“บริบทสื่อกับความท้าทาย บนเสรีภาพและความรับผิดชอบ”

  “สื่อต้องเป็นที่พึ่งไม่ใช่เครื่องมือ และต้องทำให้ข่าวหลากหลายมากขึ้น ข่าวคุณภาพมีเยอะเราก็นำเสนอไป ส่วนข่าวเรียกเรตติ้งเราก็นำเสนอไป แต่เรตติ้งนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง แม้ข่าวนั้นจะเป็นแค่ 'ข่าวเรียกยอด’ ก็ตาม”

 

น.รินี เรืองหนู นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คนปัจจุบัน ให้มุมมองเรื่อง “วันเสรีภาพสื่อโลก กับสถานการณ์สื่อไทย ความอยู่รอด-เลิกจ้าง-คุณภาพ” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า 

“สื่อเผชิญความท้าทายหลากหลายปัจจัย” 

  น.รินี บอกว่า  ทิศทางสื่อปี 2567 ปฏิเสธไม่ได้ว่าอยู่ในยุคดิจิตอล ที่ข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลเข้ามารวดเร็วและหลากหลาย สิ่งที่สื่อมวลชนกำลังเผชิญอยู่ คือ ความท้าทายใหญ่เรื่องการแข่งขันและการรักษาความน่าเชื่อถือ  มุมมองของอุตสาหกรรมสื่อจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะกำหนดอนาคตสื่อ

   ความท้าทายที่ว่ามีทั้งเรื่องการแข่งขัน ที่จะต้องทำในระบบข่าว โดยแข่งกับสังคมออนไลน์และแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ  เรื่องการแพร่กระจายของข้อมูลเท็จ  ต้องหาข้อมูลจริงมาหักล้าง  การลดลงของรายได้ในองค์กรของสำนักข่าวต่างๆ  การเซ็นเซอร์ตัวเองที่จะต้องทำ คือ รักษาคุณธรรมจริยธรรมในการเผยแพร่ข่าว เวลานำเสนออะไรออกไป ต้องนำเรื่องจริงออกมาเผยแพร่  จะต้องไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น และต้องอยู่ในกรอบของจริยธรรม 

“แนวโน้มอุตสาหกรรมสื่อ ต้องปรับตัว-สร้างโมเดลธุรกิจใหม่-คอนเทนต์ตรงใจ”

  ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมสื่อ อีก 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะสื่อทีวีดิจิตอล ที่ใบอนุญาตจะหมดอายุ น.รินี บอกว่า ณ เวลานี้องค์กรวิชาชีพสื่อ มีการพูดถึงเรื่องของใบประกอบธุรกิจของทีวีดิจิทัล ที่กำลังจะหมดลง  จะยังมีกี่เจ้าที่ยังคงอยู่ทำต่อ ตอนนี้ทุกองค์กร ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ , สื่อดิจิตอล สื่อทีวีและวิทยุต้องปรับตัว ให้เข้ากับสถานการณ์  เช่น ทำให้องค์กรขนาดเล็กลง หรือขยายธุรกิจหรืออะไรต่างๆที่สามารถใช้ทักษะวิชาชีพ นำเสนอหรือทำต่อยอดไปได้ 

  แล้วแต่ว่าองค์กรไหนอย่างไร ยังไม่ได้คุยกันว่ามีใครจะทำอะไร ตรงนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรที่จะมีแผน แต่แนวโน้มน่าจะเป็นลักษณะนี้ คือ ต้องปรับตัวและสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ สร้างคอนเทนต์ ที่ตรงใจผู้ชม เพื่อทำให้เกิดความอยู่รอดในรูปแบบต่างๆ

“ต้องตรวจสอบรอบด้าน-เกาะติด-สมดุลย์ ก่อนนำเสนอข่าว” 

  น.รินี กล่าวว่า ในฐานะสื่อเวลารับเรื่องความทุกข์ยากของประชาชน ขั้นแรกต้องตรวจสอบว่าข้อเท็จจริง เป็นไปตามที่เรียกร้องหรือไม่ จากนั้นพอรู้แล้วว่ามีข้อเท็จจริงแบบนี้ก็นำเสนอได้  ขณะเดียวกันการนำเสนอ ถ้าไปกระทบกับองค์กรหรือบุคคลใดตามที่มีการร้องเรียนมา เราต้องให้พื้นที่ส่วนนั้นด้วย เพื่อที่จะให้เกิดความสมดุลย์ในข้อมูลที่เรานำเสนอ  

  “สื่อต้องเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่เครื่องมือ และต้องทำให้ข่าวหลากหลายมากขึ้น ข่าวคุณภาพมีเยอะเราก็นำเสนอไป ส่วนข่าวที่เรียกเรตติ้งได้เราก็นำเสนอไป แต่เรตติ้งนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง และต้องมีข้อเท็จจริงปรากฏ  มีสาระประโยชน์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมาก ไม่ใช่เรียกเรตติ้งอย่างเดียวหรือข่าวโคมลอย ถ้าให้ดีต้องขยายผลออกไปได้ แม้ข่าวนั้นจะเป็นแค่ “ข่าวเรียกยอด”ก็ตาม” 

  สิ่งสำคัญมากสำหรับผู้สื่อข่าว ไม่ใช่แค่เปิดประเด็นมาแล้วปล่อยไป แต่ถ้าเกาะติดไปเรื่อยๆ หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นไปในทิศทางที่ดี ข่าวนั้นก็คือข่าวที่ดี แต่ถ้าพูดในเรื่องของมาร์เก็ตติ้ง  ที่เดี๋ยวนี้มีแต่ “ข่าวเรียกยอด”  บางประเด็นต้องเข้าใจด้วยว่าผู้บริโภคอยากดู อยากรู้ ฉะนั้นก็ใช้เทคนิคการทำงานของเรา นำเสนอรูปแบบที่ตอบโจทย์ผู้ชมได้

“สื่อเป็น 1 ในงานที่ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญ”

  น.รินี บอกเล่าถึงบรรยากาศการจัดงาน วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ซึ่งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมเสวนาขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา  ในเวทีสัมมนาพูดถึงเรื่องของดิจิทัล  โดยมี AI เข้ามามีบทบาท ซึ่งในประเทศไทยยอมรับ AI มากขึ้น  และกำลังเดินไปตามทางนั้น ในขณะเดียวกัน AI ก็ไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้ายของการทำงานสื่อ  

  หมายความว่า AI จะเข้ามามีส่วนช่วยบางเรื่องกับการทำงานสื่อ โดยเพิ่มความสะดวกให้กับเรา แต่เราต้องเป็นตัวกำหนดการใช้  ไม่ใช่ให้ AI มากำหนดเรา เพราะ AI ไม่ใช่เจ้านายเรา ขณะที่เทรนด์ของนานาประเทศในโลก ก็ใช้เทคโนโลยีกับทักษะของมนุษย์ในการทำงานร่วมกัน 

“รายได้เป็นปัจจัยหลักกระทบสื่อ ต้องปรับองคาพยพเพื่อความอยู่รอด”

  ส่วนค่าตอบแทนรายได้การทำงานของสื่อ ที่ถูกพูดถึงมากแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข  น.รินี บอกว่า เรื่องนี้พี่ๆน้องสื่อในองค์กรวิชาชีพ พูดกันมาตลอดต่อเนื่อง อาจจะเป็นทิศทางขาลงก็ได้  เราเผชิญอยู่กับค่าตอบแทนและสวัสดิการ ที่ยังไม่สูงมาก ถ้าเทียบกับวิชาชีพอื่นๆ  ซึ่งถือเป็นความยากลำบากในการดำรงชีวิตของสื่อ  และเป็นอุปสรรคในการทำงานของสื่อ  หากไม่มีความสุขและมีรายได้น้อย  

  สถานการณ์ที่เป็นอยู่ ณ เวลานี้ ต้องเอาตัวรอด  ก็ไปกันทั้งองคาพยพเลย  องค์กรสำนักข่าวต่างๆที่เกี่ยวกับสื่อ  ก็ต้องพยายามดิ้นรนหารายได้ เข้ามาดูแลพนักงาน ขณะที่พนักงานเองพอเงินเดือนไม่ขึ้น ก็ต้องหาอย่างอื่น  มาทดแทนเพื่อให้อยู่รอดได้ ในแต่ละเดือน

 “สมาคมนักข่าวฯ มีกิจกรรมเสริมทักษะ-ศักยภาพคนข่าว” 

ส่วนกรณีที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมอบรมเพิ่มศักยภาพทีมข่าวขนาดเล็กที่รวมกลุ่มกันนั้น น.รินี บอกว่า ที่เคยพูดถึงเรื่องพันธกิจของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มี 3 เรื่องที่จะต้องเน้นมาก คือ 1.ส่งเสริมปฏิบัติสิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติงาน 2.ดูแลสวัสดิการเสริมที่นอกเหนือไปจากองค์กรของผู้สื่อข่าวคนนั้นๆ  3.การพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ในวิชาชีพนี้ 

  ซึ่งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  พยายามคิดหาพัฒนาทักษะ คือ เพื่อ Reskill – Upskill โดยทำทุกอย่างเพื่อที่จะให้คนหนึ่งคน สามารถที่จะเดินอยู่ในสายงาน หรืออยู่ในวิชาชีพสื่อสารมวลชนได้ตามกระแสโลก  เช่น ต้องรู้จักใช้เครื่องมือ ต้องฝึกการเขียนให้แม่นขึ้น หรือจัดรายการวิทยุก็กำลังจะมีการจัดอบรมนักจัดรุ่นใหม่ เป็นหลักสูตรระยะสั้น ให้มีทักษะเพิ่มเติม เพราะการรายการวิทยุสามารถพัฒนาไปในเรื่องของการเปิดหน้า Live  ได้ด้วย ถ้าพูดได้ พูดดีมพูดเป็น และมีจังหวะ

  น.รินี บอกว่า สมาคมนักข่าวฯพยายามจะหาคอร์สสั้นๆ เช่น การใช้เทคนิคอุปกรณ์ต่างๆในการทำงานผ่านมือถือ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ โปรแกรมใหม่ๆที่นำมาใช้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ AI ที่เราอาจจะใช้อยู่โดยไม่รู้ตัว แต่บางคนยังไม่รู้ว่าสามารถที่จะนำมาใช้กับการทำงานได้

“กิจกรรมส่งเสริมอาชีพ ให้นักข่าวปล่อยของ”

  ส่วนกิจกรรมหารายได้เสริมสื่อมาขายของ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ของประเทศไทย บอกว่า เดิมเคยมีกิจกรรม “คนขายข่าวมาขายของ” โดยนำของที่มีอยู่หรือของสะสมมาวางขาย ช่วงนั้นได้รับกระแสตอบรับอย่างดี  ล่าสุดสหภาพแรงงานสื่อมวลชนไทย จัดงานลักษณะนี้ที่เทสโก้โลตัส บางกะปิ  ซึ่งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  กำลังมีแนวคิดอยู่ว่าโมเดลแบบไหนที่จะเหมาะสม เปิดพื้นที่ให้คนทำงานข่าวได้ปล่อยของ แต่ต้องหาจังหวะเวลาด้วย เพราะแต่ละคนทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน

  กิจกรรมใดๆก็ตามเวลาที่สมาคมนักข่าวฯจัด ได้พิจารณาหยิบยกแต่ละเรื่องมาจากข้อเรียกร้องของสมาชิก  โดยคณะกรรมการในสมาคมจะมานั่งพูดคุยกันว่า  มีเสียงเรียกร้องเข้ามา ลองดูว่าถ้าเราสามารถที่หาพันธมิตร หรือจัดกิจกรรมแบบนี้ได้บ้างหรือไม่อย่างไร  แต่จะพยายามให้ได้กิจกรรมที่ตอบโจทย์  ของเพื่อนสมาชิกและน้องๆสมาชิกสมาคมนักข่าวฯ  รวมทั้งน้องๆในวิชาชีพเดียวกันแต่ยังไม่ได้เข้ามา เป็นสมาชิกสมาคมนักข่าวฯ  พี่ๆก็ยินดีที่ให้การสนับสนุนทุกด้าน  หากเรื่องที่คิดว่าสามารถช่วยได้  ก็ให้สื่อสารกันเข้ามาผ่านกรรมการท่านใดก็ได้ หรือผ่านทางเว็บไซต์ของสมาคมนักข่าวฯหรือเพจ Facebook ก็ยินดีหรือมาโดยตรงที่ดิฉันก็ได้ยินดีรับไว้”

“เซฟตี้เทรนนิ่ง ทักษะการเอาชีวิตรอดในการทำงาน” 

  น.รินี บอกว่า นอกจากนี้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ยังจัดอบรมเซฟตี้เทรนนิ่งหลายรุ่นแล้ว (ล่าสุดเพิ่งจบไปรุ่นที่ 13)  เมื่อผ่านการอบรมสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตการทำงาน โดยพยายามจำลองสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้ใกล้เคียงกับเวลาผู้สื่อข่าว ไปทำงานจริงได้มากที่สุด โดยพยายามฝึกทักษะการเอาชีวิตรอดในการทำงาน 

“ฝากน้องๆรักษาจริยธรรมการทำงาน- เรียนรู้บริบทรอบด้าน-พัฒนาตนเอง” 

อยากฝากทิ้งท้าย ถึงน้องๆผู้สื่อข่าว ที่ก้าวเข้ามาสู่การทำงานสื่อสารมวลชนว่า อยากให้ยึดมั่นในการทำงาน ต้องเป็นกลางต้องโปร่งใส และการทำงานต้องส่งเสริมประชาธิปไตย และสนับสนุนสังคม แต่ของแบบนี้จะทำได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน เช่น เข้ามาในองค์กรหรืออาชีพนี้  ต้องเข้าใจบริบท วัฒนธรรม ต้องรู้ประวัติศาสตร์ รู้ประเพณี รู้ค่านิยม รู้ภาษา เวลาเราเข้าไปในจุดใดหรือสถานการณ์ใด จะอยู่ได้แบบไม่แปลกแยกและต้องเคารพในความหลากหลาย

  นอกจากนี้ต้องรักษาจริยธรรมในการทำงาน ขณะเดียวกันต้องพัฒนาตัวเองให้มีทักษะในทุกด้าน ทั้งพูด-เขียน-อ่าน-สัมภาษณ์-วิเคราะห์ โดยต้องฝึกไปเรื่อยๆ ตรงนี้ คือ พื้นฐานของการทำงาน ไม่ว่าคุณอยู่ในแพลตฟอร์มไหน ต้องมีการพัฒนาและต้องยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง ความจริงแล้วน้องๆรุ่นใหม่เก่งกันทุกคน  จะมีทักษะที่คนรุ่นเก่าๆอาจจะไม่มี หรือจะต้องเดินตามน้องๆด้วยซ้ำไป ถ้าเรามีหลักการต่างๆแบบนี้ ดิฉันคิดว่าเราไปได้”

  ติดตาม รายการ "ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์  11.00-12.00 น. โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5