“สแกนปมร้อน ผังเมืองใหม่ กทม.!!” 

“เรื่องใหญ่ของกทม. คือ ที่ดินสีแดง  มองดูแล้วน่าจะไปใช้ประโยชน์ทางด้านพาณิชยกรรมได้มาก สอดรับกับข้อกังวลของประชาชน ว่าจะเป็นการขยายกลุ่มทุนหรือไม่ บ้านของเขาจะได้รับผลกระทบหรือไม่ ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด”

            “ภัทราพร ตั๊นงาม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส” ให้มุมมองจากการลงพื้นที่ทำข่าวถึง“ปัญหาผังเมือง กทม.ฉบับใหม่ เอื้อนายทุนจริงหรือ?” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า กรุงเทพมหานครจะต้องเปลี่ยนผังเมืองทุก 5 ปี แต่ผังเมือง ณ ปัจจุบันที่ใช้อยู่ ไม่ได้เปลี่ยนมาประมาณ 10 ปีแล้ว ปัจจุบัน กทม.อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นการปรับแก้ผังเมืองฉบับใหม่ ตอนนี้กำลังรับฟังร่างที่มีการปรับแก้ไขอยู่ แต่เกิดเสียงสะท้อนขึ้นมาว่า กทม. จะรับฟังเสียงคนอื่นหรือไม่ หรือมีเสียงสะท้อนออกมาอย่างไร มากน้อยแค่ไหนบ้าง

ที่ดินสีแดง ปมใหญ่ ที่หลายคนกังวล

            “เรื่องใหญ่ของกทม. คือ ที่ดินสีแดง ( ที่ดินประเภทที่อยู่ในที่ดินที่มุ่งเน้นไปในทางพาณิชยกรรมสูง )  มองดูแล้วน่าจะไปใช้ประโยชน์ทางด้านพาณิชยกรรมได้มาก สอดรับกับข้อกังวลของประชาชน ว่าจะเป็นการขยายกลุ่มทุนหรือไม่ บ้านของเขาจะได้รับผลกระทบหรือไม่  ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด

            ทั้งนี้กทม.บอกว่าได้ไปรับฟังความคิดเห็นประชาชน มาแล้วเจอเสียงสะท้อนกลับมาว่า  ผู้คนกังวลและรู้สึกว่าบ้านของตัวเองที่กำลังพักอาศัยอยู่ วันดีคืนดีในซอยบ้านของเขามีอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่มาปลูกสร้าง  จะมีผลกระทบต่อบ้านของเขาหรือไม่  ซึ่งกทม. บอกว่าให้เข้าไปค้นหาข้อมูลทางเว็บไซต์ของสำนักงานผังเมือง กทม.ได้เลย โดยนำบ้านเลขที่ของตนเองกังวลนี้ ไปตรวจสอบว่าตอนนี้ผังบ้านคุณได้รับผลกระทบหรือไม่  ถ้ารู้สึกว่าผังสีเปลี่ยนไปก็ให้แสดงความคิดเห็น มายังกทม.ได้เลย แต่ถ้าไม่ได้รับผลกระทบ แต่อยากแสดงความคิดเห็น เรื่องอื่นๆก็แสดงความคิดเห็นมาได้

“แจง พื้นที่กทม.มีหลายมิติ ต้องมองรอบด้าน” 

            ภัทราพร บอกว่า  ที่ประชาชนมองว่าภาพรวมใหญ่ เป็นการเอื้อกลุ่มทุนหรือไม่ เพราะมีโครงการตามแนวรถไฟฟ้าเกิดขึ้นมากมาย เหลื่อมล้ำคนจนเพราะแทบจะไม่ได้ไปซื้อที่อยู่ด้านริมรถไฟฟ้า  มุมแบบนี้กทม.อธิบายว่า พื้นที่กรุงเทพมหานครมีหลายมิติ ความกระจุกตัวของเมือง ก็ต้องดูให้ครอบคลุมด้วย ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยว ความเหลื่อมล้ำ ด้านธรรมชาติ  ด้านสีเขียวและเกษตรกรรม รวมถึงฝั่งการอนุรักษ์ด้วย  ก็อยากจะให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

            คำถามใหญ่ คือ ริมรถไฟฟ้า กทม.ก็อธิบายว่าตอนนี้รถไฟฟ้า ออกชานเมือง เช่น  มีนบุรี  หนองจอกมากขึ้น ก็อาจจะทำให้คนกระจายการอยู่อาศัยในชุมชนเมืองกทม. ออกไปชานเมืองด้วย เรื่องแบบนี้กทม. ก็บอกว่าพยายามที่จะให้บาลานซ์กัน 

 “ปมน้ำท่วม จุดอ่อนไหว พื้นที่กรุงเทพฯ-ผว.ชัชชาติ เล็งขยายพื้นที่แก้มลิงรับน้ำ” 

            ภัทราพร บอกว่า  ตอนที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผว.กทม.เข้ามาทำงาน เขาชัดเจนว่าพยายามหาพื้นที่แก้มลิง ไม่ใช่พูดเรื่องผังเมืองอย่างเดียว  ต้องยอมรับว่าจุดอ่อนไหวที่สุดของกทม. คือเรื่องของน้ำท่วมและท่วมทุกปี ฉะนั้นสิ่งที่เขาทำตอนนี้ คือ การไปเจรจากับเอกชนว่าที่ไหน พอจะมีที่ดินเป็นพื้นที่กว้างๆ เป็นบ่อกว้างๆก็ให้ไปดำเนินการ ซึ่งตอนนี้กทม. ขับเคลื่อนได้ประมาณ 1,000 ไร่แล้ว สำหรับการทำแก้มลิง 

            ทิศทางของกทม.อยู่ในช่วงของการจัดการผังน้ำทั้งหมด  รวมถึงการขุดลอกท่อ ก็จะเห็นภาพชัดว่าปีที่แล้ว กทม.ระดมเรื่องของการลอกท่อ เพราะต้องการให้น้ำจากบนถนน ไหลลงท่อระบายน้ำและไหลลงสู่คลอง  ที่อยู่ใกล้กับท่อระบายน้ำ ซึ่งคลองนี้จะไหลไปออกไปตามคลองสายหลักต่างๆ และออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนเส้นทางน้ำและคลองที่ยาว  ทางกทม.จะใช้เครื่องผลักดันน้ำ เข้ามาระดมในการดึงน้ำระบายออกไป ปีที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า  ทำไมกทม. ถึงให้ความสำคัญกับการเร่งลอกคูคลองและดึงน้ำจากพื้นถนนลงไปยังคลอง 

กทม.จัดเวทีรับฟังปรับปรุงผังเมืองหลายครั้ง กำลังโฟกัส 4 ผัง”

             ภัทราพร บอกว่า ที่ผ่านมากทม.เคยจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เป็นระยะนานหลายปีแล้ว ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย ก่อนจัดทำร่าง 1 ครั้ง แต่ว่ากทม. เปิดไปแล้ว 7 ครั้ง มีการอธิบายว่าการจัดประชุมครั้งแรก เกิดขึ้นในกลุ่มปริมณฑล ตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 เช่น  จัดประชุมด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านคมนาคม ด้านผังน้ำ 

            ส่วนเวทีใหญ่เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น (ดินแดง) ภาคประชาสังคมและเครือข่ายภาคประชาชนมองว่ามีหลายปัญหา ซึ่งกทม.ได้ชี้แจงทีละประเด็นว่า ทำไมถึงต้องมีการปรับปรุงผังเมือง เพราะเป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย ที่กำลังโฟกัสกันอยู่ตอนนี้มี 4 ผัง เพื่อปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือแผนผังแสดงในที่โล่ง แผนผังแสดงด้านคมนาคมขนส่ง ด้านโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ รวมทั้งกฎหมายใหม่บังคับเพิ่มให้มีอีก 2 ผัง คือ ผังทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและผังน้ำ จึงต้องมีการมารับฟังความเห็นในรอบนี้  

            ภัทราพร บอกว่า  ในยุคของผว.กทม.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในปี 2566 จัดเวทีทั้งหมด 7 ครั้ง กลุ่มโซนต่างๆในเขตกรุงเทพฯ เพราะมองว่าแต่ละโซนนี้เป็นสเกลที่เล็กกว่าภาพรวมใหญ่ ของกรุงเทพทั้ง 50 เขต จึงให้แต่ละโซนไปรับฟังความคิดเห็นกันมาก่อน  เมื่อแต่ละโซนทั้ง 50 เขตไปรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว

             จึงเกิดเวทีในวันที่ 6 มกราคมเป็นการประชุมครั้งที่ 7 รวม 50 เขต มีทั้งภาคประชาชน , เครือข่ายประชาสังคม , สส.และกลุ่มที่สนใจติดตามเรื่องผังเมืองเข้ามาร่วมด้วย มีการตั้งคำถามหนักมากต่อกทม.  โดยภาคประชาสังคมก็บอกว่า เป็นการเอื้อกลุ่มทุน , มองไม่รอบด้าน , การรับฟังความคิดเห็นใช้เวลาน้อยเกินไป , ผังนี้ลดความเหลื่อมล้ำผังอื่นๆหรือไม่ บ้านที่หนาแน่นอยู่แล้วบางจุด มีสีแดงโผล่ขึ้นมาอยู่จุดเดียว หรือฟลัดเวย์ที่เป็นเส้นทางน้ำเดิม หายไปตรงโซนสุวรรณภูมิ ตรงนี้ก็มีคำตอบและอธิบายจากกทม.พอสมควรเช่นกัน 

 “กทม.ตั้งโต๊ะแจง ปัด เอื้อกลุ่มทุน-ขยายเวลารับฟังความเห็น หลังเสียงสะท้อนอื้อ”  

            ภัทราพร บอกว่า  วันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา กทม.ได้จัดแถลงชี้แจงว่า ไม่ได้เอื้อกลุ่มทุน แต่รับฟังเสียงสะท้อนที่ออกมามากมายจริงๆ การรับฟังความคิดเห็น จะต้องไปสิ้นสุดในวันที่ 22 มกราคมนี้ตามแผนเดิม  แต่พอมีเสียงสะท้อนความคิดเห็นต่างๆออกมาเยอะ ก็กลายเป็นว่า วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  สั่งขยายระยะเวลาออกไปเป็นสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 

            “ถ้ามองในมุมมองของกทม. ซึ่งดิฉันได้ไปคุยมาเขาบอกว่า ไม่ได้พอใจร่างนี้เช่นกัน ซึ่งผู้บริหารกทม. พูดชัดมาตั้งแต่แรกแล้วว่าเป็นร่างเดิมตั้งแต่ปี 2561 มีมาก่อนยุคผู้ว่าฯชัชชาติจะเข้ามาบริหาร ต่อมามีการปรับปรุงในปี 2564 และเป็นร่างของปี 2564 ที่นำมาใช้รับฟังความคิดเห็น เพราะฉะนั้น ในมุมของผู้บริหารกทม. บอกว่านโยบายนี้เอาท์ เพราะมีหลายเรื่องที่ต้องปรับปรุงเช่นกัน ฉะนั้นช่วงเวลาที่เหลืออยู่ไปถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้  ทุกคนจะได้ระดมความคิดเห็น หากไม่โอเคตรงจุดไหน ให้สะท้อนความคิดเห็นกลับมาได้เลย ผ่านทางออนไลน์และเว็บไซต์ของสำนักงานผังเมืองกทม.”

            ภัทราพร บอกว่า บทสรุปคือ หลังจากรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว จะต้องไปผ่านคณะกรรมการใหญ่อีก 3 ชุด คือ คณะกรรมการระดับจังหวัด หมายถึงกรุงเทพมหานคร แต่ผู้ว่าฯกทม.ไม่ได้เป็นประธาน จากนั้นต้องไปที่คณะกรรมการโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งไม่เกี่ยวกับกทม.อีก และสุดท้ายไปจบที่คณะกรรมการของกระทรวงมหาดไทย…ดังนั้นจึงต้องใช้เวลา

            ติดตาม“รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” วันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5​