“ทิศทางความมั่นคงพลังงาน ต้นทุนที่คนไทยต้องแบกรับ!!”

            “มุมมองของประชาชน การลดค่าไฟฟ้า 7 สตางค์ต่อหน่วยอาจดูน้อย  หากคำนวณต่อบ้านหรือต่อราย   แต่ถ้าคิดภาพรวมทั้งประเทศ  7 สตางค์ต่อ 70 ล้านคน หรือประมาณ 50ล้านครัวเรือน เมื่อนำ 7 สตางค์ไปคูณ คิดตัวเลขกลมๆก็เกือบ 20,000 กว่าล้านบาท อยากให้มองในภาพรวมด้วย  ดังนั้นมุมมองของคนที่ต้องรับผิดชอบ เงินทั้งหมดของประเทศ จึงถือว่าไม่น้อย”

            

ชมพูนุช ภัทรขจี   ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3” เจาะรายละเอียดให้ “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ฟังถึง “วิกฤตพลังงาน ในวันที่ค่าไฟ ทำคนไทยหนาว” ว่า ใกล้จะโค้งสุดท้ายของเลือกตั้งแล้ว แต่ละพรรคการเมืองมีนโยบายมาหาเสียง เพื่อเรียกคะแนนของตัวเอง  จึงให้ความสำคัญเรื่องปากท้องของประชาชน เพราะเป็นค่าใช้จ่ายประจำทุกเดือน เท่าที่เห็นมีบางพรรคออกมาเคลื่อนไหว  วิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นเรื่องการลดค่าไฟฟ้า  เพราะเป็นต้นทุนการใช้ชีวิตที่สำคัญของคนไทย 

หลากปัจจัย ทำค่าไฟเพิ่ม 

            หลายคนสงสัยว่าตอนนี้ทำไมค่าไฟเพิ่ม  นอกจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานหนักมากขึ้น  ยังมีเรื่องของฝุ่น PM 2.5 ทำให้ประชาชนต้องเพิ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นอีกหนึ่งตัว คือ เครื่องฟอกอากาศ เราใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม แต่อุณหภูมิภายนอกไม่เหมือนเดิม  

            สมมุติอุณหภูมิข้างนอกเพิ่มขึ้น 1 องศาทำให้เครื่องปรับอากาศ ต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น 3% ต้องปรับอุณหภูมิในห้องให้ต่ำกว่าอุณหภูมิภายนอก  เช่น  ข้างนอกอุณหภูมิ 30 องศา เราปรับอุณหภูมิในห้อง 26 องศา เท่ากับปรับให้เย็นกว่าข้างนอก 4 องศา  แต่ปัจจุบันอุณหภูมิข้างนอก 40 กว่าองศา  เราตั้งเครื่องปรับอากาศเท่าเดิมคือ 26 องศา  เท่ากับว่าเครื่องต้องทำงานหนักมากขึ้น 14 องศา ไม่รวมตู้เย็นที่เปิด-ปิดบ่อยๆ ซึ่งกินไฟใกล้เคียงกับเครื่องปรับอากาศ  หากแช่ของในตู้เย็นมาก ก็มีผลทำให้กินไฟเพิ่มขึ้นด้วย

            แต่ถ้าเปิดเครื่องปรับอากาศควบคู่กับพัดลม จะช่วยให้ประหยัดไฟเพิ่มขึ้น เพราะพื้นฐานของพัดลมใช้ไฟน้อยกว่า หากเครื่องปรับอากาศทำงานอย่างเดียว กว่าจะลดอุณหภูมิภายนอกได้  ก็ต้องทำงานหนัก  แต่ถ้ามีพัดลมช่วยระบายอากาศให้เย็นลงบ้าง  ก็จะทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานน้อยลง  

            อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้ค่าไฟสูงขึ้น  แต่มีค่าไฟที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานภาครัฐกำหนดมาด้วย เช่น เดือนพฤษภาคมจะมีการปรับตัวของ ค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที ) เป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยน เพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุน ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้า

เดือนพ.ค.-ส.ค. เห็นตัวเลขค่าไฟลด 

             ที่ประชุมคณะอนุกรรมการค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ  มีมติเห็นชอบปรับลดค่าไฟฟ้า 7 สตางค์ต่อหน่วย กรณีงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 โดยปรับลดลงมาอยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย จากเดิม 4.77 บาทต่อหน่วย เสนอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 24 เมษายน  เพื่อมีมติทบทวนค่าไฟ และเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ก่อนประกาศใช้ต่อไป ทำให้ตัวเลขตรงนี้ปรับลงมาได้  ซึ่งเดือนพฤษภาคมและสิงหาคม  จะได้เห็นบิลค่าไฟลดลง 

            ถ้าค่าเอฟทีลดก็จะทำให้ช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าประชาชน อย่างเห็นได้ชัดว่าแต่ละเดือน เราจ่ายค่าไฟไปเท่าไหร่ รัฐลดราคาให้ได้เท่าไหร่  ทั้งนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐอย่างเดียว  เพราะต้องมีต้นทุนในการผลิตด้วย หากยกเลิกค่าเอฟทีหรือปรับลดค่าเอฟที ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแบกรับภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้า  ฉะนั้นต้องถามไปที่คนคิดนโยบาย 

ลด 7 สตางค์ต่อหน่วยต้องดูภาพรวมทั้งประเทศ 

            “มุมมองของประชาชน การลดค่าไฟฟ้า 7 สตางค์ต่อหน่วยอาจดูน้อย  หากคำนวณต่อบ้านหรือต่อราย   แต่ถ้าคิดภาพรวมทั้งประเทศ  7 สตางค์ต่อ 70 ล้านคน หรือประมาณ 50ล้านครัวเรือน เมื่อนำ 7 สตางค์ไปคูณ คิดตัวเลขกลมๆก็เกือบ 20,000 กว่าล้านบาท อยากให้มองในภาพรวมด้วย  ดังนั้นมุมมองของคนที่ต้องรับผิดชอบ เงินทั้งหมดของประเทศ จึงถือว่าไม่น้อย”

            หลายคนมองว่า  หลังจากนี้แนวโน้มของค่าไฟจะถูกลง  เพราะเรามีการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย  สามารถส่งเข้าระบบได้  ในปริมาณที่เพียงพอจากที่ขุดเจาะได้ ก็จะทำให้ต้นทุนค่าไฟถูกลงเพราะ 1.ไม่ต้องนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศแล้ว 2.ไม่ต้องเสียอัตราค่าแลกเปลี่ยน  ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟถูกลง สะท้อนมาที่ราคาค่าไฟ มีโอกาสถูกลงตามไปด้วย 

            มีโอกาสคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงเรื่องค่าเอฟที  จะต้องประเมินภาพรวมของทั้งประเทศ พิจารณาว่าค่าเอฟทีในพื้นที่ไหนมี หรือถ้าพื้นที่ไหนไม่มี   บางอย่างจะต้องคาดการณ์ล่วงหน้าด้วย เช่น ในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน , การขนส่งก๊าซ , เวลาผลิตๆที่เดียวกันคือ กฟผ.ผลิตเหมือนกัน  แต่พื้นที่ซึ่งอยู่ริมชายขอบของประเทศ  อาจจะไม่ได้ใช้ไฟจาก กฟผ. แต่ใช้ไฟที่นำเข้าจากต่างประเทศ  เข้ามาสู่ระบบจ่ายไฟของการไฟฟ้าเช่นกัน   ฉะนั้นการคำนวนจะต้องพิจารณาภาพรวมทั้งประเทศ ในสัดส่วนที่เท่ากัน  เพราะหากพื้นที่ตรงนี้เสียค่าเอฟที แต่อีกพื้นที่หนึ่งไม่ได้เสียค่าเอฟทีก็คงจะวุ่นวายน่าดู 

            การที่ประเทศไทยต้องนำเข้า  ไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน  เพราะต้องกระจายพื้นที่ความเสี่ยงในการผลิตไฟฟ้า  กรณีที่ไม่สามารถส่งก๊าซธรรมชาติ  เข้าสู่ระบบการผลิตไฟฟ้าของเราได้ก็ต้องใช้น้ำมัน หากน้ำมันแพงขึ้นมาค่าเอฟทีก็ต้องเพิ่มขึ้น เพราะผันแปรตามน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ

นำเข้าไปจาก สปป.ลาว หล่อเลี้ยงความต้องการใช้ไฟของคนในประเทศ  

            ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ภาระของผู้ใช้ไฟลดลง ก็ต้องไปหาแหล่งที่ขายไฟ ในราคาถูกกว่าต้นทุนที่เราผลิตได้  นำมาถัวเฉลี่ยกัน  ซึ่งประเทศสปป.ลาว ผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำต้นทุนจึงถูกกว่าไทย  ทำให้นำเข้าไฟฟ้าราคาถูกลง  เมื่อเทียบกับการที่เราใช้ไฟที่เราผลิตจากน้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ  ที่นำเข้าจากต่างประเทศ  แนวทางที่เหมาะสมและช่วยพยุงราคาค่าไฟได้  

            ไทยจึงมีโอกาสที่จะนำเข้าไฟจากประเทศเพื่อนบ้าน  เพื่อหล่อเลี้ยงความต้องการใช้ไฟของคนในประเทศ  เช่น  ถ้าไฟฟ้าดับขึ้นมา  ก็จะสร้างความเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจและประชาชนมหาศาล  ดังนั้นความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าถือว่ามาเป็นอันดับหนึ่ง

            “ถ้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำอะไรแล้วขาดทุน หน่วยงานก็อยู่ไม่ได้  ถ้าไม่มีคนผลิตไฟฟ้าคนใช้ไฟก็เดือดร้อน  เขาต้องมีการประกันความเสี่ยง  ให้เกิดความมั่นคงกับหน่วยงาน เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนความต้องการของประเทศ  ก็ต้องคิดค่าไฟที่แพงกว่าไว้ก่อน  จะได้ไม่ขาดทุนมาก  และถ้าวันใดวันหนึ่งที่เกิดวิกฤติขึ้นมา กฟผ.จะได้มีเงินสำรองเติมต้นทุน โดยที่ไม่ขาดทุนจนไปต่อไม่ได้ เหมือนกับมีกองทุนสำรองไว้ก้อนหนึ่ง  เพื่อที่จะนำเงินนั้นมาเติมให้การทำกิจการไฟฟ้า เกิดความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ” 

            ในมุมมองส่วนตัวดิฉันอาจจะทำได้  แต่ว่าจะต้องมีคนเข้าไป Subsidize จุดใดจุดหนึ่ง ในเรื่องของต้นทุนการผลิตที่ผันแปร ว่าใครจะรับสมมุติว่าให้ กฟผ.  แล้ว กฟผ.จะเอาเงินมาจากไหน แต่เป็นหน่วยงานของรัฐก็ต้องปฏิบัติตามนโยบายอยู่ดี เพราะไม่มีทางเลือก 

             สมมติถ้า กฟผ. แบกรับไม่ไหว แล้วใครจะมาเป็นคนแบกรับตรงนี้แทน ถ้าไม่ใช่ประชาชน  ก็เหมือนกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวาอยู่ดี  จะโยนให้เอกชนมาแบกรับแทนอย่างนั้นหรือ!!  เขามีหน้าที่มาดูแลเรื่องความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า ให้กับประชาชนอย่างนั้นหรือ!!  เอกชนเป็นธุรกิจก็ต้องทำอะไร ที่มีผลตอบแทนที่ให้เขาอยู่ได้ โดยไม่ขาดทุนไม่เจ๊งหรือต้องเลิกกิจการ

โซล่าเซลล์ ทางเลือกพลังงานทดแทน

            เวลานี้หลายฝ่ายสนับสนุนให้ใช้โซล่าเซลล์  เป็นพลังงานทดแทน ซึ่งพลังงานทดแทนเป็นเทรนด์ของโลกอยู่แล้ว  เพราะถ้าประชาชนยังใช้พลังงานแบบนี้ไปเรื่อย ๆ โอกาสที่ก๊าซจะหมดก็มีความเป็นไปได้  ดังนั้นเรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงานจึงสำคัญ  ตอนนี้หลายบ้านอยากจะติดโซล่าเซลล์มาก  แต่ราคายังแพงอยู่ เพราะต้องลงทุนสูง แต่หากคิดในระยะยาว มีความเป็นไปได้ที่จะนำมาทดแทนกัน 

            หลายคนตั้งคำถามว่าติดโซล่าเซลล์เยอะๆ  ถ้าใช้ไฟไม่หมดทำอย่างไร   ขายคืนรัฐบาลได้หรือไม่  หรือขายคืนหน่วยงานภาคผลิตได้หรือไม่  ถ้าขายคืนก็จะทำให้พลังงานไฟฟ้า ที่มีอยู่ในระบบเพิ่มมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องไปตั้งโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่ว่าจะต้องให้ความสำคัญ  กับเรื่องของความมั่นคงทางด้านพลังงานด้วย

            ถ้ามองในแง่ดีถือว่าช่วยแบ่งเบาภาระ การผลิตไฟฟ้าของหน่วยงานภาคการผลิตได้ส่วนหนึ่ง  เพราะตอนนี้ความต้องการใช้ไฟสูงขึ้นเรื่อย ๆ  แต่การสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ทำได้ยาก  หากจะตั้งโรงไฟฟ้าหนึ่งแห่ง  ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าชีวภาพ , ชีวมวล หรือถ่านหินในพื้นที่ไหนก็ตาม มักมีเสียงต่อต้านจากภาคประชาสังคม กังวลว่าจะกระทบกับสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต  แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีจะล้ำหน้าไปแล้ว เช่น การก่อสร้างอาจจะไม่มีผลกระทบอย่างที่กังวล แต่เป็นเรื่องของสภาพจิตใจ  ฉะนั้นการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่   ไม่สามารถทำได้ปัจจุบันทันด่วน 

            ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5