“เบื้องลึกเบื้องหลังข่าวการค้ามนุษย์ แรงงานเก็บเบอร์รี ผ่านรางวัลข่าวรางวัลชมเชย ‘อิศรา อมันตกุล’ ปี 2566” 

“กรณีคุณเจนปรียาและหลายๆคน ที่ผมไปพูดคุยพบว่า วันสุดท้ายที่จะปิดซีซั่นของการเก็บเบอร์รีพรุ่งนี้หรือมะรืนจะต้องบินกลับประเทศ เขาได้รายได้ติดลบ คือไม่ได้เงินแม้แต่บาทเดียวจากการทำงาน 3 เดือน บางคนติดหนี้ตั้งแต่ก่อนเดินทางไป และระหว่างทำงานรายได้ที่หามายังติดลบ เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยแรงงานบางคน ต้องช่วยกันเรี่ยรายเงิน....เพื่อเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด” 

โกวิท โพธิสาร​ บรรณาธิการ​ The Isan Record”  เจ้าของ “รางวัลชมเชย รางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวยอดเยี่ยมจากสื่อออนไลน์ ประจำปี 2566” จากข่าว “เจนปรียา จําปี หอม ในความขื่นขมของเบอร์รี””และก่อนหน้านี้ ผลงานชิ้นเดียวกัน ยังคว้ารางวัล รางวัลชมเชย ประเภทสื่อออนไลน์ รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจําปี 2566 ของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย อีกด้วย  

เบื้องหลังของการทำงานและที่มาที่ไปของงานชิ้นนี้  เขาเล่าผ่านใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว ว่าจุดเริ่มต้นมาจากโปรเจ็คที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป และการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ในแง่หนึ่งทำงานคล้ายเชิงงานวิจัย การคัดเลือกแหล่งข่าว , การออกแบบวิธีการคิด , ประเด็นวิธีทางวิจัย คงจะมีส่วนอย่างหนึ่งทำให้เห็นว่าจะต้องนำมาเล่าเรื่องในพื้นที่สาธารณะอย่างไร  จึงเก็บรวบรวมข้อมูลการเคลื่อนย้าย ของแรงงานแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ไปทำงานในสหภาพยุโรป เพื่อศึกษาข้อมูลดูว่ามีแรงงานที่ไปทำงานในสหภาพยุโรปกลุ่มไหนน่าสนใจ ทำให้พบว่ามีกลุ่มที่ทำงานไปเก็บเบอร์รี  

โจทย์ตั้งต้นงานชิ้นนี้ของผม คือ ต้องการบาลานซ์ให้เห็นสถานการณ์ว่า คนที่ไปทำงานเก็บเบอรร์รีในต่างแดนมีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง แต่แหล่งข่าวจำนวนมากไม่พร้อมเปิดเผยตัว โดยขอเซ็นเซอร์ชื่อตัวเองแต่พร้อมจะให้ข้อมูล ซึ่ง“คุณเจนปรียา”พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว และใบหน้าของตัวเอง”  

ข้องใจเป็นประเด็นมากว่า 10 ปี แต่เรื่องกลับเงียบมาก เป็นสาเหตุนำไปสู่ปัญหาอื่น 

         โกวิท บอกว่า แม้ว่าเรื่องนี้ไม่ได้ใหม่และถูกเปิดประเด็นมาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว แต่เรื่องกลับเงียบมากๆ  ความเงียบของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นำไปสู่ปัญหาหลายประการตามมา แม้บางคนที่ไปทำงานอาจจะได้รับรายได้ดีผลตอบแทนดีก็มี เช่น แรงงานจำนวนหนึ่งถูกหลอกซ้ำๆ หรือมีกรณีที่คล้ายกัน คือ แรงงานจำนวนมากที่ไปแล้วถูกหลอกและเอารัดเอาเปรียบ แต่เขาไม่มีข้อมูลที่จะมาอ้างอิง ว่าเวลาไปทำงานต่างแดน ไม่ได้สวยงามอย่างที่เจอในโซเชียลมีเดีย เคยมีคนโพสต์คลิปแล้วบอกว่าไปอยู่ที่ฟินแลนด์หรือสวีเดน สามารถเก็บเบอร์รีได้เงินหลักแสนในระยะเวลา 2-3 เดือน 

เวลาที่ผมได้ข้อมูลมาแล้วรวบรวมตรวจสอบ พบว่าทุกเคสมีความเกี่ยวเนื่องหรือมีปัญหาร่วมที่คล้ายกัน แทบทุกคนจะตอบว่าปัจจัยเบื้องหลัง ที่ผลักดันให้เขาไปทำงานต่างแดน คือ ภาระหนี้สินจำนวนมากและค่าแรงในประเทศต่ำ ยังไม่รวมทรัพยากรที่ร่อยหรอในท้องถิ่น , การเข้าไม่ถึงที่ดิน ทำให้คนเหล่านี้มีตัวเลือกไม่มาก เขาจึงต้องเสี่ยง เพราะการไปเก็บเบอร์รีใช้เวลาเพียง 3 เดือน คือ ประมาณเดือนกรกฎาคม – กันยายน  มีการโฆษณากันว่าได้เงินเป็นแสน เงินจำนวนเท่านี้ถ้าอยู่ต่างจังหวัดก็คงได้แค่ฝัน เขาจึงต้องไปด้วยเหตุผลนี้  

หาทุนจากการกู้แลกยอมเป็นหนี้ - สัญญาไม่ชัด ทำแรงงานถูกเอาเปรียบ 

         โกวิท เล่าว่า ต้นทุนที่แรงงานเริ่ม ตั้งแต่กระบวนการ เพื่อที่จะได้ไปทำงานต้องมีค่าใช้จ่ายฟิกคอสแน่ๆ คือ ค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าเดินทาง คนเหล่านี้ไม่ได้มีเงินมากพอที่จะจ่ายค่าเครื่องบิน ทำให้เขาต้องกู้เงินจากธนาคาร หรือกู้หนี้นอกระบบ หรือกู้จากญาติพี่น้อง จึงมีหนี้ก้อนหนึ่งอยู่แล้วก่อนเดินทางไป ถ้าไปแล้วได้เงินตามที่สัญญากันไว้ กลับมาก็ปลดหนี้ได้ เพราะ3 เดือนต่อให้เป็นหนี้นอกระบบก็ยังชำระได้  

         แต่พอไปแล้วไม่ได้ตามที่ตามที่โฆษณาชวนเชื่อไว้ เมื่อเขากลับมาจำนวนหนี้กลายเป็นดินพอกหางหมู คือ ตอนที่ไปมีสัญญา 3 ฉบับ โดยสัญญาฉบับแรกทำหน้าที่คล้ายกับเปิดทาง ให้แรงงานสามารถไ         ปต่างประเทศได้ ส่วนสัญญาฉบับที่ 2 ทำหน้าที่บอกล้างฉบับแรก สำหรับสัญญาฉบับที่ 3 ทำหน้าที่บอกล้าง 2 สัญญาฉบับก่อนหน้านั้น เวลาไปไม่ได้หมายความว่า สัญญาที่ส่งไปให้สถานทูตหรือหน่วยงานรัฐเป็นตัวที่ล็อกเขาไว้ แต่เป็นสัญญาฉบับ 3 ที่มีการเอารัดเอาเปรียบอยู่  

ประเทศปลายทางไม่สวยหรู กิน-อยู่ลำบาก 

         โกวิท เล่าว่า เมื่อแรงงานไปถึงประเทศปลายทาง ต้องไปพักอาศัยในสถานที่คับแคบมากๆ  ตัวระเบียบของกรมการจัดหางานที่กำหนดเอาไว้ว่า เมื่อไปแล้วต้องมีสภาวะการจ้างเช่นไร มีการล็อคเอาไว้ว่าที่อยู่ที่พักต้องเป็นอย่างไร มีความสะดวกสบายอย่างไร รวมทั้งคนที่พาไป คือ บริษัทปลายทางต้องทำหน้าที่ อำนวยความสะดวกให้แรงงานเหล่านี้หาเบอร์รีได้โดยง่าย 

           แต่ปรากฏว่าเมื่อเขาไปถึง กลับต้องไปอยู่ในห้องที่แออัดมากๆ ในข่าวที่ผมทำนี้อธิบายให้เห็นว่า เขาดัดแปลงโรงเรียนร้างแห่งหนึ่ง เป็นที่พักให้คนงานซึ่งมีประมาณ 500 คน อยู่ในสภาวะแออัดไม่ได้แบ่ง หญิง-ชาย ขณะที่ห้องน้ำมีจำนวนน้อยมากไม่ถึง 10 ห้อง คิดดูว่า 500คน แต่ห้องน้ำมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นำไปสู่สภาวะการจ้างที่ไม่ดี  

            “การเก็บเบอร์รีเริ่มตั้งแต่ตี 4 - ตี5 ออกไปทำงานโดยไม่มีการชี้เป้าว่าควรไปหาเบอร์รีตรงไหน  ผมถามว่าถ้าแรงงานไปอยู่ที่ประเทศฟินแลนด์หรือสวีเดน จะรู้ได้อย่างไรว่าป่าอยู่ตรงไหน เพราะเป็นพื้นที่เอกชน ไม่สามารถรู้ได้ต้องเดาสุ่มไปเรื่อยๆ เก็บเบอร์รีได้ตามเป้าบ้างไม่ได้บ้าง หลายคนที่ผมไปคุยมาพูดคล้ายกันว่า ไม่มีการชี้เป้าว่าต้องไปเก็บเบอร์รีตรงจุดไหน แต่ให้คนงานไปเสี่ยงเอาเอง ขณะที่ต้องแข่งกับคนเก็บเบอร์รีทีมอื่นด้วย เพราะไม่ได้มีโควตาว่าแปลงนี้กี่ไร่ กี่เอเคอร์ไปอยู่ตรงนั้น 10 - 20 คน ใครที่ฟลุ๊คไปเจอเบอร์รีก็โชคดี”  

3 เดือนไม่เคยมีเห็นค่าแรง หลายรายเจอแจ๊คพอตก่อนกลับวันเดียว 

โกวิท บอกว่า ปริมาณของเบอร์รีก็เป็นส่วนหนึ่ง เมื่อเขานำไปชั่งพบว่าตัวเลขที่เก็บมา ทำไมตาชั่งถึงให้น้ำหนักเท่านี้ เขาก็ตั้งข้อสังเกตว่าตาชั่งน่าจะมีปัญหา ขณะที่แต่ละวันเขาไม่มีทางรู้เลยว่าหาเงินได้เท่าไหร่จากการเก็บเบอร์รี เพราะไม่มีการสรุปบัญชีในแต่ละวัน ดังนั้น 3 เดือนที่ไป ทุกคนมาเจอแจ๊คพอตวันสุดท้ายเลยว่าเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่   

  “กรณีคุณเจนปรียาและหลายๆคน ที่ผมไปคุยพบว่า วันสุดท้ายที่จะปิดซีซั่นของการเก็บเบอร์รี พรุ่งนี้หรือมะรืนนี้จะต้องบินกลับประเทศ เขาได้รายได้ติดลบคือไม่ได้เงินแม้แต่บาทเดียว จากการทำงาน 3 เดือน บางคนติดหนี้ตั้งแต่ก่อนเดินทางไป และระหว่างทำงานรายได้ที่หามาได้ยังติดลบ เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยแรงงานบางคน ต้องช่วยกันเรี่ยรายเงินเพื่อเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด”  

นอกจากการนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของชีวิตแรงงานเก็บเบอร์รี่ เสน่ห์อย่างหนึ่งของงานข่าวชิ้นนี้ คือวิธีการเล่าเรื่อง ที่โกวิทเลือกใช้การเล่าเรื่องแบบสารคดีข่าว ทำให้ผู้อ่านเหมือนกำลังได้เดินทางติดตามไปด้วย 

         "เวลาผมเล่าเรื่องลักษณนี้ หลายคนจินตนาการไม่ออก ผมก็จินตนาการไม่ออกว่าที่ฟินแลนด์ใช้ชีวิตอย่างไร ป่าเป็นอย่างไร แต่ดูจากตามคลิปที่เขาถ่ายหรือโพสต์มา เพราะฉะนั้นในแง่หนึ่งต้องเล่าเรื่องให้เห็นภาพว่า ที่ฟินแลนด์เป็นอย่างไรมีที่มาที่ไปอย่างไร คนๆหนึ่งมีปัจจัยอะไรบ้าง ที่จะต้องผลักตัวเองไปอยู่ตรงนั้น จะพบว่าแบ็กกราวนด์เบื้องหลังชีวิตของเขา ตั้งแต่พ่อถูกโกง ตอนที่ไปทำงานที่ประเทศลิเบียหรือซาอุดิอาระเบีย  ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิด “หนี้” เรียกว่าสลัดตัวเองไม่พ้นจากเรื่องพวกนี้”  

            “ผมพยายามเล่าไล่เรียงเล่าให้เห็นปัจจัยเบื้องหลัง จังหวะการตัดสินใจเพื่ออธิบายให้เห็นว่า พวกเขาไม่ได้เป็นคนที่ไม่มีความรู้ หรือพร้อมที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ แต่เขาทำการบ้านและมีหน่วยงานรัฐ ที่น่าเชื่อถือให้การรับรอง เขาเก็บข้อมูลและพยายามเต็มที่ที่สุดแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ เมื่อต้องไปทำงานต่างประเทศ แต่พบว่าขนาดเตรียมตัวและมีหนังสือรับรอง พูดคุยกับกรมการจัดหางาน ทำทุกอย่าง แต่ปรากฏว่าเมื่อไปถึงแล้ว...เขาก็ยังถูกหลอกอยู่ดี”  

            การอธิบายเรื่องของผม เพื่อป้องกันจากชาวเน็ตทั้งหลาย ที่ตั้งคำถามว่า “คุณไปแล้วคุณไม่ทำการบ้านเอง คุณเสี่ยงไปเอง คุณไม่มีความรู้ แต่พยายามอยากจะไปเอง” เพราะฉะนั้นสภาวะเช่นนี้ทำให้เห็นว่าเราจะต้องพยายามคลี่ให้เห็นทุกแง่มุม ว่าชีวิตคนๆหนึ่งเขาไม่ได้พร้อมที่จะถูกโกงตลอดเวลา แต่ระบบต่างหากที่ทำให้เขาเตรียมตัวขนาดไหนก็ยังไม่พอ” 

การจ้างงานไม่ชัด ปมที่ซ่อนอยู่ สะท้อน กม.ระหว่างประเทศ ไม่เฉพาะไทย 

โกวิท มองว่า ปัญหาที่ซ่อนอยู่มีเรื่องของการจ้าง เช่น ถ้าเราเป็นลูกจ้างขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง องค์กรนั้นทำหน้าที่รับผิดรับผิดชอบ ดูแลสวัสดิการของเรา เมื่อเกิดกรณีเจ็บป่วยสามารถเบิกได้  เอื้ออำนวยให้เราทำงานได้โดยสะดวก แต่กรณีของคนที่ไปทำงานในสแกนดิเนเวียหรืออีกหลายๆที่ มีปัญหาเรื่องสภาวะการจ้าง ไม่ระบุการเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างแต่เป็นอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งการไปเก็บเบอร์รีอยู่ในสถานะที่คลุมเครือ เมื่อคลุมเครือก็ไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติต่อกันอย่างไร  

         “โจทย์ คือ ไม่เฉพาะรัฐไทย แต่เรื่องนี้ต้องเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะหลายประเทศก็มีปัญหาเรื่องการจ้าง เมื่อสภาวะการจ้างที่ไม่ถูกระบุชัดเจน ทำให้แรงงานจำนวนมากถูกเอาเปรียบ และบริษัทเหล่านั้นก็พูดว่าเขาไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบผู้คนเหล่านี้ ถ้าตั้งต้นตรงนี้ไม่ได้ก็จะนำไปสู่ปัญหาสารพัด กรณีนี้ถ้าไม่ได้มีสถานะแรงงาน แต่เป็นฟรีแลนซ์ เป็นใครก็ไม่รู้ แล้วเราจะฟ้องใคร ด้วยเงื่อนไขอะไรก็จบเลย ฉะนั้นต้องไปแก้ตรงนี้ก่อนแล้วตรงอื่นค่อยแก้ตามมา”   

ฟินแลนด์-สวีเดน-ไทยตื่นตัว หลังผลงานชิ้นนี้เผยแพร่ มีเสียงสะท้อนในแง่บวก  

“หลังงานชิ้นนี้เผยแพร่ออกไป สังคมมีความตื่นตัวพอสมควร อย่างน้อยเรื่องนี้ไม่เคยเป็นประเด็น ไม่มีสถานีวิทยุไหนเคยรายงานเลย ไม่มีการพูดในหน้าสื่อกระแสหลักเลย ผมคิดว่าถ้าสื่อมวลชนหลายท่าน ช่วยกันกระจายข่าวก็หวังว่า จะเป็นข้อมูลหนึ่งเวลาที่เวลาเข้าไปดูในกูเกิ้ล เวลาแรงงานอยากไปทำงานที่ฟินแลนด์คุณจะต้องเจอ ทั้งข้อดีข้อเสียตรงนี้อย่างไร” 

            ขณะที่หน่วยงานรัฐค่อนข้างตื่นตัวมากๆ เมื่อชิ้นงานนี้เผยแพร่ออกไปเพียงวันเดียว ทางสถานทูตไทยที่กรุงเฮลซิงกิส่งจดหมายมา แล้วบอกว่าขอบคุณมากที่นำเสนอเรื่องนี้ พยายามที่จะติดตามเรื่องนี้อยู่ และน่าจะนำไปสู่การพูดคุยต่อ เช่น มีการพูดคุยในกรรมาธิการของสวีเดนและฟินแลนด์ ในนามของรัฐสภาก็มีการพูดคุยกันเพื่อพยายามหาทางแก้ไข 

            "ที่ฟินแลนด์และสวีเดนตอนนี้ตื่นตัวพอสมควร เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สถานทูตไทยที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์อยากคุยกับคุณเจนปรียา เพื่อสอบถามว่าจะต้องจัดการอย่างไร  เท่าที่ผมฟังดูเหมือนจะได้รับผลสะท้อนกลับในแง่ดี น่าจะมีการแก้ไขเร็วๆนี้  แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าแก้ไขเคสคุณเจนปรียาแล้วจะจบ ผมมองว่่าหากจะแก้ ต้องแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ไม่อย่างนั้นก็จะมีเจนปรียา 2-3-4-5 ตามมา...เพราะแรงงานต้องไปทำงานทุกปี” 

ดีเอสไอ มีมติกล่าวหา อดีต รมต.-ขรก.ระดับสูง ก.แรงงาน 

  “ส่วนกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีมติกล่าวหา สุชาติ ชมกลิ่น อดีต รมว.แรงงานอดีต รมว. 2 คน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน 2 คน รวม 4 คน ในความผิด มาตรา 149 และ 157 หลังพบหลักฐานเชื่อมโยง เกี่ยวข้องกับการค่าหักหัวคิวแรงงานที่ไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศฟินแลนด์ จำนวน 12,000 คน ระหว่าง ปี 2563-2566 คนละ 3,000 บาท รวมค่าเสียหาย 36 ล้านบาท ผมไม่อยากเคลมว่าเป็นเพราะงานชิ้นนี้เผยแพร่ออกไป แต่การที่ผู้คนระดับสูงเหล่านี้ถูกสั่งฟ้องมีนัยสำคัญ เรื่องนี้ไม่ใช่การพูดถึงแรงงานที่ถูกคดโกง และถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างเดียว แต่ยังถูกพูดถึงกระบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นประเด็นสากลที่ยอมกันไม่ได้” โกวิทกล่าวทิ้งท้าย 

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5