“สว.ชุดนี้พยายามสร้างผลงานทิ้งทวน เพราะมีวาระ 5 ปีและจะครบกลางปีนี้ ต้องการให้ประชาชนจดจำว่าทำงาน 5 ปี พยายามติดตามตรวจสอบ การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล แต่กลับกลายเป็นว่ามาตรวจสอบเฉพาะรัฐบาลเศรษฐา”
ญาณี ไหว้ครู ผู้สื่อข่าว (การเมือง) สถานีโทรทัศน์ Thai PBS ฉายภาพรวม “วุฒิสภาเตรียมเปิดเวทีซักฟอกรัฐบาล ทิ้งทวนก่อนหมดวาระ !!” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า ถ้ามองจุดอ่อนของรัฐบาลเศรษฐาที่ สว.จะอภิปราย เราทราบกันดีว่ารัฐบาลเศรษฐา เพิ่งบริหารประเทศได้เพียง 4-5เดือนเท่านั้น ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่แล้วเสร็จ รัฐบาลยังไม่ได้ใช้เงินจากงบประมาณดังกล่าว ก็อาจจะยังไม่มีปัญหาเรื่องการทุจริต หรือใช้งบประมาณไม่เหมาะสม
หรือเป็นประเด็นข้อสงสัยทางสังคม ที่ยังไม่กระจ่าง คือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต , กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อาจจะได้รับประโยชน์จากระเบียบของกรมราชทัณฑ์ เพราะสามารถเข้าข่ายการพักโทษ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้
ญาณี บอกว่า การอภิปรายของ สว. ในครั้งนี้ไม่น่าจะเกิดแรงกระเพื่อม ส่งผลกระทบให้เกิดการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะเป็นการอภิปรายทั่วไป ตั้งคำถามประเด็นปัญหาต่างๆให้รัฐบาลตอบ ซึ่งแตกต่างกับของสส.ที่ต้องมีการลงมติ ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า สว.ชุดปัจจุบัน มีที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งสมัยนั้นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่สมัยนี้เปลี่ยนรัฐบาลไปแล้ว
“สว.ชุดนี้พยายามสร้างผลงานทิ้งทวน เพราะมีวาระ 5 ปีและจะครบกลางปีนี้ ต้องการให้ประชาชนจดจำว่าทำงาน 5 ปี ได้พยายามติดตามตรวจสอบ การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล แต่กลับกลายเป็นว่ามาตรวจสอบเฉพาะรัฐบาลเศรษฐา ก็ต้องดูข้อมูลเชิงลึกที่ สว.จะนำมาอภิปราย จะทำให้ประชาชนแคลงใจมากน้อยแค่ไหน หรือส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ให้รัฐบาลเสียเครดิตจากประชาชน และจะส่งผลในระยะยาว ถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าได้หรือไม่”
“ตามดู 7 ปม สงสัยของ สว.-ระยะเวลาอภิปรายอยู่ที่วิปวุฒิสภาตกลงกับรัฐบาล”
ญาณี บอกว่า ต้องติดตามดูว่าถ้า สว.ยื่นญัตติขอเปิดอภิปราย ไทม์ไลน์ในการอภิปรายจะเป็นวันก่อนหรือหลัง ช่วงที่นายทักษิณจะได้รับประโยชน์ ซึ่ง สว.ได้วางประเด็นที่จะอภิปรายไว้ คือ 1.ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องประชาชน 2.ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย 3. ปัญหาด้านพลังงาน 4.ปัญหาการศึกษาและสังคม 5.ปัญหาการต่างประเทศและท่องเที่ยว 6.ปัญหาแก้รัฐธรรมนูญ และ 7. ปัญหาการปฏิรูปประเทศ
เวลาในการอภิปรายขึ้นอยู่กับการเจรจาของวิปวุฒิสภา และตัวแทนจากรัฐบาลที่ลิสต์มา 7 ประเด็น ผู้ยื่นอภิปราย 98 คน แต่ไม่ใช่ว่าจะอภิปรายทั้งหมด อาจจะแค่ 30 หรือ 40 คนเท่านั้น เวลาเพียง 2 วัน ให้คนละ 20 นาที ก็น่าจะเพียงพอ หรือถ้ารัฐบาลมีเวลาไม่มากพอ อาจจะอภิปรายเพียงวันเดียวก็ได้ อยู่ที่การตัดสินใจของนายเศรษฐา เพราะจะต้องเป็นคนนำ ครม.มาชี้แจงต่อวุฒิสภาด้วยตัวเอง
“คาด เวที สว.ไม่ดุเดือดเท่า สส.ซักฟอก รัฐบาล - เชื่อ โบ้ย“ภูมิธรรม-ทวี” แจง หากพาดพิงถึงแม้ว”
ญาณี บอกว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์จากข้อมูลของ สว. เพื่อให้กลับไปชั่งใจว่า รัฐบาลนี้บริหารประเทศอย่างไร ทิศทางอนาคตของประเทศจะเป็นไปทางไหน ถ้าสว.คนใดคนหนึ่งมีข้อมูลที่เด็ดหรือดีพอ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ตรงนี้รัฐบาลก็ต้องระวังด้วย แต่คิดว่าการอภิปรายของสว.ครั้งนี้ ไม่น่าจะดุเดือดเผ็ดมัน เท่ากับการอภิปรายไม่ไว้วางใจของสส. เพราะทำหน้าที่ทิ้งทวนก่อนหมดวาระ การที่สว. ยื่นญัตติขอเปิดอภปรายทั่วไปรัฐบาล สมาชิกวุฒิสภาก็ไม่ได้เห็นด้วยทั้ง 250 คน
ความจริงแล้วทุกคนได้ซักซ้อมก่อนหน้านี้ จากการตั้งกระทู้สดของ สส.ทุกสัปดาห์ แต่สำหรับนายเศรษฐาอาจเป็นการซักซ้อม เพราะไม่เคยมาตอบกระทู้ ในประเด็นที่รุนแรงจากฝ่ายค้าน แต่ตอบกระทู้ของฝ่ายรัฐบาลเองแบบเบาๆ นอกจากนี้นายเศรษฐาเคยชี้แจง ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ เป็นข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานนำรายละเอียดมาให้ ยังไม่ได้ตอบชัดเจนหรือชี้แจงฝ่ายค้าน เรื่องของการเมืองจริงๆ และพยายามเลี่ยงประเด็นนี้ โดยมอบหมายคนอื่นมาตอบแทน แต่ประเด็นทางวิชาการและด้านเศรษฐกิจนายเศรษฐาเป็นผู้ตอบเอง
ถ้ามีการสอบถามถึงนายทักษิณ ก็เชื่อว่านายเศรษฐาอาจจะมอบหมายให้คนอื่นมาตอบ แม้ว่าอาจจะตอบเองบ้างหลักๆ แต่เนื้อหาในรายละเอียดก็น่าจะมอบนายภูมิธรรมเวชชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กับพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ที่รับผิดชอบโดยตรง
ญาณี ทิ้งท้ายว่า ประเด็นทั้งหมดนี้ รวมถึงติดตามการปฏิรูปประเทศ ถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ สว. ตามอำนาจหน้าที่ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่ารัฐบาลเศรษฐา แม้ว่าทำงานมาระยะหนึ่ง แต่ก็ปูทางสร้างผลงานไว้เยอะ ในการเข้าร่วมประชุมเวทีระดับโลกต่างๆ เดินทางไปทุกประเทศ ก็พยายามพบปะเอกชนนักลงทุน เพื่อยื่นข้อเสนอตามสไตล์ “นายกฯนักธุรกิจ” ทุกครั้งที่กลับมาประเทศไทย ก็จะโชว์ผลงานการเจรจา แต่ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ว่านักลงทุนแต่ละประเทศ จะเข้ามาในประเทศไทยอย่างไรตรงนี้…คงต้องติดตามกัน
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00 - 12.00 น. โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5