“ก่อนหน้านี้คนไทยดูภาพยนตร์น้อยลง สิ่งหนึ่งคือทุนสนับสนุน ผู้กำกับดีๆมีฝีมือสามารถทำภาพยนตร์ดีๆได้ แต่นายทุนบอกว่าทำแล้วต้องได้กำไรด้วย ถ้าทำออกมาแล้วได้กำไรน้อย…ก็ไม่อยากสนับสนุน”
ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล ผู้สื่อข่าวอาวุโสสำนักข่าว TODAY และคอลัมน์นิสต์ด้านภาพยนตร์ สะท้อนมุมมอง “ซอฟท์พาวเวอร์ต่างชาติ” ผ่าน “จอเงินซอฟท์พาวเวอร์ไทย” พร้อมโกอินเตอร์หรือยัง!! ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า บางประเทศทำมา 30-40 ปี เค้ามีความอดทนที่จะทำและทำเป็นวาระแห่งชาติ ให้เรื่องของวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ขายได้ และเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก ฉะนั้นการทำซอฟท์พาวเวอร์ให้สำเร็จได้ เป็นเรื่องของการมีนัยยะและอยู่ที่ประเทศไทย ว่าจะเอาศักยภาพไปขยายของดี ออกมาเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้แค่ไหน เพราะเปรียบเสมือนการวิ่งมาราธอน ที่ต้องเห็นผลในระยะยาว
หนังไทยสายป่านไม่ยาว เหตุ ไม่ได้รับการส่งเสริมเป็นระบบ
หากย้อนไปในอดีตภาพยนตร์ของไทย เคยจะเป็นกระแสวูบวาบมาแล้ว ก็อาจจะต่อยอดไปได้ 2 -3 ปีแล้วก็เงียบ เพราะไม่ได้รับการสนับสนุน ตรงนี้ต้องพูดถึงปัญหาอุตสาหกรรมหนังไทย ที่เรียกว่า “อีโคซิสเต็มส์”หรือระบบนิเวศน์ไม่ดี ตั้งแต่ทุน ,การตลาด ไปจนถึงคุณภาพคอนเทนท์ รวมไปถึงไม่ได้ดูอะไรที่หลากหลายพอ จึงไม่เกิดการส่งเสริมทั้งระบบอุตสาหกรรม
แต่พอมีเรื่องไหนดังขึ้นมา ภาครัฐก็จะกระโดดเข้ามาต่อยอดเป็นเรื่องๆไป พอเริ่มมาพูดว่าจะทำซอฟท์พาวเวอร์ในหลายๆด้าน หนึ่งในนั้นคือภาพยนตร์ ก็เลยดูเหมือนดีเพราะมีความหวังว่าจะเข้ามาสนับสนุนทั้งระบบ ทำให้ภาพยนตร์ไทยมีความหวัง เช่น อะไรที่เห็นว่าขายได้ชัดๆ อาทิ ภาพยนตร์ซีรีย์วาย , ภาพยนตร์ LGBTQ ของไทยไปได้รางวัลจาดต่างประเทศ แต่เป็นภาพยนตร์นอกกระแส ก็แสดงว่าเทศกาลภาพยนตร์ เขามองเห็นถึงให้รางวัล แต่คนไทยได้ดูน้อยและถูกพูดถึงน้อย
ดีใจหนังไทย “สัปเหร่อ” โกยรายได้หลายร้อยล้าน ทำคนสร้างหัวใจฟู
ชลาทิพย์ บอกว่า กรณีภาพยนตร์ “เรื่องสัปเหร่อ” ที่โกยรายได้หลายร้อยล้านบาท ทำให้รู้สึกดีใจ เพราะก่อนหน้านี้ถ้าย้อนไป จะเห็นแต่ข่าวหนังไทยมียอดคนดูน้อย ค่อนข้างซบเซา จนเมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมาดีขึ้นและมีกระแสของหนัง “เรื่องสัปเหร่อ” ทำเงินถึง 600 ล้านบาท ก็เชื่อว่าคนสร้างและคนในวงการภาพยนต์คงจะรู้สึกดีขึ้นใจฟูขึ้น
ความจริงแล้วภาพยนตร์ เรื่องนี้มาจากกระแสข้างนอก เป็นป่าล้อมเมืองจากต่างจังหวัดเข้ามาเรื่อยๆในโรงหนังแถบชานเมือง ที่มีผู้ใช้แรงงาน แล้วก็เข้ามาในกรุงเทพฯ เท่าที่ฟังทีมผู้สร้างบอกว่าวันแรกได้เงิน 9,000 บาท แต่หลังจากนั้นโรงภาพยนตร์ 700 ที่นั่ง ทำให้คนเข้าไปนั่งดูได้ 80 ถึง 90% เมื่อกระแสมาคนไทยดูแล้ว เป็นหนังที่ดีมีคุณภาพคนก็เปิดใจเข้าไปดู เมื่อหนังเรื่อง “สัปเหร่อ”ที่ปูทางมาแล้ว หลังจากนี้ก็ต้องให้ความสำคัญ กับเรื่องอื่นๆที่ตามมาด้วย
ต้องสนับสนุนทั้งทุน-บุคลากร-เปิดช่องกฎหมาย ทำ “หนังไทยเป็นฮับ” ให้ได้
“ก่อนหน้านี้คนไทยดูภาพยนตร์น้อยลง สิ่งหนึ่งคือทุนสนับสนุน ผู้กำกับดีๆมีฝีมือสามารถทำภาพยนตร์ดีๆได้ แต่นายทุนบอกว่าทำแล้วต้องได้กำไรด้วย ถ้าทำออกมาแล้วได้กำไรน้อยก็ไม่อยากสนับสนุน ในทางกลับกันเราส่งเสริมภาพรวม ถ่ายภาพยนตร์ให้เป็นวัฒนธรรมได้ เช่น นำเรื่องของภาคอีสานมาเป็นวัฒนธรรมสากลได้ เราก็ควรที่จะสนับสนุนแบบนี้ขึ้นไปอีก หรือภาพยนตร์ LGBTQ และ ซีรีย์วาย ที่ผ่านมาไม่ได้รับการสนับสนุนอะไรมากมาย แต่ก็ไปของมันได้โดยเป็นที่นิยมของตลาด”
หลายคนอาจไม่ทราบว่าปีที่แล้วประเทศไทยผลิตภาพยนตร์ซีรีย์วาย อันดับหนึ่งของโลก และมีรายได้อันดับหนึ่งของโลกด้วในการผลิตหนังแนวนี้ ขณะที่สังคมแบบเกาหลีใต้ยังติดเรื่องนี้ ฉะนั้นการสร้างภาพยนตร์แนวดังกล่าวออกมา จริงไม่เนียนเท่าบ้านเรา ขณะที่บ้านเราก็มีความพยายามผลักดัน เรื่องสมรสเท่าเทียมด้วย พวกนี้จะสร้างเป็น “ฮับ” การที่จะทำให้เราเป็น “ฮับ” ก็ต้องเกิดการสนับสนุน ทั้งเรื่องทุนและกฎหมายในประเทศด้วย
ไม่อย่างนั้นก็จะเหมือนหลอก ขณะเดียวกันก็จะมีซีรีย์วายแบบมุ้งมิ้ง ซึ่งถูกใจแฟนชาวจีน ,ญี่ปุ่น ,เกาหลี แต่ขณะเดียวกันก็มีภาพยนตร์ LGBTQ ระดับคุณภาพ ที่ไปเอารางวัลระดับโลกมา ซึ่งแสดงว่าประเทศไทยสามารถทำหนังแบบนี้ได้ ทั้งกระแสและรางวัล ถ้าภาครัฐจับให้ถูก เช่น ยกเลิกเรื่องระบบเซ็นเซอร์ ก็อาจจะตีเรื่องราวคอนเทนท์ออกไปได้อีกในเชิงแนวลึกขึ้น
แนะ “ลด” ข้อจำกัดด้านเซ็นเซอร์-เปิดกว้างกฎหมายทำหนัง ช่วยลบคำสบประมาท “บทมันอ่อน” ได้
ชลาทิพย์ บอกว่า ถ้าปล่อยให้ทำหนังโดยไม่เซ็นเซอร์ ก็จะเป็นประเด็นที่สากลขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งภาพยนตร์ LGBTQ หรือซีรีย์วายของประเทศไทย คนอเมริกันก็ชอบดูไม่ใช่แค่ตลาดเอเชียเท่านั้น ดังนั้นถ้าเรื่องระบบเซ็นเซอร์ถูกแก้ไข มีการแก้ไข พ.ร.บ.ภาพยนตร์ที่เปิดกว้างมากขึ้น สิ่งที่มีการพูดกันว่า “บทมันอ่อน” ก็จะสามารถแก้ได้จุดหนึ่ง นอกจากไปพัฒนาเรื่องบทแล้ว เครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยตรงนี้ คือ การแก้ไขกติกาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก ให้ภาพยนตร์ไทยขยายไปตลาดต่างประเทศได้
เท่าที่ฟังผู้สร้าง “สัปเหร่อ” บอกว่าเขายังไม่รู้เลยว่าจะนำไปขยายให้ต่างชาติดูได้อย่างไร แต่พอภาพยนตร์ดังก็เริ่มมีคนแนะนำว่าให้เอาไปฉายตามเทศกาล เพราะที่ผ่านมาภาพยนตร์ไทยพยายามหาทางไปกันเอง
“ถ้าเราจะพูดว่าซอฟท์พาวเวอร์ คือ ทุนวัฒนธรรม สินค้าส่งออกก็ต้องได้รับการยอมรับในประเทศระดับหนึ่งด้วย วัฒนธรรมการดูของคนเป็นตัวบ่งบอกว่า สิ่งนี้จะต้องถูกส่งออกไปด้วย จะไปทำเงินได้ก็ต้องเป็นสินค้าที่คนในประเทศโอเคด้วย ถ้าเราทำกระแสแบบนี้ให้เกิดขึ้นในประเทศต่อเนื่อง แล้วก็สร้างภาพยนตร์เรื่องอื่นๆอีก ก็พอจะมองเห็นว่าทิศทางว่าไปอย่างไร แต่เรื่องซอฟพาวเวอร์ที่เป็นหนังไทยมันไม่ง่าย”
เชื่อตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์ หวัง Quick Win แบบยั่งยืน
ส่วนที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์ ขึ้นมาดูแลเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยนั้น ชลาทิพย์ มองว่า เข้าใจว่ารัฐบาลคงต้องมี Quick Win ในแบบที่ยั่งยืน เห็นชื่อคณะกรรมการแล้วไม่เลว ดูเป็นคนที่เข้าใจเรื่องนี้ ซึ่ง Quick Winหลักๆคือทำอย่างไรที่จะต่อยอดภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ ที่ประสบความสำเร็จมากๆไปขยายตลาด นอกกลุ่มประเทศอาเซียนหรือตลาดต่างประเทศ ให้เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ในเทศกาลภาพยนตร์ได้อย่างไร
นอกจากทุนที่ภาครัฐต้องสนับสนุนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญแล้ว ต้องให้การสนับสนุนในเรื่องการศึกษาภาพยนตร์ โดยสร้างบุคลากรที่สนใจด้านนี้และมีฝีมือ, สร้างบรรยากาศ ซึ่งการให้คนรุ่นใหม่ออกมาทำภาพยนตร์ อาจจะทำเทศกาลหนังหรือ festival ที่เมืองไทยให้เป็น “ฮับ”ได้ และต้องไม่ปฏิเสธการทำหนังนอกกระแส
เปิดกว้างมุมมองทำหนัง อย่าอิงค่านิยมอย่างใดอย่างหนึ่ง หนุน ให้ใช้โลเคชั่นถ่ายทำ
ชลาทิพย์ บอกว่า รัฐต้องไม่เน้นเฉพาะบางเรื่อง ที่เป็นแนวรักชาติอย่างเดียว หรือพูดค่านิยมที่ตรงกับรัฐไทยอย่างเดียว แต่ต้องสนับสนุนหนังที่ยังใหม่ต่อแนวความคิดของสังคม เพราะเป็นประเด็นที่โลกพูดถึง เช่น เรื่องความเหลื่อม ซึ่งคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ต้องเข้ามาดู
นอกจากนี้รัฐต้องอำนวยความสะดวก ในการเข้าไปถ่ายทำหรือใช้พื้นที่ ขณะที่คณะกรรมการเซ็นเซอร์ ก็ต้องลดความเข้มลงบ้างในหลายเรื่อง เพราะจะทำให้คนสร้างภาพยนตร์ไทยกล้าที่จะทำออกมาดีมากขึ้น และส่งเสริมวัฒนธรรมการดูที่หลากหลายสำหรับคนไทยด้วย บางทีภาพยนตร์ไทยดีๆแต่เราไม่มีโอกาสได้ดูทั้งหมด
ซึ่งคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ สามารถทำให้กลายเป็น “ฮับ” ทั้งระบบได้ คือ คนทำงานเบื้องหลัง , ตัวหนังที่ขยายตลาดต่างประเทศ , การให้เงินทุนที่เพียงพอ , สร้างอีเวนท์ที่เป็นกระแสก็จะเป็นแบบยั่งยืน ส่วน Quick Win คือ การสนับสนุนให้ “สัปเหร่อ”นำวัฒนธรรมอีสานเป็นสากลขึ้นมาได้อย่างไร ในตลาดต่างประเทศที่ใกล้กว่าอาเซียนและเอเชีย
เทียบฟอร์มหนังอเมริกัน-ไทย
ชลาทิพย์ บอกว่า กรณีของบ้านเราถ้าเทียบกับหนังต่างประเทศ เช่น อเมริกา ซึ่งฮอลลีวูด หรือ อเมริกาใช้สังคมหนังฮอลลีวูด เป็นตัวขับเคลื่อนซอฟท์พาวเวอร์ทางอ้อมมานานมากแล้ว ตั้งแต่ช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง เห็นรวมทั้งช่วงสงครามเย็น ภาพยนตร์ถูกนำมาเป็นอาวุธทางการเมืองประเภทหนึ่ง ในการที่จะเอาแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมือง เข้าไปผ่านภาพยนตร์ ให้คุณค่าถึงลัทธิประชาธิปไตย เสรีนิยม เชิดชูแนวคิดสิทธิมนุษยชนเพราะหนังอเมริกันยุคจริงๆจนถึงทุกวันนี้ หนังดังๆภาคต่อทุกวันนี้ เช่น ซุปเปอร์ฮีโร่หรือท็อปกัน ทำให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของกองทัพอเมริกัน
หรือภาพยนตร์อย่างแรมโบ้ที่ทำให้เห็นถึงความเป็นชาย ซึ่งตรงนี้เป็นแนวคิดดั้งเดิม หรือภาพยนตร์อเมริกันหลายเรื่อง ถ้าเป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับการเมืองหรือสังคม ก็จะชอบแทรกแนวคิดลัทธิเสรีนิยม ในยุคที่ต้องสู้กับคอมมิวนิสต์ในสงครามเย็น พอเวลาไปดูจะเห็นว่ามีแนวคิดแอนตี้ความคิดแบบสงครามเย็น ทำให้คนรู้สึกมีมุมมองไม่ดีต่อเรื่องนี้ กับประเทศที่มีแนวคิดการปกครองแบบคอมมิวนิสต์
ชลาทิพย์ บอกว่า พอปลูกฝังไปเรื่อยๆๆๆๆกระจายออกมา ก็ทำให้คนรู้สึกค่านิยมแบบอเมริกันขึ้นมา ไม่ใช่แค่แนวทางการเมือง แต่พอพูดถึงประชาธิปไตยก็จะไปโยงกับเรื่องของแนวคิดเศรษฐกิจแบบทุนนิยมด้วย ซึ่งภาพยนตร์อเมริกันเป็นแนวคิดดั้งเดิม อย่างที่เราเคยได้ยินว่า “อเมริกันดรีม” ที่พูดถึงการที่คนๆหนึ่งมาจากต้นทุนที่ไม่มีอะไรมาก แต่ตั้งใจใช้ชีวิตทำงานหาเงิน เป็นพนักงานในระบบก็จะสามารถเติบโตขึ้นมา เป็นคนที่ประสบความสำเร็จได้ หรือแนวคิดเชิดชูเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีในตลาดหุ้น ก็มีภาพยนตร์ดังๆ ที่พูดถึงเรื่องราวในวอสตรีทพูดถึงเรื่องราว ที่ทำให้คนสนใจมองถึงการทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องในแบบที่เงินเป็นใหญ่
มีหลากหลายมากที่อเมริกันทำแบบนี้มาเรื่อยๆ จากเรื่องการเมืองเป็นเศรษฐกิจ สังคมทำให้คนรู้สึก เข้าไปซึมซับอยู่ในวัฒนธรรมของเขาโดยไม่รู้ตัว ตรงนี้คือนิยามหนึ่งของซอฟท์พาวเวอร์ ซึ่งมีรายละเอียดมาก
เกาหลี ใช้ซอฟท์พาวเวอร์ขับเคลื่อนจุดขายประเทศ
ชลาทิพย์ บอกว่า การที่ทำให้เราเชื่อมั่นในแบรนด์สินค้า หรือแม้แต่บุคลิกของคนประเทศนั้นๆ ที่ถูกเสนอผ่านมาในภาพยนตร์ พวกนี้ถือเป็นซอฟท์พาวเวอร์หมด ถูกตีแบรนด์ด้วยบุคลิกคนต่างๆ หรือในกรณีที่เราดูซีรีย์เกาหลี แล้วเราอยากจะไปเที่ยวประเทศเขา เราเห็น “วัฒนธรรมเคป๊อบ” ต่างๆผ่านการท่องเที่ยว , อาหาร , อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ , สมาร์ทโฟน จะเห็นเป็นซอฟท์พาวเวอร์ที่ไหลเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมคอนเทนท์อุตสาหกรรมบันเทิง
ที่เอามาทำให้ดูกลายเป็นเมคมันนี่มากๆเห็นชัดตรงๆเลย คือ เกาหลีใต้เอาเคป๊อบเอาซีรีย์มาระบบ พอทำขึ้นมาเราก็ซึมซับไปโดยปริยาย คนไทยนิยมทานอาหารเกาหลี อยากไปเที่ยวเกาหลีมากขึ้น เริ่มเห็นตัวอย่างวิถีชีวิตของเราที่ซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว
คนไทยส่งออกตัวเองไปต่างประเทศ เพราะบรรยากาศทำหนังในไทยไม่ตอบโจทย์
ชลาทิพย์ บอกว่า คนทำงานเบื้องหลังในประเทศไทยเก่งหลายคน และออกไปทำงานต่างประเทศด้านแอนิเมชันในสายหนังต่างประเทศ เพราะประเทศไทยไม่มีบรรยากาศของ วัฒนธรรมภาพยนตร์ ที่หลากหลายหรือทำให้เขาทำงานในประเทศได้ จึงต้องเอาตัวเองออกไปทำงานต่างประเทศ แต่งานด้านโพสต์โปรดักชั่นบ้านเรา ก็เด่นรับทำงานระดับโลกอยู่ เช่น สตูดิโอขนาดใหญ่ของบริษัทกันตนา รับทำงานทั้งด้านเสียงงาน,ซับไตเติ้ล ,งานเกรดสี ซึ่งภาพยนต์ต่างชาติหลายเรื่องรวมถึงซีรีย์ต่างประเทศ ก็มาใช้บริการบุคลากรและอุปกรณ์ที่ประเทศไทย ทั้งงานดิจิตอลคอนเทนท์และบุคลากรรวมทั้งโปรดักชั่น
โลเคชั่นประเทศไทยติดอันดับโลก ที่ต่างชาตินิยมเข้ามาถ่านทำหนัง
ชลาทิพย์ บอกว่า สถานที่ถ่ายทำของประเทศไทย ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์หนึ่งด้วย เพราะเป็นที่นิยมของคนอเมริกัน , จีน โดยเฉพาะอินเดียเข้ามาถ่ายทำ จนทำให้ประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งก็ด้านโลเคชั่นเซอร์วิส ซึ่งถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์แบบหนึ่ง เวลาฉากหนังไทยเข้าไปอยู่ในภาพยนตร์เรื่องไหน เขาไม่ได้ไปสมมติว่าเป็นสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง แต่หลายเรื่องบอกว่านี่คือประเทศไทย ถือเป็นฟังก์ชันหนึ่งของซอฟต์พาวเวอร์ในอุตสาหกรรมบันเทิงภาพยนตร์ ตั้งแต่งาน , คนเบื้องหลัง ไปจนถึงงานโลเคชั่น
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น.โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5