“รับมือภัยพิบัติ เวิร์กชอปเซฟตี้!!”

“ผมคิดว่าสื่อต้องตั้งคำถามกับตัวเองก่อน ว่าเราจะเป็นสื่อที่ปลุกให้สงครามบานปลาย หรือสื่อที่ทำให้เกิดสันติภาพ เกิดความสงบสุขของโลกซึ่งมีรูปแบบและวิธีในการนำเสนอ ของสื่อในสถานการณ์ภัยพิบัติ และความขัดแย้งต่างๆ” 

สื่อต้องถามตัวเองถึงรูปแบบ-วิธีนำเสนอข่าว

            จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะ “ผู้จัดการโครงการอบรมหลักสูตรการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งและภัยพิบัติ (Safety Training )” ของ “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย”  กล่าวใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึงการเตรียมความพร้อมในการทำงานของผู้สื่อข่าว เมื่อต้องทำข่าวในพื้นที่เสี่ยงภัยอันตรายว่า การทำข่าวไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ความขัดแย้ง ทั้งบริบทโลกและบริบทในประเทศไทย ถ้าสื่อรายงานข้อเท็จจริง ถึงรากเหง้าของปัญหา แล้วนำไปสู่การเปิดช่องทางเจรจาหาทางออกได้ จะทำให้สถานการณ์อยู่ในข้อเท็จจริง ไม่ได้บอกว่าการรายงานของสื่อ จะทำให้สงครามสงบลงได้ แต่สื่อมีหน้าที่ให้โลกเห็นข่าวสารและเรียนรู้ว่า ปัญหาเกิดจากอะไร เกิดอะไรขึ้นบ้างโดยที่ไม่มีความเห็นของผู้สื่อข่าวไปซ้ำเติมสถานการณ์ให้ร้ายแรงบานปลาย

            ผมคิดว่าสื่อต้องตั้งคำถามกับตัวเองก่อน ว่าเราจะเป็นสื่อที่ปลุกให้สงครามบานปลาย หรือสื่อที่ทำให้เกิดสันติภาพ เกิดความสงบสุขของโลกซึ่งมีรูปแบบและวิธีในการนำเสนอ ของสื่อในสถานการณ์ภัยพิบัติ และความขัดแย้งต่างๆ”

สื่อสากลที่อยู่ในพื้นที่รายงาน Fact ออกมาให้บาลานซ์เพื่อสังคมโลกรับรู้

            จีรพงษ์  บอกว่า สถานการณ์การสู้รบที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ หรือสถานการณ์ต่างๆทั่วโลก หรือสถานการณ์ในประเทศไทย ผมคิดว่าสื่อกระแสหลักพยายามทำหน้าที่ของสื่อ ไม่ให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย แต่ให้ทุกฝ่ายที่อยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง มีพื้นที่ในการแสดงออก เพื่อสะท้อนปัญหาออกมา 

            เราต้องดูบริบทความขัดแย้งการสู้รบระหว่างฮามาส , อิสราเอลและปาเลสไตน์ ซึ่งนานาชาติกำลังอยู่ในวงล้อมความขัดแย้ง และสื่อที่อยู่ตรงนั้นจะนำเสนอแบบไหน เพราะถ้าเราเสพแต่โซเชียลมีเดีย ที่ติดเครื่องหมายแฮชแท็ก (# ) เช่น Twitter # , อิสราเอล # , ปาเลสไตน์# คุณก็จะได้คลิปอะไรต่างๆที่ไม่รู้มาจากไหน แล้วเราก็ไปแชร์และเราก็เชื่อในทันที

            จีรพงษ์  บอกว่า ถ้าเราตามสื่อกระแสหลัก ที่มีผู้สื่อข่าวอยู่ในประเทศนั้นๆ เช่น สำนักข่าว CNN , สำนักข่าวอัลจาซีรา , สำนักข่าว AP , สำนักข่าว AFP , สำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งเป็นสื่อสากลที่อยู่ในพื้นที่รายงานแฟคท์ออกมา แล้วบาลานซ์แฟคท์ให้สังคมโลกได้รู้จะทำให้เกิดความบาลานซ์ของข่าว แต่ถ้าเราเชื่อสื่อฝั่งใดฝั่งหนึ่ง โลกก็จะเกิดความเกลียดชังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งที่บริบทของเรื่องราวฉนวนกาซ่า มีรากเหง้าของปัญหาในพื้นที่มาอย่างยาวนาน ฉะนั้นถ้าเราเชื่อข้อมูลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างปักใจว่าฝ่ายนั้นผิดฝ่ายนี้ถูกเสมอ ก็ทำให้รู้สึกว่าการแก้ไขปัญหานั้นยาก 

การทำข่าวความรุนแรงขัดแย้ง-พื้นที่ภัยพิบัติ เป็นศาสตร์ที่ไม่มีสอนในห้องเรียน แต่ต้องผ่านคอร์สอบรมเข้มข้นระดับสากล       

            จีรพงษ์  เล่าถึง การทำงานของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งจัดอบรมเซพตี้เทรนนิ่งติดต่อกันมา 12 รุ่น เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้สื่อข่าว ที่จะต้องเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมซึ่งมีความเห็นต่าง ข่าวความรุนแรงขัดแย้งหรือพื้นที่ภัยพิบัติ ซึ่งเป็นอีกศาสตร์หนึ่ง ที่ไม่มีในห้องเรียนที่ไหนสอนมาก่อน

            “สื่อที่ส่งถูกส่งไปทำข่าวพื้นที่สงคราม  ไม่ใช่บอกว่าเห็นคุณว่างหรือบ้านอยู่ใกล้พื้นที่สู้รบถึงส่งไป ถ้าดูข่าวความขัดแย้งในอิสราเอล หรือรัสเซีย-ยูเครน เรามีผู้เข้าอบรมคนหนึ่ง คือ “น้องกวาง” ตอนนี้อยู่สำนักข่าวรอยเตอร์ เคยร่วมอบรม หลักสูตรการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งและภัยพิบัติด้วย  เขาถูกส่งไปทำข่าวที่รัสเซีย-ยูเครน” 

             จีรพงษ์ บอกว่า ทุกคนที่จะไปทำข่าวสงครามได้ ต้องผ่านคอร์สการอบรมระดับสากล , การรายงานข่าวในสถานการณ์สงคราม เช่น 1.คุณต้องเตรียมตัวอย่างไร , ใช้กระเป๋าอะไร แพคกระเป๋าอย่างไร และประเมินสถานการณ์อย่างไร 2. ต้องรู้ว่าพื้นที่นั้นการสื่อสารและสัญญาณโทรศัพท์เป็นอย่างไร ถ้ามือถือล่มคุณจะส่งข่าวอย่างไร 

            3. มีอาหารให้กินหรือไม่ ต้องเตรียมอาหารไปให้เพียงพอ และเสื้อผ้าที่จะต้องสวมใช้อะไรบ้าง เพราะอยู่หลายวันต้องซักง่าย แห้งเร็ว 4.ระบบอุปกรณ์เซฟตี้ เช่น เสื้อเกราะ แต่ก็ขึ้นอยู่กับประเทศนั้นๆ มีเงื่อนไขหรือกฎหมายในการนำเข้าแตกต่างกัน ซึ่งประเทศไทยจะพกพาเสื้อเกราะไม่ได้เลย  

            ขณะที่การสู้รบในอิสราเอล เราเป็นผู้สื่อข่าวต่างชาติ นำเสื้อเกราะไปเองได้หรือไม่ และหมวกนิรภัยที่เป็นเหล็ก สำหรับการทำข่าวสงครามที่ทหารใช้ ซึ่งการชุมนุมในประเทศไทย  จะสวมหมวกเหล็กรายงานข่าวป้องกันการปะทะกัน ซึ่งถือเป็นมาตรฐานเพราะผ่านการอบรมมาแล้ว 

กอง บก.ต้องเป็นหลักช่วยสนับสนุน-วางแผน-ประเมินสถานการณ์

            จีรพงษ์ บอกว่า นอกจากข่าวสงครามแล้วยังมีข่าวภัยพิบัติระดับโลก เช่น สึนามิหรือน้ำท่วม ในต่างประเทศควรจะต้องรู้เรื่องพวกนี้ มือถือใช้ได้หรือไม่ จะส่งภาพมากอง บก.อย่างไร รวมทั้งการสื่อสารกลับมาที่กองบรรณาธิการข่าว แน่นอนว่าเมื่อไปอยู่ตรงนั้นแล้วเกิดมีปัญหา ผู้สื่อข่าวจะคุยกับบรรณาธิการฯ และสื่อสารอะไรได้บ้าง นอกเหนือจากการส่งข่าว ยังมีการตัดสินใจหน้างาน สุดท้ายถ้าเกิดวิกฤตจริงๆ ใครจะเป็นคนที่ตัดสินใจบังคบบัญชาหรือสั่งการ

            ต้องมีการวางแผนข่าวและประเมินสถานการณ์ ร่วมกันกับกองบรรณาธิการฯ ว่าสถานการณ์ของประเทศอิสราเอลในขณะนี้ เกิดอะไรขึ้นบ้างมีประเทศไหนมาร่วมอย่างไร ในจุดนี้ปลอดภัยหรืออันตรายแค่ไหน  ต้องประเมินสถานการณ์เพื่อวางแผนและรายงานข่าว  ให้มีมูฟเมนต์ของข่าวและอยู่ในบริบทของความเป็นจริง

            จีรพงษ์ ยกตัวอย่างบอกว่า  มีผู้สื่อข่าวสำนักหนึ่งที่ไปรายงานข่าวประเทศอิสราเอล อันตรายของเขาคือต้องรายงานสด แต่ขณะนั้นปรากฏว่าตึกข้างหลังของเขาไกลออกไป มีขีปนาวุธยิงเข้าใส่และถล่ม ทำให้ผู้สื่อข่าวตกใจขณะที่ผู้ชมได้เห็นภาพข่าวสดๆ หากผู้สื่อข่าวคนนั้นไม่ผ่านการอบรมหรือเรียนรู้มาก่อน แน่นอนว่าเมื่อตกใจก็อาจเกิดความผิดพลาด หน้าจอ 

            หากกองบรรณาธิการฯส่งคนที่ตื่นตระหนกตกใจไป เกิดเสียงดังในระหว่างรายงานสด แล้วถ้าเขาเกิดช็อคหัวใจวายขึ้นมาตั้งสติไม่ทัน  รายงานผิดๆถูกๆตรงนี้ก็จะเป็นปัญหาได้ ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผมบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะไปรายงานสถานการณ์สงคราม

สื่อต้องปรับตัวตามบริบท-สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ยอมรับปัจจุบันทำข่าวยากขึ้น  

            การเตรียมความพร้อมของต้นสังกัดสื่อและการอบรมของผู้สื่อข่าว ในอดีตถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน จีรพงษ์ บอกว่า เปลี่ยนเยอะมาก ขอแยกเป็น 2ส่วน 1.สิ่งที่ไม่เปลี่ยน คือ อุปกรณ์การทำงานของสื่อมวลชน  แต่สิ่งที่จะต้องเตรียมตัว คือ ถ้าคุณไปทำข่าวน้ำท่วมต้องมีเสื้อชูชีพ มีชุดกันฝน ป้องกันเชื้อโรคที่จะเข้าไปถึงตัว   หรือถ้าไปทำข่าวการชุมนุม ต้องเตรียมหมวกนิรภัยและพาวเวอร์แบงค์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ที่ผู้สื่อข่าวรู้อยู่แล้วว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร 

            2. สิ่งที่เปลี่ยน คือ บริบทของการชุมนุมทางการเมืองเปลี่ยนไปชัดเจน ซึ่งผมขอโฟกัสเฉพาะการชุมนุมทางการเมือง เมื่อก่อนการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีไหน ถ้าเราไปทำข่าวในพื้นที่ชุมนุม ผู้สื่อข่าวจะรู้เลยว่าต้องคุยกับแกนนำและการ์ดคนไหน หากเกิดปัญหาหรือประทะกัน และระหว่างเจ้าหน้าที่กับมวลชน ผู้สื่อข่าวจะรู้ว่าฝ่ายตำรวจ-ฝ่ายทหารคนไหน ที่เราจะเข้าไปพูดคุยกับเขา เพื่อทราบสถานการณ์ซึ่งการคอนเนคสมัยก่อนทำได้  

            จีรพงษ์ บอกว่า ปัจจุบันการทำข่าวยากขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าใคร คือ แกนนำ เราไม่รู้ว่าต้องคุยกับใคร ต่อให้รู้ว่ามีแกนนำ แต่เราไม่รู้ว่าแกนนำจะสามารถควบคุมสถานการณ์ทั้งหมดได้หรือไม่  เพราะปัจจุบันไม่มีมวลชนที่มีแกนนำ และการชุมนุมเป็นลักษณะเหมือนดูแลกันเอง  ส่วนการเคลื่อนของกลุ่มผู้ชุมนุมก็ไม่เหมือนในอดีต  ที่ในอดีตแกนนำบอกว่าอยู่จุดนี้เวลานี้ โดยวิธีนี้ ผ่านตรงนี้ไปสู่จุดนี้ ผู้สื่อข่าวก็จะรู้และไปดักทำข่าวได้

            ปัจจุบันบางทีไม่มีสถานการณ์อะไร ก็ไปปราศรัยไปแสดงสัญลักษณ์ต่างๆ ผู้สื่อข่าวก็แต่งตัวไปตามปกติ ไม่มีเซพตี้อะไรมากมาย  แต่ปรากฏว่าอยู่ดีๆสถานการณ์สุกงอมขึ้น  มีความพีคขึ้นมาเรื่อยๆ กลายเป็นความขัดแย้งจากเดิม ที่เป็นวอร์มโซนก็กลายเป็นเรดโซน คือ มีความขัดแย้งและประทะกันขึ้นมา ผู้สื่อข่าวก็ไม่ได้เตรียมตัวและไม่รู้ว่าจะต้องเจรจากับใคร แกนนำคือใคร ผู้บัญชาการเหตุการณ์คือใคร ตรงนี้คือความยากของสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน  

องค์กรวิชาชีพสื่อช่วยกันหาทางออก เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ

            จีรพงษ์ บอกว่า เมื่อบริบทต่างกัน สิ่งที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยทำ และองค์กรสื่อพยายามทำก่อนหน้านี้ คือ มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน  ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดในองค์กรวิชาชีพ คือ ช่วยให้ตำรวจคุ้มครองเสรีภาพให้กับสื่อมวลชน ในการทำข่าวในพื้นที่ชุมนุม เพื่อที่จะได้รายงานข่าวทั้งสองด้านอย่างมีเสรีภาพ ผลลัพธ์ออกมาสู่ประชาชน สิ่งที่รองรับคือปลอกแขน ซึ่งมีการลงทะเบียนผ่านองค์กรสื่อ โดยที่ไม่ต้องผ่านตำรวจ เมื่อนักข่าวลงทะเบียนเอง ก็ไปทำข่าวได้อย่างมีเสรีภาพ โดยไม่ต้องถูกระแวงว่าจะเป็นฝ่ายไหน

            แม้รูปแบบและวิธีการเปลี่ยน แต่สิ่งที่องค์กรสื่อทำเหมือนเดิม คือ เมื่อเกิดสถานการณ์ความขัดแย้ง  องค์กรสื่อจะเป็นหัวขบวนไปพูดคุยกับทั้งสองฝ่าย เพราะก่อนที่จะไปคุยกับตำรวจ เราก็เคยคุยกับแกนนำผู้ชุมนุมทุกฝ่ายขอให้คุ้มครอง เสรีภาพของสื่อแม้ว่าบริบทจะเปลี่ยนไป

ปิ๊งไอเดียรับโจทย์ เยียวยาจิตใจสื่อผ่านนักจิตวิทยา เพื่องานมีประสิทธิภาพ แนะ  กองบก.-ผู้บริหารองค์กรสื่อเป็นหลักให้ความสำคัญ

            ส่วนการดูแลสุขภาพจิตใจให้กับสื่อมวลชน ในการเตรียมความพร้อม ก่อนมอบหมายลงไปทำข่าว และดูแลหลังจากกลับมาจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น  จีรพงษ์ บอกว่า ในการเยียวยาทางจิตใจและสภาวะจิตใจ  แน่นอนว่าการทำข่าวในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ความน่ากลัวความรุนแรง ซึ่งเคยมีผู้สื่อข่าวรายงานสดเมื่อปี พ.ศ.2553 รายงานไปร้องไห้ไปออกหน้าจอทีวี  หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวก็มีความรู้สึกว่าคุ้มหรือไม่ กับการเป็นอาชีพผู้สื่อข่าว แล้วต้องไปเสี่ยงความเป็นความตายขนาดนั้น ตรงนี้เราเคยคิดกันและเคยเปิดเวทีให้เขาพบกับนักจิตวิทยา

            ตรงนี้กองบรรณาธิการฯและผู้บริหารองค์กรสื่อจะทำอย่างไร โดยให้ความสำคัญกับภาวะความเครียดทางจิตใจของผู้สื่อข่าว เพราะบางคนกลายเป็นโรคซึมเศร้า เนื่องจากอยู่ในภาวะกดดันและเครียด ซึ่งอาชีพนี้มีความเครียดอยู่แล้ว และส่งผลออกมาจากการทำงาน ดูได้จากมีภาวะกดดันโดยแสดงออกทางโซเชียล  ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าองค์กรสื่อแต่ละที่  จะมีกระบวนการแบบนี้หรือไม่ แต่เคยมีข้อเสนอหนึ่งซึ่งผมเคยไปคุยกับนักจิตวิทยา เขาบอกว่าปัจจุบันแต่ละออฟฟิศ จะมีการตรวจสุขภาพร่างกาย ตรวจหัวใจ กล้ามเนื้อ 

            จีรพงษ์ บอกว่า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย น่าจะรับโจทย์นี้ไปทำต่อเพราะน่าสนใจ  เราจะทำอย่างไรที่จะให้มีพื้นที่ แก่ผู้สื่อข่าวที่มีภาวะกดดันทางจิตใจกับการทำงาน ได้พบกับนักจิตวิทยาเพื่อเรียนรู้ว่าเขาจะแก้ไขปัญหา และหาทางออกอย่างไร 

ชี้ช่อง ทุกอาชีพควรดูแลสภาพจิตใจพนักงาน

            จีรพงษ์ บอกว่า สิ่งหนึ่งที่ผมอยากเสนอ คือ ไม่ใช่เฉพาะวงการสื่อเท่านั้น ที่ควรจะมีการตรวจสภาวะจิตใจของพนักงาน ว่ามีปัญหาอะไรอยู่ และมีช่องทางแก้ไขปัญหาหรือมีทางออกอย่างไร  ซึ่งเป็นเรื่องดีที่กองบรรณาธิการฯและหัวหน้าข่าว ต้องรับรู้ช่วยหาทางออก ในการแก้ไขปัญหา  เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพมากที่สุด แน่นอนว่าคนที่มีภาวะความเครียด หรือภาวะทางจิตใจ ถ้าเขามีใครรับฟัง เพราะการรับฟังเป็นการแก้ไขปัญหา ความเครียดหรือซึมเศร้าได้ดีที่สุด  

            ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00น.โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5