“แรงงานบางคนบอกว่า 500 -700 บาทต่อวันยังไม่เพียงพอ ต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพราะค่าครองชีพแพง ทั้งค่าที่พักอาศัย , ค่ากิน , ค่าการเดินทาง และยังต้องนำเงินทั้งหมดที่หาได้ไปเลี้ยงครอบครัวด้วย”
“ธาราภรณ์ ฤกษ์ดี ผู้สื่อข่าวโต๊ะเศรษฐกิจ สถานีโทรทัศน์ PPTV” ระบุถึงการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นและมุมมองน่าสนใจเกี่ยวกับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลผ่าน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” พร้อมบอกด้วยว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่เท่ากันทุกจังหวัด มาจากปัจจัยต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาภาพรวมทั้ง 77 จังหวัด และมติของบอร์ดแต่ละครั้ง ต้องผ่านตัวแทนของทุกฝ่าย รวมถึงนักวิชาการ , อนุกรรมการกลั่นกรองหลาย 100 กว่าคน
ขั้นตอนในการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ละปีแต่ละอัตรานั้นไม่ใช่ว่าอยากจะขึ้นเท่าไหร่ก็ได้ แต่ต้องทำตามกรอบที่กฎหมายกำหนด ล่าสุดมติคณะกรรมการค่าจ้าง ได้พิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2567 ในอัตราวันละ 2 -16 บาท ในแต่ละจังหวัด
มีวิธีการคิดคำนวณ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับแก้ไขพ.ศ. 2560 โดยนำข้อมูลต่างๆมาประกอบการพิจารณา อาทิ การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อในช่วงนั้น ๆ ฯลฯ และในครั้งนี้ที่มีการปรับขึ้น ได้นำสูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ จากฐานในปี 2563 -2564 มาคำนวณด้วย ซึ่งเป็นช่วงของการแพร่ระบาดสถานการณ์ โควิด-19
มีการนำมติการปรับขึ้นค่าแรง เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว แต่นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ไม่เห็นด้วยกับมติคณะกรรมการค่าจ้าง ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567เพิ่มขึ้นวันละ 2-16 บาท ทำให้ ครม.ถอนออกไปพิจารณาทบทวนใหม่ แหล่งข่าวภาคเอกชนบอกกับดิฉันว่า ไม่เคยเจอรูปแบบที่ให้กลับไปทบทวน มติของบอร์ดที่ออกมาแล้ว
ขึ้นค่าแรงตามกรอบกฎหมาย
ธาราภรณ์ บอกว่า การพิจารณาปรับค่าแรงแต่ละครั้ง เป็นไปตามกรอบที่กฎหมายกำหนด สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ แต่ถ้าปรับใหม่แล้วสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน เป็นอัตราที่ไม่กระทบต่อต้นทุน ของนายจ้างมากนักเขาก็พอรับได้
“ปกติการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะปรับทุกวันแรงงานแห่งชาติ คือ 1พฤษภาคมถ้าให้ปรับอีกในช่วงต้นปี เป็นปีใหม่ให้กับประชาชน เอกชนบอกมาว่าปีหน้าก็ต้องปรับใหม่ เท่ากับว่าจะต้องปรับ 2 ครั้งดังนั้น ต้องดูว่าจะให้ปรับที่ราคาเท่าไหร่ บอร์ดไตรภาคีรับได้หรือไม่ ถ้าปรับขึ้นตามที่ครม.ให้กลับไปทบทวน ก็ต้องดูว่าภาคเอกชนได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เพราะทำให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจของเขาสูงขึ้น ต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานในแต่ละวันด้วย ถ้าเป็นธุรกิจเล็กๆก็อาจจะดำเนินต่อไปไม่ไหว”
หลากมุมมองจากผู้ใช้แรงงาน
ธาราภรณ์ บอกว่า ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับแรงงานและลูกจ้าง ซึ่งเป็นมุมมองของในแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่ภาพรวมทั้งหมด เพราะค่าครองชีพแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน เช่น แรงงานผู้หญิงบริเวณตลาดกีบหมู ( บริเวณถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง กรุงเทพฯ เป็นตลาดนัดของเหล่าแรงงานที่ส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่เช้าตรู่จะสะพายกระเป๋ามารอนายจ้างรับไปทำงานรายวัน ) บอกว่าไม่ได้รับผลกระทบ กับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะบางคนไปประกอบอาชีพเป็นช่างสี , กรรมกรหรือแม่บ้านรายวัน เฉลี่ยตอนนี้ขั้นต่ำอยู่ที่ 500-700 บาทต่อวัน
“แรงงานบางคนบอกว่า 500 -700 บาทต่อวันยังไม่เพียงพอ ต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพราะค่าครองชีพแพง ทั้งค่าที่พักอาศัย , ค่ากิน , ค่าการเดินทาง และยังต้องนำเงินทั้งหมดที่หาได้ไปเลี้ยงครอบครัวด้วย แต่หากเป็นลูกจ้างผู้ชายจะได้ค่าแรงที่ประมาณ 700 - 900 บาท การที่ค่าแรงตลาดกีบหมู ได้เงินจำนวนมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะต้องใช้ทักษะฝีมือในการทำงานแต่ละวัน”
ส่วนแรงงานที่ในโรงงานอุตสาหกรรม จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงบอกว่า ได้ค่าแรงขั้นต่ำ 353 บาทต่อวัน ถ้าจะให้เพียงพอจริงๆอย่างน้อยต้องได้ 400 บาทต่อวัน เพราะค่าครองชีพปัจจุบันนี้สูง
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00น.โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5