“วิเคราะห์มุมมองสถานการณ์โลก ผ่านอดีตเชื่อมปัจจุบันใครได้ใครเสีย!!”  

“ผมคิดว่าสิ่งที่คุณเศรษฐาพยายามแสดงออก เช่น สวมถุงเท้าสีฉูดฉาด ท่านทำโดยจงใจให้สิ่งนั้นอยู่ในความสนใจ เพื่อให้ตัวเองอยู่ในสปอตไลท์ตลอดเวลา ต้องตาต้องใจนักวิเคราะห์ เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจ ไม่ให้มองส่วนอื่นของท่านแต่ไปมองถุงเท้าดีกว่า ซึ่งได้ผล”

ศุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโสสายต่างประเทศ วิเคราะห์ “ภาษากาย นายกฯเศรษฐา”  และ “ท่าทีผู้นำไทย” ผ่าน “เวทีโลกและสถานการณ์ขัดแย้งในตะวันออกกลาง” ใน รายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว ว่า 

         หนึ่งเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลใหม่เริ่มทำงานตามทิศทางที่แถลงไว้ต่อประชาชนระหว่างหาเสียงและแถลงต่อรัฐสภา เป็นการทำงานที่จริงจังและพยายามทำตามสัญญา นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางไม่หยุดหย่อน ทุกที่ที่ไปมีวัตถุประสงค์ค่อนข้างชัดเจน ทั้งเรื่องของเม็ดเงินและเทคโนโลยี เพื่อมาสร้างเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ถดถอยในช่วงระยะที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลหลายอย่าง จึงพยายามรื้อฟื้นให้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะสถานการณ์หลายอย่างเปลี่ยนไปเร็ว

            ผลงานด้านต่างประเทศรัฐบาลเศรษฐา ศุภลักษณ์ บอกว่า รัฐบาลเพิ่งทำงานได้เดือนกว่า จึงเร็วไปที่จะให้ความเห็น แต่โดยรวมท่าทีการแสดงออกถือว่า พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าทางการทูตและจุดยืน ระหว่างประเทศของไทยพอสมควร ซึ่งรัฐบาลชุดนี้แตกต่างจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ถ้าโฟกัสไปที่ตัวนายกรัฐมนตรี และตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาลชุดนี้ต่างจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตรงเรื่องที่โฟกัส 

            “รัฐบาลชุดก่อนให้น้ำหนักความสำคัญเรื่องของการทหารและความมั่นคง ซึ่งนายดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีต รมว.ต่างประเทศ เป็นนักการทูตอาชีพมาตลอดชีวิต ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตรมว.กลาโหม ก็มีความเชี่ยวชาญด้านการทหาร

             ขณะที่รัฐบาลชุดนี้โฟกัสเรื่องเศรษฐกิจ เพราะแบ็คกราวด์ความเชี่ยวชาญของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง มาจากภาคธุรกิจ มีประสบการณ์ด้านเรียลเอสเตทค่อนข้างเยอะ  ส่วนนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ มีความเชี่ยวชาญการเจรจาเรื่องเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพราะเคยดำรงตำแหน่งผู้แทนการค้าไทย”

เป็นธรรมดาที่ผู้นำประเทศถูกจับตา เชื่อ นายกฯตั้งใจสวมเสื้อผ้าฉูดฉาดให้สปอตไลท์จับจ้อง

            ส่วนภาษากายของนายกรัฐมนตรีไทย ในการพบกับผู้นำของรัสเซียนั้น ศุภลักษณ์ บอกว่า ภาษากายเป็นเทคนิค ที่ไม่มีผู้นำคนไหนรอดพ้นจาก นักวิเคราะห์และผู้สื่อข่าว ที่ไปหามาอธิบายถึงการแสดงออกของภาษากายผู้นำ ในขณะสิ่งที่พูดกับสิ่งที่คิดอาจไม่ตรงกัน เวลาไปเวทีต่างประเทศคุณไม่จำเป็นต้องทำตัวสมาร์ท ฉลาดปราดเปรื่อง อันนั้นเป็นกิมมิคทั่วไป ที่คนอยากรู้จัก หรืออยากจะเห็นผู้นำบางคนแสดงอาการเคอะเขิน เพื่อวัตถุประสงค์ทางการทูตบางอย่าง

            “เวลาคุณนั่งกับประธานาธิบดีปูตินทคุณจะแสดงท่าทีข่มปูติน  ปูตินก็จะแสดงท่าทีข่มกลับ ก็จะไม่ได้เนื้อหาที่จะพูด เพราะมัวแต่ข่มกันไปข่มกันมา  หลายกรณีปูตินเคยใช้นานมาแล้ว เช่น นำสุนัขตัวใหญ่เข้าไประหว่างพบกับนายกรัฐมนตรีของประเทศเยอรมัน  เป็นแมสเสจทางการทูตระหว่างประเทศที่แสดงการข่มกัน  ซึ่งเป็นเรื่องสนุกสนานเอ็นจอย ที่นักวิเคราะห์จะช่วยอธิบายท่าทีของผู้นำแปลว่าอะไร”

ผู้นำทุกคนเคยถูกวิจารณ์ ไม่เว้นประเทศมหาอำนาจ

            ผมคิดว่าสิ่งที่คุณเศรษฐาพยายามแสดงออก เช่น สวมถุงเท้าสีฉูดฉาด ท่านทำโดยจงใจให้สิ่งนั้นอยู่ในความสนใจ เพื่อให้ตัวเองอยู่ในสปอตไลท์ตลอดเวลา ต้องตาต้องใจนักวิเคราะห์ เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจ ไม่ให้มองส่วนอื่นของท่าน แต่ไปมองถุงเท้าดีกว่า ซึ่งได้ผล เห็นสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งโฟกัสว่า  “ผู้นำโลกตะลึงถุงเท้าท่านนายกฯเศรษฐา” จนลืมไปเลยว่าตกลงนายกฯเศรษฐาพูดอะไรกับประธานาธิบดีปูตินบ้าง ตรงนี้อาจจะเป็นเทคนิคก็ได้ ผมคิดว่าการแสดงออกแบบนี้คนที่จะเป็นผู้นำ ต้องฝึกฝนพอสมควร”   

            ถ้าพูดอย่างเป็นธรรม ทุกคนที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำ แล้วไปภารกิจต่างประเทศในสถานการณ์ที่วิกฤตและอ่อนไหวก็ถูกจับตามอง ความจริงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็เคยโดนไม่น้อย หรือประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาก็เคยโดน แม้แต่ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียก็เคยโดนมาก่อน เรื่องอากัปกิริยาเป็นการวิเคราะห์กันในทางจิตวิทยา ซึ่งเป็นประโยชน์ในแง่ของการดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วย

ยอมรับ “วิกฤตอิสราเอล”ซับซ้อนมาก อพยพคนทำได้ยาก ต้องให้ประเทศที่สามช่วยเจรจา

            ศุภลักษณ์ วิเคราะห์สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในประเทศอิสราเอล ว่า วิกฤตอิสราเอลค่อนข้างซับซ้อนยุ่งยากมาก การอพยพคนไม่สามารถทำได้ง่าย เพราะประเทศนี้การเข้าออกไม่ใช่เรื่องง่าย และความซับซ้อนของปัญหา คือ อิสราเอลเป็นประเทศที่อยู่ท่ามกลางประเทศอื่น ซึ่งไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิสราเอลมากนัก แม้ไทยไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง แต่จะว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยก็พูดไม่ได้เต็มปาก  เพราะมีปัญหาคล้ายกับที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของไทย เรามีความสัมพันธ์ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับประเทศมุสลิม ในตะวันออกกลางที่ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์อันดีนัก กับประเทศอิสราเอลด้วย 

            ดังนั้นการจะเข้า-ออกอิสราเอลนั้นยากมีอุปสรรคเยอะ  ส่วนอุปสรรคที่สำคัญมากๆเลย คือ เขายังรบกันอยู่ ฉะนั้นความปลอดภัยของคนไปช่วย และความปลอดภัยของคนที่จะได้รับการช่วยเหลือ จึงเป็นเรื่องที่ต้องประเมินกันว่าจะทำอย่างไร เช่น ทำอย่างไรที่เราจะเอาคนที่ติดอยู่ในพื้นที่สู้รบ ออกมาให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยให้ได้ก่อน เพราะพื้นที่สู้รบอยู่ในกาซา  กลุ่มฮามาสก็แอคทีฟมาก และมีนักรบกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป 

            ขณะที่อิสราเอลมีความจำเป็นต้องไล่ล่าคนกลุ่มนั้น แล้วเขาจะทำอย่างไรกับคนที่ยังติดอยู่ ยังไม่นับคนที่เป็นตัวประกัน ซึ่งเราไม่สามารถเจรจากับกลุ่มฮามาสได้โดยตรง เพราะไม่มีความสัมพันธ์แบบเป็นทางการ  จึงต้องหาประเทศที่สามมาช่วย แล้วใครจะสามารถพูดให้กลุ่มฮามาสเข้าใจ ได้ว่าไทยไม่เกี่ยวข้อง 

ประสบการณ์ตรงเคยไปทำข่าวตะวันออกกลาง แต่ผ่านอิสราเอลเข้ากาซาไม่ได้ รับ ปมขัดแย้งในพื้นที่ต่อเนื่องยาวนาน

            ศุภลักษณ์ บอกว่า ปัญหาซับซ้อนของอิสราเอล คือ เคยเป็นประเทศที่อยู่ในดินแดนของปาเลสไตน์เก่า และปาเลสไตน์กับกลุ่มฮามาสก็ไม่ถูกกัน ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันมาก่อน องค์กรปาเลสไตน์ที่เราเรียกว่า “Palestine Authority” เป็น Uniqueทางการเมืองซึ่ง ได้รับ Recognize อย่างเป็นทางการในระดับสหประชาชาติ  ซึ่งหลายๆประเทศก็มีความสัมพันธ์ทางการฑูต กับองค์การปกครองของปาเลสไตน์ หรือ Palestine Authority ซึ่งประเทศไทยก็มี  แต่ความขัดแย้งภายในของชาวปาเลสไตน์ที่มีมาหลาย 10 ปีก่อนหน้านี้ ทำให้แนวทางการต่อสู้ไม่ตรงกัน ฮามาสเลยแยกตัวออกมาแล้วตั้งฐานที่มั่นอยู่ในกาซา

            เท่าที่ผมเคยไปกาซา เหมือนกับต้องเข้าไปอีกประเทศหนึ่ง พอเราผ่านเข้าไปในอิสราเอลแล้วเราบอกว่าเราจะไปกาซา ถ้าคุณถือพาสปอร์ตผ่านมาทางอิสราเอล เข้าลำบากมากและเข้าไม่ได้  ขณะที่ประเทศไทยไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับฮามาส ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ก็เข้าไม่ได้ ซึ่งผมก็เข้าไม่ได้แต่แค่ไปยืนดู เมื่อเป็นเช่นนั้นทำให้ฮามาสเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างแยกอิสระออกไป ซึ่ง Palestine Authority ก็ไม่สามารถคุยกับผู้นำของฮามาส หรือจะไปโน้มน้าวชักจูงหรือจะไปกล่อม ให้เขาปล่อยคนไทยได้ เพราะคนไทยไม่เกี่ยว พูดอย่างนั้นไม่ได้เลย

แนะ คนไทยเข้าใจบริบทปมขัดแย้งซับซ้อน อย่ากดดันรัฐบาลช่วยเหลือคนไทยล่าช้า

            ศุภลักษณ์ บอกว่า เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจความยากลำบาก และความซับซ้อนของปัญหาก่อน ผมไม่อยากจะให้ประชาชนชาวไทย แสดงความกดดันหรือไม่พอใจ ต่อว่ารัฐบาลทำงานล่าช้าประชาชนเรายากลำบาก  ในฐานะที่ผมเป็นผู้สื่อข่าวต้องบอกเลยว่า มีความยุ่งยากซับซ้อนไม่น้อย

            ส่วนการปกครองในพื้นที่ดินแดนปาเลสไตน์กับเวสต์แบงก์ ศุภลักษณ์ บอกว่า ความตกลงล่าสุดที่เคยทำสมัยประธานาธิบดี บิล คลินตัน เขตปกครองในประเทศอิสราเอล เฉพาะส่วนของเวสต์แบงก์ คือ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างจอร์แดนกับอิสราเอล บนฝั่งนั้นพื้นที่กว้างพอสมควร เป็นที่ซึ่งคนปาเลสไตน์เคยอยู่มาก่อน

            ชาวอิสราเอลเพิ่งจะมาตั้งประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยประเทศอังกฤษเป็นผู้ตั้ง ด้วยการให้ชาวยิวเข้ามาอยู่ในพื้นที่ ซึ่งชาวยิวบอกว่าเคยเป็นของเขามาก่อน  ดังนั้นดินแดนที่ปาเลสไตน์อยู่ จึงเป็นเรื่องของความซับซ้อน แต่เมื่อชาวยิวเข้าไปอยู่แล้ว ชาวปาเลสไตน์ที่อยู่เดิมไม่พอใจ  เลยขยายรุกพื้นที่และสุดท้ายเลยตกลงกันให้มีพื้นที่บริเวณเวสต์แบงก์  ซึ่งเป็นฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน

แบ่งเวสต์แบงก์เป็น 3 โซน ด่านเยอะ-ตรวจเข้ม-ข้ามพื้นที่ลำบาก

            แล้วแบ่งการปกครองออกเป็น 3 โซนใหญ่ๆ โดยพื้นที่ A อยู่ภายใต้การดูแลของ Palestine Authority ทั้งหมด ทั้งการปกครองและความมั่นคง  ส่วนโซน B ปาเลสไตน์ดูแลทางด้านการเมืองการปกครอง ขณะที่อิสราเอลดูแลในเรื่องของซิเคียวริตี้โดยทำร่วมกัน ขณะที่โซน C เป็นส่วนที่อิสราเอลดูแลทั้งหมด ทั้งเรื่องการปกครองด้านความมั่นคง

            ศุภลักษณ์ บอกว่า ฉะนั้นแต่ละโซนเวลา เดินทางในเขตเวสต์แบงก์ ก็จะมีด่านเยอะแยะไปหมด คนปาเลสไตน์มีคนที่ถืออาวุธจำนวนหนึ่ง ปะปนกับคนที่มาหางานทำในเขตของชาวยิว ซึ่งชาวยิวก็ไม่ค่อยไว้ใจเท่าไหร่ ข้ามกันไปมาลำบากมีด่านตรวจเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นสถานการณ์เข้มข้นกว่าพื้นที่ภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะชาวปาเลสไตน์โดนเจ้าหน้าที่ของอิสราเอล ตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา 

            นอกจากนี้ในเขตเวสต์แบงก์มีอย่างหนึ่ง ที่เป็นประเด็นสลับซับซ้อนมาก คือ นครเยรูซาเลมซึ่งทั้งสองฝ่ายอ้างว่าเป็นเมืองหลวงของตัวเอง อยู่ในเขตเวสต์แบงก์ชั้นในสุดเป็นมัสยิด ซึ่งชาวปาเลสไตน์ทำพิธีกรรมทางศาสนาของเขา ซึ่งในนั้นคนยิวและคนคริสเตียนเข้าไม่ได้ ดังนั้นความซับซ้อนของประเทศนี้ ทำให้การติดต่อกันไปมาเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ขออย่าตำหนินายกฯเร็วเกินไป เหตุ การแสดงจุดยืนประณามความรุนแรงเป็นหลักทางการฑูตที่ทำได้

            ส่วนท่าทีทางการทูตของประเทศไทย ต่อสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ศุภลักษณ์ บอกว่า จากที่ได้ฟัง Statement ของนายกฯเศรษฐาตั้งแต่วันแรก คิดว่าสิ่งที่ท่านใช้ถ้อยคำประนาม การใช้ความรุนแรงเป็นหลักการทั่วไป ไม่ว่าจะอยู่ข้างไหนในวันแรกๆที่เรายังไม่รู้อะไรเลย ว่าใครเป็นคนทำและเรื่องเกิดขึ้นได้อย่างไร จึงคิดว่าเป็นหลักการโดยทั่วไปของทุกประเทศ ที่ต้องแสดงหลักการของเรา 

            “ประเทศไทยสมควรอย่างยิ่งที่จะบอกว่า เราไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง แต่ปัญหาของอิสราเอลกับปาเลสไตน์มีมาเป็นศตวรรษแล้ว  มีความสลับซับซ้อนมาก แต่การใช้ความรุนแรงนั้น ชาวโลกไม่นิยมและไม่เห็นด้วย ผมคิดว่าการพูดบนหลักการ เช่น การประณามการใช้ความรุนแรง ในการแก้ไขปัญหาเป็นหลักการที่พูดได้ และรัฐบาลเห็นแก่ชีวิตของประชาชนก็สมควร ต้องแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วย กับการใช้วิธีการแบบนี้ ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายเริ่มก่อนก็ตาม ผมคิดว่าเราอาจจะตำหนินายกรัฐมนตรีเร็วเกินไปหรือไม่

            เพราะเราต้องฟังว่าประณามอะไร ซึ่งไม่ใช่การประณามฮามาส แต่การประนามใครก็ตามที่ก่อความรุนแรง เป็นลักษณะทางการทูตที่รับกันได้  ผมคิดว่าเวลาที่เราพิจารณาเรื่องนี้เราควรจะอ่านถ้อยคำ ซึ่งผมคิดว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย มีความอ่อนไหวพอสมควรในการใช้ท่าทีทาง การทูตเรื่องใดเรื่องหนึ่ง กว่าเขาจะทำเรื่องนี้ได้หรือแนะนำนายกรัฐมนตรี ว่าควรจะพูดอะไร ผมคิดว่าต้องใช้เวลา 

            ศุภลักษณ์ บอกว่า เรื่องหนึ่งที่คิดว่านายกรัฐมนตรี อาจจะไม่คุ้นเคยกับการทำงานในเชิงการฑูตระหว่างประเทศ ผมคิดว่าอาจจะต้องปรึกษารัฐมนตรีของท่านให้ใกล้ชิดหน่อย ว่าก่อนจะพูดอะไรออกไป ต้องระมัดระวังการใช้ถ้อยคำ แต่ผมคิดว่าในกรณีนี้ นายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ทำผิดอะไร เพียงแต่ประณามการใช้ความรุนแรง โดยให้กระทรวงต่างประเทศออกมา repeat  ประณามการใช้ความรุนแรง ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการ

            ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับ  คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5