จริงหรือ! แนวคิด Work-life Balance ปม “แพทย์ลาออก”

            “ตอนนี้แพทย์รุ่นใหม่เปลี่ยนทัศนคติว่า อยากใช้ชีวิต Work-life Balance คุณภาพชีวิตต้องดี ต่างจากแพทย์สมัยก่อน แม้ต้องตรวจคนไข้วันละ 500-800 คน ก็ต้องยอมอึดถึกทน แต่ปัจจุบันมีทัศนคติว่าทำไมต้องมาแบกรับงานหนัก ค่าตอบแทนก็ไม่มาก เอาตัวเองออกจากระบบดีกว่า จึงให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้ชีวิตที่สมดุล มากกว่าต้องใช้ชีวิตในเรื่องของค่าตอบแทนและสวัสดิการ”  

            “สุจิตรา  สร้อยเพชร    ผู้สื่อข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส” เล่าถึงเบื้องหลัง “ปัญหาวงการแพทย์ไทย และทางออกของแพทย์ที่หมดใจจากการทำงาน” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า กรณีแพทย์จบใหม่แห่ลาออกจำนวนมากเป็นปัญหาที่สะสมมานาน และเป็นประเด็นที่ซับซ้อนมากจริงๆ เพราะแพทย์มีภาระงานหนักมากกว่ากำลังที่จะแบก ทำให้คุณภาพชีวิตแย่  โดยเฉพาะแพทย์อินเทิร์นที่ต้องเพิ่มพูนทักษะ  ตัดสินใจลาออกระหว่างการใช้ทุน   

 5 ปัจจัยที่แพทย์ตัดสินใจลาออก 

            ต้นเหตุของปัญหาอยู่ที่ 1.การผลิตแพทย์ไม่เพียงพอในแต่ละปีทำให้เกิดปัญหาขาดแคลน 2. ระบบวัฒนธรรมในองค์กร 3. ระบบบัตรทองมีส่วนทำให้ผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคุณหมอน้อยอยู่แล้วก็ต้องแบกเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้นด้วย 4. อัตรากำลังที่สำนักงานก.พ. อนุมัติ บรรจุให้แพทย์ได้เป็นข้าราชการในระบบของกระทรวงสาธารณสุขน้อยมาก ทำให้ไม่มีแรงจูงใจที่อยากอยู่ในระบบต่อไป  5.ค่าตอบแทนและทำให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลย์กัน  

            สุจิตรา บอกว่า ได้พูดคุยกับแพทย์ประจำอยู่โรงพยาบาลศูนย์หลายพื้นที่ ทั้งภาคกลางและภาคอีสาน สะท้อนประเด็นต่างๆมากมาย ที่เป็นประเด็นทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์ ปัญหาเรื่องความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรม ในระบบการทำงาน เขาคิดว่าทำไมต้องเป็นเดอะแบกอยู่คนเดียว

            “พี่สตาร์ฟโยนภาระให้น้อง บางครั้งหาตัวรุ่นพี่ไม่พบ ทำให้น้องต้องโหนเวรแทนซึ่งเป็นการเอาเปรียบ หรือบางคนก็ใช้ความอาวุโสพูดไม่เหมาะสม ทำให้แพทย์บางคนหมดความอดทนตัดสินใจลาออก แม้ประเด็นนี้อาจจะไม่เกิดกับแพทย์ทุกคนหรือทุกโรงพยาบาล  แต่ปรากฏการณ์เหล่านี้มีอยู่จริง หนัก-เบาต่างกันไป บางคนบอกว่างานหนักไม่เป็นไรถ้าทุกคนช่วยกัน แพทย์พี่เลี้ยงหรือสตาร์ฟ ควรจะลงมาช่วยน้อง ๆ ไม่ใช่ปล่อยให้แบกภาระงานอยู่คนเดียว เรื่องนี้เซนซิทีฟบั่นทอนจิตใจ

            สุจิตรา ขยายความให้ฟังว่า  เวลาไปโรงพยาบาลจะเห็นแพทย์ ออกตรวจทั้งผู้ป่วยใน-ผู้ป่วยนอก ยังไม่รวมกับที่ต้องเข้าเวรฉุกเฉินบางครั้ง ทำให้มีภาระงานมาก รวมไปถึงเรื่องของ “สิทธิ์บัตรทอง” มีส่วนทำให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เพราะประชาชนเข้ารับบริการมากขึ้น  แพทย์กับพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์แบกงานล้นมือ เห็นได้จากโรงพยาบาลรัฐหลายแห่ง  ทำให้บางครั้งคนไข้เจอบริการที่ไม่ค่อยดี หรือแพทย์พูดจาไม่ดี  ฉะนั้นข่าวที่ออกมาจึงมีส่วน ทำให้แพทย์ซึ่งทำงานหนักเกินไป  มีอารมณ์กระทบกับ ผู้ป่วยที่มารับบริการได้

            เท่าที่พูดคุยกับทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) บึงกาฬ ยอมรับว่า จ.บึงกาฬเป็นอันดับต้นๆของประเทศที่ขาดแคลนแพทย์มาก แต่ละปีมีแพทย์จบใหม่และตัดสินใจลาออก 4-5 คนต่อปี ทั้งที่ความจริงแล้วแพทย์ที่ถูกจัดสรร ไปตามโรงพยาบาลศูนย์ต่างจังหวัดค่อนข้างน้อย  หลายจังหวัดส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตอนนี้การจัดสรรแพทย์มาลงให้  ตามโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไป ในแต่ละจังหวัดลดลง  

สธ. ต้องเร่งแก้ปัญหา-เตรียมแผนรับมือในอนาคต

            ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การจัดสรรโควตาแพทย์จบใหม่ ให้ในแต่ละโรงพยาบาลน้อย แต่บางแห่งยังบริหารกันไปได้  แต่มาช่วงปี 2566 มีการลดสัดส่วนแพทย์จบใหม่ลงไปอีก  ก็ยิ่งตอกย้ำปัญหาเดิมที่มีอยู่ ซึ่งโรงพยาบาลบึงกาฬแพทย์ 1 คนดูแลผู้ป่วย 6,000 คน ขณะที่ จ.บึงกาฬมีประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้าน  เดินทางเข้ามารักษาด้วย เพราะเป็นจังหวัดที่อยู่ติดชายแดน จึงมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษามากกว่าหลายโรงพยาบาล

            ทั้งที่เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กไม่มีแพทย์เฉพาะทาง อัตรากำลังและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่เพียงพอ หากผู้ป่วยอาการหนักก็จะดูแลได้ในระดับเบื้องต้น  จากนั้นต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์ ทำให้ระบบการส่งต่อไปรักษาที่อื่น เป็นปัญหาและไม่คล่องตัว อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ห่างไกล ทำให้แพทย์บางคนเลือกที่จะไม่ไปลงพื้นที่ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขอาจจะต้อง  บริหารจัดการในส่วนนี้ด้วย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อมีประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านข้ามเข้ามารักษา ก็ทำให้แพทย์และบุคลากรส่วนอื่นๆทำงานหนักมากขึ้น

            ส่วนแผนรับมือในอนาคต คงต้องเป็นการบริหารของพื้นที่ ซึ่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลอาจจะต้องมาวางแนวทาง ส่วนใหญ่แล้วปัญหาแบบนี้ต่อให้นำแพทย์มาเติม แต่ละปีผลิตแพทย์มาไม่พออยู่แล้ว และการกระจายไปโรงพยาบาลต่าง ๆ โควตาสัดส่วนก็ได้ไม่เท่ากัน  ปีนี้หลายแห่งสะท้อนมาเหมือนกันว่า การจัดสรรจำนวนแพทย์ลดลง ทำให้การบริหารจัดการกระท่อนกระแท่น แต่ก็ต้องพยามทำงานกันไป 

            ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ที่เป็นประเด็นข่าวอยู่ตอนนี้ ต้องแก้ไขปัญหาโดยเกลี่ยแพทย์จากโรงพยาบาลชุมชน มาช่วยโรงพยาบาลศูนย์ทั่วไป ซึ่งจังหวัดราชบุรี เขตสุขภาพที่ 5 ได้รับการจัดสรรแพทย์ที่ใช้ทุนมาน้อย  ถ้าเทียบกับหลายพื้นที่ซึ่งเดิมที่ จ.ราชบุรีรได้จัดสรรมา 24 คน แต่ปีนี้เหลือเพียง 20 คนเท่านั้น  ทำให้แพทย์แต่ละคนทำงานในเวลาเฉลี่ย รวมแล้วประมาณ 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ถือว่าหนัก

ทุกคนที่เรียนแพทย์เตรียมใจกับปัญหาที่ต้องเจอ

            เท่าที่พูดคุยกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลายแห่งสะท้อนว่า  การผลิตแพทย์ไม่เพียงพอก็เป็นปัญหาหนึ่ง  แต่การที่ทุกคนเลือกเรียนแพทย์ ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าจะต้องเจอกับอะไรสภาพแบบไหน  ต้องเตรียมใจไว้ระดับหนึ่ง  เพราะคนที่จะเรียนแพทย์ต้องเรียน 6 ปีจากนั้นก็ต้องมาฝึกงานในโรงพยาบาล  ซึ่งเทรนของแพทย์สมัยใหม่ในปัจจุบัน  มีทัศนคติที่เปลี่ยนไปจากเดิม  แพทย์ที่ใช้ทุนจะต้องทำงานในโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงฯ

            ระเบียบของแพทยสภากำหนดว่า  แพทย์ทุกคนจะต้องฝึกงาน 1 ปี ถึงจะไปต่อแพทย์เฉพาะทางได้  แต่แพทย์บางคนที่จบจากมหาวิทยาลัยเอกชน ไม่ต้องใช้ทุนลาออกเลย หลังจากทำงานเพียง 1 ปีเท่านั้น เพราะไม่มีภาระที่ต้องใช้ทุน  บางคนไปทำธุรกิจเกี่ยวกับความสวยความงามหรือสุขภาพ  

แพทย์รุ่นใหม่เปลี่ยนวิธิคิด “งาน-ชีวิต ต้องสมดุล” กัน

            “ตอนนี้แพทย์รุ่นใหม่เปลี่ยนทัศนคติว่า อยากให้ใช้ชีวิตแบบ Work-life Balanceคือคุณภาพชีวิตต้องดี ต่างจากแพทย์สมัยก่อน แม้จะต้องตรวจคนไข้วันละ 500-800 คน ก็ต้องยอมอึดถึกทน  แต่ปัจจุบันมีทัศนคติว่าทำไมถึงต้องมาแบกรับงานหนัก ค่าตอบแทนก็ไม่มาก เอาตัวเองออกจากระบบดีกว่าจึงให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้ชีวิตที่สมดุล มากกว่าต้องใช้ชีวิตในเรื่องของค่าตอบแทนและสวัสดิการ”  

             โรงพยาบาล ที่จ.กาญจนบุรี  มีแพทย์ 4 คน มี ผู้อำนวยการ , แพทย์ทั่วไป และอินเทิร์น 2 คน  ต้องช่วยกันออกตรวจ แต่โชคดีทุกคนช่วยกันจัดระบบ ปรับลดการให้บริการ เช่น ลดจำนวนความถี่ของการตรวจรักษา เช่น ให้รับยาที่บ้านหรือร้านยาแถวบ้าน แต่ก็ยังมีระบบติดตามผู้ป่วยอยู่  หากมีอาการรุนแรงก็สามารถมาโรงพยาบาลได้เหมือนเดิม

            ปัจจุบัน อสม.เป็นต้นทางสำคัญด่านแรก ให้คำแนะนำคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น เพื่อลดการเดินทางมาพบแพทย์ ซึ่งเป็นแนวคิดของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยให้ผู้ป่วยรับยาใกล้บ้าน หรือกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังให้ขยายความถี่ในการมาโรงพยาบาล  ทำให้ผู้ป่วยที่ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาพบแพทย์ด้วย 

 

            ติดตาม“รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5