“ทางออกวิกฤตการเกิดประชากรไทยลด!!”

“ใช้คำว่าวิกฤตถูกต้องแล้ว เพราะข้อมูลล่าสุดปี 2564 จำนวนอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น สวนทางกับอัตราการเกิด ถ้าเป็นอย่างนี้ในอนาคตแสดงว่า อัตราของประชากรก็จะลดลงเรื่อย ๆ”

วีระพันธ์ โตมีบุญ” สถานีวิทยุศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ ให้มุมมองเรื่อง “วิกฤตการเกิดของประชากรโลก” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”ว่า ความจริงประเด็นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย แต่เกิดกับหลายประเทศ อาทิ สวีเดน แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ประเทศที่ไม่เกิดปัญหาก็มี

ฉะนั้นใช้คำว่าวิกฤตถูกต้องแล้ว เพราะข้อมูลล่าสุดปี 2564 จำนวนอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น สวนทางกับอัตราการเกิด ถ้าเป็นอย่างนี้ในอนาคตแสดงว่า อัตราของประชากรก็จะลดลงเรื่อยๆ” วีระพันธ์ กล่าว  

// ถอดโมเดลความสำเร็จ “สวีเดน” เพิ่มจำนวนประชากร //

            “วีระพันธ์” บอกว่า ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักหลายประเทศ ใช้ความพยายามเพิ่มอัตราการเกิดของประชากร อย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ มีเพียงประเทศเดียว คือ สวีเดน ซึ่งประเทศสวีเดน “ทุ่มเทในเรื่องของงบประมาณ” และ “คนทั้งประเทศร่วมแรงร่วมใจไปในทิศทางเดียวกัน” หมายถึงทุกองคาพยพ ผู้ประกอบการเอกชนที่เป็นบทบาทสำคัญ ซึ่งเขาเคยออกมาแล้วหลายนโยบาย เป็นแนวทางหลักที่หลายประเทศนำไปใช้เช่นกัน อาทิ การให้เงินอุดหนุนพ่อ-แม่ ที่ลูกอยู่ในวัยก่อนวัยเรียนเป็นอันดับแรก และให้สิทธิ์แม่ในการหยุดงาน หลังจากลาคลอดโดยได้หยุดถึง 90 วัน ต่อมาก็ให้สิทธิ์พ่อด้วย ไม่ปล่อยภาระให้แม่เลี้ยงลูกคนเดียว

             “วีระพันธ์” ยังบอกว่า เรื่องของการลาคลอด ไม่ใช่การลาหยุดงานอย่างเดียว เพราะจะเกิดปัญหาว่าถ้าหยุดงานแล้ว บริษัทจะจ่ายเงินหรือไม่ บริษัทจะเสียแรงงานหรือไม่ ถ้าเสียประโยชน์ บริษัทจะยอมจ่ายเงินหรือไม่ ซึ่งที่ประเทศสวีเดนยอมจ่าย ตรงนี้เป็นเรื่องของผู้ประกอบการด้วย และอย่าลืมว่า สถานประกอบการมีหลายระดับ เช่น เป็นบริษัทที่กำไรแสนล้าน หรือหลักหมื่นล้าน หรือเป็นเอสเอ็มอี และแม้ว่า ประเทศสวีเดนจะดำเนินการได้ผล โดยขยับอัตราการเจริญพันธุ์จาก 1.661 % ในปี 2526 เพิ่มขึ้นมาเป็น 2.14 % เพราะมีนโยบายให้หยุดทั้งพ่อ และแม่ และยังได้เงินด้วย ซึ่งยังมีวิธีการเพิ่มประชากรอีก อาทิ ถ้ามีลูกคนแรกแล้วภายใน 30 เดือนมีลูกอีกคน จะได้สิทธิ์การตอบแทน เท่ากับวันลาหยุดในการเลี้ยงดูคนแรก และเรื่องเงินทองด้วย 

วีระพันธ์” เล่าอีกว่า ก่อนหน้านี้ ประมาณปี 2543 สวีเดน ก็เคยมีปัญหาเศรษฐกิจทำให้สะดุดเหมือนกัน แต่หลังจากนั้น สวีเดนปรับตัวใหม่ มีการยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดสรรเวลา ให้หยุดเต็มเวลา หรือครึ่งเวลา จนกว่าลูกจะอายุ 12 ปี  ไม่ใช่แค่ช่วงเวลาหลังคลอดสั้น ๆ 90 วันเท่านั้น และอนุญาตให้ทำงานจากบ้านได้, ช่วยค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กด้วย เพราะฉะนั้นหลังจากปี 2543 จำนวนอัตราการเกิดในสวีเดน จึงเพิ่มมากขึ้น 3 - 5 คน ต่อคุณแม่ 1,000 คน นอกจากนี้ ในปี 2565 ที่ผ่านมาตัวเลข ของเขาเพิ่มขึ้นเป็น 1.84 % ซึ่งถือว่าสูงมาก

            นอกจากนี้ มีอีกนโยบายหนึ่งซึ่งหลายประเทศ กำลังดำเนินการอยู่และทำเป็นเรื่องเป็นราว เช่น สวีเดน แคนาดา ออสเตรเลีย แต่ประเทศไทยยังลังเล โดยเฉพาะนักวิชาการไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน คือ “การรับอพยพคนย้ายถิ่นเข้ามาในประเทศ” และได้ผลในการเพิ่มจำนวนประชากร ซึ่งออสเตรเลียเพิ่มประชากรได้ถึง 3 เท่า เนื่องจากปริมาณเนื้อที่ประเทศของเขามีจำนวนมาก

“คาด 30 ปีข้างหน้า อัตราการเกิดคนไทย 1.5%

            “วีระพันธ์” ยังกล่าวถึงนโยบายการเพิ่มจำนวนประชากรของประเทศไทยที่ดำเนินการอยู่ โดยคาดว่า อีกประมาณ 30 ปีข้างหน้า เต็มที่เราจะได้ประมาณที่ 1.5% ซึ่งไม่ได้แปลว่า จำนวนคนจะเพิ่มขึ้น แต่ก็คงประมาณ 33 ล้านคน และถ้านับจากนี้ไปอีก 10 ปีข้างหน้า ตัวเลขเพิ่มยังคง 1.5% และ 1.5% ไปเรื่อย ๆ คงที่ เวลาที่จะเป็น 30 ปีคงจะยืดออกไปอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้แปลว่า จำนวนคนจะเพิ่มขึ้นทันที 1.84 % แต่ถ้าคำนวนเชิงประชากรจะอยู่ที่ประมาณ 2.1%

            “วีระพันธ์” เห็นว่า รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข แก้ไขปัญหาด้วยการกำหนดการมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติ หมายความว่า ทุกองค์กรจะต้องเข้ามามี บทบาทร่วมกันในเรื่องนี้ เพราะดูแล้วเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนด้วย เช่น การตั้งคลินิกส่งเสริมการมีบุตร ซึ่งตอนนี้ทั่วประเทศมีประมาณ 800-900 แห่ง มีทั้งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และสถานพยาบาลขนาดเล็ก ใช้วิธีอบรมบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ ซึ่งในเรื่องของการดำเนินการอาจจะมีความพร้อมไม่เท่ากัน

“ประเทศไทยมีหลากปัจจัย ทำคนไม่อยากมีลูก

ส่วนเหตุผลที่ทำให้คนไทยไม่อยากมีลูกนั้น “วีระพันธ์” เห็นว่า มีหลายประเด็น ซึ่งหลัก ๆ เป็นเรื่องเศรษฐกิจ อย่าไปคิดว่า คนชั้นกลาง หรือไม่มีสตางค์เท่านั้น แต่คนมีฐานะดีก็เช่นกัน เพราะเขาต้องสร้างฐานะ ทำให้งานเครียดวุ่นเลยไม่มีเวลา นอกจากนี้ คนจะนึกถึงว่า ถ้ามีลูก 1คน เอาแค่การตั้งครรภ์ ฝากครรภ์ หรือช่วงบำรุงครรภ์ ค่าใช้จ่ายในการเกิด ก็ต้องใช้เงินจำนวนมาก ขณะเดียวกัน แต่ละคน มีปัญหาหนี้สินครัวเรือน และปัญหาในการทำงานที่ไม่แน่นอน รายรับ คือเงินเดือน ไม่เพียงพอเลี้ยงคนในครอบครัวอยู่แล้ว 

            นอกจากนี้ ยังมี เรื่องของสังคม ด้วย ดังนั้น มุมมองในเรื่องของการมีลูก จึงเปลี่ยนแปลงไป และบทบาทชาย-หญิงในครอบครัวก็แตกต่างออกไป นอกจากนี้ ยังมี เรื่องเฉพาะตัว เช่น ปัญหาสุขภาพจิต  การศึกษา สิ่งแวดล้อม ความกังวล ปัจจัยส่วนตัวในช่วงหลังที่พบมากขึ้น คือ คนอยากมีชีวิตอิสระกลัวความรับผิดชอบ กลัวจะเลี้ยงลูกไม่ได้  และถ้าแบ่งเป็นกลุ่มจะพบว่า คนที่ไม่อยากมีลูก เป็นกลุ่มวัยทำงาน , LGBTQ , กลุ่มคนโสดที่ไม่คิดจะมีครอบครัว ซึ่งเคยมีข้อมูลของหน่วยงานวิเคราะห์ เรื่องของตัวเลขประชากรโลก ประมาณค่าใช้จ่ายกว่าคนจะเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 1.6 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูง

“วิกฤตการเกิดต่ำ” กระทบเศรษฐกิจ-แรงงาน-สังคมสูงอายุ

            วีระพันธ์ บอกว่า ประชากรเกิดน้อยลงจะส่งผลกระทบ 3 เรื่องหลักใหญ่ ๆ คือ “ภาคเศรษฐกิจ” ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) มีส่วนเพราะ GDP จะเกิดขึ้นได้ต้องมีจำนวนประชากรอยู่จำนวนหนึ่ง แน่นอนว่า ถ้าไม่มีคน การค้าขายการบริโภคก็ไม่เกิด หรือเกิดน้อยลง ฉะนั้น ตัวเลขรายได้โดยรวมของประเทศจะลดลง ตรงนี้ สามารถย้อนดูได้ โดยเทียบเคียงกับประเทศต่าง ๆ จะเห็นชัดเจนเลยว่า GDP สูงที่สุดในโลก คือ สหรัฐอเมริกา เพราะสังคมการบริโภคของเขาเป็นอันดับ 1 คือ 23 ล้านล้าน และประชากรของเขาประมาณ 300 กว่าล้านคน คนขณะที่ประเทศจีน การบริโภคเป็นอันดับสอง 18 ล้านล้าน ซึ่งประชากรของจีนประมาณ 1,000 กว่าล้านคน ยังมีผลกระทบ “ภาคแรงงาน” จะไม่มีแรงงานมาทดแทนจำนวนการทำงาน คนวัยแรงงาน ก็จะลดน้อยลง ถ้ามองไปอีก 60 ปีข้างหน้า แต่ความจริงวันนี้ก็เห็นกันแล้วว่า การขาดแคลนแรงงานมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้น จนต้องนำเข้าแรงงาน รวมถึงผลกระทบต่อ “ภาระต่อการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น” ลองนึกภาพ คนรอบตัวเรา หรือในครอบครัว เมื่อก่อนผู้สูงอายุในบ้านอาจจะมี 1-2 คน ก็จะมีลูกประมาณ 2-6 คนขึ้นไปดูแล หรือถ้ารุ่นปู่-ย่ามีลูก 4 คน ก็แปลว่าคุณปู่-คุณย่า 2 คนนี้ มีลูกมาดูแล 9 - 10 คน แต่พอจำนวนคนเกิดลดลงในอนาคต เราจะเหลือประมาณ 1 กว่า ๆ ในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุ อาจจะไม่ใช่แค่ 2 คนแต่อาจจะเป็น 3 คนด้วยซ้ำไป

“วิกฤติการเกิด” แก้ได้หากทุกฝ่ายร่วมใจร่วมแรงจริงจัง  

            วีระพันธ์  เชื่อว่า จากที่ได้ศึกษา และทำข้อมูลเรื่องทางออกแก้วิกฤติการเกิดของประชากรในประเทศไทย จะสามารถผ่านไปได้ หากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันอย่างจริงจัง ขณะที่ ภาครัฐ ต้องใส่ใจเรื่องการจัดสรรงบประมาณ รวมทั้งขอความร่วมมือบริษัทเอกชน ให้เห็นไปในทางเดียวกัน สนับสนุนให้แรงงานได้สิทธิเรื่องของการลาคลอด

ขณะเดียวกัน ภาครัฐให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง เคยโพสต์ไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ว่า ตกใจที่เห็นจำนวนตัวเลขอัตราการเกิดต่ำมาก ท่านบอกว่า มีหน้าที่ทำให้ประเทศอยู่แล้วมีความสุข, เศรษฐกิจ, มีความปลอดภัย ถ้าคนมีลูกก็มั่นใจว่า ลูกหลานของเขา จะได้รับการศึกษาที่ดีมีงานทำ ไม่มีเรื่องยาเสพติด ส่วนผู้หญิงก็มี Work Life Balance  ทำงานได้ และมีลูก ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลจะดำเนินการ ท่านจึงมองเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลักใหญ่ ถัดมาก็คือเรื่องความปลอดภัย และการการศึกษา

ทั้งนี้ งานวิจัยของศาสตราจารย์ ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน ระบุว่า สิ่งที่จะต้องเตรียมตัวสำหรับวันข้างหน้า ถ้าคนไม่เร่งเพิ่มประชากรในอนาคตคน ณ ปัจจุบันในวัยทำงาน จนกระทั่งถึงรุ่นเด็กกว่านี้ คือ ต้องดูแลให้ตัวเองสุขภาพดีตลอดไป ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่ และต้องมีเงิน และฐานะดีด้วย เมื่ออายุมากขึ้น ภาระค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะเรื่องสุขภาพจะมีสูงขึ้น หากรายได้ไม่ดีในอนาคต ก็จะลำบาก 

        ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น .โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5