัวเยอะ เพราะเขาต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน การที่สื่อต้องปรับตัวมากนั้น เราต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายที่ดูเราเป็นใคร พอเรารู้ว่าเป็นใครก็จะมีโอกาส เข้าถึงเขามากขึ้น เจาะจงเฉพาะกลุ่มไปเลย”
นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ บอกว่า หลายปีที่ผ่านมาไลน์ใช้ไลน์โอเอ กับไลน์ไอดอล ซึ่งก่อนหน้านี้เราใช้ไลน์โอเอ แต่ละเดือนต้องจ่ายเงินให้ไลน์ในการสมัครใช้งาน ค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้แพงมากเดือนละ 5,000 – 10,000 โดยไลน์ให้โอกาสในการสร้างคอมมูนิตี้ เราก็จะทราบจำนวนผู้ติดตามว่ามีท่าไหร่ บางคนหลักหมื่น บางคนหลักแสน หรือบางคนหลักล้าน
เราส่งข่าวตรงไปถามกลุ่มเป้าหมายที่ติดตามเรา แต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ไลน์ไอดอลประสานมาว่าจะยุติ เนื่องจากปัญหาทางธุรกิจ ที่เขาได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ขณะที่เราสร้างคอมมูนิตี้ไปแล้ว สร้างกลุ่มคนที่สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกไลน์ และไลน์ไอดอลที่เขาติดตามสื่ออยู่ ขณะเดียวกันสื่อก็ทำหน้าที่ส่งข่าวให้ประชาชน โดยที่ไม่ได้ทำธุรกิจค้าขาย เพียงแต่ส่งข่าวให้เป็นหลักเท่านั้น เราก็แจ้งกับไลน์ไอดอลไปว่า ทำอย่างนั้นไม่ได้
เขาแจ้งกลับมาว่ายังไงก็ต้องดำเนินการแบบนี้ เพราะเขามีโมเดลใหม่มาให้ดู ถ้าสื่อทำแบบเดิมอีก เช่น วันหนึ่งส่งข่าวมา 20 หรือ 30 ข่าว เราจะเสียเงินเป็นหลักแสนหลักล้านต่อเดือน บางคนคำนวณว่าต่อปีต้องเสียเงินเกือบ 10 ล้าน ให้กับไลน์ซึ่งปัญหาเหล่านี้ เราบอกว่าไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ เพราะเราสร้างคอมมูนิตี้ให้คุณ สร้างผู้ติดตามให้คุณ สร้างคนใช้งานให้คุณจำนวนมาก
“เราออกแถลงการณ์สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ไป ตั้งแต่ช่วงปีใหม่เกือบ 1 เดือนแล้ว แต่ทางไลน์ยังไม่ได้พิจารณาอะไรกลับมา จนเมื่อ 3 - 4 วันที่ผ่านมาเขาเพิ่งจะให้คำตอบกลับมา ทางเอเจนซี่ของไลน์บอกจะขอนัดคุยวันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ ว่าจะทำอย่างไรกันดี”
ระวี บอกว่า ในส่วนของ LINE มีอยู่ 2 ประเด็น คือ 1. ไลน์ไอดอล 2. ไลน์ทูเดย์ เป็นสิ่งที่เรากดอ่านกันอยู่ทุกวันนี้ในไลน์ จากสำนักข่าวต่างๆ ไลน์ทูเดย์เราส่งข่าวให้เขา โดยมีส่วนแบ่งโฆษณา ระหว่างที่ไลน์ทูเดย์หาโฆษณามาลง เราก็ได้รับส่วนหนึ่ง ส่วนแบ่งตรงนี้สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ในสัญญาของแต่ละสื่อที่ลงไป แต่ละสื่อบอกว่านำเสนอข่าวได้บนไลน์เท่านั้น ห้ามเสนอผ่านทางแฟลตฟอร์มอื่น แต่ปรากฏว่าต้นเดือนที่ผ่านมา พบว่าไลน์นำข่าวที่เราส่งให้ไลน์ทูเดย์ ไปเผยแพร่บน Google เป็นข่าวชิ้นเดียวกัน คนที่เข้าไปหาข้อมูลใน Google แทนที่จะเจอสำนักข่าวของเราก็เจอไลน์ก่อน เลยเราถึงบอกว่าอันนี้เป็นการผิดสัญญาโดยตรง
“ภายในวันจันทร์ที่ 30 มกราคม เราจะออกแถลงการณ์ยื่นคำร้องไปยังไลน์ทูเดย์ ว่าคุณผิดสัญญาข้อนี้ มีโอกาสที่จะถูกฟ้องร้องได้ แต่เราก็จะดูท่าทีของเขาก่อนว่าอย่างไร คงต้องคุยกันเยอะ เพราะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และผิดสัญญาโดยตรง ซึ่งทางสมาคมฯมีแนวทางในการดำเนินการทางกฎหมายต่อไป ส่วนไลน์ไอดอลเราไม่ได้เรียกร้องอะไรมากไปกว่า การเป็นพาร์ทเนอร์ในบิสซิเนสโมเดล สิ่งที่ส่งสารถึงประชาชนได้ โดยไม่กระทบตัวเลขทางธุรกิจ”
ระวี ยอมรับว่า การที่ประชาชนค้นหาข้อมูลใน Google แล้วเจอข่าวที่ไลน์ก่อนนั้น มีผลอย่างมาก 80% ที่ใช้งาน Google จะกด 1 ใน 5 ของข่าวที่ขึ้นมาก่อน เป็นอันดับต้นๆ สิ่งที่เขาเลือก คือ ความน่าเชื่อถือของเว็ปไซด์หรือชื่อสื่อนั้นๆ และที่ค้นหาว่าตรงประเด็นหรือไม่ เป็นอันดับที่ให้ความสำคัญ เขาเรียกว่า SEO หรือ Search Engine Optimization คือ กระบวนทางการตลาดดิจิทัลที่ทำให้เว็บไซต์ของคุณ ติดหน้าแรกในการค้นหาบนหน้า Google
ทุกสื่อพยายามทำให้ SEO ของตัวเองแข็งแรง อยู่บนอันดับต้นๆเพื่อให้ถูกค้นหาแล้วเจอก่อน ทุกสื่อทำแบบนี้แล้วปรากฏว่าไลน์มาขึ้นแทน สื่อก็ไม่ค่อยพอใจเพราะผิดสัญญา ทำให้การมองเห็นลดลง ตรงนี้เป็นประเด็นใหญ่ ที่เรากำลังหารือกันแล้วออกแถลงการณ์ เมื่อการมองเห็นน้อยลง คนกดเข้าไปอ่านน้อยลง ทำให้รายได้ลดลง ปัญหาสำคัญเลยคือ ผลกระทบกับค่าใช้จ่าย เงินเดือน รายได้ของสื่อลดลงด้วย ที่สำคัญคือเรื่องของความน่าเชื่อถือ
ระวี เปิดเผยว่า ต้องเจรจาถึงความชัดเจนก่อน ว่าอยู่กันแบบเดิมได้หรือไม่ เราไม่อยากมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพราะทุกวันนี้การทำสื่อมีรายจ่ายไม่น้อย กว่าจะได้มา 1 คอนเทนท์ แล้วคุณนำไปเผยแพร่ให้ประชาชนดูต่อแทนเรา แทนที่จะเข้ามาดูเราโดยตรง ทำให้ต้นทุนของเราเพิ่มขึ้นด้วย ประเด็นคือขอแบบเดิมก่อน ถ้าไม่ได้ก็ต้องมีวิธีอื่นในการเจรจา ว่ายังคงใช้แพลตฟอร์มนี้ได้หรือไม่
นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ชี้แจงว่า สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์หรือ คนอื่นๆที่ผลิตข่าวออนไลน์ ไม่มีหน่วยงานไหนในภาครัฐ เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) หรือ กสทช.มาดูแลตรงนี้ เพราะเขาคงไม่เข้าใจว่าคืออะไร มีเป้าหมายหรือปัญหาอย่างไร จึงต้องลองทำด้วยตัวเองและกำกับดูแลกันเอง โดยเฉพาะสื่อที่เป็นออนไลน์ แต่ทีวีเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
“ปีนี้สมาคมผู้สื่อข่าวออนไลน์ พยายามที่จะสร้างคอมมูนิตี้สแตนดาร์ด ในแบบของไทยเพื่อเจรจากับแพลตฟอร์ม ตัวอย่างเช่นปลายปีที่ผ่านมา คลิปวิดีโอที่ถูกนำเสนอข่าวบนช่องทีวีช่องหนึ่ง ซึ่งผ่านการตรวจสอบแล้วว่าไม่ได้ผิดอะไร เป็นสิ่งที่นำเสนอได้ ปรากฏว่าเมื่อนำเสนอบนแพลตฟอร์ม อย่าง TikTok กลับโดนแบนช่องไปเลย ไม่รู้ว่าเพราะอะไรโดยไม่มีการเตือนก่อน ช่องนั้นมีผู้ติดตามหลักล้าน ทั้งที่เป็นคลิปเดียวกันแต่มีคนอื่น หยิบไปนำเสนอ แต่กลับไม่โดนแบน”
เป็นเหตุผลหนึ่งที่สำคัญว่า เราพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างประเทศมาก ไม่มีการกำกับดูแลจากภาครัฐ ทำให้หลายเรื่องสื่อทำงานยากมากขึ้น ความจริงแล้วอยากให้มีผู้ใหญ่ เข้ามารับทราบเพื่อควบคุมตรงนี้ เพื่อปรึกษาหารือกัน ไม่ให้เกิดการเอาเปรียบกันมากเกินไป
เวลาแพลตฟอร์มเข้ามาใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มอะไรก็แล้วแต่ ในประเทศไทยต้องพึ่งพาสื่อก่อนเพราะมี “เล็กกูล่า คอนเทนท์” ทุกวันสื่อจำเป็นต้องผลิตคอนเทนท์ ให้กับประชาชนตลอดเวลา ขณะที่ถ้าเป็น YouTuber เขาไม่ได้ผลิตเป็นประจำทุกวัน จึงไม่พอสำหรับคอมมูนิตี้ของแพลตฟอร์ม ที่จะทำให้แพลตฟอร์มนั้น มีคนเข้ามาจำนวนมาก ดังนั้นเริ่มต้นเขาต้องพึ่งพาสื่อก่อน เมื่อคนติดตามมากขึ้นหรือดังแล้ว เขาไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสื่อต่อไป บางทีนำเสนอข่าวสารเองแต่ผิด เลยกลายเป็นเฟกนิวส์ ซึ่งไม่ค่อยเป็นธรรมกับสื่อเท่าไหร่
นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ยกตัวอย่างว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เคยพูดเรื่องนี้ให้กับหลายแพลตฟอร์ม มีอยู่แพลตฟอร์มหนึ่งคือ YouTube ที่เห็นด้วยและทำตามประเทศไทย เขามี YouTuber มีคอนเทนท์มหาศาล เมื่อมีโอกาสไปคุยกับ YouTube ที่สิงคโปร์ แนะนำว่าทำไมถึงไม่แบ่งพื้นที่ส่วน 1 ในหน้าแรก ให้เป็น News Only ซึ่งแต่ละประเทศก็ถูกคัดเลือกมาแล้ว ว่าเป็นสื่อจริงๆที่ทำหน้าที่ ตรวจสอบ เนื้อหาจริงๆที่ได้รับการติดตามจากประชาชน ปรากฏว่าเขาเห็นด้วยแล้วทำตาม
สังเกตว่าตอนนี้เราเปิดเข้าไปใน YouTube หน้าแรกจะมีแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า News อยู่ซึ่งเป็นข่าวโดยตรง ถ้าคุณจะดูวิดีโออะไรก็ได้ แต่ถ้าคุณอยากดูที่เป็นข่าวจริงๆ คุณก็กดตรงที่เป็น News เนื้อหาตรงนั้น ก็จะได้รับความน่าเชื่อถือมากกว่าปกติ นี่คือข้อ 1 ที่เราต่อสู้กันมาแล้ว YouTube ให้ความเคารพ ในการทำงานตรงนี้ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่แพลตฟอร์มอื่นเรายังไม่เห็นดำเนินการตรงนี้เท่าไหร่
ส่วนความเป็นไปได้ที่เราจะมีแพลตฟอร์มเอง โดยไม่ต้องพึ่งแฟลตฟอร์มของต่างประเทศนั้น ระวี ตอบว่า ดำเนินการมา 3 ปีแล้วแต่ไม่มีใครช่วยทำ และงบประมาณก็ไม่มี ( กล่าวพร้อมหัวเราะ ) ผมอยากให้ประเทศไทยมีแพลตฟอร์มของตัวเองมาก และปีนี้ก็พยายามที่จะต่อสู้เรื่องนี้ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าคำว่าแพลตฟอร์ม ไม่ได้แปลว่าแพลตฟอร์มสำหรับยูเซอร์ในการทำแชท หรือในการทำวิดีโอแข่งกับ YouTube แต่ต้องเป็นแพลตฟอร์มสำหรับคอนเทนท์โดยตรง วันนี้ก็มีบางคนทำขึ้นมา เป็นเพียงทาร์เก็ตกรุ๊ปบางส่วน ซึ่งบางทีก็ทำได้น่าสนใจ แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจาก ภาครัฐอย่างจริงจัง
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5