“ตอนนี้เป็นยุคที่มีสื่อมวลชนเป็น Influencer เต็มไปหมด แต่เราต้องการที่จะเสริมสร้าง Influencer ข่าวที่มีจรรยาบรรณจริยธรรมสื่อมวลชนด้วย ตรงนี้คือสิ่งที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์เล็งเห็นว่ามีความจำเป็น”
"พริสม์ จิตเป็นธม" รองบรรณาธิการข่าว สำนักข่าว TODAY ในฐานะวิทยากรโครงการเสริมสร้างจริยธรรมและพัฒนาศักยภาพ สำนักข่าวขนาดเล็กเพื่อความยั่งยืน ปีที่ 2 เล่าถึง “การพัฒนาศักยภาพสำนักข่าวขนาดเล็กเติบโตอย่างยั่งยืน” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เห็นตรงกันว่าสื่อขนาดเล็กที่สามารถตั้งตัวได้ หากทำให้มีศักยภาพขึ้น ก็จะทำให้เห็นสำนักข่าวขนาดเล็ก หรือ Influencer ด้านข่าวจำนวนมาก และสามารถนำเสนอข้อมูลถูกต้องตามจรรยาบรรณและวิชาชีพได้
ค่ายพัฒนาศักยภาพสำนักข่าวจิ๋ว เน้น 'จริยธรรม' - ระดมคนข่าวให้ความรู้
''พริสม์'' บอกว่า หัวข้อในการสัมมนาครั้งนี้ที่สำคัญมาก คือ เรื่อง ''จริยธรรม'' ได้หยิบยกขึ้นมาสัมมนาเป็นเรื่องแรก ซึ่งการผลิต Content มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายด้วย ทั้งลิขสิทธิ์, กฎหมายที่ควรรู้เกี่ยวกับสำนักข่าวออนไลน์ อาทิ การใช้เนื้อหาจากแหล่งไหน, ใช้ภาพจากส่วนไหน เพื่อให้คนที่ต้องการจะทำสำนักข่าวของตัวเอง ทราบว่า แบบใดเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือแบบใดเป็นลิขสิทธิ์ของตัวสำนักข่าวตนเอง
''พริสม์'' เห็นว่า สื่อมวลชนในยุคนี้ เป็นยุคภูมิทัศน์สื่อปรับเปลี่ยนไป มีเรื่องออนไลน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และหลายสื่อ หันมาลงข่าวเป็นออนไลน์มากขึ้นมากกว่า 5 ปีก่อนที่ผ่านมาที่ “สำนักข่าว TODAY” เริ่มก่อตั้งขึ้นมา ซึ่งในยุคนี้เริ่มเห็นรูปแบบของการผลิตสื่อควบคู่กับโมเดลธุรกิจ และเรื่องที่สำคัญเลย คือ การรักษาจรรยาบรรณ และจริยธรรมสื่อมวลชน
''พริสม์'' บอกว่า การอบรมครั้งนี้ได้หลากหลายธุรกิจมาเป็นวิทยากรให้ความรู้ และยังมีคนข่าวที่อยู่ในวงการข่าวมานาน อาทิ แยม-ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters ซึ่งรู้ข้อมูลข่าวสาร และได้เปิดช่องทางออนไลน์ทำให้คนติดตามเนื้อหาข่าวที่ตั้งใจอยากจะนำเสนอจำนวนมาก, เอม-นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว TODAY ที่ผ่าโมเดลธุรกิจสื่อ ทั้งจากรายได้ของ Platform และรายได้จาก Partner ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาจรรยาบรรณวิชาชีพอยู่ เป็นต้น
ในการผลิตเนื้อหาบน Platform นั้น ''พริสม์'' อธิบายว่า เราได้วิทยากรจาก TikTok มาด้วย ซึ่งหลังจากที่สำนักข่าวขนาดเล็ก หรือผู้สื่อข่าวชั่วคราว (Stringer) ต่าง ๆ มีทักษะความรู้ความสามารถด้านวิชาชีพอยู่แล้ว ต้องการที่จะปรับตัวเข้าสู่ภูมิทัศน์สื่อใหม่ เชื่อว่าหลายคนอาจจะใช้ TkTok เล่นกันบ่อย รวมถึงยังมี “ทัพพนัย บุญบัณฑิต จาก Lifestyle & Education Partnership Manager” มาสอนเรื่องการนำเอาองค์ความรู้ด้านข่าว มาผลิตบนแพลตฟอร์ม TikTok และเราได้นำข้อมูล หรือ information ตัวจริงมาอธิบายว่า รูปแบบของ Influencer ทำ Content อย่างไร แล้วจะได้เงินจากการเป็น Influencer ได้บ้าง จากนั้นค่อยนำมาประยุกต์ว่า ต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพด้วยว่า ขอบเขตใดคือข่าว หรือเป็นข่าวแล้ว และมาดูเป็น Business Model เดียวกัน
บ่มเพาะนักข่าว สู่ Influencer ที่มีจรรยาบรรณ-จริยรรมสื่อฯ
''พริสม์'' ยังเล่าให้ฟังว่า มีสำนักข่าวซึ่งเป็น Stringer มาก่อน และต้องการจะตั้งสื่อของตัวเองเป็นสื่อท้องถิ่น ในระหว่างการอบรมก็ได้ให้ลองมาเขียน Model ต่างๆ มีทีมวิชาการคิดหาโมเดล หา Stakeholders ต่าง ๆ Media Eecology และดูว่า Pain Point ของเราคืออะไร เพื่อที่จะก่อตั้งเป็นธุรกิจสื่อ ไปแข่งขันกับคู่แข่งอื่น ๆ ในตลาดได้ด้วย ซึ่งตรงนี้ถือเป็นที่เรื่องแรก ๆ ที่ต้องการให้สื่อมวลชน ซึ่งเคยเป็นอดีตนักข่าว หรือเป็นนักข่าวอยู่ และต้องการจะทำธุรกิจสื่อขึ้นมาได้เรียนรู้เรื่องของ Business Model ได้
“ตอนนี้เป็นยุคที่มีสื่อมวลชนเป็น Influencer เต็มไปหมด แต่เราต้องการที่จะเสริมสร้าง Influencer ข่าว ที่มีจรรยาบรรณจริยธรรมสื่อมวลชนด้วย ตรงนี้ คือ สิ่งที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์เล็งเห็นว่ามีความจำเป็น” พริสม์ กล่าว
“Fact News" จุดแข็ง 'Content' คนข่าว
''พริสม์'' ยอมรับว่า ยุคนี้ Fake News เยอะมาก แต่สื่อมวลชน และบุคลากรในวิชาชีพสื่ออยู่กับข้อมูลอยู่แล้ว ซึ่งเป็นข้อมูลด้านที่ถูกต้องด้วย สิ่งสำคัญ คือ เรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพที่เรายึดถือกัน อยากให้สื่อมีช่องทางในการผลิต Content สื่อของตัวเองที่เป็น Content fact News หรือ ความจริง ไม่ใช่ Fake News มานำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเพิ่มมากขึ้น เมื่อเรามีช่องทางของตัวเองแล้ว และเล็งว่า จะเปิดช่อง TikTok หรือ X ( Twitter ) หรือตอนนี้ทำได้หมดแล้ว เพียงแค่เริ่มออกมาลองทำ เราก็จะได้มีข้อมูลจากพี่ ๆ นักข่าวในวงการ ที่มีข้อมูลน่าเชื่อถือ และมีแหล่งข่าวที่อยู่ในมือของทุกคน ออกมานำเสนอสู่ประชาชนได้มากขึ้น ดีกว่าที่ให้ประชาชนไปติดตามติดตามจาก Influencer ที่นำข่าวจากสำนักข่าวไปเล่าอีกที ตรงนี้จะช่วยให้มีช่องทางของตัวเองมากกว่าช่องทางที่ผ่านสำนักข่าวในสังกัดของตัวเองด้วย
“คนข่าวเราหาตังค์ไม่เก่ง แต่เราเก่งเรื่อง Content มีแหล่งข่าวอยู่ในมือ รู้ว่า อะไรคือประเด็นข่าว อะไรคือประโยชน์สำคัญ ที่ประชาชนควรจะได้รับรู้ ขณะเดียวกัน ก็มีดราม่า เรื่องของ Influencer นำ Content ที่นักข่าวได้ไปทำข่าว ไปรายงานผ่านทาง Social Media และได้เงินด้วย ตรงนี้เป็นจุดที่น่าเสียดายมาก ๆ เราคิดเกิดโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะทำให้นักข่าวมี Model ธุรกิจของตัวเอง และข่าวที่ออกไปจากน้ำมือ น้ำพัก น้ำแรงของเราเอง ก็ได้รายได้ด้วยตรงนี้คือสิ่งสำคัญมาก ๆ ”
“2 สมาคมสื่อ พร้อมสานต่อกิจกรรม เล็งเพิ่มพาร์ทเนอร์”
''พริสม์'' บอกว่า ในปีต่อ ๆ ไปทั้ง 2 สมาคมยังคงจัดกิจกรรมดังกล่าวอยู่ เพราะเห็นความสำคัญกับภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป ซึ่งการพัฒนา และการปรับเปลี่ยนรูปแบบการอบรมหลักสูตร จะมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในปีนี้เราเพิ่มเรื่องของการขอทุนมาด้วย เพราะบางครั้ง นักข่าว อาจไม่ถนัดในเรื่อง Business Model อาจยังไม่เห็นว่าจะหารายได้อย่างไร และต้องคำนวณต้นทุน-ขาดทุนอย่างไร ซึ่งจะมีสอนให้ทั้งหมด ตั้งแต่โครงการอบรมครั้งที่แล้ว แต่ครั้งนี้ ไดเพิ่มไปว่า รายได้ไม่ได้มาจาก Platform อย่างเดียว และไม่ได้มาจากโฆษณาอย่างเดียว แต่ต้องหาทุนได้ด้วย คือ การเขียนขอทุนว่าเราอยากผลิตชิ้นงานชิ้นนี้ จะขอทุนสนับสนุนได้หรือไม่ จากหลากหลายองค์กรทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งทุนที่สามารถทำได้
''พริสม์'' บอกว่า ระหว่างอบรมได้รับ Feed Back ว่า ผู้เข้าร่วมอบรมอยากให้มี Partner มามากขึ้น เพราะตอนนี้สำนักข่าวขนาดเล็ก เราคัดมาเพียงสำนักข่าวละหนึ่งคน เนื่องจากจำนวนจำกัด ทำให้อาจจะไม่มี Partner ช่วยกันคิดว่าทิศทางต่อไปจะเป็นอย่างไร ซึ่งปีหน้าตั้งใจว่า อาจจะให้มีสำนักข่าวละ 2 คน เพื่อมาช่วยกันคิด Business Model จะทำให้เห็นความรอบด้านมากขึ้นของแต่ละตัวสำนักข่าว ให้ออกมาพร้อมจะกลับไปทำงานได้อย่างแท้จริง และในวันที่ 2 ของการอบรมครั้งนี้ มีคนตั้งสำนักข่าวขึ้นมาภายในค่ายเลย ถือว่า ได้แรงบันดาลใจจากวันแรก เขาบอกว่า ไปเปิดเพจแล้ว พร้อมที่จะทำของตัวเองเลย ซึ่งเราคาดหวังว่า แต่ละคนจะกลับไปมีช่องทางของตัวเองได้ และปีหน้า จะได้เจอทั้งความสนุก และการอัดแน่นของรูปแบบหลักสูตรที่เข้มข้นอย่างนี้เหมือนเดิม
“โครงการพิราบน้อย เปิดมุมมอง นศ.สื่อฯ”
นอกจากนี้ ''พริสม์'' ได้เล่าถึงโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าว ''พิราบน้อย'' รุ่นที่ 26 ที่เพิ่งจัดระหว่าง 1-3 กุมภาพันธ์ว่า สิ่งที่เห็น คือ น้อง ๆ นักศึกษา มีแรงบันดาลใจ (Passion) ในการทำงานค่อนข้างมาก สนใจงานด้านข่าวหลากหลายทักษะ (Skill) ทั้งสนใจงานข่าววิดีโอ งานเขียน ก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ผ่านค่ายของพิราบน้อย แต่ก็มีสิ่งที่น้อง ๆ กังวล คือ คุณภาพชีวิตของคนข่าวเป็นอย่างไร, รายได้น้อยหรือไม่, ค่าตอบแทนเป็นอย่างไร เพราะน้อง ๆ ตั้งข้อสังเกตว่าพวกพี่ ๆ ที่เป็นคณะทำงาน (Staff) และวิทยากร ซึ่งแต่ละคนเป็นพี่เลี้ยงด้วย แต่ช่วงเวลาพักเบรกยังต้องโทรศัพท์หาแหล่งข่าว เปิดคอมพิวเตอร์เขียนข่าวกัน เพราะหลายคนไม่ได้ลางานมา เรียกได้ว่า เป็นนักข่าวต้องทำงานตลอดเวลาจริง ๆ ตรงนี้ทำให้น้องได้เห็นรูปแบบ (Model) สื่อหลากหลายมากขึ้น และเห็นแนวทางของตัวเองที่แตกต่างกันไป
ติดตาม“รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5