“ออเดิร์ฟการเมือง” ตามติดบรรยากาศนับถอยหลังเลือกตั้ง

“ถ้าเปรียบการหาเสียงช่วงนี้เป็นโต๊ะจีน ออเดิร์ฟลงมาจานเดียว ยังสรุปไม่ได้ว่าอร่อย ตอนนี้แค่จุดเริ่มต้น ยังไม่เห็นเพอร์ฟอร์แมนซ์การดีเบสประชัน โชว์วิสัยทัศน์ของแคนดิเดตว่าที่นายกรัฐมนตรีแต่ละพรรคการเมือง โดยเราจะได้เห็นว่าใครมาหรือหนีดีเบส ใครพร้อมสู้ ใครดูดี ดูเก่ง ฉลาดมีความสามารถ หรือโล่งโจ้งไม่มีอะไร”

“คัชฑาพงศ์ ลีลาพงศ์ฤทธิ์” ผู้สื่อข่าวการเมือง สถานีโทรทัศน์ TNN ช่อง 16 วิเคราะห์กลยุทธ์หาเสียง ของพรรคการเมือง หลังรัฐบาลประกาศยุบสภา นับถอยหลังเข้าคูหาใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้น่าลุ้นน่าติดตามมากที่สุด มีหลายบริบทเปลี่ยนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งจำนวนพรรคการเมืองแตกตัวจำนวนมาก และผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เป็นคนรุ่นใหม่ 

แต่ที่เกินความคาดหมาย คือ รัฐบาลยุบสภาวันที่ 20 มีนาคมก่อนครบวาระ 3 วัน ( 23 มีนาคม ) ซึ่งตามกรอบระยะเวลา และความเหมาะสมของสถานการณ์ การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วันหลังการประกาศยุบสภา ในทางพฤตินัยถือว่ารัฐบาลอยู่ครบวาระ 4 ปี เรียบร้อยแล้ว ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำเรือเหล็กลำนี้มาถึงฝั่งได้ ถือว่าเกินความคาดหมายมาก เพราะเคยคาดการณ์กันว่ามีหลายปัจจัย ที่อาจทำให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจยุบสภาก่อนหน้านี้ 

1.เป็นรัฐบาลผสมที่มาจากการเลือกตั้งปี 2560 ใช้บัตรใบเดียว 

2. มีพรรคการเมืองเกือบ 30 พรรค พาเรทเข้าสู่สภา แน่นอนว่าการรวมตัวของคนหมู่มาก ย่อมเกิดการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง 

3. มีกระแสข่าวการรับกล้วยซื้อตัวแลกลงมติ 

4.การขู่ถอนตัวของพรรคร่วมรัฐบาลขนาดเล็กเป็นรายสัปดาห์ ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ 

5.ช่วงกลางอายุของรัฐบาลเกิดการชุมนุมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ เป็นเหตุการณ์เปราะบางหัวเลี้ยวหัวต่อ เกือบที่จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองมากไปกว่าการยุบสภา แต่รัฐบาลสามารถดึงเรือเหล็กลำนี้ผ่านจุดนั้นไปได้ 

*** กูรูกฎหมายเคยเตือน รัฐบาล 

 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยเตือนในช่วงที่รัฐบาล บริหารประเทศใหม่ๆ ว่าแม้จะเป็น “รัฐบาลเรือเหล็ก” แต่ให้ระวัง “สนิมอาจเกิดจากเนื้อในตน” ซึ่งก็เกิดจริงๆจากปรากฏการณ์ภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องการล้มเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จจนต้องปรับคณะรัฐมนตรี ทำให้ทั้ง รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่าและนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นจากตำแหน่ง รวมทั้งสถานการณ์ โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศพังพินาศ 

แต่สุดท้ายรัฐบาลก็สามารถ ลากกันมาถึงฝั่งครบ 4 ปีแม้จะสะบักสะบอมไปหน่อย หากปล่อยให้สภาครบวาระตามกำหนด การเลือกตั้งก็จะต้องเกิดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม กฎหมายระบุว่ากรอบระยะเวลาสังกัดพรรคการเมือง เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกพรรคต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน หากนับย้อนกลับไป 90 วันกลมๆ 3 เดือน ก็จะต้องสังกัดพรรค ก่อนเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการคำนวนค่าใช้จ่าย สำหรับหาเสียงเลือกตั้ง หากสภาครบวาระต้องนับค่าใช้จ่าย 180 วัน อาทิ จัดกิจกรรมปราศรัย เปิดตัวผู้สมัคร เปิดนโยบายต่างๆต้องนำมาคิดคำนวณค่าใช้จ่ายจนถึงวันเลือกตั้ง รวมถึงการเปิดตัวของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ย้ายเข้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ต้นปีที่ผ่านมา ก็จะถูกนับรวมไปด้วย 

***นักวิชาการ ชี้ การเมืองไทยไร้หลักการ 

แต่เมื่อยุบสภา 20 มีนาคม กฎหมายก็จะเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง ในช่วงกรอบ 180 วันนั้นถือว่าถูกลบทิ้งทั้งหมด แล้วเริ่มนับค่าใช้จ่ายใหม่ ตั้งแต่วันที่ยุบสภาจนถึงวันเลือกตั้ง แต่เมื่อเกิดการยุบสภาก่อนครบวาระค่าใช้จ่ายก็จะไม่นับ แต่เริ่มนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคมเป็นต้นไป ขณะที่ต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 30 วัน นับตั้งแต่สมัครเป็นสมาชิก 

ระหว่างนี้จนถึงช่วงกลางเดือนเมษายน ก็ยังย้ายสังกัดพรรคได้ ซึ่งนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์อย่าง รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในต่างประเทศการยุบสภาเกิดขึ้นอย่างมีหลักการมาก เช่น นายกรัฐมนตรีไม่ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือไม่สามารถฟอร์มรัฐบาลได้ แต่การเมืองไทยยุบสภาเพื่อชิงความได้เปรียบ จึงไม่ค่อยมีหลักการทางการเมือง 

***บัตร 2 ใบ ทำให้พรรคการเมืองใหญ่เป็นต่อ

คัชฑาพงศ์ มองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นบัตร 2 ใบ ทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ได้เปรียบพรรคการเมืองขนาดกลางและเล็ก เพราะในระบบการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ เป็นระบบที่สนับสนุนให้พรรคการเมืองใหญ่ แข่งกัน 2 พรรคซึ่งในอดีต คือ ประชาธิปัตย์และเพื่อไทย

บริบทการเมืองปัจจุบันเปลี่ยนไป เพราะจำนวนพรรคมากกว่าในอดีต กรณีบัตร 2 ใบถ้าคะแนนระบบบัญชีรายชื่อดี ก็จะได้ระบบส.ส.เขตดีตามไปด้วย หลายพรรคจึงรณรงค์ว่า “เลือกคนที่รักเลือกพรรคที่ชอบ เลือกเราทั้งบัตร 2 ใบ” ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อจะกลายเป็นส่วนเติมเต็ม หรือของสมนาคุณชิ้นโตให้กับพรรคการเมือง ที่มีเพอร์ฟอร์แมนซ์ดีในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็จะได้คะแนนถล่มทลายแน่นอน เพราะไม่มีการกำหนดจำนวนส.ส.พึงมี ที่เป็นเพดานกำหนดให้แต่ละพรรค ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปภาพรวมการเลือกตั้ง จากผลโพลต่างๆที่ออกมาได้ 100% 

การไปสุ่มถามประชาชน อาจจะไม่ได้สำรวจในฐานเสียง หรือพื้นที่ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง จึงต้องดูผลหลังการเลือกตั้ง และการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ต้องมีจำนวนส.ส.ไม่น้อยกว่า 25 เสียง 

***หาเสียงเป็น ออเดิร์ฟจานแรก 

 “ถ้าเปรียบการหาเสียงช่วงนี้เป็นโต๊ะจีน ออเดิร์ฟลงมาจานเดียว ยังสรุปไม่ได้ว่าอร่อย ตอนนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น เป็นแค่กระแสทางการเมือง ยังไม่เคยเห็นเพอฟอมเมินซ์ การดีเบสประชัน-โชว์วิสัยทัศน์ ของแคนดิเดตว่าที่นายกรัฐมนตรีแต่ละพรรคการเมือง เราก็จะได้เห็นว่าใครมาหรือหนีดีเบส ใครพร้อมสู้ ใครดูดี ดูเก่ง ฉลาดมีความสามารถ หรือโล่งโจ้งไม่มีอะไร” 

สิ่งที่ผมมองหลังรัฐบาลยุบสภา คือ 

  1. เป็นรัฐบาลรักษาการไปจนกว่า จะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ สามารถประชุมคณะรัฐมนตรีได้ แต่โยกย้ายข้าราชการและอนุมัติงบกลางในกรณีฉุกเฉิน ต้องขออนุญาตคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน เพราะอาจจะให้คุณให้โทษกับบางจังหวัด และต้องไม่ใช้อำนาจหน้าที่ ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมือง 
  • พรรคการเมืองเดินหน้าเต็มสูบ แต่ไฮไลท์สำคัญอยู่ในช่วงสัปดาห์หน้า วันที่ 3 – 7 เมษายนจะเป็นการรับสมัครส.ส.แบบแบ่งเขต ส่วนวันที่ 4 – 7 เมษายน จะรับสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็จะได้ได้เห็นตัวจริงของ 3 รายชื่อว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่ละพรรคการเมืองว่าจะส่งใครเข้าชิง 

 3.ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์ตามหน้าที่ และเคารพผลที่ออกมา ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งจะแข่งขันกันสูง อารมณ์ของคนในสังคมก็จะสูงตามไปด้วย อยากฝากว่าการเสพข่าวการเมืองในช่วงนี้ ต้องใช้วิจารณญาณและมีสติในการเชียร์ อย่าให้การแข่งขันของนักการเมือง มาทำให้แตกแยกหรือแบ่งฝ่ายในหมู่คนไทย ว่าการคิดต่างไม่ใช่พวกเดียวกัน เพราะสุดท้ายนักการเมืองอยู่ในสภา เขาก็กินข้าวโต๊ะเดียวกันอยู่ดี ปล่อยให้การแข่งขันเป็นเรื่องของพรรคการเมืองดีกว่า พรรคไหนยุยงให้คนไทยแตกแยกแบ่งฝ่าย ให้หมายหัวไว้ก่อนขนาดหาเสียงเลือกตั้งยังออกฤทธิ์ ถ้าเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจะแผลงฤทธิ์ขนาดไหน สุดท้าย คือ 

4.นักข่าวต้องอาศัยความเป็นมืออาชีพ รักษาสมดุลย์เป็นกลางรอบด้าน ระมัดระวังที่สุดโดยเฉพาะความเห็น หรืออคติส่วนตัวอาจจะส่งผล ต่อการลงคะแนนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้ติดตาม

“รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5