“ช็อตฟีลวงการสื่อ เส้นแบ่งขาว-ดำ ความโปร่งใสในวิชาชีพ!!”

            “เรื่องนี้ถือว่าแรงเหมือนการทุจริตและไม่โปร่งใส กระทบกับอาชีพผู้สื่อข่าว อย่างที่ทราบกันดีว่าเป็นอาชีพที่ กรองขั้นแรกในการตรวจสอบทุจริตให้กับประชาชน ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่แท้จริง แต่กลับมามีเรื่องไม่โปร่งใสในวิชาชีพ” 7 องค์กรวิชาชีพสื่อนั่งไม่ติด เรียกถกด่วน

            “อัญชลี อับดุล ประธานสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย” สะท้อนมุมมอง “สาเหตุที่คนทำงานสื่อเรียกรับเงิน เพราะเงินเดือนน้อยจริงหรือ!! ” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า เรื่องที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุจ่ายเงินให้ผู้สื่อข่าวเพื่อช่วยเหลือเนื่องจากเงินเดือนน้อย ถือว่าช็อตฟีลจริงๆ นั่งเก้าอี้กันไม่ติดเลยเรียกประชุมด่วน ทั้ง 7 องค์กรวิชาชีพสื่อ คือ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย และสมาพันธ์สื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

            พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ พูดตอนเช้า-เย็นวันเดียวกัน 7 องค์กรวิชาชีพสื่อเรียกประชุมออนไลน์เดี๋ยวนั้น มีการถกกันเยอะมากต้องมีข้อสรุปออกมา ได้ 4 ข้อ คาดว่าเร็วๆนี้อาจจะได้ข้อสรุปอีกที ซึ่งสิ่งที่ทำได้ก่อน คือ ต้นสังกัดที่ถูกระบุว่ามีนักข่าวรับเงินมีแอ็คชั่นออกมาแล้ว ส่วนคนที่เป็นนักข่าวอิสระ และค่อนข้างคุ้นเคยกับแหล่งข่าว ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าเขาไม่บริสุทธิ์จริงๆ ก็อยากให้สำนักข่าวหยุดซื้อข่าวจากเขา ไม่สนับสนุนพฤติกรรมนี้ จนกว่าจะมีการตรวจสอบ หากพบว่าผิดกฎหมายจริง ก็เป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะดำเนินการทางกฎหมาย

ยอมรับกระทบวงการสื่อ-ขออย่าเหมารวม

            อัญชลี บอกว่า  7 องค์กรวิชาชีพสื่อจะตรวจสอบเรื่องจริยธรรมอีกครั้ง  แต่จะให้ไปเอาผิด 1-2-3-4 ก็ลำบาก แต่เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการวิชาชีพ ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนสื่อสังกัดไหนหากพบว่าเป็นผู้สื่อข่าวของตัวเองจริงๆ อย่างที่พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ระบุ ก็ควรมีมาตรการออกมาว่าจะดำเนินการอย่างไร

            “เรื่องนี้ถือว่าแรงเหมือนการทุจริตและไม่โปร่งใส กระทบกับอาชีพผู้สื่อข่าว อย่างที่ทราบกันดีว่าเป็นอาชีพที่ กรองขั้นแรกในการตรวจสอบทุจริตให้กับประชาชน ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่แท้จริง แต่กลับมามีเรื่องไม่โปร่งใสในวิชาชีพ

            ความจริงแล้วไม่อยากให้เหมารวมหรือมองว่า นักข่าวทุกคนจะรับเงิน เพราะทุกอาชีพมีทั้งขาวและดำ มีทั้งคนสุจริตและทุจริต  ถ้าสีดำมีน้อยแล้วไล่สีดำให้หมดกลายเป็นสีขาวได้ก็โอเค  แต่เท่าที่ดิฉันทำงานในวิชาชีพนี้ในสายการเมือง มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงการรัฐบาลหรือตัวบุคคล  

ย้อนเหตุการณ์เจอกับตัวเอง

            อัญชลี เล่าย้อนให้ฟังว่า  ประมาณ 10 กว่าปีที่แล้วเป็นช่วงเลือกตั้ง ต้องไปตามพรรคการเมืองหาเสียง มีพีอาร์ของนักการเมืองซึ่งเคยอยู่แวดวงประชาสัมพันธ์ เข้าใจว่าการให้ผู้สื่อข่าวไปทำข่าวเยอะๆ ต้องใช้เงินถึงจะได้ลงข่าว พอเราไปทำข่าวนั้นเสร็จเขาก็ยื่นซองให้เรา โดยบอกว่าขอบคุณมากที่เสียเวลามา เราก็บอกปฏิเสธเขาว่าไม่จำเป็นต้องให้เงินขอดื่มน้ำก็พอ งานเช้าออฟฟิศจ่ายโอทีให้อยู่แล้ว ไม่ต้องให้เพราะเป็นหน้าที่ เราต้องมาทำงานหากไม่ทำเราก็จะตกข่าว

            “สมมุติว่ามาทำข่าวแล้วประเด็นพี่ไม่ได้ออก แล้วพี่มาจ่ายเงินให้หนูพี่ก็จะมาต่อว่าตามหลัง ว่ารับเงินไปแล้วแต่ไม่ได้ออกข่าวให้มันก็จะเสียหาย เพราะข่าวที่จะได้ออกต้องเป็นข่าวที่เป็นประเด็นมีสาระ แต่ช่วงนี้เป็นช่วงเลือกตั้งยังไงก็ได้ออกอยู่แล้ว เราก็พูดเลี่ยงไปแบบนี้”  

            ภายหลังพี่พีอาร์คนนี้ไม่ว่าเขาจะไปทำงานอะไรก็จะนึกถึงเรา เช่น ปีใหม่หรือเทศกาลก็ส่งขนมมาให้เป็นของขวัญ หรือถ้าเราต้องไปตามข่าวแหล่งข่าวคนไหน เรายกหูหาเขาว่ามีข่าวหรือไม่ เขาก็จะหาข้อมูลให้เราในเชิงข่าวเป็นการช่วยเหลือ มองข้ามเรื่องเงินไปเลยเพราะไม่รับจากเขา ก็รู้ว่าเรามาทำงานเพราะเป็นงานในสายข่าวจริงๆ ตรงนี้เป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับตัว

กระตุกเตือนอย่าอยากมี-อยากได้เกินตัว ชี้ช่องทางหารายได้เพิ่มจากงานประจำ

            อัญชลี บอกว่า  เงินเดือนผู้สื่อข่าวก็เหมือนกับเงินเดือนบริษัททั่วไป มีทั้งมากและน้อย บางครั้งคนได้เงินเดือน 15,000 บาทหรือ 18,000 บาททำไมเขาอยู่ได้ ฉะนั้นต้องกลับมามองที่ตัวเองก่อนว่ามีรายได้เท่าไหร่ อย่าไปอยากได้ของที่เกินตัว ต้องขจัดความอยากมีอยากได้ของเราก่อน ส่วนใหญ่สิ่งที่ทำให้เกิดการรับเงิน เกิดจากความต้องการของเราที่อยากมีอยากได้ 

            ที่ผ่านมาในส่วนของสหภาพแรงงาน เคยจัดงาน “ตลาดนัดนักข่าว” ร่วมกับห้างสรรพสินค้าต่างๆเพื่อขอพื้นที่ๆมีคนไปเดินเที่ยว ผู้สื่อข่าวก็นำของที่เราไม่ได้ใช้หรือของมือสองไปขาย หรือบางคนทำกับข้าวอร่อยก็นำไปขายไป บางคนทำของที่ระลึกที่เป็นชิ้นเดียวขาย ออกร้านตรงนี้เป็นการทำอีเวนท์เสาร์-อาทิตย์สัปดาห์ละ 2 วัน จัดทุกเดือนวนๆไป ตรงนี้ก็เป็นอาชีพเสริมได้อีก

            หรือบางคนเป็นแม่ทีมขายของสายตรง บางครั้งมีสินค้ามาขายโดยที่เราอาจจะไม่ต้องลงทุนด้วยเงินเรา ก็ใช้โครงสร้างตามบริษัทที่เขามีอยู่แล้ว ช่วยกันอุดหนุนเขาก็อยู่ได้ ในส่วนของดิฉันนอกจากทำงานข่าวแล้ว ก็ไปทำงานพาร์ทไทม์หารายได้เสริม เช่น เป็นตัวแทนประกันชีวิตใช้เวลา ว่างวันเสาร์-อาทิตย์ไปทำงานตรงนี้ ซึ่งค่าตอบแทนในการขายประกันมีมูลค่าเยอะ ถ้าเทียบกับการใช้เวลา 2 วันถือว่าคุ้ม ดังนั้นถ้าเราอยากได้อยากมี เราก็ต้องทำอะไรเพิ่มเติมเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 

สื่อ-แหล่งข่าวควรมีเส้นแบ่ง พร้อมให้กำลังใจสื่อที่มีอุดมการณ์      

            อัญชลี ทิ้งท้ายถึง น้องๆผู้สื่อข่าวว่า การวางตัวระหว่างสื่อกับแหล่งข่าว เหมือนเส้นบางๆ ฉะนั้นการที่เรามีความสนิทกับแหล่งข่าว ให้ข้อมูลลึกๆที่เป็นข้อเท็จจริงมานำเสนอก็แสดงว่าเขาไว้ใจเรา แต่ถ้าเขาชวนไปกินข้าวหรือให้เงินเราก็ปฏิเสธได้  ถ้าเราไม่รับเขาก็จะยิ่งนับถือน้ำใจ  ดังนั้นต้องเว้นระยะห่างให้เขารู้สึกว่า ต่างคนต่างเคารพวิชาชีพของตัวเอง แต่ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและจริยธรรมสื่อด้วย

                 ขอให้กำลังใจทุกคนที่ตั้งมั่นในวิชาชีพ สิ่งที่ได้รับการสั่งสอนมาขอให้สถิตอยู่ในใจ เพราะคำว่าจริยธรรม ถ้าเราฟังดูกว้างเหมือนมโน แต่จริยธรรมก็คือการทำความดี ถ้าทำดีอยู่แล้วก็ทำต่อไป ถ้าเราเจอใครที่ทำไม่ดีในฐานะกัลยาณมิตรก็ขอให้ตักเตือน ปรับพฤติกรรม เพราะไม่ได้เสียเฉพาะตัวเองแต่เสียถึงภาพรวมด้วย  

            ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5