“ราคาค่าวิชาชีพทนายความ หากมีชื่อเสียงโด่งดัง ค่าว่าความก็อาจจะสูงกว่าทนายความคนอื่นๆ เปรียบเทียบเหมือนกับดารานักแสดงที่มีชื่อเสียง ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน คือ ค่าตัวแพงหน่อย”
“อรรถชัย ปรีเปรมใจ อดีตผู้สื่อข่าวสายศาล-อัยการ นสพ.เดลินิวส์” ทำหน้าที่รายงานข่าวสายศาล-อัยการกว่า 20 ปี เปิดเบื้องหลังกับ “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า สภาทนายกำหนดมารยาทไว้หลายข้อ อาทิ ห้ามทำเอกสารเท็จ ห้ามเบิกความเท็จต่อศาล ห้ามคุยโอ้อวดว่าตัวเองเป็นทนายความ หรือมีความรู้ความสามารถ หรือพูดโน้มน้าวให้ลูกความหลงเชื่อ ห้ามเรียกอัตราค่าจ้างต่อลูกความ
เรทค่าวิชาชีพทนายเอกชน10% - 20% ของทุนทรัพย์ แต่ทนายภาครัฐฟรี
“ราคาค่าวิชาชีพทนายความ หากมีชื่อเสียงโด่งดัง ค่าว่าความก็อาจจะสูงกว่าทนายความคนอื่นๆ เปรียบเทียบเหมือนกับดารานักแสดงที่มีชื่อเสียง ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน คือ ค่าตัวแพงหน่อย ถ้าเป็นทนายความที่มีชื่อเสียงหรือว่าเป็นที่ปรึกษาคดี ก็จะเรียกค่าบริการสูงกว่าทนายความคนอื่นๆ แต่ถ้าเป็นดาราระดับรองลงมา ค่าตัวก็จะลดหลั่นกันลงมา”
เรทการเรียกค่าทนายความที่เป็นภาคเอกชน ขึ้นอยู่กับความสามารถและคดีความนั้นๆ เช่น เป็นคดีเรื่องใหญ่ๆมีความสลับซับซ้อน แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่ที่ความพอใจของทั้ง 2 ฝ่าย ระหว่างทนายความและลูกความที่จะตกลงกัน หากลูกความยินดีที่จะจ่ายให้กับทนายความ เขาจะดูจำนวนคดี ซึ่งคดีแพ่งก็อาจจะระบุเรทราคาได้เลย แล้วจะดูจำนวนโทรศัพท์ในคดี เท่าที่ผมทราบเขาก็จะเรียกกัน 10% - 20% ของทุนทรัพย์ คดีความต่างๆจากอดีตถึงปัจจุบัน แตกต่างกันมากตามยุคสมัย
โรงพักปัจจุบันมีทนายความให้คำปรึกษาฟรี
สำหรับ อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่บอกว่ารับว่าความให้ฟรีถือว่าเป็นภาครัฐ ซึ่งในภาครัฐมีหลายองค์กรหลายสำนักงาน ที่ให้คำปรึกษากับประชาชน โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น อาทิ ในส่วนกลางที่สำนักงานอัยการสูงสุด ชื่อว่า “สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด” และ “สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์”
ขณะที่ในต่างจังหวัดตามภูมิภาคต่างๆ ก็ให้คำปรึกษาข้อกฎหมายกับประชาชนฟรีเช่นกัน ปัจจุบันสถานีตำรวจทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด มีทนายความเข้าไปประจำด้วย หากประชาชนที่มีข้อสงสัยปัญหาเกี่ยวกับกฎหมาย หรือคดีความสามารถสอบถามหรือขอคำแนะนำได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน
ยุคสมัยเปลี่ยน วิธีการเสนอข่าวเปลี่ยน
เมื่อ 20 ปีที่แล้วอุปกรณ์ในการทำงาน ของนักข่าวไม่ทันสมัยเหมือนยุคปัจจุบัน ไม่มีการแถลงข่าวเป็นทางการ แต่มีสัมภาษณ์บ้างตรงหน้าศาล เรื่องความเป็นมาของคดีต่างๆ ว่าจะฎีกาหรือไม่ ศาลเห็นอย่างไรกับคดีนี้ นักข่าวต้องไปฟังคำพิพากษาในห้องพิจารณาคดี จดประเด็นหลักๆที่สำคัญ ว่าศาลลงโทษอย่างไร มีเหตุผลอย่างไร ยกฟ้องจำเลยอย่างไร ต้องคัดสรรประเด็นมา
ตามปกติจะห้ามนำความเคลื่อนไหวในศาล เกี่ยวกับคดีต่างๆมาเปิดเผยต่อสาธารณะชน เพราะความลับในคดีบางอย่างบางเรื่องก็เปิดเผยไม่ได้ แต่บางอย่างเปิดเผยได้หากไม่กระทบ กระบวนการพิจารณาของศาล ไม่มีการพาลูกความไปชี้แจง หรือพูดคุยในรายการโทรทัศน์
ปัจจุบันมีความก้าวล้ำกว่ายุคก่อนมาก ทนายความถือว่าเป็นแหล่งข่าวที่สำคัญของนักข่าว จะมาเล่าเหตุผลให้สัมภาษณ์ หลังคำพิพากษาของศาลถึงประเด็นต่างๆในการพิจารณาคดี ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ว่าจะอุทธรณ์คดีหรือฎีกาสู้คดีหรือไม่ ทั้งออกข่าวตั้งโต๊ะแถลงอย่างเป็นทางการ ตามที่เห็นผ่านสื่อโซเชียล ซึ่งพัฒนาล้ำหน้าไปมาก การสื่อสารต่างๆก็รวดเร็ว เช่น การลงข่าวทาง Facebook , Instagram , Twitter เคลื่อนไหวกันอย่างทั่วถึง พอสื่อทราบข่าวว่าจะมีการแถลงก็ไปตามทำข่าวกัน
ทำข่าวยึดหลัก “ช้าแต่ชัวร์” ฝากถึงน้องๆสื่อรอข่าว “สะเด็ดน้ำ” ก่อนแชร์
ส่วนตัวของผมเวลาทำข่าว ต้องคิดถึงความถูกต้องเป็นหลัก ช้าแต่ชัวร์อาจจะเสนอข่าวช้ากว่าเขาหน่อย แต่ผลคำพิพากษาถูกต้อง ประชาชนทั่วไปก็จะรับรู้ข้อเท็จจริง ผมไม่ได้คำนึงถึงความรวดเร็ว เพราะถ้าเร็วก็จะผิดพลาดได้ ต้องตามแก้ไขภายหลังทำให้ประชาชนและสังคมสับสน
อยากฝากถึงน้องๆนักข่าวสายศาลว่า การทำข่าวปัจจุบันต้องจับประเด็นให้ดี ควรเข้าใจคดีความและขั้นตอนกระบวนการของศาล เพราะบางครั้งเนื้อหาคำพิพากษา อาจสลับซับซ้อน ที่สำคัญ คือ ปัจจุบันเป็นยุคโซเชียลแข่งขันกันออนไลน์ บางครั้งผลคำพิพากษายังไม่สะเด็ดน้ำ ก็รีบนำมาแชร์หรือออนไลน์ก่อน ทำให้เกิดความผิดพลาด ต้องแก้ไขข่าวตามมา สมัยนี้ถูก-ผิดว่ากันภายหลังผมคิดว่าไม่สมควร แต่จะไปห้ามก็ไม่ได้เพราะตอนนี้ยุคโซเชียล สื่อออนไลน์ต่างๆใครโพสก่อนได้เปรียบถูก-ผิดไม่รู้
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5