“ไฟนอลดิจิทัลวอลเล็ต ใครได้ประโยชน์!!”

  

“ในมุมของคนทำข่าว ต้องรอดูให้ชัดเจน จนกว่าจะมีการแจกเงิน จะได้เห็นว่า สุดท้ายแล้ว หน้าตาการแจกจะเป็นอย่างไร ผมคิดว่าการแถลงมติของบอร์ดดิจิทัลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กับสิ่งที่จะเข้าที่ประชุม ครม. และหลัง ครม.อาจจะไม่ใช่เกณฑ์แบบนี้ก็ได้ อาจจะไม่ใช่ร้านค้าแบบนี้ที่เข้าเกณฑ์ก็ได้ ผมคิดว่าให้รอดูเส้นทาง และภาวนา อย่าให้มีอุบัติเหตุ หรือเรื่องราวระดับโลกขึ้นมากลางทาง ที่เราจะต้องควักเงิน หรือทุ่มเงิน เพื่อปลุกเศรษฐกิจ ตรงนี้สำคัญกว่าว่า จะปลุกเศรษฐกิจได้เท่าใด กลัวว่า จะมีเรื่องราวอะไรระหว่างทางที่จะเกิดขึ้นมากกว่า”

 

จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง” ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว ดิจิทัลคอนเทนต์ ฐานเศรษฐกิจ ให้มุมมอง “รัฐบาลปลุกเศรษฐกิจ ผ่านแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ผ่าน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า มติของบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตที่ออกมา ขั้นตอนต่อไป หลังจากที่นายกรัฐมนตรีแถลง คือ กระทรวงการคลัง ในฐานะเลขานุการของคณะอนุกรรมการโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ต้องกลับไปทำรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนเมษายนนี้ คาดว่า น่าจะเหลืออีก 2 รอบการประชุม ครม. แต่สุดท้ายกรอบที่รัฐบาลวางไว้ คือ ให้ลงทะเบียนภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ ทั้งร้านค้า และประชาชนทั่วไป และจะมีการโอนเงินเข้าดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเบื้องต้นจะไม่ใช้แอปฯ เป๋าตังแล้ว แต่จะใช้ซุปเปอร์แอปฯ ที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลกำลังทำอยู่ จะโอนเงินภายในไตรมาส 4 ของปีนี้  

จีรพงษ์ อธิบายว่า รัฐบาลจะใช้งบประมาณสำหรับดำเนินนโยบาย 3 ส่วนคือ เงินที่มาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จะใช้เร็ว ๆ นี้ หลังสงกรานต์ ประมาณ 175,000 ล้านบาท, งบประมาณปี 2568 ซึ่งกำลังจัดทำอยู่ ประมาณ 152,700 ล้านบาท และส่วนที่ยังคงถกเถียงกันอยู่ คือ เงินที่จะไปกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. จำนวน 172,000 ล้านบาท

ท้วง รัฐบาลกู้ ธ.ก.ส. 1.72 แสนล้าน แจกประชาชนทั่วไป ได้หรือไม่?

อย่างไรก็ตาม จีรพงษ์ บอกว่า เงินในส่วนที่ 3 เป็นจุดที่มีการทักท้วง และเรียกร้องให้ทบทวนมากที่สุด ซึ่งสหภาพแรงงานของ ธ.ก.ส. ออกแถลงการณ์ 3 ข้อ เรียกร้องให้ ฝ่ายบริหารของ ธ.ก.ส.ยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการฎีกา, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ตีความคำว่า “วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง ธ.ก.ส.” สามารถให้รัฐบาลกู้ยืมเงิน เพื่อนำไปแจก จะเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของธนาคารได้หรือไม่ เพราะวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส.ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร มีการพูดคุยกันว่า ธ.ก.ส. มีอำนาจในการปล่อยกู้ เพื่อไปแจกได้หรือไม่ ซึ่งตนเองเข้าใจว่า ทิศทางข่าวจุดนี้ น่าจะเป็นจุดที่มีการทักท้วงมากที่สุด

ส่วนที่ ธ.ก.ส.เคยถูกกู้ไปทำโครงการรับจำนำข้าวเกือบ 200,000 ล้านบาท คราวนี้รัฐบาลจะกู้อีก รวมแล้วรัฐบาล กู้จาก ธ.ก.ส.มาเกือบ 400,000 ล้านบาท แต่ยังไม่มีพูดถึงการจะคืนเงินนั้นจีรพงษ์ บอกว่า กรณีนี้มีการเปรียบเทียบกันว่า ทำไมจำนำข้าวกู้ได้ ทำไมประกันรายได้ทำได้ ก็มีการไปย้อนดูคำสั่ง และพระราชบัญญัติ ธ.ก.ส.พบว่า รัฐบาลมีอำนาจในการใช้เงิน นำไปช่วยเหลือเกษตรกรผ่านนโยบายจำนำข้าว ตรงนี้ถือว่าเข้า 

            “สิ่งที่ไม่เข้ากับนโยบาย คือ รัฐบาลจะกู้เงิน ธ.ก.ส.172,000 กว่าล้านบาท เพื่อนำมาแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งอาจจะหมายถึงเกษตรกร และประชาชนทั่วไปด้วย แต่ยังไม่ชัดเจนว่า ไปแจกใครบ้าง และทำได้หรือไม่ แจกเกษตรกรอย่างเดียวหรือเปล่า หรือแจกประชาชนในกลุ่มอื่น ๆ ด้วย ต้องดูต่อไปในมุมนี้ และมีการพูดว่า ให้ใช้จ่ายในพื้นที่ระดับอำเภอได้ แต่ต้องดูเรื่องทะเบียนบ้าน และการใช้ชีวิตอยู่อาศัยด้วย จะใช้ภูมิลำเนาที่ทำงาน หรือจะใช้บ้านที่เช่าอยู่ ซึ่งอาจจะที่เป็นปัญหาได้” จีรพงษ์ กล่าว

“รัฐบาล พยายามสื่อสาร-เดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ดัน ศก.เต็มที่” 

            จีรพงษ์ บอกว่า อารมณ์ของการผ่านไป 6 เดือนของรัฐบาลชุดนี้ ทำให้สังคมสบายใจว่า มีการเดินหน้าจริงจังเต็มที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ที่จะมีการแถลงเรื่องเงินดิจิทัล ก็มีมาตรการแพ็คเกจอื่น ๆ อีก ในมุมของเศรษฐกิจ เช่น มาตรการอสังหาริมทรัพย์, การขึ้นเงินเดือนข้าราชการ, การขึ้นค่าแรง 400 บาท เป็นต้น ทำให้เห็นภาพ 6 เดือนของรัฐบาล มีการเคลื่อนไหวในเชิงเศรษฐกิจพอให้ใจชื้นได้ ซึ่งนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีการแถลงออกมาในเชิงการเมือง ถือว่าเป็นความพยายามที่ทำให้เห็นว่า รัฐบาลเดินหน้า และเคลื่อนไหวตามที่หาเสียงไว้ช่วงเลือกตั้ง แม้จะผิดไปจากเดิมนิดหน่อย โดยตัดในเรื่องของรัศมีออกไป แต่ก็ทำให้เห็นความเคลื่อนไหวว่า รัฐบาลทำงานมา 6 เดือน มีความชัดเจน จริงจัง เดินหน้า แจกเงินดิจิทัล จึงมีการแถลง เมื่อแถลงก็ทำให้คนเฝ้ารอ และคนที่เลือกพรรคเพื่อไทย มีความรู้สึกว่า ใกล้แล้ว แม้ว่าจะรอหน่อย แต่เขาก็ใจชื้นเพราะ กำลังจะได้แล้วในปีนี้

            “ในเชิงของกูรูการเมืองบอกว่า เป็นการทำให้คนสบายใจว่า รัฐบาลกำลังเดินหน้าเรื่องนี้อยู่ แต่สุดท้ายจริง ๆ แล้วหน้าตาของโครงการ จำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ 1-2-3-4 อาจจะเปลี่ยนไปกว่านี้อีกก็ได้ เพราะมีติ่งอยู่นิดหนึ่งว่า “ให้กระทรวงพาณิชย์ไปกำหนดกฎเกณฑ์” เช่น คุณจะซื้อของแล้ว มี “ดอกจันทร์เล็ก ๆ” และมีข้อความตามมา เช่น แจก 10,000 บาทแต่จนกว่าของจะหมด” จีรพงษ์ ระบุ

            แต่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า สิ่งที่รัฐบาลทำ น่าจะเป็นปัญหาในอนาคต แม้จะเป็นเงินภายใต้งบประมาณโดยไม่มีการกู้ แต่เงินจำนวน 500,000 ล้านบาท เป็นเงินก้อนมหาศาล ซึ่งมุมของคนที่ไม่เห็นด้วยบอกว่า น่าจะเอาไปทำอย่างอื่นได้มากกว่า แต่รัฐบาล จะปฏิเสธทำเรื่องนี้ ไม่ได้ เพราะหาเสียง และแถลงเป็นนโยบายต่อรัฐสภา ถ้าไม่ทำก็จะเป็นปัญหาต่อรัฐบาลในอนาคต  

“แนะรอดิจิทัลวอลเล็ตเข้ากระเป๋า ปชช. ก่อนประเมิน GDP

            ส่วนที่นายกรัฐมนตรีบอกว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต จะช่วยปลุกเศรษฐกิจของไทยได้นั้น จีรพงษ์ บอกว่า รัฐบาล ระบุ น่าจะได้ประมาณ 1.2% ของจีดีพี เรื่องนี้กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลาย 67 เป็นต้นไป  แต่การปลุกเศรษฐกิจ ก็มักจะมีเรื่องระหว่างทาง ฉะนั้นสิ่งที่คนกังวล คือ การนำเงินของเกษตรกรมาใช้ ถ้าวันหนึ่งเกิดมีเหตุการณ์ภัยพิบัติขึ้นมา และจะต้องนำเงินของธนาคาร ธ.ก.ส.ไปใช้ ขณะที่รัฐบาล มีแนวทางที่จะแจกคนฟรี แล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

“ในมุมของคนทำข่าว ต้องรอดูให้ชัดเจน จนกว่าจะมีการแจกเงิน จะได้เห็นว่า สุดท้ายแล้ว หน้าตาการแจกจะเป็นอย่างไร ผมคิดว่าการแถลงมติของบอร์ดดิจิทัลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กับสิ่งที่จะเข้าที่ประชุม ครม. และหลัง ครม.อาจจะไม่ใช่เกณฑ์แบบนี้ก็ได้ อาจจะไม่ใช่ร้านค้าแบบนี้ที่เข้าเกณฑ์ก็ได้ ผมคิดว่าให้รอดูเส้นทาง และภาวนา อย่าให้มีอุบัติเหตุ หรือเรื่องราวระดับโลกขึ้นมากลางทาง ที่เราจะต้องควักเงิน หรือทุ่มเงิน เพื่อปลุกเศรษฐกิจ ตรงนี้สำคัญกว่าว่า จะปลุกเศรษฐกิจได้เท่าใด กลัวว่า จะมีเรื่องราวอะไรระหว่างทางที่จะเกิดขึ้นมากกว่า” จีรพงษ์ ระบุ 

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5​