" 'ความรับผิดชอบของสื่อฯ' ไม่ใช่อิสระอะไรก็ได้ แล้วบอกว่า นี่คือประชาธิปไตย มันก็จะเป็นตรรกะที่ไม่สมบูรณ์ แม้ไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกต้อง ฉะนั้น นอกจากสื่อฯ จะเป็นกระจกแล้ว ควรจะเป็นตะเกียงส่องสว่างให้คนที่เราเลือกเสพสื่อ ให้เขาฉลาด และเข้าใจด้วย"
"ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล" บรรณาธิการ Green Innovation &.SD, Manager Online ให้มุมมองข่าวความเชื่อปมร้อน "ครูกายแก้ว" ใน "รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว" ว่า บางสื่ออาจจะนำเสนอว่า การตั้งครูกายแก้ว ทำให้รถติดเพราะคนสนใจ ขณะเดียวกัน ก็มีบางสื่อ ไปถามผู้ที่นำครูกายแก้วมาตั้ง และพบว่า มีเรื่องราว ตำนานต่างๆ และบางสื่อก็หาเพิ่มเติมข้อมูล สัมภาษณ์ผู้รู้อื่น ๆ ซึ่งช่วยทำให้เกิดความสมดุลย์ และผู้รับสารก็จะเริ่มคิดเอง ฉะนั้น สื่อมวลชน ควรจะต้องนำเสนอข่าวบนพื้นฐานข้อเท็จจริง และรอบด้าน ไม่มีการใส่ความคิดเห็นส่วนตัวใด ๆ
สื่อฯ ต้องระวังผลลัพธ์การนำเสนอเกิดผลกระทบทางลบ
"ดร.สุวัฒน์" ยังเห็นว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ควรต้องพิจารณาหากมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแล้วเกิดผลเสีย เพราะจะเห็นว่า กระบวนการสื่อสาร เริ่มจากสื่อมวลชนที่รับข่าวสารตรวจสอบข้อมูล จากนั้นจะคัดสรร และเลือกประเด็นว่า สังคมสนใจอยากรู้หรือไม่ ถ้าหากสื่อมวลชนอยากขายความอยากรู้ก็ไม่ว่ากัน แต่ควรตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง แล้วผลิตสารเพื่อที่จะไปสื่อในรูปแบบที่เหมาะสม แต่สิ่งสำคัญคือ เมื่อสื่อออกไปแล้ว จะเกิดผลลัพธ์ และผลกระทบต่อสังคมอย่างไรด้วย เช่น การอ้างว่า จะต้องนำสุนัข หรือแมว ไปบูชายัญ ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนที่มีความรักห่วงใยในสัตว์ เพราะถ้มนุษย์ หวังผลประโยชน์ที่ตัวเองจะได้ และต้องไปฆ่าสัตว์ก็ไม่ถูกต้อง ซึ่งสื่อมวลชน ก็ควรไปสัมภาษณ์ผู้รู้ในเรื่องนี้ หรือหาข้อมูลมาสนับสนุนว่า การนำดอกไม้ หรือผลไม้บูชาก็เพียงพอแล้ว เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่รุนแรง และไม่เป็นการได้ส่งเสริมผลกระทบในทางไม่ดี ซึ่งสื่อมวลชนควรจะต้องรับผิดชอบเรื่องพวกนี้
“ศรัทธามาร์เก็ตติ้ง” ต้องเกิดจากธรรมชาติ-ศรัทธา ไม่ใช่งมงาย
การที่มีคนบางกลุ่มเสนอประเทศไทย ควรส่งเสริม "เศรษฐกิจสายมู" พื้นที่ใดมีตำนานอยู่แล้ว ก็ประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนรู้จักมากขึ้น หรือพื้นที่ใดไม่มี ก็ควรจะสร้างขึ้นมา เพื่อเป็นการหารายได้เข้าประเทศทางหนึ่งนั้น "ดร.สุวัฒน์" บอกว่า ส่วนตัวไม่ได้ขัดข้อง แต่เรียกว่า “ศรัทธามาร์เก็ตติ้ง” ที่แล้วมาก็เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งสะสมกันมาจากคนที่เกิดความศรัทธา เช่นเห็นว่า เวลานี้วัดพระแก้ว และวัดโพธิ์ มีคนแน่นมหาศาล มีคนมาดู ทั้งในด้านความเป็นศิลปะวัฒนธรรม เพราะวัดพระแก้วเป็นสิ่งที่สุดยอด มีคนเคารพนับถือ มีคุณค่าทางศิลปะและวัฒนธรรม ทำให้คนอยากมาสัมผัส หรือท้าวมหาพรหม ที่แยกราชประสงค์ หรือวัด และโบราณสถาณประจำจังหวัดต่าง ๆ ก็มีอยู่แล้ว แต่ ปัญหามีอยู่ว่า เราต้องดูให้เหมาะสมกับที่เป็นแหล่งเคารพบูชา ศิลปะวัฒนธรรมไทย ให้เขารู้สึกศรัทธา และอิ่มเอมปิติสุข มีเรื่องราวมีข้อมูลโดยมีคนแนะนำ ซึ่งประเทศต่าง ๆ ก็ทำเช่นกัน แต่ไม่ใช่เป็นการงมงาย เพียงแต่มีประวัติศาสตร์ เรื่องราวที่มาต่าง ๆ หรือบางวัด ก็มีตำนาน ซึ่งนั่นคือผลลัพธ์ ที่คนมาเที่ยวแล้วเขาก็ได้พึงพอใจ
สื่อฯ ควรเป็นทั้ง "กระจก-ตะเกียง" สร้างเรตติ้งที่น่าชื่นชม
"ดร.สุวัฒน์" ยังเห็นว่า การนำเสนอข่าวสารต่าง ๆ นั้น สื่อมวลชนทุกที่ต้องการทำเรตติ้ง แต่เรตติ้งดังกล่าว มาจากเรื่องที่คนอยากรู้ อยากเห็น เป็นสิ่งแปลก แต่สื่อฯ ก็ต้องเลือกนำเสนอ โดยพิจารณาดูความเหมาะสมด้วย เช่น เรื่องของความแปลก บางจังหวัดขายเรื่อง Unseen ที่คนไม่เคยเจอ แต่เป็นความแปลกในสถานที่ที่สวยงาม ไม่มีใครรู้มาก่อน ก็แปลกเช่นนี้ ก็สามารถเรียกเรตติ้งได้ เรียกคนก็ไปดู ไปเที่ยวได้ ซึ่งเรตติ้งไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่เสียหายเป็นทางลบเสมอไป เพราะการตีแผ่ต่าง ๆ ต้องว่ากันตามข้อเท็จจริง เป็นกระจกสะท้อน และระมัดระวัง พยายามหาข้อมูลที่ประเทืองปัญญาเป็นประโยชน์ เพื่อให้ได้รับความชื่นชม เป็นเรตติ้งที่น่าชื่นชม เพราะนอกจากจะทำหน้าที่เป็นกระจกแล้ว ยังควรเป็นตะเกียงส่องสว่างให้ผู้รับสารได้ความรู้เพิ่มเติม และเข้าใจด้วย
“สื่อฯ ควรทำความจริงให้ปรากฏ เหมือนเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่า เกิดอะไรขึ้น แต่สิ่งที่ควรจะคู่กัน คือ 'ความรับผิดชอบของสื่อฯ' ไม่ใช่อิสระอะไรก็ได้ แล้วบอกว่า นี่คือประชาธิปไตย มันก็จะเป็นตรรกะที่ไม่สมบูรณ์ แม้ไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกต้อง ฉะนั้น นอกจากสื่อฯ จะเป็นกระจกแล้ว ควรจะเป็นตะเกียงส่องสว่างให้คนที่เราเลือกเสพสื่อ ให้เขาฉลาด และเข้าใจด้วย” ดร.สุวัฒน์ กล่าว
อยากมีผลอย่างไร ก็ทำเหตุแบบนั้น สร้างคุณสมบัติให้พร้อมไม่ง้อโชคชะตา
ดร.สุวัฒน์ ยังให้มุมมองว่า ประเทศไทย เป็นเมืองพุทธ พุทธศาสนาในทางสากล หรือวิชาการ ถือว่า เป็นวิทยาศาสตร์ทางบริหารจิต ให้ความสำคัญกับเรื่องของเหตุ และผล หากเราอยากจะมีผลอย่างไร ก็ทำเหตุแบบนั้น ส่วนที่เราเคารพกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในโอกาสประเพณีวันสำคัญ เช่น วันปีใหม่ ที่อยากจะเริ่มต้นชีวิตความเป็นมงคล เป็นเรื่องบวก และเรื่องดี ที่พระท่านสอนว่า บุญ และพร ทำด้วยตัวเองได้ พระพุทธเจ้าสอนถึงว่า ถ้าเราทำอะไรในสิ่งที่ดี ก็ถือว่าเป็นฤกษ์ดี โดยไม่ต้องไปหาฤกษ์ ฉะนั้น การกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็ได้ขวัญกำลังใจ และเราต้องมีจุดมุ่งหมายที่อยากจะมีชีวิตที่ดี หากศึกษาจริง ปฏิบัติจริง ก็จะเป็นศรัทธาในเชิงบวก ที่ทำให้เกิดกำลังใจ และโชคดี ก็แปลว่า การสร้างคุณสมบัติให้พร้อม เมื่อประจวบเหมาะกับจังหวะโอกาสที่ดี จึงจะประสบความสำเร็จ ไม่ใช่รอแต่โชคชะตา เพราะเราต้องเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน เพราะศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่เป็นเหตุและผล
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5