ผ่าวิกฤตศรัทธา “วงการสีกากี”

"ระบบอุปถัมภ์" ที่คนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเงิน หรืออำนาจมากกว่า ทำให้วงการข้าราชการ ไม่เพียงแต่เฉพาะตำรวจ ที่มีเรื่องเสื่อมเสียมาอย่างต่อเนื่อง

.

"สาวิตรี นาวิวัฒน์สุข" ผู้สื่อข่าว สถานีโทรทัศน์ โสภณเคเบิ้ลทีวี พัทยา ให้มุมมองผ่าน “รายการช่วยกันคิด ทิศทางข่าว” ถึงปัญหา “สังคมไทยกับศรัทธาตำรวจ” จากกรณีดาบตำรวจนายหนึ่งสังกัด สภ.เมืองพัทยา จ.ชลบุรี รีดไถเงินนักท่องเที่ยวชาวจีน 60,000 บาท กรณีพกพาบุหรี่ไฟฟ้า ก่อนต่อรองเหลือ 30,000 บาท โดยมีหลักฐานภาพถ่ายออกสู่สังคมว่า จะต้องมองย้อนไปที่ระบบ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า มีการปฏิรูปการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างไร ทำไมถึงมีข่าวด้านลบออกมาบ่อยครั้ง เป็นเพราะ "สวัสดิการเงินเดือน" ของเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยที่ไม่เพียงพอต่อความเป็นอยู่ และเป็นเพราะ "ระบบอุปถัมภ์" ที่คนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเงิน หรืออำนาจมากกว่า ทำให้วงการข้าราชการ ไม่เพียงแต่เฉพาะตำรวจ ที่มีเรื่องเสื่อมเสียมาอย่างต่อเนื่อง แต่การกระทำลักษณะนี้พบบ่อยมาก เมื่อเกิดเรื่องที่เกี่ยวกับข้าราชการ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะเห็นได้ชัด คือ ผลของการกระทำผิด จากคนที่ผิด กลายเป็นคนไม่ผิด เพราะคำว่า พวกพ้องช่วยเหลือกัน ทำให้ข้าราชการเวลากระทำผิด จะไม่ค่อยเกรงกลัวบทลงโทษ เพราะการช่วยเหลือพวกพ้องให้หลุดพ้นความผิดอื่น ๆ ที่ผ่านมานั้น น้อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ จะได้รับความผิดเหมือนประชาชนทั่วไป ทำให้การกระทำผิดของข้าราชการดูไม่น่าเกรงกลัวเท่าใด

"ปัจจุบัน ค่าครองชีพสูง แต่ค่าตอบแทนข้าราชการไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการปิดตาข้างหนึ่ง เพื่อยอมให้มีธุรกิจกึ่งผิดกฎหมายเกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อให้มีรายได้จุนเจือ จนเกิดปัญหาสะสมมาจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ เกิดขึ้นตามเมืองท่องเที่ยวจำนวนมาก"

ทุกอาชีพมีทั้งคนดีและไม่ดี ขึ้นอยู่กับระบบ

"สาวิตรี" ระบุว่า ในความจริงแล้ว ทุกอาชีพ ทุกวงการ มีทั้งคนดี และคนไม่ดี เหมือนเหรียญมี 2 ด้าน บางทีช่วงจังหวะที่ทำอะไรไม่ดี อาจจะเป็นช่วงที่มีอารมณ์ชั่ววูบไปบ้าง ตำรวจดี ๆ ก็มีอย่างนายดาบตำรวจคนดังกล่าวที่ตกเป็นข่าว มุมดีที่ดีก็มี เพราะในช่วงที่ปฏิบัติหน้าที่งานจราจร เคยมีนักท่องเที่ยว ทำกระเป๋าหล่นหาย เขาก็ประสานติดตามคืนให้เจ้าของได้ หรือบางครั้ง ที่นักท่องเที่ยวลืมกระเป๋า ไว้ในรถแท็กซี่สาธารณะ ก็สามารถช่วยติดตามได้

สื่อเมืองท่องเที่ยว ต้องเสนอข่าวรอบด้านสมดุล

"สาวิตรี" ยังเล่าถึงการทำข่าวในพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีทั้งธุรกิจถูกกฎหมาย และผิดกฎหมายว่า พื้นที่เมืองพัทยา เป็นเมืองที่ที่ให้อิสระทางเศรษฐกิจ ใครใคร่ค้าค้า ใครใคร่ขายขาย กฎหมายไม่ได้บังคับ 100% เหมือนสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ยิ่งเปิดประเทศในระยะนี้ ผู้ประกอบการ ก็อยากจะกลับมาสร้างรายได้ให้เหมือนช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด แต่การทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวในเมืองท่องเที่ยว ไม่เฉพาะพัทยา ก็ยังคงจะต้องทำอย่างตรงไปตรงมา ให้พื้นที่ให้เท่ากัน เพราะทุกคน คือ แหล่งข่าว ต้องออกมาพูดเสมอกัน จะไม่ให้ข่าวข้ามวัน และต้องยึดหลักความเป็นจริง ถ้าเกี่ยวข้องกับบุคคล ก็ต้องติดต่อพูดคุยสอบถาม นำเสนอด้วยความรอบด้าน ไม่เอนเอียง จะไม่ให้น้ำหนักข่าวฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหลัก และเป็นกลางให้มากที่สุด ใช้ความระมัดระวัง ในการเสนอเป็นอย่างมาก เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพรวมการท่องเที่ยว ข้อมูลต้องแม่นยำ และชัดเจน เพราะพัทยา เป็นพื้นที่อ่อนไหว เปราะบาง และการแข่งขันในพื้นที่ค่อนข้างรุนแรง ถ้ามีผลกระทบด้านหนึ่ง ก็จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง สุดท้ายสังคมเป็นผู้ตัดสินเองว่า ข่าวนั้นข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะบางเหตุการณ์ มุมมองของแต่ละคนต่างกัน ต้องเสพข่าวแบบมีสติ ยึดหลักความเป็นจริง

รัฐอุ้มนักท่องเที่ยวเกินไป ทุกฝ่ายควรบูรณาการให้พอดี

"สาวิตรี" ยังเห็นว่า ในพื้นที่ท่องเที่ยวบางครั้ง รัฐก็เอื้อนักท่องเที่ยวเกินไป เพราะบางอย่าง ไม่ใช่ว่า นักท่องเที่ยวจะถูก 100% เพราะ เขาคิดว่าเงินซื้อได้ทุกอย่างในประเทศไทย คิดจะทำอะไรก็ได้ในเมืองท่องเที่ยว มีกฎหมายแต่ไม่เคารพ เพราะเขาคิดว่ามีเงินจ่าย ขับรถไม่เคารพกฎจราจร และสุดท้าย ต่อให้ภาพออกมาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม แต่รัฐก็จะปกป้องนักท่องเที่ยวก่อน แต่ความจริงแล้วการทำหน้าที่ หลายฝ่ายต้องบูรณาการให้อยู่ตรงกลางมากที่สุด ไม่ใช่ว่า อุ้มนักท่องเที่ยวจนให้เขาบอกว่า ฉันมีเงินฉันทำอะไรก็ได้ ในประเทศนี้ บ้านนี้ เมืองนี้”

ติดตามรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น. ทาง FM 100.5 โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5