“เปิดขั้นตอนปฏิบัติการ ส่งกลับพลายศักดิ์สุรินทร์” 

“ศรีลังกายอมรับว่าการดูแลช้างของเขาไม่ดีพอ ไม่มีทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์และเครื่องเอ็กซเรย์ช้าง เท่าที่ผมคุยผ่านล่ามชาวศรีลังกา ในมุมมองของชาวศรีลังกา ควาญช้างเขากลัวช้างเพราะเป็นสัตว์ใหญ่ และไม่ได้อยู่ใกล้ชิดช้างเท่าไหร่  เมื่อ Mindset เริ่มต้นจากความกลัว การควบคุมบังคับช้างก็จะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่าหอก เป็นไม้ที่มีปลายแหลมแยกออกมาเป็นกิ่งเป็นเคียว”

ยอมรับขั้นตอนส่งกลับไม่ง่าย 

            ภควัต โฉมศรี ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส กล่าวกับรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึง “การถอดบทเรียนการส่งกลับทูตสันถวไมตรี สัตว์ประจำชาติของไทย”  ว่า ผมได้มีโอกาสตามคณะที่ช่วยเหลือลงพื้นที่ไปประเทศศรีลังกา ไปตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน พร้อมกับ คุณรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ  ล่วงหน้าคุณกัญจนา ศิลปอาชา ก่อนหนึ่งวัน เพื่อดูการเตรียมความพร้อม และการซักซ้อมของพลายศักดิ์สุรินทร์ ความจริงแล้วเป็นภารกิจที่ยากและเกินความคาดหมาย ของทีมสัตวแพทย์ทั้งหมด ตอนแรกค่อนข้างเครียดมาก เพราะมีบางอย่างที่เราเปิดเผยไม่ได้ ตราบใดที่ล้อเครื่องบินยังไม่ได้แตะสนามบินเชียงใหม่  

            ส่วนการซักซ้อมพลายศักดิ์สุรินทร์ ในการเดินเข้า-ออกกรง เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 -13 มิถุนายน ใช้เวลาเพียง 2สัปดาห์ มีการทดลองนำเครนยกกรงให้ลอยขึ้นเหนือพื้นเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ก่อนปฏิบัติการจริงกลางดึกวันที่ 1กรกฎาคม เหตุผลที่ต้องเคลื่อนกลางดึก เพราะต้องเคลียร์เส้นทางการจราจรทั้งหมด  ส่วนความปลอดภัยมีทหารดูแลทั้งหัวและท้ายขบวน เพราะมีกระแสทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยของชาวศรีลังกา โดยถ้าเทียบเปอร์เซ็นต์ก็ประมาณ80% ของชาวศรีลังกาเห็นด้วยที่จะให้ช้างกลับมาอยู่ไทย

            ขณะที่บรรยากาศที่หน้าสวนสัตว์ เรื่องนี้ดังมากที่ศรีลังกา มีคนร้องไห้เสียใจที่พลายศักดิ์สุรินทร์ต้องย้ายออกไป  และมีคนยินดี สื่อศรีลังกาทั้งหนังสือพิมพ์และทีวีจำนวนมาก  ออเข้าไปรวมอยู่ตรงนั้น ความวุ่นวายเกิดขึ้นแน่นอน

            การเดินทางล่าช้า และถูกประวิงเวลาไปเรื่อยๆจนถึงตี 1 ผมนั่งคอยประมาณ 3 ชั่วโมง กว่าจะเริ่มเคลื่อน เพราะต้องรอให้ทหาร-ตำรวจเคลียร์ถนนให้เสร็จ  ตั้งแต่สวนสัตว์ไปสนามบินระยะทาง 40 กว่ากิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง รถวิ่งช้ามากประมาณ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไปถึงสนามบินโคลัมโบต้องเคลียร์ให้เสร็จ อาจจะมีกลุ่มต่อต้านหรือไม่ ต้องดูและตรวจสอบความปลอดภัยต้อง 100% ไม่มีอะไรขัดขวาง แต่ระหว่างทางฝนตกหนักมาก มีพายุ ทำให้ขบวนล่าช้า ไปถึงสนามบินประมาณตี 3 ตามเวลาศรีลังกา

            เมื่อไปถึงแล้วจะย้ายจากรถคอนเทนเนอร์คันหนึ่ง  ไปสู่รถคอนเทนเนอร์อีกคันหนึ่งซึ่งเป็นรถที่ใช้เฉพาะเข้าสนามบิน พอย้ายไปแล้วคราวนี้ติดปัญหาระหว่างที่จะยกตู้ช้างเข้าสู่ห้องโดยสารของเครื่องบิน ปรากฏว่าตู้ที่ใส่พลายศักดิ์สุรินทร์ เข้าเครื่องบินไม่ได้  พื้นข้างล่างไม่พ้นท้องเครื่องเกือบ 1 ฟุต  เข้าไม่ได้ ยกลอยกลางอากาศประมาณ 40นาที

ภควัต บอกว่า วิศวกรของสายการบินและทีมสัตวแพทย์  ดูพลายศักดิ์สุรินทร์ผ่านกล้องวงจรปิด โชคดีที่ไม่มีปฏิกิริยาอะไร แต่พลายศักดิ์สุรินทร์พยายามก้มลงดูสอดส่องตามช่องว่าข้างนอกเกิดอะไรขึ้น  เมื่อยกตู้เข้ามาอยู่ในห้องโดยสารได้สำเร็จ จากนั้นผ่านไปเกือบ 3 ชั่วโมง ประมาณ 7 โมงเช้าของศรีลังกา เครื่องบินเริ่ม Take Off ปรากฏว่าเครื่องเริ่มสั่นเสียงเครื่องยนต์เริ่มดัง ทำให้พลายศักดิ์สุรินทร์ตกใจ มีอาการแพนิคพยายามเอางวงและงากระแทกกรงด้านข้าง  ทำให้สัตวแพทย์ที่ขึ้นเครื่องไปด้วย ตัดสินใจต้องวางยาให้ซึม  ซึ่งเป็นวิธีสุดท้าย แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี 

            ก่อนลงสนามบินเชียงใหม่มีการให้ยากระตุ้น เพื่อให้พลายศักดิ์สุรินทร์รู้สึกตัว ซึ่งนาทีวิกฤตระหว่างเดินทางโดยอากาศ เราจะเห็นไฟลท์แพลนว่าทำไมเครื่องบินไม่บินตรงไปที่เชียงใหม่เลย ต้องบินอ้อมขอน่านฟ้าจากประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย  ซึ่งกัปตันเครื่องบินให้เหตุผลว่า  การเลือกที่จะอยู่บนทะเลในระยะสั้น แล้วเข้าใกล้แผ่นดินให้เร็วที่สุดเป็นวิธีที่ดีที่สุด  เพราะถ้าเกิดเหตุตรงไหนเขาสามารถลงจอดสนามบินใกล้ที่สุดได้  ซึ่งสุดท้ายก็ผ่านไปได้ด้วยดี ดังนั้นเมื่อภารกิจจบสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี  การให้ความร่วมมือของพลายศักดิ์สุรินทร์ราบรื่นดีมาก แม้ไม่ได้ซักซ้อมเสมือนจริงให้สมบูรณ์  ซึ่งทุกคนค่อนข้างเป็นห่วงมาก  

ศรีลังกาไม่มีมาตรการดูแลช้างเป็นการเฉพาะ

“ศรีลังกายอมรับว่าการดูแลช้างของเขาไม่ดีพอ ไม่มีทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์และเครื่องเอ็กซเรย์ช้าง เท่าที่ผมคุยผ่านล่ามชาวศรีลังกา ในมุมมองของชาวศรีลังกา ควาญช้างเขามีความกลัวช้างเพราะเป็นสัตว์ใหญ่ และไม่ได้อยู่ใกล้ชิดช้างเท่าไหร่  เมื่อ Mindset เริ่มต้น จากความกลัว การควบคุมบังคับช้าง ก็จะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่าหอกเป็นไม้ที่มีปลายแหลมแยกออกมาเป็นกิ่งเป็นเคียว”

             สำหรับข้อสังเกตส่วนตัวของผม ตลอด 4-5 วัน  ก่อนที่จะขนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์ การเลี้ยงดูช้างของชาวศรีลังกา อาหารหลักที่ให้ส่วนใหญ่เป็นทางมะพร้าวกับต้นไม้ ที่เป็นไม้ยืนต้น จึงสอบถามสัตวแพทย์ที่เดินทางไปอยู่กับศักดิ์สุรินทร์เป็นเดือน จึงทราบว่าเป็นวัฒนธรรมของศรีลังกา ทั้งที่จริงๆแล้วหากช้างกินทางมะพร้าวบ่อยๆ ทำให้ท้องอืด และคุณค่าทางโภชนาการต่ำกว่าผลไม้ ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่ให้ผลไม้ เช่น กล้วย  

ย้อนรอยส่ง พลายไปศรีลังกา ถูกใช้งานหนัก 30 วันต่อเนื่อง

            ภควัต เล่าย้อนถึง  การส่งพลายศักดิ์สุรินทร์ , พลายประตูผา และพลายศรีณรงค์ ไปศรีลังกาปี 2544 ว่า ทั้ง 3เชือก มีหลักคชลักษณ์ของงาอุ้มบาตร ซึ่งน่าแปลกใจที่ประเทศศรีลังกา ทั้งช้างป่าและช้างบ้านไม่มีงาเหลืออยู่เลย ไม่แน่ใจว่าเป็นพันธุกรรมหรือไม่  จึงทำให้เขาจึงต้องการช้างที่มีลักษณะคชลักษณ์ เพื่อเป็นช้างนำขบวนแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว   แต่ก็ไม่ได้มีเพียงช้างไทยแค่ 3 เชือก  ยังมีช้างจากอินเดียและเมียนมาร์ด้วย ที่ส่งไปศรีลังกา ทำภารกิจเดียวกัน 

            ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จะเข้าสู่ช่วงแห่พระธาตุเขี้ยวแก้วของแต่ละวัด ซึ่งจุดเริ่มต้นจริงๆ อยู่ที่วัดดาลาดา มาลิกาวา เป็นวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว ที่เมืองแคนดี้ ของศรีลังกา เป็นวัดที่พลายประตูผายังอาศัยอยู่  ปัจจุบันนี้คนศรีลังกาทั้งหมดที่เป็นชาวพุทธ จะเข้าร่วมพิธีแห่เริ่มประมาณ 19.00 น. ถึง 01.00 น.ทำให้ช้างต้องเดินทั้งคืน 

            พอวัดนี้เริ่มบูมขึ้นนักท่องเที่ยวเข้าไปจำนวนมาก  ทำให้หลายวัดที่เป็นวัดพุทธเริ่มทำตาม  มองในมุมของการท่องเที่ยว ทำให้ช้างไทยหรือช้างที่มีงาถูกใช้งานแต่ละวัดกระจายรวมกัน  เฉลี่ยแล้วประมาณ 30 วันต่อเนื่อง  ในช่วงเทศกาล 2 เดือนนี้  จะขึ้นรถบรรทุกตระเวนไปตามวัดต่างๆ ในการเข้าร่วม

            ภควัต บอกว่า  ความจริงแล้วเรื่องพลายศักดิ์สุรินทร์  เงียบหายไปนานหลายปีเพราะว่าป่วย  ประมาณเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว  เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบ ไปเยี่ยมที่วัดคันเด้ เพราะสงสัยว่าหายไป จึงไปดูเห็นว่ามีสภาพทรุดโทรมและป่วยหนักมาก  มีฝีที่บั้นท้ายทั้ง 2 ข้างและผอมมาก

             ทำให้เกิดเป็นกระแสว่าพลายศักดิ์สุรินทร์ ต้องการจะรักษาและย้ายจากวัดไปอยู่ที่สวนสัตว์ พอเป็นกระแสข่าว คนศรีลังกาก็เริ่มรู้จักพลายศักดิ์สุรินทร์อีกครั้ง  ด้วยวัฒนธรรมของเขาคนศรีลังกาค่อนข้างรักศักดิ์ศรีของตัวเอง นักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เป็นชาวศรีลังกาแห่กันมาที่สวนสัตว์กันเด้ เพิ่มขึ้น 7 – 8 เท่า  เพื่อต่อแถวเข้ามาจากหน้าสวนสัตว์ ตรงไปที่คอกพลายศักดิ์สุรินทร์เลย เพราะเขาสงสาร เลยเป็นที่รู้จัก

            ตามหลักมาตรฐานของศรีลังกา ช้างที่จะเข้าร่วมแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว ก็จะมอบกรรมสิทธิ์ให้แต่ละวัดดูแล  ฉะนั้นกรรมสิทธิ์ของช้างแต่ละเชือก ก็จะอยู่ที่แต่ละวัด พลายศักดิ์สุรินทร์ก่อนที่จะเดินทางมาก็เป็นกรรมสิทธิ์ของวัดคันเด้วิหาราม ในเมืองโคลัมโบ

ควาญช้างเสียชีวิต ไร้คนดูแล เป็นเหตุให้ศักดิ์สุรินทร์ป่วย

            ภควัต บอกว่า  จุดเริ่มต้นของอาการศักดิ์สุรินทร์มาจากประมาณ 10 ปีที่แล้ว ควาญช้างเสียชีวิต แต่วัดคันเด้ไม่ได้ว่าจ้างควาญช้างคนใหม่ที่มีประสบการณ์ แต่ให้คนขับรถบรรทุกขนส่งช้างเข้ามาดูแล  เขาไม่ได้เรียนรู้วิธีการดูแลช้างจึงเกิดปัญหา เรื่องสวัสดิภาพของช้างไม่ดีพอ  

            “วันที่ผมเดินทางไปศรีลังกา คุณกัญจนา ศิลปอาชา ตั้งเป้าหมายแรกไว้ว่า ต้องการที่จะไปหาพลายประตูผา เพราะอยู่ที่เมืองแคนดี้ เป็นช้างที่มาอยู่ก่อนศักดิ์สุรินทร์และศรีณรงค์ คือมาตั้งแต่ปี 2523 ถ้าเทียบอายุน่าจะประมาณ 40 กว่าปีแล้ว  เขาเป็นห่วงตัวนี้มากกว่า แต่วัดพระธาตุเขี้ยวแก้วเมืองแคนดี้อ้างว่า พลายประตูผาตกมัน ตอนนี้ย้ายไปอยู่ที่อื่น  แต่ไม่ได้บอกว่าย้ายไปที่ไหน ตรงนี้เราตั้งปมสงสัยแต่เขาไม่ยอมพูด 

            เราก็เปลี่ยนไปดูพลายศรีณรงค์ ที่เมือง Kataragama ทางฝั่งตะวันออกของศรีลังกา  ห่างจากโคลัมโบประมาณ 270 กิโลเมตร ผมยืนยันด้วยสายตาตัวเองว่า ความเป็นอยู่ดี อ้วนท้วนสมบูรณ์และดูมีความสุขด้วย เพราะลักษณะอากัปกิริยา คือ ส่ายหัวไปมาเป็นช้างที่อารมณ์ดีและเชื่อง ให้คนแปลกหน้าที่ไม่เคยเจอกันมาก่อนให้เข้าใกล้ได้ เพราะเขาถูกเลี้ยงด้วยควาญช้าง และมีความสัมพันธ์ระหว่างช้างกับควาญดีมาก ควาญช้างบอกว่าจะใช้พลายศรีณรงค์เพียง 5-6 ครั้งต่อปีเท่านั้น  ไม่อยากใช้งานหนักมาก เขาว่าพิธีในเทศกาลค่อนข้างยาวนาน  ฉะนั้นการให้ช้างแบกชุดเครื่องทรงต่างๆเป็นงานที่หนัก

แต่พอเรากลับมาประเทศไทยได้ 2-3 วัน  ท่านทูตของไทยก็เดินทางไปเมืองแคนดี้ด้วยตัวเอง  เพื่อไปหาพลายประตูผา ก็ไปเจอกับคณะลูกศิษย์ของวัด คุยกันเรื่องของสวัสดิภาพพลายประตูผา ยอมรับว่าตกมันจริงๆ จึงย้ายไปอยู่ในที่เป็นเขตวัด ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เลี้ยง ซึ่งคนที่ดูแลก็รับปากว่าจะดูแลสุขภาพของพลายประตูผาให้ดี แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ส่งทีมสัตวแพทย์ไปตรวจ  เพื่อที่จะยืนยันว่าพลายประตูผามีสุขภาพเป็นอย่างไร

ไทยไม่ได้ทำเงื่อนไขรายละเอียดให้ประเทศต่างๆ ดูแลช้าง-ทูตสันถวไมตรี

            ภควัต เล่าว่า  การส่งช้างซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติของไทย ไปเป็นทูตสันถวไมตรีเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ  ข้อมูลจากภาครัฐที่เปิดเผยมี 20 เชือก ตั้งแต่ก่อนปี 2544 จนถึงปี 2559 แต่ก็มีข้อมูลที่ย้อนแย้งจากเครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ในประเทศไทย  ที่เชื่อว่าน่าจะมีมากกว่า 20 เชือก 

            แต่ก่อนหน้านี้ไม่รู้ว่าทางการไทย ได้บันทึกไว้ในประวัติหรือไม่ เป็นคำถามที่ทางการไทยยังตอบไม่ชัดเจน ว่าพันธสัญญาหรือเงื่อนไขในเอกสารการส่งมอบ  ได้ทำเงื่อนไขเรื่องการดูแลสวัสดิภาพของสัตว์ กับประเทศปลายทางหรือไม่ เช่น กรณีพลายศักดิ์สุรินทร์ 

“ กรณีพลายศักดิ์สุรินทร์ ผมได้คุยกับทางสถานทูตไทยที่ศรีลังกา  เขารื้อเอกสารการส่งมอบเมื่อปี 2544 ให้ดู ปรากฏว่าเอกสารนั้นเขียนแบบหลวมๆ ว่าส่งมอบให้เพื่อเป็นทูตสันถวไมตรีแก่ทางการศรีลังกา แต่ไม่มีเงื่อนไขรายละเอียดอะไรเลย ที่จะบอกว่าศรีลังกาต้องดูแลอย่างไร  ฉะนั้นทางการศรีลังกาจึงทำเอกสารอีกฉบับหนึ่งขึ้นมา ในการมอบกรรมสิทธิ์ให้กับวัดคันเด้วิหาร ส่วนอีก 2 เชือก คือ พลายประตูผา กับพลายภายศรีณรงค์น่าจะคล้ายกัน

ชี้ช่อง ยกเลิกนโยบายมอบสัตว์เป็นทูตสันถวไมตรี

            ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปี 2562 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่าไม่เคยส่งสัตว์ชนิดใด ไปเป็นทูตสันถวไมตรี และยกเลิกนโยบายนี้ไปเลย  ทั้งนี้หากจะรื้อนโยบายนี้หรือพันธสัญญาเรื่องส่งสัตว์ไปเป็นทูต ควรจะต้องคุยเรื่องเงื่อนไขหรือไม่  เพราะว่าช้างเป็นสัตว์บกที่ใหญ่มากที่สุดในโลก  ตามเงื่อนไขการรักษาดูแลเรื่องสภาพภูมิอากาศ ของประเทศปลายทาง ความจริงไทยน่าจะดูเรื่องนี้ หรืออาจจะยกเลิกไปเลยก็ได้ เพราะสังคมไทยน่าจะเข้าใจ

            ภควัต มองว่า ในมุมมองของเขาเรื่องการจะส่งสัตว์ประจำชาติไปเป็นทูตสันถวไมตรี  กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  น่าจะเป็นหน่วยงานที่ตอบได้ดีที่สุด  เพราะเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการเชื่อมสัมพันธไมตรี  โดยต้องคุยรายละเอียดเงื่อนไขการดูแล อาจจะต้องมีเงื่อนไข หน้า 2 หน้า 3 กับประเทศปลายทาง ที่จะต้องเซ็นร่วมกันในการดูแล  หรือไม่ดูแลไม่ได้ หรือต้องยอมรับหรือไม่ ว่าถ้าดูแลไม่ได้ต้องส่งกลับแล้วรับผิดชอบค่าใช้จ่าย  เพราะกรณีพลายศักดิ์สุรินทร์ประเทศไทยออกค่าใช้จ่ายเอง 

มั่นใจพลายศักดิ์สุรินทร์ไม่ถูกส่งกลับศรีลังกา

            ส่วนการส่งกลับพลายศักดิ์สุรินทร์หรือไม่ คุณวราวุธ บอกว่า ตอนนี้พลายศักดิ์สุรินทร์อาจจะไม่ต้องส่งกลับด้วยเหตุผลอะไร น่าจะรู้กันแล้วว่าทำไม ขณะที่ประชาชนของศรีลังกาก็เข้าใจเรื่องนี้ดี ว่าไม่ต้องส่งกลับมาแล้วก็ได้ แต่ประชาชนเขามีการเคลื่อนไหวเรียกร้อง ไม่ส่งกลับพลายประตูผากับพลายศรีณรงค์ 

            “นักการเมืองฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ดูแล หรือเป็นลูกศิษย์วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว ออกมาให้ข่าวผ่านสื่อศรีลังกาว่า ถ้าไทยจะเรียกร้องกลับเราจะฟ้องคุณ เรื่องนี้ท่านทูตของไทยได้เดินทางไปพูดคุยด้วยตัวเอง ว่าไม่มีการคุยกันเรื่องการส่งทั้ง 2 เชือกกลับไทย แต่ในเดือนกันยายนนี้จะมีการร่วมมือกัน โดยไทยจะส่งทีมสัตวแพทย์และสัตวบาลไปให้ความรู้ เรื่องของสถานที่เลี้ยงดู อาหาร โภชนาการต่างๆ เพื่อให้ทั้ง 2 เชือกมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้  ผมคิดว่าเป็นการพัฒนาที่ดีร่วมกัน  ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก  ซึ่งศรีลังกาก็ยอมรับเรื่องของการถ่ายทอดความรู้ตรงนี้ด้วย”

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.

โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5