“ปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ วนเป็นงูกินหาง เกาไม่ถูกที่คัน!!”

             “เป็นมิติปัญหาเชิงซ้อน ทั้งที่จังหวัดและหน่วยงานต่างๆพยายามบูรณาการ เรายังคงถอดบทเรียนจนมีคนแซวว่า ถอดเอาไว้ที่ไหนกันหมด” 

            ภาณุเมศ ตันรักษา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย อสมท.จังหวัดเชียงใหม่” กล่าวถึง  “มลพิษอากาศภาคเหนือ เรื้อรัง 2 ทศวรรษ” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า สถานการณ์ฝุ่นหนัก ช่วงต้นเดือนมีนาคมมีผลกระทบพอสมควร เช่น มีอาการแพ้ แสบตา คันตามผิวหนัง เลือดกำเดาไหล เป็นเอฟเฟ็กต์ที่ชัดเจน ซึ่งคุณหมอยืนยันว่า เป็นส่วนหนึ่งที่ฝุ่นควันทำให้มีผลต่อเยื่อบุโพรงจมูกและเส้นเลือดฝอย ตอนแรกแม้แต่ตนเองก็ไม่เชื่อ เพราะทำงานทั้งวัน พอตกกลางคืนรู้สึกเหมือนน้ำมูกไหล แต่กลายเป็นเลือดกำเดา ตื่นเช้ามามีคราบเลือด ซึ่งเป็นช่วงที่สภาพอากาศค่าฝุ่นพีค เวลาอยู่กลางแจ้งต้องสวมแมส แบบ N95 บางครั้งต้องมากกว่านั้นเพื่อป้องกัน

แก้ปัญหาไม่ตก-วนเวียน  โซเชียลชี้ให้เห็นพฤติกรรมการเผาป่าชัดเจน” 

            ภาณุเมศ บอกว่า สังเกตง่ายๆช่วงที่มีจุดฮอตสปอตสูงๆ มีการเผากันเยอะ ช่วงกลางวันออกไปข้างนอกเหงื่อออก เวลาเช็ดถูแขนจะมีเศษฝุ่นสีดำติดอยู่เหมือนกับขี้ไคล ซึ่งเป็นเอฟเฟ็กต์ แต่ชัดเจนที่สุด ซึ่งคนเชียงใหม่หรือคนภาคเหนือสัมผัสได้ คือ เวลากลางคืนอากาศเย็น แล้วเปิดบ้านออกมามีกลิ่นควันจากการเผาอย่างหนัก

            “ผมคิดว่าปัญหาปัญหานี้ยืดเยื้อมานาน แก้ไม่หายสักทีมีนโยบายทำนู่นทำนี่ มีวาทกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นซ้ำๆ ซึ่งเป็นการวนลูป ถ้าเรามองในเชิงของวิทยาศาสตร์ เขาบอกว่าเป็นเรื่องของภูมิอากาศทิศทางลมในช่วงนั้น ซึ่งมันร้อนอบอ้าว เมื่อก่อนเราเคยได้ยินว่าฟ้าหลัว เกิดจากสิ่งเหล่านี้ แต่ช่วงหลังมาพฤติกรรมการเผาป่าหรืออากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้เราได้เห็นและรู้ว่าเป็นอย่างไร ยิ่งยุคโซเชียลมีข้อมูลข่าวสารแพร่รวดเร็ว เห็นหมดเลยว่าภาพเป็นอย่างไรตรงไหน เมื่อก่อนเราอาจจะเห็นไม่หมด

แอพพลิเคชั่นจัดอันดับสถิติเมืองใหญ่ทั่วโลก ช่วยฉายภาพค่าฝุ่น-มิติปัญหาเชิงซ้อน ถอดบทเรียนแล้วหาย

            ภาณุเมศ บอกว่า นอกจากนี้แล้วจะเห็นข่าวจัดอันดับเมืองใหญ่ๆทั่วโลก เรื่อง ปัญหาฝุ่นซึ่งเชียงใหม่ครองอันดับหนึ่ง และกรุงเทพฯก็ติดอันดับด้วย แต่ช่วงหลังมีแอพพลิเคชั่นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เว้นแม้แต่นาซ่าก็มาช่วยมาดู มีการติดตั้งทุกจุด เพื่อให้ความเป็นธรรม แต่ถ้าดูสถิติจุด hotspot ของจิสดาร์ สถานการณ์ฝุ่นที่ จ.เชียงใหม่ ไม่มากไปกว่าปีที่แล้ว 

            ดัชนีชี้วัดอย่างหนึ่ง คือ ค่ามลพิษทางอากาศหรือดัชนีคุณภาพอากาศ AQI ช่วงเวลาเดียวกัน(ม.ค.-มี.ค.) ปี 2566 เกินมาตรฐานอยู่ที่ 71 วัน แต่ตอนนี้ปีนี้เกินไป 40 วัน ก็ถือว่าน้อยกว่า แม้ว่ามีบางวันที่สถานการณ์แรง แต่ฝนตกลงมาก็จะหายไป 1-2 วัน ตอนนี้กลับมาอีกแล้ว อย่างวันนี้พบการเผาป่าอยู่ที่ประมาณ 125 จุดในช่วงเช้า กระจายหลายพื้นที่หลายอำเภอ ของจังหวัดเชียงใหม่

         เป็นมิติปัญหาเชิงซ้อน ทั้งที่จังหวัดและหน่วยงานต่างๆพยายามบูรณาการ ถอดบทเรียนจนมีคนแซวว่า ถอดเอาไว้ที่ไหนกันหมด แล้วก็มาจัดกรุ๊ปใหม่งานแบบใหม่ ปีนี้เขาแบ่งกลุ่มป่าเป็นโซนๆ เพื่อให้จัดการได้ง่าย เป็นป่าอนุรักษ์ อุทยานฯ ป่าพื้นที่เกษตร รวมถึงพื้นที่ด้านความมั่นคงก็อยู่ในพื้นที่นั้นด้วย ก็ยังจัดการไม่ได้” 

ปัญหาเกิดจากคนไม่ใช่ธรรมชาติ-คนหาของป่า ถูกให้เป็นแพะ

            ภาณุเมศ บอกว่า ในเรื่องของนวัตกรรมที่เราได้ยินตั้งแต่แรก ที่งานวิชาการเข้ามาช่วย คือ “การชิงเผา” จนล่าสุดวันนี้คำว่าชิงเผา กลายเป็น การจัดการเชื้อเพลิง คือ ปรับรูปแบบหรือคำพูดให้ดูดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ความจริงแล้วคือการจัดการเชื้อเพลิงก่อนที่จะมีการเผาจริง ซึ่งความจริงแล้ว ตามหลูปของป่าคือ มีใบไม้ทับถม เขาจะต้องมีการจัดการซึ่งการจัดการก่อนโน้น เจ้าหน้าที่จัดทำแนวกันไฟ เพื่อไม่ให้ไฟลามออกมา แต่ตอนนี้เรายืนยันไม่ได้ว่าเกิดจากธรรมชาติ เพราะร้อยทั้งร้อยเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ที่มีเหตุปัจจัยอีกมากที่แฝงอยู่ ซึ่งคนที่ถูกให้เป็นแพะตอนนี้ คือ คนหาของป่า ถูกจับเหมือนเป็นคดีรุนแรงมากๆ แต่เราเห็นแล้วว่ามันไม่ใช่ทั้งหมด

นำระบบใหม่มาใช้ ผ่านแอพพลิเคชั่น” 

            ถ้าไปถอดบทเรียนก็จะเห็นว่าการจัดการเชื้อเพลิง ปีนี้ได้นำกรับวรการที่เคยทำมาเข้ามาสู่ระบบของแอพพลิเคชั่นตามยุคสมัย เป็น “แอพพลิเคชั่น Fire D” คือ พื้นที่ไหนจะจัดการเชื้อเพลิงก่อนหรือจะชิงเผา โดยต้องแจ้งขึ้นทะเบียนขอเพื่อจัดคิวก็จะได้รับอนุญาตไปตามพื้นที่ แต่อย่าลืมว่าสกิลของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ชาวบ้านแต่ละชุมชนแต่ละจังหวัดแต่ละอำเภอ วิถีชีวิตแตกต่างกัน บางพื้นที่เป็นหุบเหว บางพื้นที่เป็นพื้นราบ บางพื้นที่เป็นการเกษตร เช่น บริเวณเชิงเขาการจัดการกลางวันไม่เสร็จ มีเชื้อเพลิงปะทุอยู่ พอกลางคืนมาเจอลมก็กลายเป็นไหม้ เป็นไฟแนวภูเขาเป็นภาพที่สวย แต่ความจริงแล้วไม่สวย เวลาร้อนมากๆความรุนแรงของเพลิงก็มากขึ้น เจ้าหน้าที่คนดับน่าสงสารมากที่สุดเพราะอยู่ในวงเพลิง  ไม่มีอากาศหายใจ เพลีย แค่ไฟกองเดียวยังร้อน อากาศก็ร้อนลมก็ร้อน ถ้าใครไม่ได้เผชิญกับเหตุก็จะไม่ทราบ ก็จะมีคำถามว่า เผาทำไม ซึ่งชาวบ้านถูกต่อว่าหาของป่า 

จัดการปัญหาไม่คืบ วนเป็นงูกินหาง-บางพื้นที่คนรวยเข้าไปฮุบป่า เกิดฉายาตามมา” 

            ภาณุเมศ บอกว่า อีกเรื่องคือการจัดการพื้นที่การเกษตร ผมก็งงว่าพื้นที่การเกษตรโดยสถิติแล้วไม่ถึง 10% และ 90% ที่มีการเผาคือพื้นที่ป่าอนุรักษ์-ป่าสงวน คนก็งงว่าเมื่อไม่ใช่พื้นที่เกษตรแล้วทำไมไม่ดำเนินการ การจัดการมันก็วนอยู่อย่างนี้ ถือว่าเป็นงูกินหางมาก ไม่มีอะไรที่จะอ้างอิงได้เลยว่าจะดำเนินการอย่างไร แล้วเราก็เห็นข่าวว่าเจ้าหน้าที่บุกรวบคนรุกป่าเกือบ 100 ไร่ ล่าสุดก็เห็นบุกจับอีกแล้วเกือบ 10 ไร่พร้อมรถแบล็คโฮ

            “จะเห็นบางพื้นที่ของป่า มีฉายาของป่าด้วยเรียกว่า หุบเขาไฮโซถามว่ามันคืออะไร มันไม่ใช่การเผาป่าเพื่อหาของป่า ไม่ใช่แค่ทำเกษตรไร่เลื่อนลอยเหมือนสมัยก่อน ที่พี่น้องชนเผ่าถูกบอกว่าเพราะชาวบ้านทำไร่เลื่อนลอย แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าวันดีคืนดีมี รีสอร์ทหรูกลางป่า” แต่ไม่มีใครรู้ผมถึงบอกว่าเป็นปัญหางูกินหาง

อาเซียนต้องแอคชั่น ปมหมอกควันไร้พรมแดน

            ภาณุเมศ บอกว่า ถ้าดูในเชิงการภาพของดาวเทียมก็ชัดเจนว่า ประเทศเพื่อนบ้านมีการเผากันมาก ซึ่งความจริงแล้วไม่รู้ว่าข้าวโพดที่ ประเทศเพื่อนบ้านปลูก มีเอกชนกลุ่มใหญ่ของไทยไปคอนแทรคฟาร์มมิ่งหรือไม่ 

            ดังนั้นต้องคุยทั้งระบบ อาเซียนต้องแอ็คชั่นมากกว่านี้ เพราะเป็นปัญหาของภูมิภาคไปแล้ว  เป็นหมอกควันไร้พรมแดนต้องคุยกันจริงจังและทำกันอย่างจริงจังด้วย ไม่อย่างนั้นก็โยนกันไปมาเพราะหมอกควันล่องลอย ขณะที่เชียงใหม่หรือภาคเหนือตอนบนเป็นแอ่งกลางหุบเขา บ้านเมืองข้างล่างล้อมรอบไปด้วยภูเขา เวลามวล อากาศเย็นจากประเทศจีนเข้ามาเป็นช่วงๆ พัดมาทางประเทศไทยกับเพื่อนบ้านอากาศเย็นก็กด ทำให้ควันเหล่านี้ลอยขึ้นไม่ได้ก็ถูกปิดเป็นม่าน

งานวิจัยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ทำสำเร็จเปิดช่องลมลดอุณหภูมิระบายหมอกควัน

            ภาณุเมศ บอกว่า ปีนี้เป็นอีกปีที่เป็นความสำเร็จของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งตามปกติเราจะเห็นมีการทำฝนเทียม โดยภารกิจของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ที่ทำสำเร็จมีงานวิจัยออกมาล่าสุด  ผมคิดว่าน่าจะสรุปหลังจากฤดูกาลนี้ คือ 100 เปอร์เซ็นต์ เขาไม่ได้ทำแค่ฝนตก แต่จะทำให้เกิดช่องลม ไปลดอุณหภูมิ ทำให้เกิดเป็นช่องลมในกลุ่มเมฆในชั้นบรรยากาศ เพื่อให้เกิดลมเคลื่อนแล้วช่วยระบายควันออก และไปช่วยเกษตรกรที่ไม่ต้องการฝน เช่น ช่วงนี้มีการเก็บเกี่ยวพืชผลบางชนิด ซึ่งถ้าฝนตกแล้วผลผลิตจะเน่าเสีย เพราะฉะนั้นเขาไม่ต้องการฝน จึงต้องใช้วิธีนี้ช่วย แต่บางที่ต้องการฝน เขาก็ต้องไปทำในพื้นที่ป่าหรือพื้นที่กักเก็บน้ำ เพื่อที่จะเกิดความชุ่มชื้น ตรงนี้ผมคิดว่าช่วยได้มาก วันนี้ที่ผมเห็นเจ้าหน้าที่ของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงบินขึ้นไป คิดว่าเกิน 200 เที่ยว มีเครื่องบิน 5 ลำ 

คนพื้นที่ทวงคำตอบ ถ้ารัฐไม่ประกาศให้เชียงใหม่เป็นพื้นที่ภัยพิบัติจากหมอกควัน

            ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุ ไม่ประกาศให้เชียงใหม่เป็นพื้นที่ภัยพิบัติจากหมอกควันนั้น ภาณุเมศ บอกว่า ก็มีส่วนแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด และในระหว่างนั้นถ้าเราไม่ประกาศแล้วทำอะไรได้บ้าง เพราะไม่ใช่ทางออกว่าประกาศแล้วก็จบหรืออากาศดีขึ้น ควันหายทันทีตรงนี้ต่างหากที่ชาวบ้านอยากดูว่า ช่วยบรรเทาผลกระทบเขาได้หรือไม่ เพราะอยู่ก็ต้องมาสูดอากาศพิษมาตรการบรรเทาผลกระทบทำอะไร 

            คนในพื้นที่บอกว่า ทุกอย่างมีกฎกติกา รัฐบาลหรือหน่วยงานราชการทำอะไรไม่ได้ถ้าไม่มีกฎหมายรองรับ ถ้าประกาศเป็นภัยพิบัติก็จะได้งบประมาณฉุกเฉินเข้ามาช่วยดูแล  ขณะที่ชาวบ้านมองว่า ไม่จำเป็นต้องผูกโยงไปทั้งหมด เพียงแค่ปรับยุทธศาสตร์หรือปรับวิธีการทำงานที่ทำอยู่ มาช่วยชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านรู้อยู่แล้วว่าเป็นวิกฤต พอเป็นวิกฤตแล้วจะดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างไร เพราะวิกฤตเกิดขึ้นแล้ว เผาไปแล้ว จะไปแก้ตรงไม่เผาไม่ได้ ตอนนี้ค่า PM2.5 สูงเกินมาตรฐานไปแล้ว เขาต้องการเห็นว่าท้องถิ่นหรือทางจังหวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมาซัพพอร์ทเรื่องเหล่านี้อย่างไรถ้าไม่ประกาศ 

            เช่น หน้ากากอนามัยหรือใช้สปริงเกอร์ฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชุ่มชื้น แต่ตอนนี้ปีนี้ไม่เห็นเรื่องเหล่านี้แล้ว ผมว่ามันก็ช่วยได้บ้างในภาวะที่ต้องเผชิญเหตุ ขณะที่ท้องถิ่นก็มีการจัดการตัวเองได้อยู่แล้วในระดับหนึ่ง  ซึ่งงบประมาณส่วนนี้ในการดูแลภัยพิบัติเป็นสิ่งจำเป็น

แนะ ถอดบทเรียนช่วงโควิดไร้เผาป่า-ประชาชนต้องร่วมมือจริงจัง” 

            ภาณุเมศ บอกว่า ถ้าสังเกตย้อนกลับในช่วงสถานการณ์ โควิด-19 การเผาป่าแทบไม่มีเลย สถิติเรื่องไฟป่าถือว่าดีมาก ผมก็งงเหมือนกันเป็นอากาศที่ดีมากแต่ปี 2563 ขึ้นมา แล้วมาเริ่มขยับปี 2565 ส่วนปี 2566 นั้นหนักเลยปีนี้ก็ตามมาติดๆ ผมก็ยังสงสัยว่าตอนนั้นทำไมถึงไม่มีการเผาขนาดนี้ ผมถึงบอกว่าเราน่าจะมาดูว่า อะไรที่เราถอดบทเรียนไปสู่การปฏิบัติ น่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ 

            ส่วนความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ที่รัฐบาลจะเปลี่ยนวิธีการทำเกษตร ของประชาชน  ภาณุเมศ มองว่า ส่วนตัวคิดว่าน่าจะทำได้ เพราะกฎหมายที่เป็นอุปสรรคยังแก้ไขได้เลย  ความจริงต้องมองย้อนไปก่อนว่าการเกษตรไม่ได้เป็นจำเลย เราไปดูผลของของสถิติการเผา ไม่ใช่พื้นที่การเกษตร เพราะยังไม่ถึง 10% เพราะฉะนั้นพฤติกรรมการเผาทางการเกษตรแทบจะไม่มีแล้ว ตอนนี้มีนวัตกรรมเรื่องการฝังกลบอย่างที่ทำกันอยู่แล้ว แค่ทำให้มากขึ้น แต่ควรปรับวิธีการ ซึ่งเป็นกุศโลบายในการทำการเกษตรที่เป็นเชิงคุณภาพ ขณะที่รัฐก็ต้องไปสนับสนุนส่งเสริมเรื่องนี้ให้มากขึ้น ผมคิดว่าน่าจะทำได้ ถ้าจะทำ

            “สิ่งสำคัญที่สุดถ้าประชาชนไม่ร่วมมือจริงจัง แล้วภาครัฐยังคิดแทนกันอยู่ ผมคิดว่ายังไงก็ไม่สำเร็จ แต่ถ้าประชาชนรู้สึกว่าหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ และช่วยกันดูแล...ผมคิดว่าตรงนี้ยั่งยืนแน่นอน” ภาณุเมศ กล่าวทิ้งท้าย

            ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5​