“มาตรการต่าง ๆ ใช้เงินทั้งสิ้น ต้องย้อนกลับไปดูว่าเงิน 2 กระเป๋าเราพอหรือไม่ ในการจัดเก็บรายได้ของเราพอหรือไม่ ตรงนี้จะเป็นคำตอบของคำถามทุกเรื่องว่า สุดท้ายแล้วรัฐบาล มีงบประมาณที่จะทำได้หรือไม่ ตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดจากหลายมาตรการที่ออกมา มีการตัดเงื่อนไขบางอย่างออกไป หรือลดกรอบวงเงินของการทำโครงการนั้นลง โดยจำกัดเงื่อนไขต่าง ๆ ดังนั้นต้องจับตาดูอีกที”
"วสวัตติ์ โอดทวี" ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ประจำทำเนียบรัฐบาล ร่วมสแกนกระเป๋าตังค์รัฐบาล กับหลากหลายนโยบายของรัฐบาลที่ต้องใช้งบประมาณว่า งบประมาณของประเทศตอนนี้มีค่อนข้างจำกัด ซึ่งกระเป๋าเงินของรัฐบาลหลัก ๆ มี 2 กระเป๋า ที่รัฐบาลใช้เป็นประจำทุกครั้ง กระเป๋าแรก คือ ''งบประมาณรายจ่ายประจำปี'' ซึ่งวงเงินที่ตั้งไว้เพิ่มขึ้นทุกปี แต่กระเป๋าตังค์นี้แรกเริ่มแห้งแล้ว ขณะที่ รัฐบาลเข้ามาในช่วงรอยต่องบประมาณฯ ทำให้ไม่สามารถที่จะผลักดันงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ออกมาได้ ตอนนี้สำนักงบประมาณ ใช้กลไกของกฎหมาย ออกงบประมาณไปพลางก่อน เป็นหลักเกณฑ์การใช้จ่ายงบประมาณปี 2566 โดยการกันเงินไว้ให้ เพื่อที่จะได้ไม่เกิดสภาวะ Shut Down เหมือนกับสหรัฐอเมริกา โดยกันเงินในช่วงนี้ไว้ให้ก่อน 8 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมาเรื่อยไปจนถึงเดือนพฤษภาคม กรอบวงเงินงบประมาณที่นำมาใช้แทนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาวงเงินจำกัดจำเขี่ยมาก
“งบฯ มีจำกัด โครงการใหม่รัฐบาลยังหมดสิทธิ์"
"วสวัตติ์" บอกว่า กรอบวงเงินที่รัฐบาลใช้ได้ ไม่เกิน 1,800,000 ล้านบาทเท่านั้น ใช้ได้แค่งบประจำเป็นหลัก ดังนั้น การทำโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล หรือการออกนโยบายที่เป็นโครงการใหม่ที่ต้องใช้เงินนั้นหมดสิทธิ์ ไม่สามารถที่จะใช้ได้ สำหรับงบประมาณทุกปีที่ตั้งไว้ไม่เท่ากัน ประมาณกว่า 3,000,000 ล้านกว่า เช่น งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3,480,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นมาจากปีก่อนที่ประมาณ 3,180,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ รอบวงเงินทุกปี ไม่ใช่การตั้งขึ้นมาลอย ๆ แต่มี 4 หน่วยงานที่ถือว่า เป็น 4 จตุรเทพ คือ สำนักงบประมาณ, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เข้าไปดูเรื่องของงบประมาณว่า แต่ละปีใช้อะไร อย่างไรบ้าง และต้องมีการประมาณการณ์ไว้ด้วย แต่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่สามารถใช้ได้ จึงต้องออกหลักเกณฑ์ไปพลางพลางก่อน โดยใช้งบของปีก่อนมาใช้ ในสัดส่วนไม่เกิน 8 เดือนเท่านั้น จากกรอบวงเงินเดิม และใช้ได้แค่รายการงบประจำ, รายจ่ายบุคลากร, เงินทุนหมุนเวียน, เงินที่ภาครัฐติดหนี้ไว้และจะต้องไปชำระหนี้
"วสวัตติ์" อธิบายด้วยว่า อีกกระเป๋าหนึ่งหากจำเป็นต้องใช้เร่งด่วน คือ ''งบกลาง'' ซึ่งปี 2566 รัฐบาลตั้งไว้ 590,000 ล้านบาท แต่เงินที่ใช้ได้จริง ๆ ที่รัฐบาลนำมาใช้ ทำโครงการอื่น ๆ ได้ที่จำเป็นเร่งด่วนได้แค่ 92,000 ล้านบาทเท่านั้น เป็นงบกลางที่สำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ดังนั้น กระเป๋าตังค์แรกใช้ได้แค่งบกลาง 90,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น รวมกับงบประจำที่จะต้องจ่ายอยู่แล้ว 1,800,000 ล้านบาท ใช้จ่ายได้ไม่เกินเท่านี้ แต่มาตรการที่ออกมาค่อนข้างเยอะเกินอยู่แล้ว
ถ้าเกินก็เกินจากกระเป๋าตังค์แรก และถ้ากระเป๋าตังค์แรกแห้งแล้ว ยังมีกระเป๋าที่ 2 ซึ่งกระเป๋าที่ 2 ของรัฐบาลนี้ ก็จะมีเงินอยู่ 2 ก้อนด้วยกัน อย่างแรกที่เราเคยได้ยินมาก่อนหน้านี้ คือ ใช้เงินตามมาตรา 28 ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พูดง่าย ๆ คือ "รัฐบาลไปยืมเงินจากธนาคารของรัฐ" มา จากออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาใช้ ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งแต่ละที่ ก็มีวงเงินจำกัดเหมือนกัน ขณะเดียวกันต้องดูเรื่องของสภาพคล่องด้วย เพื่อไม่ให้กระทบกับสภาพคล่องของผู้ฝากเงิน
“หนี้สาธารณะ” ที่พึ่งสุดท้ายนโยบายรัฐบาล
''วสวัตติ์" ยังกล่าวถึงก้อนที่ 2 ในกระเป๋าที่ 2 คือ "การก่อหนี้สาธารณะ" เพื่อที่จะให้รัฐบาลมีพื้นที่ในการก่อหนี้สาธารณะในส่วนอื่นเพิ่ม ตรงนี้ก็อยู่ในกฎหมายด้วย แต่หลัก ๆ แล้ว กระเป๋าที่ 2 ถ้าจะใช้จริง ๆ คือ ใช้เงินตามมาตรา 28 คือการยืมเงินจากธนาคารของรัฐ ซึ่งหากไปดูตัวเลขล่าสุด เห็นว่าวงเงินเหลือจำกัดมาก ตัวเลขกลม ๆ เหลืออยู่ประมาณ 20,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุดที่มีการรายงานเมื่อสิ้นปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ตามมาตรา 28 ของรัฐบาล อยู่ในกรอบ 33% ของงบประมาณรายจ่าย มีวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 18,000 ล้านบาทเท่นนั้น ถือว่า จำกัดจำเขี่ยมากจริง ๆ
ดังนั้น ถ้านโยบายไหนที่จำเป็นจริง ๆ ก็อาจจำเป็นที่ต้องไปใช้เงินงบกลาง ซึ่งอาจจะใช้ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่เรื่องของเงินงบกลาง ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าจะนำไปใช้จริง ๆ ต้องเป็นเรื่องของการจำเป็นเร่งด่วน อาทิ การต่อสู้กับภัยพิบัติ การช่วยเหลือต่าง ๆ โดยในเบื้องต้น กระเป๋าเงินของรัฐบาลมีข้อจำกัดอยู่เท่านี้
“เปรียบให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ ประเทศไทยเป็นพนักงานออฟฟิศ มีภาระที่จะต้องดูแลครอบครัว ผ่อนโน่นผ่อนนี่ทุกเดือน ถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือนถามว่าพอใช้กันหรือไม่ มีภาระที่จะต้องใช้จ่ายอะไรบ้าง ต้องไปกู้หนี้ หรือรูดบัตรเครดิตหรือไม่ ซึ่งงบประมาณก็เหมือนกันถ้าคิดกันง่าย ๆ ก็เหมือนกับเงินเดือนของเรา บางคนไปรูดบัตรนำเงินอนาคตมาใช้" วสวัตติ์ กล่าว
เปิดบิลรายจ่ายรัฐบาลสายเปย์ สวนทางรายรับ
"วสวัตติ์" บอกว่า การแถลงผลงานในรอบ 2 เดือนหรือ 60 วัน คือ 12 มาตรการ 12 เรื่องของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีการผลักดันหลายโครงการ ไม่นับรวมเรื่อง Digital Wallet สรุปง่าย ๆ คือ ถ้าเราโฟกัสเรื่องการใช้เงินอย่างเดียว เรื่องของเงินรัฐบาลมีจำกัดแน่นอน อาจจะใช้ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และมาตรการที่นำไปใช้หลายเรื่อง เกี่ยวข้องกับงบประมาณ และเงินอื่น ๆ ที่จะต้องนำมาใช้
ในส่วนของโครงการ Digital Wallet นั้น นายกรัฐมนตรี ได้แถลงบอกถึงแหล่งเงินเรียบร้อยแล้วว่า จะใช้ในเงื่อนไขของการกู้เงิน คือ การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เป็นกฎหมายใหญ่ วงเงิน 500,000 ล้านบาท แต่การออก พ.ร.บ.ต้องฝ่าด่านหินอีกเยอะ โดยด่านแรกต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความกฎหมาย และต้องผ่านกระบวนการของทางรัฐสภาด้วย ทั้งนี้ในเรื่องของวงเงิน เราได้เตรียมไว้ก่อน ส่วนการที่จะผลักดันร่างกฎหมายออกมาได้หรือไม่นั้นต้องรอดู เพราะมีมาตรการขาประจำ ที่ทุกรัฐบาลทำมาตลอด ทั้งเรื่องการลดค่าน้ำ-ค่าไฟ, น้ำมัน, ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย, ช่วยเหลือเกษตรกร, ลดค่าครองชีพ ส่วนอีกขาหนึ่ง คือ เรื่องของการจัดเก็บรายได้ มาตรการเหล่านี้ กระทบกับการจัดเก็บรายได้ค่อนข้างเยอะเหมือนกัน บางกรณีอาจจะใช้งบประมาณไม่เยอะ แต่ส่งผลกับเรื่องของการจัดเก็บรายได้ โดยเฉพาะมาตรการการช่วยเหลือ น้ำมันทั้งเบนซิน และดีเซล กระทบกับการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ
"วสัสติ์" ยังเห็นว่า แม้ล่าสุด ปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ได้แถลงตัวเลขการจัดเก็บรายได้สุทธิ 2,600,000 ล้านบาท แม้จะสูงกว่าประมาณการ ตามเอกสารประมาณ 170,000 ล้านบาท แต่ในปีงบประมาณต่อไปคือปี 2567 ได้มีการประเมินการจัดเก็บรายได้ไว้ 2,700,000 ล้านล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้น แต่เป็นการประมาณการ ซึ่งรัฐบาลมาตั้งนโยบายหลายเรื่อง ที่จะต้องทำให้กระทบกับเรื่องของการจัดเก็บรายได้ โดยยกตัวอย่าง 4 มาตรการ ที่ผ่านมา 6 เดือน รัฐบาลสูญเสียรายได้ไปแล้ว เป็นเม็ดเงินหลายหมื่นล้านบาท อาทิ ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลซึ่งรัฐบาลลดราคา 2.5 บาทต่อลิตร ในส่วนนี้จะสูญเสียรายได้ในช่วง 3 เดือน 15,000 ล้านบาท ส่วนกรณีของน้ำมันเบนซิน 3 เดือนสูญเสียรายได้ประมาณ 2,700 ล้านบาท ส่วนการลดค่าไฟฟ้าทำให้รัฐสูญเสียรายได้ ประมาณ 15,000 ล้านบาท และการขยายอายุการปรับขึ้นภาษี VAT 7 % ทำให้รัฐสูญเสียรายได้อีก 70,000 ล้านบาท 4 ตัวหลัก ๆ แค่ 60 วัน รัฐสูญเสียรายได้ค่อนข้างเยอะแล้ว ดังนั้น การทำมาตรการ อาจจะมีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ และเป็นเรื่องที่น่าจับตาเหมือนกันว่าการจัดเก็บรายได้ จะได้ตรงเป้าหรือไม่ ซึ่งหลายโครงการเป็นโครงการที่ เตรียมใช้ในอนาคตนอกเหนือจากเรื่องของเกษตร หรือเรื่องต่าง ๆ แล้วยังมีมาตรการตามนโยบายรัฐด้วย เป็นมาตรการที่ภาครัฐเตรียมจะออกมาอีก เช่น เรื่องการเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ ตรงนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงบประมาณแน่นอน จะขึ้นกับงบประจำด้วย วงเงินที่จะใช้ซึ่งประเมินกันไว้ถ้า ขึ้นทั้งระบบก็ไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท
รวมทั้งโครงการเงิน digital และเงิน 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งต้องใช้เงินอีก 200,000 กว่าล้านบาท ส่วนอีกนโยบายที่ยังไม่ผลักดันออกมา คือ การเติมเงินให้กับผู้มีรายได้น้อย 20,000 บาทต่อหนึ่งครัวเรือน ตรงนี้เป็นนโยบายที่รัฐบาล เคยหาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ยังไม่ออกมาเลย
“มาตรการเหล่านี้ใช้เงินทั้งสิ้น ต้องย้อนกลับไปดูว่า 2 กระเป๋าเราพอหรือไม่ ในการจัดเก็บรายได้ของเราพอหรือไม่ ตรงนี้จะเป็นคำตอบของคำถามทุกเรื่องว่า สุดท้ายแล้วรัฐบาลมีงบประมาณที่จะทำได้หรือไม่ ซึ่งตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดจากหลายมาตรการที่ออกมา มีการตัดเงื่อนไขบางอย่างออกไป หรือลดกรอบวงเงินของการทำโครงการนั้นลง โดยจำกัดเงื่อนไขต่างๆ ดังนั้นต้องจับตาดูอีกทีหนึ่ง” วสวัตติ์ กล่าว
ขึ้น VAT วัดใจรัฐบาลหาเงินเข้ากระเป๋า
"วสวัตติ์" ยังระบุด้วยว่า การขึ้น VAT จาก 7% เป็น 10% ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าปรับขึ้นมา ตั้งแต่ปี 2536 เพราะมั่นใจว่า หากรัฐบาลไหนทำ จะเป็นตราบาปแน่นอน ทั้งที่การปรับขึ้นนั้นสามารถทำได้ และมีความเหมาะสมหลายเรื่องที่ควรจะปรับขึ้น แต่ถ้าขึ้นในช่วงจังหวะที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเมือง จะกระทบฐานเสียง หรือต้องมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาแน่นอน เพราะเป็นประเด็นที่ใหญ่มาก และไม่มีทางเลือก ที่จะต้องต่อไปเรื่อย ๆ และรอให้สถานการณ์พร้อมจริง ๆ เพื่อที่จะให้เราเก็บภาษีที่กำหนดไว้ในกฎหมายคือ 10% ซึ่งเบื้องต้นก็ออกจะต่อไปเรื่อย ๆ และเรื่องรายได้อย่างที่บอกไป ถ้าไม่เก็บภาษีเพิ่มในทุกๆ 1% ของ VAT ที่เพิ่มขึ้นก็จะกระทบกับรายได้ประมาณ 70,000 ล้านบาท
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5