มองความสำเร็จ “ก้าวไกล” ผ่านกระแสโซเชียล

การเลือกตั้งปี 2566 ผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งผลการเลือกตั้งเบื้องต้นชัดเจนแล้วว่า "พรรคก้าวไกล" ได้รับชัยชนะแบบถล่มทลาย กวาด ส.ส.แบบยกจังหวัดได้ถึง 9 จังหวัด แม้ในกรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย จะสามารถรักษาเก้าอี้ไว้ได้เพียงเก้าอี้เดียว จากทั้งหมด 33 เขตการเลือกตั้ง แต่นอกนั้นอีก 32 เขตการเลือกตั้งเป็นพื้นที่สีส้ม และพรรคก้าวไกล ยังล้มยักษ์ ทลาย ส.ส.บ้านใหญ่ของหลายพรรคการเมืองได้เกือบหมด ทำให้หลายพรรคการเมือง ต้องกลับไปววิเคราะห์จุดอ่อนตัวเองครั้งใหญ่

// จุดยืนชัดเจน ทำก้าวไกลได้ใจประชาชน //
“ธนกร วงษ์ปัญญา" บรรณาธิการข่าวไทย THE STANDARD ผ่ากลยุทธ์หาเสียงพรรคก้าวไกล ผ่าน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ที่ทำให้พรรคก้าวไกล ได้คะแนนการเลือกตั้งในครั้งนี้แบบท่วมท้นว่า เป็นเพราะ "ความตรงไปตรงมา" ในแง่ความชัดเจนทางการเมือง ทั้งจุดยืน ลักษณะการตอบคำถามคล้าย ๆ กัน เหมือนกับมี DNA เดียวกันมา เช่น “มีลุงไม่มีเรา” และการประกาศความชัดเจนว่า จะร่วมงานกับพรรคการเมืองใด และไม่ร่วมงานกับพรรคการเมืองใด ไหนไม่รวมกับพรรคไหน, "การมีผลงานในสภาที่ชัดเจน" สมัยเป็นฝ่ายค้าน และความยอมรับในผลงานของประชาชน, "การผลักดันหลายเรื่องที่หาเสียงไว้" อาทิ สุราก้าวหน้า, สมรสเท่าเทียม หรือแม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ "เวทีดีเบต" ที่เกิดออร์แกนิคบางอย่างขึ้น และเป็นคลิปไวรัล หรือการอยู่ทุกที่ในโซเชียลมีเดีย จนเกิดหัวคะแนนธรรมชาติ และกลายเป็นเรื่องของการบอกต่อ และมองเห็น ทำให้เกิดความรู้สึกร่วม และอยากจะอาสาเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้พรรคก้าวไกลได้เข้าสภา

// หัวคะแนนธรรมชาติ "ด้อมส้ม" เป็นแรงเสริม //

"ธนกร" เล่าให้ฟังว่า ได้เคยมีโอกาสคุยกับ “พี่ตุ้ม-สรกล อดุลยานนท์" รายการ THE POWER GAME ของ THE STANDARD ที่บอกว่า มีผู้บริหารบริษัทหนึ่ง เป็นบริษัทเทค ที่ทำงานเกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย ซึ่งผู้บริหารท่านนี้บอกว่า พนักงานส่วนใหญ่ เล่นโซเชียล และช่วยเชียร์พรรคก้าวไกลเหมือนเป็นหัวคะแนน ที่เกิดขึ้นเองแบบธรรมชาติ และสัมผัสได้เวลาเราไปคุยกับใคร ตอนนี้ใครเป็นกระแส หรือทำอะไรดูอะไรอยู่ และยังมีลักษณะหัวคะแนนธรรมชาติอีกแบบหนึ่ง ที่ "ธนกร" ได้มีโอกาสเห็นตอนไปทำข่าวที่ เจอคุณป้าท่านหนึ่ง ขายผลไม้รถเข็น และเปิด TikTok ซึ่งธนกรก็แอบมองว่า ดูอะไร ซึ่งคุณฟ้า ดูคลิปการเมืองแล้วก็เล่าอย่างสนุกว่า คนนี้พูดเรื่องอะไร คนนั้นพูดเรื่องอะไร ซึ่งตรงนี้ ทำให้พรรคก้าวไกล ได้คะแนนเสียงค่อนข้างสูงหลาย ๆ เขต ผู้ออกมาใช้สิทธิมากเกินคาด อิทธิพลออนไลน์สอดรับกับออนกราวน์ชัดเจน หากดูจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง รอบนี้สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ 75% ถือว่า ตื่นตัวมาก ๆ ตั้งแต่วันเลือกตั้งล่วงหน้า เห็นคนมาต่อคิวกัน ผมไปที่เซ็นทรัลพระราม 2 ช็อคมาก นึกว่าติ่ง หรือ แฟนด้อมของดาราดังคนไหน แต่กลายเป็นว่าคนมารอใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งอิทธิพลออนไลน์เวลานี้ สอดรับกับออนกราวน์ชัดเจน
"การแชร์โพสต์ และข่าวเลือกตั้ง การพยายามช่วยกันตรวจสอบเลือกตั้งและความสนใจ ผมคิดว่าเห็นชัดมากในสื่อโซเชียล ที่มีการไลฟ์พูดถึงประเด็นการเมืองแต่ละรายการ ที่ผ่านๆมาอิทธิพลหรือยอดคนดูค่อนข้างสูง และที่สำคัญคือเห็นปรากฏการณ์ห้างแตก ปรากฏการณ์ขึ้นรถแห่ การปราศรัยแต่ละที่ ช่วงโค้งสุดท้ายชัดมากว่ามาจากไหน แม้แต่พรรคก้าวไกลเองก็ตกใจ และรู้สึกเกินความคาดหมายกับกระแสตอบรับ เวลาที่ลงพื้นที่ เช่น จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งบางพรรคผูกขาดมานาน แต่ในอีกมุมหนึ่งคนก็มองว่า พรรคก้าวไกล มีนโยบาย หรือข้อเสนออะไรหลายอย่างที่เห็นชัดมาก ความเหมือนกันของการเลือกตั้งครั้งนี้กับครั้งที่ผ่านมา คือ นักการเมืองและประชาชนตื่นตัว อยากออกไปใช้สิทธิ์ แต่ความต่างที่ค่อนข้างชัดเจน คือ การพูดถึงนโยบายพรรคและตัวคนที่ลงสมัคร" ธนกร ระบุ

// "โซเชียลมีเดีย" อาวุธใหม่หาเสียงเลือกตั้ง //

"ธนกร" ยังเห็นว่า โซเชียลมีเดีย ยังเข้ามามีบทบาท และเป็นเครื่องมือในการหาเสียงมากขึ้น เพราะการเลือกตั้งหลายปีก่อน อาจจะยังไม่มีการใช้กันมากแบบนี้ ยังเห็นแค่ป้าย แผ่นพับ ขึ้นรถแห่ตามบ้าน แต่พรรคอนาคตใหม่ เมื่อมาเป็นพรรคก้าวไกล ก็ทำให้พรรคการเมืองอื่น ๆ ขยับเรื่องโซเชียลมีเดียมากขึ้นชัดเจน

"ปี 2562 หลังการเลือกตั้งจบ ผมเคยได้รับเชิญจากสถาบันพระปกเกล้า และนักวิชาการหลายท่านไปคุยกันว่า โซเชียลมีเดีย มีผลต่อการเลือกตั้งจริงหรือไม่ การที่พรรคอนาคตใหม่ได้รับเลือกตั้ง เข้ามาเป็น ส.ส.ในขณะนั้นก็คิดว่ามีผล แต่พอการเลือกตั้งปี 2566 เริ่มชัดเจนขึ้นว่า เสียงจากออนไลน์ กลายเป็นออนกราวน์ได้ และออกมาเป็นผลคะแนนเลือกตั้งชัดเจนมากขึ้น การเลือกตั้งปี 2566 เห็นชัดเลยว่า แต่ละพรรคการเมือง ปรับตัว และเปลี่ยนแปลงแปลง เรื่องการใช้แพลตฟอร์มสูงมาก มีทีมสื่อสาร ทีมพีอาร์ของแต่ละพรรคที่ชัดเจนว่า มีหน้าที่ในการที่จะใช้แพลตฟอร์ม สื่อสารหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าเราจะเรียกว่า ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ฝ่ายประชาธิปไตย หรือฝ่ายไหน ก็ใช้เครื่องมือนี้เยอะมาก และมีการวางยุทธศาสตร์ รวมทั้งมีข่าวว่าปรึกษากับบางบริษัทที่ใช้ดาต้า หรือข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน การใช้อินเตอร์เน็ต หรือข้อมูลที่ใช้ของประชาชนว่ามีแนวโน้มสนใจเรื่องอะไร หรือวางยุทธวิธีเรื่องแพลตฟอร์มอย่างไร ผมคิดว่าชัดเจนขึ้นมากๆ" ธนกร กล่าว

// "ระวัง กระแสโซเชียล: ดาบ 2 คม" //

"ธนกร" ยังมองปรากฏการณ์กระแสที่ประชาชนสะท้อนผ่านโซเชียลมีเดีย เรื่องรวมเสียงตั้งรัฐบาล กรณี “มีกรไม่มีกู” ที่เพียงข้ามวัน ก็ทำให้พรรคก้าวไกล ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงแนวทางอย่างรวดเร็วว่า มีคนตั้งข้อสังเกตมากเหมือนกันว่า จะรอดหรือไม่ เพราะมุมนี้อาจ เป็นดาบสองคม ความจริงแล้วการรับฟังเสียงของประชาชน เป็นเรื่องสำคัญ และต้องทำในระบอบประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกัน มีปัจจัยอื่นในแง่ของการเมืองด้วย เช่น วิธีการปฏิเสธล้มดีลเจรจา ที่สะท้อนภาพการทำงานว่า ไปคุยอะไรกันมา คุยแบบไหน ตกลงอะไรอย่างไร ทำไมตัดสินใจแบบนี้ สะท้อนให้เห็นวิธีการทำงานของพรรคก้าวไกลเป็นแบบไหน ซึ่งเสียงสะท้อนจากผู้คนผ่านโซเชียล เป็นปัจจัยสำคัญที่รับฟังได้ แต่การประเมินท่าที หรือประเมินอะไรต่างๆต้องรอบคอบ และรับฟังพรรคร่วมรัฐบาลด้วย

ส่วนที่บางคนตั้งข้อสังเกตพรรคก้าวไกลมี IO หรือไม่นั้น "ธนกร" เห็นว่า พรรคก้าวไกล พยายามปฏิเสธมาตลอดว่า ไม่มี เพราะสังคมหวาดระแวง และไม่เชื่อมั่นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในแง่ของกองเชียร์ หรือการแสดงความคิดเห็นของแฟนคลับแต่ละเพจ แต่ละที่มีการจัดตั้งหรือไม่ และปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่แค่พรรคก้าวไกล แต่เกิดขึ้นกับทุกพรรค ในสิ่งที่เรียกว่า ปฏิบัติการ IO หรือไม่ หรือการใช้ฐานอื่นๆเข้ามาช่วย ชักจูงชี้นำหรือเชียร์กัน เวลามีไลฟ์หรือออนไลน์เกิดขึ้น ก็มีการคอมเม้นต์กันเยอะใช่หรือไม่ ซึ่งพรรคอนาคตใหม่เองตอนที่เริ่มต้น "วิโรจน์ ลักขณาอดิศร" อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นคนที่เริ่มกล่าวถึงสิ่งนี้ ตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจ ปฏิบัติการทลายรังไอโอ ถ้าจำได้หลังจากนั้นมาสังคมไทยก็รู้จักคำว่า IO มากขึ้น และเห็นชัดเจนมากขึ้นว่า มีประสิทธิภาพในเชิงไหน แต่ท้ายที่สุดแล้วนำมาซึ่งคำตอบว่า โซเชียลมีเดีย มีอิทธิพลจริง ๆ ถึงขนาดว่าต้องทำให้ตัวเอง มีพื้นที่ในโซเชียลมีเดียด้วย

“สิ่งสำคัญที่สุดได้เห็นภาพสะท้อนแบบนี้ ของพรรคก้าวไกลที่ฟังประชาชน เพราะทำงานของเขามีจุดยืน ยึดหลักตรงไปตรงมา ไม่ร่วมกับคนที่เคยทำรัฐประหาร หรือจุดยืนของคนที่เคยอยู่ฝ่ายสนับสนุนลุง ทำให้ผู้สนับสนุนพรรคมีความรู้สึกว่า ทำไมไม่ทำตามที่พูด ผมคิดว่าตรงนี้สะท้อนภาพชัดว่า ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลชัดเจนตรงไปตรงมาและตึงมาก ดังนั้น พรรคก้าวไกลจะทำอะไรในอนาคต ต้องประเมินเสียงของประชาชนให้ดี และพรรคเองเคยสัญญาหรือมีจุดยืนแบบไหน ประชาชนเขาเลือกเพราะสิ่งนั้นด้วย" ธนกร กล่าว

// "บทบาทใหม่ ส.ส." พิสูจน์ ผู้แทนรุ่นใหม่ //

"ธนกร" ยังมองว่า หลายพื้นที่ ส.ส.บ้านใหญ่ ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งสะท้อนว่า ประชาชนไม่ได้ต้องการ ส.ส.แค่มางานบุญ งานบวช งานแต่ง งานขาวดำ หรือเคาะประตูบ้านสวัสดีเช้าเย็นเหมือนในอดีต แต่การพบกันในโลกออนไลน์ ก็เชื่อมั่นว่า จะเข้ามาดูแลได้นั้น เป็นเรื่องใหญ่ในอนาคต เพราะภาพความจริงนั้น สุดท้ายแล้วคือ ทำงานร่วมกับประชาชนในพื้นที่, การเมืองท้องถิ่นที่มีหลายกลุ่มก้อน, ข้าราชการ, หน่วยงานรัฐ ที่คอยช่วยกันจับมือแก้ไขปัญหา ตรงนี้จะเป็นบทพิสูจน์ใหญ่ และสำคัญมากสำหรับ ส.ส.หน้าใหม่ด้วย

ติดตาม“รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5