“นักวิชาการประเมินว่า เส้นทางของพรรคก้าวไกลก็อาจจะไม่ราบรื่นนัก แม้จะรอดพ้นจากมิติสงคราม ทั้งมาตรา 112 หรือหุ้นไอทีวี แต่ในอนาคตยังคงอยู่บนเส้นทางขรุขระ อาจจะมีเรื่องเล็กๆน้อยๆหรือยิบย่อย ที่อาจจะมีใครร้องเพื่อให้ยุบพรรคหรือตัดสิทธิ์ทางการเมือง ฉะนั้นไม่ว่าพรรคก้าวไกลจะรอด 2 คดีนี้หรือไม่ ก็ต้องลุ้นรายวัน เพราะเป็นพรรคที่มีความเปรี้ยว ถูกจับจ้องจากสังคมและคู่แข่งทางการเมือง”
“คัชฑาพงศ์ ลีลาพงศ์ฤทธิ์ ผู้สื่อข่าว สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี” วิเคราะห์ “พรรคก้าวไกล ปม คดีล้มล้างการปกครอง แรงกระเพื่อมการเมืองไทยหรือไม่” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยในวันที่ 31 มกราคมนี้ กรณีพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคฯ และกรณีพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) โดยชูเป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จะเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
“ยกหูคุยคนร้องศาล ปม การกระทำพรรคก้าวไกล”
คัชฑาพงศ์ บอกว่า อาจจะไม่เข้าข่ายถึงขั้นยุบพรรค เพราะในคำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกสร เป็นผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การกระทำของพรรคก้าวไกล ขอให้ศาลสั่งยุตติการดำเนินกิจกรรมเท่านั้น ไม่ได้ระบุให้ยุบพรรค ฉะนั้นศาลก็อาจจะไม่ตีความเกินเลยกว่าที่คำร้องระบุ
ผมได้โทรศัพท์พูดคุยกับนายธีรยุทธ ได้รับคำตอบว่าไม่มีเจตนาที่จะยุบพรรคก้าวไกล แต่ไม่สบายใจที่การกระทำของพรรคก้าวไกล ระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง เสนอแก้ไขมาตรา 112 เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์หรือล้มล้างการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ เพราะกระทบความรู้สึกคนไทยส่วนใหญ่ และกระทบสถาบันซึ่งเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้
“พรรคการเมืองมีสิทธิเสรีภาพได้ แต่ต้องไม่ทำลายหลักการกฎหมายรัฐธรรมนูญ”
คัชฑาพงศ์ บอกว่า แม้พรรคการเมืองจะมีสิทธิเสรีภาพ และมีสิทธิ์ตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญรับรอง แต่การกระทำนั้นต้องไม่ทำลายหลักการ พื้นฐานของรัฐธรรมนูญ ซึ่งในรัฐธรรมนูญเองก็มีบทบัญญัติคุ้มครองอยู่ว่า ทรงเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดหรือก้าวล่วงไม่ได้ ตรงนี้ทำให้หลายฝ่ายมองว่าคำวินิจฉัยที่จะออกมาในวันที่ 31 มกราคมนี้ จะกลายเป็นชนวน ยื่นร้องยุบพรรคก้าวไกลในอนาคตหรือไม่
เพราะถ้าเทียบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เคยมีออกมาก่อนหน้านี้ กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ ที่มีการเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีโดยมิควร ศาลได้ให้บรรทัดฐานมาเหมือนกัน เช่น คำนิยามของการเป็นปฏิปักษ์ ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการกระทำที่บ่อนทำลาย จนเกิดความชำรุดทรุดโทรมอ่อนแอลง
“ยกคำวินิจฉัยสมัย รบ.บิ๊กตู่ ทำบางคนคาดการณ์ 31 ม.ค.นี้ อาจจะเป็นหัวเชื้อสู่การยุบก้าวไกล”
คัชฑาพงศ์ บอกว่า นอกจากนี้ยังมีคำวินิจฉัยอีกฉบับหนึ่ง ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่กลุ่มผู้ชุมนุมนักศึกษาได้ ไปจัดเวทีชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต โดยเสนอ 10 ข้อเกี่ยวกับสถาบัน ซึ่ง 1 ในนั้นเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 ด้วย ตรงนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยออกมาว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้สถาบัน ไม่อยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ อาจนำนำไปสู่ความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเกินความพอเหมาะพอควร กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ อาจนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะฉะนั้นบางคนจึงคาดการณ์ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 31 มกราคมนี้ อาจจะเป็นหัวเชื้อหรือสารตั้งต้น ที่นำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกลก็เป็นได้
“บางมุมเห็นต่าง ก้าวไกลใช้ประโยชน์จาก ศาลรธน.เป็นทางลง”
คัชฑาพงศ์ บอกว่า แต่มีข้อจำกัดอีกเรื่องหนึ่ง คือ นโยบายแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ที่ใช้เป็นแคมเปญหลักในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา แต่การเลือกตั้งจบไปแล้ว จะเอาผิดย้อนหลังได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันแม้พรรคก้าวไกล จะเสนอหลายร่างกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณา แต่กฎหมายมาตรา 112 พรรคก้าวไกลยังไม่ได้เสนอให้สภาพิจารณา
ขณะที่อีกมุมหนึ่งตีความกันว่า พรรคก้าวไกลอาจจะใช้ประโยชน์ จากศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีการอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 31 มกราคมนี้ เป็นทางลงของพรรคต่อนโยบายมาตรา 112 เห็นได้ว่าการกลับมาของนายพิธา มีการแถลงโรดแมป และเป้าหมายของพรรคก้าวไกล แต่ไม่รวมไปถึงมาตรา 112 จึงเป็นข้อสงสัยกันว่า สรุปแล้วพรรคก้าวไกลจะเอาอย่างไร ซึ่งนายพิธาบอกว่าต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน จึงมีการตีความกันว่าพรรคก้าวไกลอาจจะใช้ประโยชน์จากตรงจุดนี้ เพราะเคยมีบทเรียนมาแล้วว่า ที่ผ่านมาไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะประเด็นนี้พรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วย
“คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ผูกพันกับทุกองค์กร”
คัชฑาพงศ์ บอกว่า ถ้าศาลวินิจฉัยเป็นคุณกับพรรคก้าวไกล ก็อาจจะเป็นอย่างที่นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บอกว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายต่างๆ ไม่สามารถล้มล้างการปกครองได้ เพราะต้องผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ และผ่านวาระสาม ยังมีช่องทางในการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้อีกว่า เป็นไปตามชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งหากเป็นอย่างที่นายชัยธวัตรบอก แน่นอนเลยว่าพรรคก้าวไกลก็อาจจะเต็มที่กับการนำเสนอนโยบายนี้
ซึ่งเป็นจุดแตกต่างในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ที่ปัจจุบันเป็นคู่แข่งทางการเมือง ฉะนั้นถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้ออกมาเป็นคุณแน่นอนว่าการนำเสนอนโยบาย ของพรรคก้าวไกลที่นำเสนอต่อสาธารณชน ก็อาจจะเป็นอิสระขึ้น เพราะศาลชี้มาว่าเป็นคุณแล้ว ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะผูกพันกับทุกองค์กรด้วย เช่น ถ้าศาลสั่งว่าห้ามทำ ทุกองค์กรก็ต้องห้ามทำเพราะถือเป็นบรรทัดฐาน ถ้าศาลไฟเขียวก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจขององค์กร ว่าจะต้องทำอยู่ในขอบเขตไหน แต่ต้องไม่ขัดขัดกับกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน
“นักวิชาการประเมินว่า เส้นทางของพรรคก้าวไกลก็อาจจะไม่ราบรื่นนัก แม้จะรอดพ้นจากมิติสงคราม ทั้งมาตรา 112 หรือหุ้นไอทีวี แต่ในอนาคตยังคงอยู่บนเส้นทางขรุขระ อาจจะมีเรื่องเล็กๆน้อยๆหรือยิบย่อย ที่อาจจะมีใครร้องเพื่อให้ยุบพรรคหรือตัดสิทธิ์ทางการเมือง ฉะนั้นไม่ว่าพรรคก้าวไกลจะรอด 2 คดีนี้หรือไม่ ก็ต้องลุ้นรายวัน เพราะเป็นพรรคที่มีความเปรี้ยว ถูกจับจ้องจากสังคมและคู่แข่งทางการเมือง”
“ก้าวไกล ค้านยุบพรรค โบ้ย ประชาชนมีสิทธิรวมตัว”
คัชฑาพงศ์ บอกว่า พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วย กับการยุบพรรคการเมือง เพราะมีชุดความคิดว่า พรรคการเมืองเป็นการรวมตัวของประชาชน ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรใช้อำนาจยุบพรรคการเมืองที่รวมกลุ่ม เป็นสิทธิสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ในอีกมุมหนึ่งการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญกำหนด
แนวคิดของพรรคก้าวไกลที่ว่า พรรคการเมืองควรแต่งตั้งง่ายแต่ยุบยาก เพราะถ้าศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคทุกอย่างก็จบ แนวคิดนี้จึงยังเป็นแนวคิดระหว่างองค์กรที่ขัดแย้งกัน เพราะการจะสั่งยุบพรรคต้องดูคำร้องตั้งต้นที่เป็นเอกสาร ซึ่งผู้ร้องยื่นให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เช่น กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) เคยร้องให้พิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติ จากการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีโดยมิบังควร ตรงนี้ในคำร้องระบุว่าให้พิจารณายุบพรรค เพราะเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง แต่ในกรณีของคดีมาตรา 112 ในคำร้องไม่ได้ระบุให้ยุบพรรค ฉะนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็อาจจะไม่ใช้อำนาจเกินเลยกว่าที่คำร้องระบุ ตรงนี้เป็นดุลพินิจของศาลซึ่งผมไม่อาจก้าวล่วงคำวินิจฉัยได้
“พิธา รอดปมไอทีวี เหตุ ศาลวินิจฉัยตามพยานหลักฐาน”
กรณีนายพิธา ถ้าเป็นกองเชียร์ก็คิดว่ายังไงก็รอด เพราะไอทีวีไม่ได้ทำกิจการสื่อนานแล้ว แต่ถ้าเป็นกองแช่งก็อาจจะมองว่าไม่รอด ตัวแปรสำคัญอยู่ที่ว่าไอทีวีตอนนี้เป็นสื่อหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยออกมาแล้ว จากการไต่สวนรวบรวมข้อมูลและพยานทั้งหมด สรุปว่า ไอทีวีหมดสิทธิ์ที่จะประกอบกิจการสื่อมวลชนไปแล้ว จึงทำให้นายพิธารอดจากคดีหุ้นไอที
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5