“ผมนิยามช่วงนี้ของรถยนต์ไฟฟ้าบ้านเราว่าเป็นช่วงของการฮันนีมูน คือภาครัฐ เวลคัมพบรักใหม่ อยากจะเชิญชวนคนมาลงทุน ส่วนผู้บริโภคเองก็เห็นว่า แหม!! ของใหม่หน้าตาสดใสสะสวย มันเร้าใจ จนหลายท่านอาจจะลืมนึกถึงแง่ที่อาจจะมีผลกระทบ”
“อัษฎาวุธ อาสาสรรพกิจ” คอลัมนิสต์ Autocar Thailand แอดมินเพจ : นายหนวดแดง ให้มุมมองถึง “ยานยนต์ไฟฟ้า ทางออกลดมลพิษกับคำถามความยั่งยืน” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”ว่า ยานยนต์ไฟฟ้าจะช่วยลดมลพิษปัญหาฝุ่น ปัญหา PM2.5และควันไอเสียตอนใช้ แต่ว่าแหล่งกำเนิดของรถในการสร้าง ไฟฟ้ามาจากไหนมีมลพิษหรือไม่ เห็นชัดที่สุด คือ ปลายทางของมันเวลาแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ เราจัดการมันอย่างไร
อัษฎาวุธ บอกว่า ส่วนตัวเห็นว่าควรจะใช้รถไฟฟ้าเมื่อพร้อม และลักษณะการใช้งานเป็นอย่างไร ขณะที่คนบางคนคิดว่าค่าประกันภัย และค่าต่อภาษีรถยนต์ไฟฟ้าถูกกว่า แต่ถ้าเทียบรถขนาดเดียวกัน ค่าประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าสูงกว่ารถที่ใช้น้ำมัน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และยังมีความเสี่ยงในการใช้หากแบตเตอรี่เสื่อม หรือระบบเกิดเสีย ขณะที่ศูนย์บริการมีจำกัด ก็ไม่เหมาะกับการใช้งาน ซึ่งเหมาะกับคนที่ใช้งานในเมือง มีระยะทางใช้งานที่ใช้ชัดเจน
ส่วนคนที่อยู่ต่างจังหวัด อาจจะน่าใช้ตรงที่พักอาศัยอยู่ในอำเภอแล้วมาทำงานในเมือง ใช้เดินทางไป-กลับ โดยที่การจราจรไม่ติดขัด ไม่มีความร้อนสะสม และแบตเตอรี่ก็ทำงานได้ตลอด ดังนั้นถ้ามองจะว่ารถไฟฟ้าดียังไง ส่วนตัวคิดว่าอยู่ที่ลักษณะการใช้งานและความพร้อมมากกว่า
หวั่นซ้ำรอยรถคันแรก-เจอเซลป้ายยา
อัษฎาวุธ เล่าว่า เวลาที่ไปเดินดูรถยนต์มือสอง จะแนะนำคนที่มาซื้อว่า ให้คิดไว้ก่อนว่า “ฉันไม่อยากใช้มัน” พอคิดแบบนั้นเราจะมองว่าอะไรเป็นข้อเสีย ของสิ่งที่เรากำลังจะเลือกซื้อ อย่างกรณีของรถยนต์ไฟฟ้า ข้อเสียคือ ตกรุ่นง่ายเปลี่ยนรุ่นเร็ว ควรที่จะกลับมานั่งคิดดูก่อน ไม่ใช่ว่าพอคุณไปถึงโชว์รูมแล้วเจอพนักงานขาย “ป้ายยา” บอกว่าตอนนี้มีแคมเปญและโปรโมชั่น ต้องจองไว้ก่อนถ้าไม่จองตอนนี้ กว่าจะได้รถอีกนาน แต่ถ้าจองตอนนี้จะได้รับรถเร็ว เราก็ลืมไปเลยว่าเราจะใช้รถหรือไม่ใช้ไม่รู้
ถ้าย้อนกลับไปคล้ายกับ “นโยบายรถคันแรก” ที่บอกว่าให้รีบจองก่อนสิ้นปี เพราะภาครัฐยังสนับสนุน ถ้าไม่รีบจองเดี๋ยวภาครัฐไม่สนับสนุน ผมถามว่าถ้ารีบจองแล้วต่อไปโดยยึดรถ เพราะผ่อนไม่ไหวอย่างที่เห็นในข่าว ตรงนั้นคือความน่ากลัวที่สุด
เทรนโลก ทำกระแสนิยม EV มาแรง
ส่วนกระแสรถอีวีที่คนนิยมกันในขณะนี้ เชื่อว่ามาจากปัจจัยที่สำคัญ ดังนี้ 1.ผู้บริโภคได้รับข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วมากขึ้น จากในอดีตที่เราจะต้องรอบริษัทรถยนต์มาให้ข้อมูล แต่เดี๋ยวนี้ผู้บริโภคมากกว่าครึ่งหนึ่ง รับทราบข้อมูลจากต่างประเทศก่อนแล้ว ทำให้เป็นตัวกระตุ้นว่าเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีอะไร และเร็วๆนี้เราจะได้ใช้อะไร จะได้สัมผัสอะไรบ้าง 2. เทรนของโลกอุตสาหกรรมยานยนต์ประมาณ 10 ปีมาแล้ว มีการพูดถึงเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า และการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์
ถ้าไล่ขั้นตอนการเปลี่ยนผ่าน ก็เป็นเรื่องของรถยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมัน ต่อมาคือใช้รถยนต์ไฮบริด ซึ่งประเทศไทยคุ้นชินกับตรงนี้ จากนั้นจะเป็นรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด ต่อมาจะเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า (Electric Vehicle ) หรือ EV
ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลของการใช้รถยนต์ EV พบว่า ผู้บริโภคอายุประมาณ 25- 35 ปีไม่กลัวที่จะลองใช้สิ่งใหม่ๆ และชื่นชอบเทคโนโลยี ต้องยอมรับว่านอกจากการเป็นรถยนต์แล้วรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามามีฟังก์ชันต่าง ๆ ซึ่งระบบพวกนี้เป็นสิ่งกระตุ้นอย่างหนึ่ง ที่ทำให้คนหันมาสนใจเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
เขายอมรับด้วยว่า ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงกำลังตื่นตัว ถ้าเราอยากจะใช้รถยนต์ไฟฟ้าจริง แล้วตัวเลขสะท้อนว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีผู้บริโภคสนใจจริงๆ ผมคิดว่าอย่างแรกต้องเริ่มที่หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งผมไม่ได้สนใจในเรื่องของมาตรการสนับสนุน ที่บอกว่ามีส่วนลดให้ แต่สิ่งที่ภาครัฐควรจะให้ความสำคัญและใส่ใจมากๆ คือ เรื่องของ Infrastructureที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ
1.กำลังไฟในการจ่ายไฟจะเพียงพอรองรับได้แค่ไหน ถ้าอัตราเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าเป็นแบบนี้ 2. สถานีชาร์จจะเป็นอย่างไร 3. ภาคธุรกิจที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องของInfrastructure เรื่องการให้บริการทั้งจุดชาร์จและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐมีการรองรับเรื่องพวกนี้แล้วหรือยัง ตรงนี้น่าเป็นห่วง
EV เหมือนช่วงฮันนีมูน สดใสเร้าใจ
“ผมนิยามช่วงนี้ของรถยนต์ไฟฟ้าบ้านเราว่าเป็นช่วงของ “การฮันนีมูน” คือภาครัฐเวลคัมพบรักใหม่ อยากจะเชิญชวนคนมาลงทุน ส่วนผู้บริโภคเองก็เห็นว่า แหม!!ของใหม่หน้าตาสดใสสะสวยมันเร้าใจ หลายท่านอาจจะลืมนึกถึงแง่ที่อาจจะมีผลกระทบ สิ่งที่ผมมอง คือ Infrastructure ต้องเดินต่อไปได้ แต่ภาครัฐจะต้องสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่พอหมดวาระปุ๊บ เปลี่ยนตำแหน่งคนใหม่มา นโยบายเปลี่ยนหรือนโยบายช้าลงอย่างนี้ไม่ควรเกิดขึ้น”
สะท้อนให้เห็นง่ายๆ ผมเคยไปบางที่ซึ่งเห็นลงภาพข่าวอึกทึกครึกโครม มีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาเปิดมีการให้บริการ แต่พอไปจริงๆเจ้าหน้าที่บอกว่าผู้ใหญ่มาถ่ายรูปเท่านั้น ยังใช้จริงไม่ได้นี่คือเรื่องจริงบ้านเรา ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน โดยภาครัฐไปเตรียมในส่วนของตัวเอง คนที่ให้บริการก็ไปเตรียมในส่วนของตัวเอง สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ผู้บริโภคต้องปรับตัวเพราะการใช้รถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้หมายความว่า คุณกระโดดจากรถยนต์ใช้น้ำมันแล้วไปขับรถยนต์ไฟฟ้าได้เลย แต่เริ่มแรกคุณต้องเรียนรู้มันก่อน คือ 1.ต้องวางแผนการเดินทาง2.ระยะทางวิ่งของรถได้เท่าไหร่ และ 3. จะจอดแวะชาร์จตรงไหน
ดังนั้นต้องคิดไว้ล่วงหน้า มีการปรับเปลี่ยนชีวิต ไม่ใช่ไปตายเอาดาบหน้า ถ้าแพลนที่ตั้งไว้ผิดตรงนี้ชาร์จไม่ได้ แล้วถ้าเดินทางต่อไปอีกจะไปชาร์จตรงไหน ถ้ารถเสียจะทำอย่างไร เพราะไม่สามารถไปซ่อมตามอู่ข้างทางได้อยู่แล้ว
ขณะที่วิธีการขับรถยนต์ไฟฟ้า ไม่เหมือนรถยนต์ใช้น้ำมัน เพราะว่าแบตเตอรี่มันหนักมีเรื่องของการถ่ายเทน้ำหนัก เรื่องของ Weight transfer จะทำให้ทั้งคนขับและคนนั่งเวียนหัวคลื่นไส้อาเจียนแน่นอน และส่งผลไปถึงประสิทธิภาพในการขับขี่ คือ ระยะทางก็วิ่งได้น้อยลง จึงเป็นหลายองค์ประกอบด้วยกัน อย่างที่บอกมันเป็นช่วงฮันนีมูนหลายคนอาจจะไม่ทันได้นึกถึง
“สิ่งที่ผมเป็นห่วงมากที่สุด คือ เราเห็นภาพข่าวอย่างประเทศที่รถยนต์ไฟฟ้าบูมมาก่อน อย่างประเทศจีนหลายคนอาจจะเห็นว่ามีเรื่องของการทิ้งรถ พอรถหมดอายุปุ๊บ ไปขายเป็นรถยนต์มือสองไม่ได้ราคา ก็เกิดการทิ้งรถแล้วถ้าเป็นอย่างงั้น จะจัดการอย่างไร จะกลายเป็นขยะชิ้นใหญ่และกลายเป็นสิ่งที่ถูกทิ้งขว้าง แบบในต่างประเทศหรือไม่ ตรงนี้ก็ต้องมาคิดดู”
แนะ ซื้อรถดูเงื่อนไขรับประกันให้รอบคอบ
ส่วนราคาแบตเตอรี่ของรถยนต์อีวี มีการพูดกันว่าราคาครึ่งหนึ่งของราคารถยนต์ ยอมรับว่า คนที่อยู่ในแวดวงรถยนต์มีการพูดถึงเรื่องนี้น้อย แต่จะบอกว่าถ้าเราช่วยกันใช้รถยนต์ไฟฟ้าเยอะๆ แบตเตอรี่ก็จะถูก แต่ผมบอกได้เลยว่าในแวดวง ไม่เคยมีใครออกมาบอกว่าราคาจะถูกลงมา เพราะเขามั่นใจในเรื่องคุณภาพ จะเห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้าทุกค่ายรับประกันแบตเตอรี่ 8 - 10 ปี ซึ่งต้องดูเงื่อนไขการรับประกันด้วย
“ไม่ใช่ว่าเคยใช้แบตเตอรี่ได้ 100% เมื่อใช้ไป 5 ปีแบตเตอรี่เหลือประสิทธิภาพ 80% แล้วมาขอเคลมบอกเลยว่าไม่ได้ และบางยี่ห้อระบุไว้เลยว่าการเคลมชิ้นส่วนของเขาต้องไม่มีข้อชำรุดอะไรบ้าง 1-2-3-4-5 ก็เหมือนกับคุณใช้ของชิ้นหนึ่ง ถ้าเสื่อมสภาพ ไปก็ไม่สามารถเปลี่ยนให้ได้ ดังนั้นถ้าใช้รถยนต์อีวีแล้วต้องใช้ให้คุ้ม พอถึงเวลาแล้วรถรุ่นใหม่มีแบตเตอรี่ใหม่ออกมา แต่คุณเป็นรุ่นเก่าจะใช้แบตเตอรี่รุ่นใหม่ก็ไม่ได้เปรียบ”
แนะนำคิดรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อ
ทั้งนี้หลายคนมักจะถามว่าใช้รถยนต์ไฟฟ้าคุ้มหรือไม่ ก็จะแนะนำว่าอย่าไปดูราคารถยนต์ไฟฟ้า แต่ให้ลองคิดดูว่าในหนึ่งเดือนคุณจะประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้เท่าไหร่ ถ้าคุณเอาสิ่งที่คุณประหยัดในแต่ละเดือน แต่ละปีไปคิดคำณวน หลังจากนี้ 10 ปี พอรถเก่าตกรุ่นขายต่อเต็นท์รถมือสองไม่ได้แล้ว หรืออาจจะไม่ตีราคารับซื้อรถของคุณเลย เพราะฉะนั้นจะนำวิธีคิดแบบรถที่ใช้น้ำมันไม่ได้
“ผมมักจะดูประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง เพราะเป็นอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และมีความพร้อมกว่าไทยในเรื่องวินัยในการใช้งาน แต่วันนี้ลองไปดูจำนวนประชากรที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าของญี่ปุ่น เพิ่งจะมีเพียง 2% เท่านั้น ทั้งที่เค้าเริ่มInfrastructure ที่พร้อมเพรียงและ EDUCATE ข้อมูลต่างๆให้กับคนใช้รถ โดยเริ่มมาก่อนบ้านเรามากกว่า 10 ปี ทำให้ผมฉุกคิดว่าญี่ปุ่นพบปัญหาต่างๆ ในการจัดการหรือไม่ ไม่รู้ว่าจะย่อยสลายทำลายอย่างไร แต่ไม่คิดว่าจะมีปัญหาเรื่องของการใช้และพัฒนาผลิตภัณฑ์”อัษฎาวุธ ทิ้งท้าย
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5