“ศึกวัดใจประชาธิปไตยข้ามขั้ว” 

ถ้าวิเคราะห์สถานการณ์ขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีรัฐบาลเสียงข้างน้อย หรือการเปลี่ยนขั้ว รวมถึงเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอก น่าจะเกิดขึ้นก่อนรัฐบาลแห่งชาติ บางคนพูดว่ายื้อไปก่อน รอให้ สว.หมดวาระก่อนดีหรือไม่ จะได้นายกรัฐมนตรีจากเสียง สส. ที่เป็นตัวแทนประชาชนจริงๆ แต่ในมุมของนักลงทุนและมุมของงบประมาณรอไม่ได้”

ผลการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกวันที่ 13 ก.ค.ผ่านพ้นไปแล้ว และกำลังจะมีการโหวตรอบ 2 ในวันพุธที่ 19 ก.ค.นั้นสะท้อนอะไรหลายอย่าง สรัลชนา ศรีเชียงสา ผู้สื่อข่าวการเมือง สถานีโทรทัศน์ฯ ช่อง 3 สะท้อนมุมมองใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า ปัจจัยอยู่ที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กับพรรคก้าวไกลซึ่ง สว. มีเงื่อนไขเดียว คือ ไม่ว่าเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคการเมืองไหนก็พร้อมยกมือโหวตให้ แต่ต้องไม่มีก้าวไกล แสดงว่า สว.พร้อมที่จะผลักก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน และไม่โหวตให้ชัดเจน

เชื่อ “เพื่อไทย” ได้เสียงหนุนมากกว่า “ก้าวไกล”

            การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ส่วนตัวมั่นใจว่าพรรคก้าวไกล จะเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์อีกครั้ง ขณะที่ 8 พรรคการเมืองซึ่งจับขั้วกันตั้งรัฐบาล ยังคงให้โอกาสพรรคก้าวไกลอยู่ แต่สมาชิกวุฒิสภา สว.เสียงส่วนใหญ่ประกาศแล้วว่า ถ้ามีก้าวไกลจะไม่โหวตให้แน่นอน จึงทำให้เห็นทิศทางชัดเจน ว่าการโหวตครั้งที่ 2 ไม่ต่างจากครั้งแรก ถ้าพรรคก้าวไกลยังไม่สามารถหาเสียงสนับสนุนได้ 

            ตัวเลขที่ สว.โหวตสนับสนุนพิธาครั้งแรกมีเพียง 13 เสียงเท่านั้น ขาดอีก 50 กว่าเสียง หากโหวตครั้งที่ 2 ไม่ผ่าน ก็เป็นโอกาสของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ สว.และ สส.หลายพรรค เชื่อว่าเพื่อไทยจะได้เสียงสนับสนุนจาก สว. มากกว่า 13 เสียง และเสียงจาก สส. เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

มีโอกาสข้ามขั้วหาก 3 แคนดิเดตนายกฯจากเพื่อไทย ไม่ผ่าน

            สรัลชนา มองว่า  สมมติว่าท้ายที่สุดเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากเพื่อไทยทั้ง 3 คนไม่ได้จริงๆก็เป็นไปได้ที่เพื่อไทยอาจจะบอกว่าบ้านเมืองไปต่อไม่ได้จริงๆ พยายามสุดความสามารถใน 8 พรรคการเมืองที่จับขั้วกันแล้ว โอกาสที่จะข้ามขั้วกันก็อาจจะเกิดขึ้น

            “กรณีการข้ามขั้วถ้า 10 พรรคอีกฝั่งอยากจะหล่อๆ โหวตให้เพื่อไทย แต่ไม่ร่วมรัฐบาลไม่ข้ามขั้วได้ แต่เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นแบบนี้ ถ้าฟังเสียงมวลชนส่วนใหญ่ที่เรียกตัวเองว่าฝั่งประชาธิปไตย ก็หวังว่าจะไม่มีการข้ามขั้ว อยากจะให้เป็นไปตามเสียงส่วนใหญ่ที่เลือกมา ก็ต้องวัดใจเพื่อไทยว่าจะเอาอย่างไรต่อไป เป็นโจทย์ยากสำหรับเพื่อไทย แต่อย่าลืมว่ามีอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้โหวตให้กับ 8 พรรคฝั่งประชาธิปไตย ดังนั้นต้องรับฟังทั้ง 2 ฝ่ายด้วย”

            โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาไม่น่าจะเป็นครั้งเดียวแล้วผ่าน  จึงเสนอไว้ 3 ชื่อ ขณะที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่า จะต้องโหวตนายกรัฐมนตรีกี่ครั้ง ในเมื่อพรรคก้าวไกลเสนอเพียงคนเดียว แล้ว สว.ก็ตั้งเป้าชัดเจนว่า ไม่เอาพิธา ลิ้มเจริญรัตน์          

            สำหรับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย  ณ สถานการณ์ตอนนี้เศรษฐา ทวีสิน น่าจะเป็นชื่อแรกที่ถูกเสนอในการโหวตเลือก  ที่ผ่านมารายชื่อในพรรคเพื่อไทยมีการสวิงกันไป-มา ระหว่างแพรทองธาร ชินวัตรกับเศรษฐา ทวีสิน แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปัจจัยทางการเมือง , เรื่องของคนในพรรค , เรื่องของการยอมรับระหว่างแพรทองธารกับเศรษฐา  

กระแสตีกลับไปเพื่อไทย หลังก้าวไกลถูกตีตก

            จนกระทั่งเมื่อมีการโหวตชื่อพิธาไม่ผ่าน  กระแสก็วิ่งกลับมาที่ชื่อเศรษฐาอีกรอบ ซึ่งแพรทองธารบอกว่า อยากให้เศรษฐาได้ทำหน้าที่ ขณะที่เศรษฐามีความชัดเจนในตัวเองตั้งแต่แรก ว่าลงการเมืองครั้งนี้เพราะต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปัจจัยของเศรษฐาชัดเจนว่าต้องมีพรรคก้าวไกล  ซึ่งก็ติดเงื่อนไขของ สว.อีกว่าไม่เอาก้าวไกล จึงต้องต่อรองพูดคุย 

            ขณะที่พรรคการเมืองอีก 10 พรรค เช่น ประชาธิปัตย์ , ชาติไทยพัฒนางดออกเสียง ในการโหวตเลือกพิธา  ประเด็นหลักคือไม่เอาก้าวไกลเพราะเรื่องแก้ไขมาตรา 112 แต่พรรคเพื่อไทยไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้  ดังนั้นในมุมมองของ สว.และพรรคการเมืองต่างๆ เห็นว่าเพื่อไทยดีกว่าก้าวไกลมาก และมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่าก้าวไกล 

            ส่วนความเป็นไปได้ที่เพื่อไทยจะยอมยกเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ให้กับพลังประชารัฐมีโอกาสมากน้อยแค่ไหน ต้องรอดูการโหวตครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 กรกฎาคมด้วย  เพื่อไทยจะยังรักษาสัจจะคำมั่นสัญญา ในการจับมือกับ 8 พรรคการเมืองเหนียวแน่นต่อหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ในวันที่มีการปราศรัยหาเสียงครั้งสุดท้าย เพื่อไทยก็แก้ข้อกล่าวหานี้ ว่าจะไม่จับมือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยืนยันไม่จับมือกับคนที่ทำรัฐประหารแน่นอน แต่ พล.อ.ประวิตรบอกว่า คนเดียวที่ทำรัฐประหาร คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตรงนี้จะเป็นตัววัดเพื่อไทยด้วย

ขั้วเดิมปิดประตูตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยแข่ง

            ส่วนมุมมองในเรื่องของรัฐบาลเสียงข้างน้อย สรัลชนา บอกว่า  เท่าที่ฟังจากหลายพรรค เช่น ภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ ปิดประตูเรื่องนี้เลยว่าไม่เอาแน่นอน หากตัดประเด็นการเมืองออกไป  เรื่องสำคัญที่จ่ออยู่ คือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2567 จะไม่ผ่านความเห็นชอบจากฝ่ายค้านเสียงข้างมาก ตั้งแต่วาระแรก และหากมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็จะถือว่าจบเลยสำหรับรัฐบาลเสียงข้างน้อย 

            หรือหากต้องการให้ทั้ง 2 ญัตติดังกล่าวผ่านความเห็นชอบ ก็ต้องการซื้อตัวงูเห่าให้ช่วยโหวต   ดังนั้นจึงไม่ควรมองในระยะใกล้ๆ แต่ยังมีเรื่องอื่นตามมาอีกมาก สมมุติว่าเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยเพียง 2-3 เดือนแล้วยุบสภา การเลือกตั้งครั้งใหม่ประชาชนก็อาจมองว่า เป็นการเลือกตั้งที่ใช้เงินมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ 

            “ถ้าวิเคราะห์สถานการณ์ขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีรัฐบาลเสียงข้างน้อย หรือการเปลี่ยนขั้ว รวมถึงเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอก น่าจะเกิดขึ้นก่อนรัฐบาลแห่งชาติ บางคนพูดว่ายื้อไปก่อน รอให้ สว.หมดวาระก่อนดีหรือไม่ จะได้นายกรัฐมนตรีจากเสียง สส. ที่เป็นตัวแทนประชาชนจริงๆ แต่ในมุมของนักลงทุนและมุมของงบประมาณรอไม่ได้”

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00 -12.00 น. โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5​