“สส.ที่ลุกขึ้นมาพูดส่วนใหญ่ จะพูดข้อมูลในเชิงประเด็น แม้ว่าจะไม่เห็นข้อมูลในเชิงฉูดฉาดหรือว้าวววว!! แต่จะเป็นข้อมูลเชิงสถิติที่ส่วนใหญ่ต้องนำมาวิเคราะห์ ทำให้หลายคนมองว่าบรรยากาศกร่อย เพราะการใช้วาทกรรมหรือตอบโต้กันไปมาค่อนข้างน้อย”
“ธัญวัฒน์ พิวัฒน์เมธา ผู้สื่อข่าว สถานีโทรทัศน์ช่อง 3” ซึ่งเกาะติดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เล่าถึง “ภาพรวม ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 รัฐบาลเศรษฐา” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่เพิ่งผ่านการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ เป็นบทเรียนของรัฐบาลด้วย สส.หลายคนในสภาออกมาพูดว่า หน้าตางบประมาณฯเหมือน สมัยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ ถ้ารอบหน้ายังจัดสรรงบประมาณแบบนี้อยู่ อาจจะถูกฝ่ายค้านชำแหละในสภาอีก
“สส.ที่ลุกขึ้นมาพูดส่วนใหญ่ จะพูดข้อมูลในเชิงประเด็น แม้ว่าจะไม่เห็นข้อมูลในเชิงฉูดฉาดหรือว้าว!! แต่จะเป็นข้อมูลเชิงสถิติที่ส่วนใหญ่ต้องนำมาวิเคราะห์ ทำให้หลายคนมองว่าบรรยากาศกร่อย เพราะการใช้วาทกรรมหรือตอบโต้กันไปมาค่อนข้างน้อย แต่ใช้ข้อมูลอภิปรายเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเจ้าภาพในการอภิปรายคือพรรคก้าวไกล ที่ชำแหละงบประมาณของรัฐบาล”
“ก้าวไกล อภิปรายงบฯเป็นเวทีซักซ้อม ปรับใช้ สส.แถว 2 ทำหน้าที่ ก่อนศึกซักฟอกรัฐบาล”
ธัญวัฒน์ บอกว่า ภาพรวมของพรรคก้าวไกลครั้งนี้ จึงเน้นอภิปรายเกี่ยวกับข้อมูลเยอะ ไม่ค่อยมีการประท้วงเกิดขึ้นในสภาให้เห็นมากนัก ครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็น สส.หน้าใหม่ ซึ่งทีมก้าวไกลคิดขึ้นมาอยู่แล้วก่อนที่จะอภิปราย บอกว่าปีนี้จะไม่ใช้ สส.หน้าเก่ามาก แต่ต้องการผลักดัน สส.แถวที่ 2 ขึ้นมาให้ได้ ซึ่งพรรคก้าวไกลยอมรับว่าเป็นเวที ซักซ้อมและทำการบ้าน ก่อนที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เช่น ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ บอกว่าไม่เน้นรูปแบบใช้วาทะกรรม แต่จะเน้นในเชิงข้อมูลมากกว่า เช่น กรณีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลก็ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาแตะเลย ฉะนั้นจึงไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น
“งบเป็ดง่อย ทำ ปชป.คืนฟอร์มทำได้ใจ FC ฉะ พท. คู่กัดเดิม”
ธัญวัฒน์ บอกว่า มีการประท้วงไม่ถึง 10 ครั้ง และผู้ประท้วงส่วนใหญ่รอบนี้ เป็นพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมดเลย และเป็นคู่กัดคู่เดิม คือ เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ และเรื่องเดิมๆคือกรณีนายทักษิณ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นว่าเกินเลยข้อมูล การอภิปรายงบประมาณ เช่น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ใช้คำว่า “งบเป็ดง่อย” ซึ่งเป็นการคืนฟอร์ม พรรคประชาธิปัตย์ และมีเอฟเฟกต์ไปจนถึงนอกสภาด้วย
ลงพื้นที่ทำข่าวเจอกลุ่มแฟนคลับ ของพรรคประชาธิปัตย์ เขาบอกว่าการอภิปรายงบประมาณรอบนี้ ประชาธิปัตย์เริ่มคืนฟอร์มกลับมา ได้ใจคนภาคใต้ ที่เป็นแฟนคลับ อาจจะเป็นกังวลอยู่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะไปร่วมรัฐบาลด้วยหรือไม่ในภายหลัง พอมาเห็นการอภิปรายงบประมาณครั้งนี้ เขาก็สบายใจในระดับหนึ่ง ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในระยะยาว ว่าประชาธิปัตย์จะดำรงความเป็นพรรคฝ่ายค้านในสภา แบบนี้ต่อไปได้อีกมากน้อยแค่ไหน และต้องจับตาการนำพรรคภายใต้ของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคคนใหม่ จะไปร่วมรัฐบาลด้วยหรือไม่ซึ่งล่าสุดนายเฉลิมชัยประกาศชัดว่าจะไม่ไปร่วมรัฐบาล และจะต้องฟื้นศรัทธาของพรรคกับคืนมาให้ได้ ผ่านการให้สัมภาษณ์และพูดในวงการประชุมกรรมการบริหารพรรคด้วย
“ให้คะแนน เศรษฐา 70% - จับตาดูหลังหลัง งบฯผ่านวาระแรก”
ธัญวัฒน์ บอกว่า สำหรับภาพรวมของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ผมให้ 70% ในกรณีตอบถาม ซึ่งอาจจะตอบในเชิงข้อมูลเหมือนกัน หลายมุมมองบอกว่ายังคงรักษาฟอร์มเดิม เหมือนกับตอนแถลงนโยบาย และพยายามตอบงานในส่วนที่ตัวเองดูแลหรือเชี่ยวชาญ ซึ่งฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่านายกรัฐมนตรี เลือกตอบแต่คำถามที่ตัวเองอยากจะตอบ พูดถึงโครงการที่รัฐบาลจะทำ
“ต้องจับตาดูหลังหลังจากที่ผ่านวาระแรก ชั้นรับหลักการของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ แล้ว มีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ขึ้นมา 72 คน ต่อไปจะเป็นอย่างไร นิยามคำว่ากร่อย ในการพิจารณางบประมาณฯรอบนี้ ยังเป็นชั้นรับหลักการอยู่เพราะฉะนั้นเราอาจจะยังไม่ได้เห็นข้อมูลเด็ด หรือข้อมูลลับที่มีการทุจริตฮั้วการเกิดขึ้นเพราะยังไม่ได้เข้าสู่ชั้นกรรมาธิการ”
“ฝ่ายค้านข้องใจ กระทรวงต้องดูประชาชนได้งบฯน้อยกว่า มท.- รบ.แจง คาด เกิดภัยพิบัติธรรมชาติรุนแรง ต้องจัดสรรเผื่อไว้”
ธัญวัฒน์ ให้ความเห็นถึง การตั้งคำถามของฝ่ายค้าน ว่างบที่ต้องดูแลคุณภาพชีวิตของคน เช่น กระทรวงสาธารณสุข , กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.),กระทรวงศึกษาธิการ ได้งบประมาณน้อยกว่ากระทรวงมหาดไทย ว่า รัฐบาลให้เหตุผลว่าท้องถิ่นอยู่ในทุกๆที่ของประเทศ จึงต้องจัดสรรงบฯมาก และประเมินแล้วว่าปีนี้ประเทศไทย จะต้องเจอกับเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง เช่น ปรากฏการณ์เอลนีโย่ หน่วยงานที่ต้องดูแลชาวบ้านจริงๆ คือ ท้องถิ่น จึงต้องให้ความสำคัญกับงบประมาณส่วนนี้ค่อนข้างเยอะ ส่วนกระทรวงที่ได้งบประมาณใหญ่ๆอันดับรองลงมา คือ ศึกษาธิการ , คลัง , กลาโหมซึ่งอยู่ใน“ท็อปโฟร์”
“สุทิน ของขึ้นโต้ ฝ่ายค้านทุกเม็ด ปมความมั่นคง-ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”
การอภิปรายงบฯครั้งนี้ สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ชี้แจงว่าเป็น “ท็อปโฟร์”ที่ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น แต่ในอัตราส่วนที่ลดลง ซึ่งฝ่ายค้านหยิบยกกรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำ และสนามบินอู่ตะเภาขึ้นมาซักถาม ว่าใช่หน้าที่ทหารหรือไม่ ทำไมทหารกองทัพเรือต้องไปจัดซื้อจัดจ้างด้วย ยังมีหลายเรื่องจิปาถะเยอะมาก จนสส.พรรคก้าวไกลตั้งฉายานายสุทินว่า “สุทินดาวน้อย” หมายถึงดาวน้อยผ่อนนาน ทั้งที่ปกติแล้วงบของกระทรวงกลาโหมจะต้องดาว 20% ต่อปี แต่ปีนี้ดาวน์ 15%
ธัญวัฒน์ บอกว่า ทำให้นายสุทินออกมาตอบโต้ทุกประเด็น และเป็นรัฐมนตรีคนเดียวที่ไม่ได้ยืนอ่านโพย เรียกว่าพูดออกมาจากใจ บอกเลยว่าตัวเองยังเหมือนเดิมอยู่ และชี้แจงรายละเอียดในส่วนของกระทรวงกลาโหมที่รับผิดชอบ พร้อมท้วงติงไปว่า 2 เรื่องที่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ คือ กำลังพลและยุทโธปกรณ์ การจะลดกำลังพลลงมาได้ก็พยายามทำแล้ว มีการปิดอัตราแล้วซึ่งเป็นการลดกำลังพลระดับหนึ่ง
ส่วนกรณียุทธโธปกรณ์ สุทินแจ้งว่า ประเทศไทยเสียเงินไปแล้ว 6,000 ล้านบาท ถ้ายกเลิกสัญญาแล้วไทยได้เงินคืน 6,000 ล้านบาท ก็จะยอมยกเลิกเลยพรุ่งนี้ แต่ว่ายังติดเงื่อนไขตรงนี้อยู่ และทุกอย่างเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้ลองไปดูว่าการที่นายกรัฐมนตรี ไปเจรจาเรื่องต่างๆมีผลประโยชน์ ประมาณ 2 แสนล้าน แล้วคุณจะเอา 6,000ล้านกับ 2 แสนล้าน ไปแลกกันมันไม่คุ้ม พร้อมตอกกลับกว่าไม่ฉลาด ตรงนี้เป็นวาทะที่ตอบโต้กันในประเด็นเรื่องของความมั่นคง และเรื่องของกลาโหมที่มีมีการตอบโต้กันระหว่างส.ส. พรรคก้าวไกลและนายสุทิน เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงค่อนข้างมาก
“ก้าวไกล ทำการบ้านนำร้อง จ่อ ทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเงา 68” ประกบ ร่างงบฯรัฐบาล
ธัญวัฒน์ บอกว่า ถ้ามองข้ามช็อตไปถึงงบประมาณปี 2568 สส.พรรคก้าวไกลตั้งข้อสังเกตว่า มีการพิจารณางบที่ติดกัน ซึ่งฝ่ายค้านจะทำงานคู่ขนานกับรัฐบาล ในการจัดทำ “ร่างพ.ร.บ.งบประมาณเงา 68” คล้ายกับ “รัฐมนตรีเงา” ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้รัฐบาลต้อง จัดสรรงบประมาณออกมาให้แล้วเสร็จรอบคอบ เมื่อรัฐบาลยื่นร่างพ.ร.บ.ให้พิจารณางบประมาณปี 2568 มาเมื่อไหร่ พรรคก้าวไกลก็จะยื่นเรื่องนี้ไปเหมือนกัน เป็นการยื่นประกบกันซึ่งถือว่าเป็นการทำงานนำร่องอีกแบบหนึ่ง
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5